|
Bavaria/Munich - “urban-green development”
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
บาวาเรียเป็นรัฐหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขาแอลป์ทางด้านพรมแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐเช็กและออสเตรีย
ในอดีตอันไกลโพ้น (ราวศตวรรษที่ 15-17) บาวาเรียเคยเป็นดินแดนหนึ่งภายใต้อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) จนกลายเป็นรัฐอิสระในศตวรรษที่ 18 ต่อมาในปี 1871 ก็ได้ผนวก เข้ากับเยอรมนีมาจนถึงปัจจุบัน ความที่เคยเป็นรัฐอิสระมาก่อนจึงมีการปกครองตนเองที่เข้มแข็งมาก ปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีแต่บาวาเรียก็มีความ สัมพันธ์อย่างแนบแน่นทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม แทบจะเป็นเนื้อเดียว กันกับประเทศออสเตรีย ในประวัติศาสตร์ ราชวงศ์บาวาเรียและราชวงศ์ออสเตรียก็ได้สมรสเป็นทองแผ่นเดียวกันในหลายช่วงหลายตอน
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บาวาเรียอันมีเมืองมิวนิกและ Nuremberg เป็นเมืองเอก เป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรค นาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ใช้ มิวนิกเป็นจุดยุทธศาสตร์ตั้งให้เป็น capital city of movement’ โดยมีเป้าหมายจะผนวกเข้ากับออสเตรียและอิตาลี สร้างเป็น อาณาจักร Deutsch ใหม่อันรุ่งเรืองระหว่างสงคราม มิวนิกจึงถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วง กว่า 70% ของเมืองเสียหายเป็นซากปรักหักพัง มีการเซ็น สัญญาสงบศึกสิ้นสุดสงครามโลกภาคพื้นตะวันตกที่เมือง Nuremberg ในปี 1945 มิวนิกสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมากลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้านของเยอรมนีได้ไม่นานนักหลังสงคราม
เศรษฐกิจของมิวนิกก้าวหน้าไปอย่าง มั่นคง เห็นได้จากกิจการของบริษัทเอกชน ที่มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งที่เป็น SME และเป็นบริษัทข้ามชาติที่รู้จัก กันดีได้แก่ BMW, Audi, Siemen, Adidas, Linde ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจของประเทศ EU จะร่วงหล่นไปตามๆ กัน แต่เยอรมนี ยังยืนหยัดอยู่ได้ มิวนิก ยังเป็นเมืองที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงานสูงที่สุดใน EU มีการท่องเที่ยวคึกคักเป็นอันดับหนึ่ง ของเยอรมนี บริษัทภาคเอกชนเหล่านี้ส่งเสริมให้ การศึกษาและเผยแพร่เทคโนโลยีแก่ประชาชน ด้วยการสนับสนุนให้ทุนและร่วมก่อตั้ง Deutsch Museum ที่เมืองมิวนิก อวดอ้างว่าเป็นมิวเซียมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เนื่องจากคนมิวนิก เป็นคนรักวัฒนธรรมประเพณี ชอบดนตรีและเต้นรำโดยสายเลือด จึงทำให้มีเทศกาลและงานรื่นเริงคึกคักอยู่เสมอ โดยเฉพาะเทศกาล Oktoberfest อันเลื่องชื่อในเดือน ตุลาคมของทุกๆ ปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้า มาโดยรัฐมิต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์มากนัก ประมาณว่าปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวจาก ทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมเยือนถึง 6 ล้านคน บาง คนอยากมาลิ้มลองอาหารของชาวบาวาเรีย ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ขาหมูกรอบ ไส้กรอกขาว เบียร์สด แอปเปิลไซเดอร์ รวมทั้งอาหารแปลกๆ ที่ผู้เขียนเคยพิสูจน์มาแล้ว ได้แก่ สมองวัวบดทำเป็นพาย (รวมทั้งตา หูบดรวมไปด้วย) และยังมีเครื่องในแบบต่างๆ รวมทั้งตัวเดียวอันเดียวของวัวด้วย ในยาม ปกติตามจัตุรัสต่างๆ ในเมืองก็มักจะมีนักแสดงนักดนตรีประเภท street performers รวมทั้งนักเคลื่อนไหวประท้วงนโยบายต่างๆ มาสร้างความตื่นเต้น ความบันเทิงอยู่เสมอ แม้ในยามหน้าหนาว ซึ่งเทศบาลเองก็ไม่ห้ามปรามอันใด ตราบใดที่พวกนี้ประพฤติ ตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย อาจมีตำรวจ มายืนรักษาความปลอดภัยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เกะกะสายตาอะไรมากนัก
