|

ติวฟรีวิชากรีนที่ตลาดโลตัส
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
สโตร์ปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชียของเทสโก้ โลตัสที่บางพระ ประกาศตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการประหยัดพลังงาน เป็นซีเอสอาร์ที่เป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาโครงการตามนโยบายของบริษัท ความทุ่มเทอย่างหนักเรื่องการประหยัดพลังงานทำให้ต้นทุนของสาขาพุ่งสูง ความคุ้มค่าในแง่ธุรกิจอาจจะให้ผลตอบแทนช้า พวกเขาจึงทดแทนด้วยสาระเพื่อการดูแลรักษาโลกผ่านการให้ความรู้จากสิ่งที่มีอยู่จริงแก่ชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผู้สนใจใกล้ไกลทั้งในเมืองไทยและต่างแดน
ประเสริฐ กำธรกิตติกุล ผู้จัดการอาวุโส-พลังงาน วิศวกรที่ทำงานวิจัยและพัฒนาด้านการประหยัดพลังงานให้บริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เทสโก้ โลตัสมีตำแหน่งนี้ขึ้นครั้งแรกในวงการค้าปลีก บอกว่า หากนับกันจริงๆ แล้วในสโตร์ปลอดคาร์บอนนี้มีมาตรการประหยัดและชดเชยการใช้พลังงานมากถึง 99 มาตรการ แต่เขาเลือกที่จะนำมาไฮไลต์แค่โหลเดียว และหากผู้แวะมาศึกษานำไปปฏิบัติใช้จริงแค่หนึ่งอย่าง ก็เท่ากับมีส่วนช่วยขยายการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทันที
ตามเขาไปทัวร์กันเลย...
จุดที่ 1 ประตูทางเข้าหยิบเทคนิคประตูสองชั้นจากเมืองหนาว มาใช้ในเมืองร้อนแต่ให้ผลเหมือนกันในการช่วยลดการถ่ายเทระหว่างอากาศเย็นภายในกับอากาศร้อนภายนอกมีผลต่อการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ
จุดที่ 2 ติดตั้งผนังโปร่งแสงที่ตัวอาคารด้านทิศเหนือ เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในสโตร์ ลดการใช้แสงสว่างจากไฟฟ้าภายใน ส่วนนี้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากผนังโปร่งแสงเดิมที่ใช้ในไฮเปอร์มาร์เก็ตที่นำความร้อนเข้ามาด้วย เปลี่ยนมาใช้กระจกโลว์อี ซึ่งมีคุณสมบัติกรองแสงยูวีและกันความร้อนได้
จุดที่ 3 ขณะที่ผนังโปร่งแสงด้านทิศใต้ของสโตร์ป้องกันความร้อนแรงของแสงอาทิตย์อ้อมใต้ด้วยไม้ระแนง กันไม่ให้แสงแดดส่องผ่านกระจกเข้าสโตร์โดยตรง แล้วใช้เทคนิคติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงสว่างไว้ใต้กระจกให้แสงสะท้อนเข้าตัวอาคารเพิ่มขึ้น
จุดที่ 4 จากหลอด T5 พัฒนาอีกขั้นมาใช้หลอด LED ติดตั้งทั้งระบบแสงสว่างและในตู้แช่ ซึ่งมีคุณสมบัติ LED ดีกว่า T5 ตรงที่ไม่มีสารตะกั่ว ไม่ปลดปล่อยรังสียูวี และมีอายุการใช้งานนานกว่าสองเท่า และติดตั้งระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติตามสภาพแสงจากภายนอกที่ส่องผ่านช่องแสงเข้ามา
จุดที่ 5 เปลี่ยนน้ำยาตู้แช่มาใช้สาร Propane และ Propylene R1270 ที่ลดการปลดปล่อยสารคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าสารที่ใช้ทำความเย็นแบบเดิม และเป็นสารที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าสาร CFC เกือบสามพันเท่า โดยที่บางพระเริ่มใช้สารเหล่านี้เป็นแห่งแรกของเทสโก้ทั่วโลก และตู้แช่ส่วนใหญ่มีบานเลื่อนกระจกติดกันความเย็นออก