ปัจจัยที่ช่วยส่งผลให้มิวนิกพัฒนา
ไปได้อย่างมั่นคงในแนวสีเขียว
มิวนิกได้ผ่านความยากลำบากมาพอควร ทั้งช่วงปีแห่งการถล่มทลายของ สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามและการฟื้นฟูที่ต้องอาศัยความอดทน ความร่วมมือ และสมองที่มองทั้งใกล้และไกล การที่มิวนิกมีโอกาสเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ ต้องให้เครดิตกับชาวเมืองเป็นอันดับแรกที่เลือกการพัฒนาที่ผสมผสานระหว่างการรักษารูปแบบดั้งเดิมของเมืองกับการพัฒนา สิ่งใหม่ๆ เข้ามาอย่างลงตัว ในแนวทางที่รู้จักกันว่า “Munich way” อันเป็นการฟื้นฟู ตึกเก่าๆ วัดวาอารามที่เสียหายหลังสงคราม ขึ้นมา โดยรักษาภูมิทัศน์แบบเดิมในเขตชั้นใน ขณะเดียวกันก็เอื้อให้มีการพัฒนาแบบใหม่ๆ ขึ้นมาในเขตรอบนอก อนุญาตให้มีการวางแผนเพื่ออนาคต แต่หลักการสำคัญของการพัฒนาในอนาคตคือคงความ เป็น urban forest ไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะมีการขยายพื้นที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ออกไปอย่างไรก็ตาม
ทุกวันนี้มิวนิกมีกฎระเบียบของเมือง และข้อบัญญัติการก่อสร้าง (city codes and building regulations) ที่เข้มงวดกวดขัน เช่น กำหนดให้มีการใช้สีและรูปแบบของอาคารที่เข้ากับสภาพแวดล้อม (ห้ามใช้สีที่โดดเด่นและแตกต่างในเขตเมือง ชั้นใน) ฉะนั้นการสร้างการพัฒนาในพื้นที่สักแห่งก็ต้องอยู่ในแบบแผนและเงื่อนไขของผังเมืองอย่างเคร่งครัด การริเริ่มโครงการใหม่ขึ้นมาต้องผ่านการ พิจารณาอย่างรอบคอบ กลไกสำคัญที่ทำให้เป็น เช่นนั้นได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น
มิวนิกมีการคมนาคมไปทุกหนทุกแห่งอย่างทั่วถึง ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมทั้งถนนไฮเวย์ ถนนสายเล็กสายน้อยในชนบทที่เข้าไปทุกตรอกซอกซอย ระบบการขนส่งมวลชนทั้งแบบรางและแบบรถ ในส่วนของรางก็มีหลายรูปแบบ ทั้งรถรางใต้ดินที่เรียกว่า U-bahn วิ่งในเขตเมืองชั้นใน มีรถรางประเภท S-bahn ที่วิ่งออกไปถึงชานเมืองเป็นแบบผลุบๆ โผล่ๆ คือ บางส่วนวิ่งใต้ดิน บางส่วนวิ่งบนรางยกระดับ และบางส่วนก็วิ่งบนดิน ส่วนรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองเชื่อมโยงกับสายอื่นในประเทศและข้ามพรมแดนไปถึงประเทศใกล้เคียง เรียกว่า DB ก็ขึ้นได้ในราคาประหยัด (เช่น ราคาตั๋ว 29 ยูโรไปได้ถึงเมือง Salzburg ของประเทศออสเตรีย เป็นตั๋วกลุ่มรวมผู้เดินทางได้ถึง 5 คน) และ มีรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า ICE ที่ไม่แพ้ประเทศใดๆ วิ่งในกลุ่มประเทศยูโรโซน นอกจากนั้นยังมีรถรางแบบ tram และรถบัสบริการอยู่ตามถนนในเมือง วิ่งทุกๆ 15 นาที เอาใจชาวเมืองกันถึงขนาดนี้ แล้วจะใช้รถส่วนตัวไปทำไม
มิวนิกมีกระบวนการวางผังเมืองและการบังคับควบคุมที่เข้มแข็ง
ตั้งแต่เริ่มมีการวางผังเมืองฉบับแรก ในต้นศตวรรษที่ 19 มิวนิกให้ความสำคัญ กับการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) และภูมิทัศน์ของเมือง (city landscape) ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่สีเขียวในชนบทและสิ่งแวด ล้อม หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เศรษฐกิจตกต่ำ บ้านเมืองเสียหาย เยอรมนี ทั้งประเทศอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างสุดๆ เมืองมิวนิกก็ได้หันมาคำนึงถึงการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก พัฒนาสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง และมีการกำหนดราคาค่าเช่าบ้านและแฟลต ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในชนบทและในเมือง
การฟื้นฟูเมืองหลังสงครามนี้เปลี่ยน รูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐต่างๆ ก่อให้เกิดความร่วมมือประสานงานกันเข้า หาประชาชน เกิดรูปแบบแนวทางจัดการเมืองที่ปฏิบัติได้และควบคุมได้โดยได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชน มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการก่อสร้างที่เข้มข้น เป็นที่มาของ city building regulations ที่มีประสิทธิผลมาจนถึงปัจจุบัน
โครงสร้างการบริหารที่ควบคุมอยู่ด้านบน ก็มีการถ่วงสมดุลลงมา ด้วยการก่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 คณะ รวมนักวิชาการ หน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ตั้งแต่ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติ และขั้นตรวจสอบ ประกอบด้วย
คณะกรรมการที่ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาและการก่อสร้าง
คณะกรรมการรักษาพื้นที่ชนบทรอบ นอก ประกอบด้วยกลุ่มคนในภาคประชาชน
คณะกรรมการอนุรักษ์แหล่งประวัติ-ศาสตร์ วัฒนธรรม
คณะกรรมการทั้งสามชุดนี้ประสาน ร่วมมือกันกำหนดแนวทางและเงื่อนไขในการพัฒนาเมือง โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชน หลักการสำคัญๆ ที่ประมวล ได้มีดังนี้
แนวทางสีเขียวของมิวนิก
- เป็นแนวทางผสมผสานที่ทำให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความโปร่งสบาย
- วางแนวทางการเติบโตในอนาคต ไปในทางอนุรักษนิยม ภายใต้โครงสร้างที่คงความเป็นเอกลักษณ์และภูมิทัศน์เดิมของ เมือง
- เป็นแนวทางที่เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชาวเมือง ชาวชนบท รวมทั้งเมือง ในเขตรอบๆ สนับสนุน กิจกรรมและโครงการที่เชื่อมโยงชาวเมืองมิวนิกและเมืองรอบๆ (โดยเฉพาะการ คมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว)
- ปรับปรุงเครือ ข่ายระบบการคมนาคม ขนส่งของเมืองมิวนิกและเมืองอื่นๆ ให้เกิด เส้นทางที่กระชับและมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้เยอรมนีทำได้ อย่างน้อยน่าจะได้เกินครึ่งด้วยเหตุผลที่ว่าคนเยอรมัน มีระเบียบวินัยสูง ชอบแสดงความคิดเห็นและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งคุณภาพ ของคนนั้นก็ช่วยเอื้อให้เกิดการปฏิบัติที่ดีไปได้เกินครึ่งแล้ว นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเกื้อหนุนอย่างอื่นอีก เช่น ประชากรชาว มิวนิกมิได้ขยายตัวมากนัก ทำให้รัฐมิต้องเร่งรัดการพัฒนาอย่างเร่งรีบโดยมิได้คิดให้รอบคอบ ส่วนเศรษฐกิจก็มิได้ขยายตัว อย่างพรวดพราดเช่นเดียวกับประเทศกำลัง พัฒนาทั้งหลาย แต่มีเวลาสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งทั้งทางด้านเทคโนโลยี การศึกษา และการปกครองตนเองของท้องถิ่น
ผู้เขียนอาจมองไม่เห็นรายละเอียด ด้านเศรษฐกิจและการเงินมากนัก แต่จากที่ได้มีโอกาสไปอยู่ไปกินที่มิวนิกเป็นเวลาหนึ่งเดือน ก็สังเกตได้ถึงลักษณะผู้คนและวิถีชีวิตของชาวบาวาเรียที่มีความเป็นมิตรและเอื้อเฟื้อมิได้น้อยไปกว่าชาวสยามเมืองยิ้มของเรา แต่ก็อยู่ในกรอบในระเบียบ วินัย
ผู้เขียนเห็นภาพรวมของการบริหารจัดการเมืองทั้งระบบการคมนาคมขนส่ง การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทย เรายังคงอ่อนด้อยกว่ามากในการบังคับใช้กฎหมาย การประสานร่วมมือกัน การปกครองส่วนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชน พูดง่ายๆ คือประชาชนคนไทยยังขาดคุณภาพและความใส่ใจในบ้านเมือง ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างของเมืองไทยยังแก้ไม่ตก แล้วจะมัวไปแก้รัฐธรรมนูญกันไปทำไม น่าจะแก้ที่ตัวเองก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|