จุดที่ 6 ผลิตไบโอแก๊สจากสินค้าออร์แกนิกที่เหลือจากขายไม่หมด นำแก๊สที่ได้มาอุ่นและปรุงอาหาร น้ำร้อนที่ใช้ในการหุงต้มก็ทำมาจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
จุดที่ 7 ติดตั้งระบบปรับอากาศอัจฉริยะ (VRV) ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์และระบบปิดเปิดเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ โดยวัดอุณหภูมิในสโตร์ให้อยู่คงที่ประมาณ 20 กว่าองศา ระบบนี้ช่วยประหยัดไฟได้ 15%
จุดที่ 8 พื้นคอนกรีตที่ลานจอดรถใช้คอนกรีตแบบพรุนไม่อมน้ำไม่เก็บความร้อน และยังช่วยเป็นพื้นที่ป้องกันความร้อนจากถนนเข้าสู่อาคาร
จุดที่ 9 ใช้ผนังดินอัด เป็นดินธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานความร้อนหรือสารเคมี เป็นฉนวนกันความร้อนชั้นดี ความหนาขนาดอิฐมอญสองชั้น เฉพาะผนังใช้เวลาเกือบเดือนเพราะต้องนำดินมาผสมน้ำแล้วโปะบดอัดเป็นชั้นๆ จึงมีความแข็งแรงทนทานสูง ทดสอบโดยนำไปแช่น้ำสองอาทิตย์แล้วนำมาทุบด้วยค้อนก็ไม่พัง
จุดที่ 10 น้ำฝนรีไซเคิล จากหลังคาเมื่อฝนตกจะไหลรวมผ่านที่กรองสิ่งสกปรกมายังบ่อกักเก็บ เพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดพื้น รดน้ำต้นไม้ ล้างใต้ท้องรถรอบแรก ใช้ฟลัชสุขา น้ำที่ผ่านการใช้จะเข้าสู่บ่อบำบัดใต้ดินก่อนจะวนกลับมาเป็นน้ำใช้ใหม่อีกครั้ง โดยบ่อเก็บกักน้ำที่บำบัดจะเลี้ยงปลาเพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ ระบบน้ำทิ้งของสโตร์จึงไม่มีการปล่อยสู่ระบบท่อระบายของเทศบาล
ส่วนน้ำประปาปั๊มใส่แท็งก์ทรงสูงเพื่อให้มีแรงดันน้ำส่งไปใช้ทั่วอาคารโดยไม่ต้องใช้ปั๊ม
จุดที่ 11 ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา 66 กิโลวัตต์และพื้นที่ว่างด้านหลังสโตร์ 264 กิโลวัตต์ ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 47,000 หน่วยต่อปี ไฟฟ้าที่ผลิตรองรับได้ 70% ของพลังงานที่ใช้ในร้าน เพราะการใช้ไฟช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ต้องใช้บริการจากการไฟฟ้าฯ เนื่องจากในสโตร์ไม่มีแบตเตอรี่สำรอง เดิมทีตั้งใจผลิตขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อยู่ระหว่างคำนวณค่าชดเชยแทน Adder ที่ยกเลิกไป จึงผลิตใช้เองไปพลางๆ ตัวแผงใช้เทคโนโลยีของดูปองท์แบบ Double Junction หรือแผงสองชั้น เป็นรายแรกในไทยเพราะทั่วไปที่ใช้กันเป็นแผงชั้นเดียว เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตไฟได้มากกว่าแผงทั่วไป 40% จากปกติ 100 วัตต์ เพิ่มเป็น 140 วัตต์ต่อแผง
จุดที่ 12 กังหันลมผลิตไฟฟ้าแบบโลว์สปีด แต่วันนี้อยู่ในขั้นทดลองส่งไฟเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งานบ้างแต่ก็ยังเป็นแค่กิมมิค
จบทัวร์ 12 จุดไฮไลต์ สิ่งที่สังเกตได้พบว่าบางอย่างไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรเลย เพียงแค่ใส่ใจรายละเอียด คิดและดีไซน์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เท่านี้ก็ประหยัดการใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยได้อย่างเห็นผล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|