|
สมการรักษ์โลกของเทสโก้ โลตัส
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) มีนโยบายดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงลูกค้า พนักงาน และชุมชน ซึ่งองค์ประกอบหลังมีพันธกิจหลักด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เทสโก้ โลตัสเลือกใช้ เพื่อแสดงการใส่ใจต่อชุมชนในภาพใหญ่
การให้ความสำคัญและแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนของเทสโก้กรุ๊ป เริ่มอย่างจริงจังเมื่อปี 2548 ภายใต้การคิด ริเริ่มของ Sir Terry Leahy ซีอีโอของเทสโก้ กรุ๊ปในขณะนั้น เขาอยู่กับเทสโก้นานถึง 14 ปีก่อนจะเกษียณจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
เซอร์เทอร์รี่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปลี่ยน แปลงและแนะนำเคล็ดลับความสำเร็จให้กับวงการค้าปลีกไว้มากมาย ก่อนจะจากไป ยังทิ้งโจทย์ใหญ่ซึ่งทำให้เทสโก้ใช้สร้างจุดเด่นให้กับตัวเองในธุรกิจค้าปลีกได้อีกด้วย
โจทย์ตั้งต้นที่เซอร์เทอร์รี่กำหนดไว้ภายใต้พันธกิจที่ประกาศออกไป คือให้ร้าน ค้าปลีกเทสโก้ใน 13 ประเทศทั่วโลกที่เปิดให้บริการอยู่และสาขาที่จะเปิดเพิ่มขึ้น ลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ 50% ในปี 2563 (ค.ศ.2020) และลดให้เหลือ 0% หรือ ไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเลยโดยกำหนดให้การปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้น บรรยากาศของปี 2549 เป็นปีฐาน
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจทั้งหมดระหว่างปี 2549-2563 เฉพาะสาขาในประเทศไทยที่เทสโก้ โลตัสคำนวณไว้ คาดว่าจะมีการปลดปล่อย ก๊าซคาร์บอน 1,502,956 ตัน หากต้องลดลง 50% ก็จะต้องทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือเพียง 752,478 ตัน
“7 แสนกว่าตันคาร์บอนคือสัดส่วน ที่เราต้องลด พูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องหาวิธี ว่า ทำอย่างไรไม่ให้ปริมาณคาร์บอนจำนวนนี้ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่ได้หมายความเราไม่ใช้พลังงาน แต่ต้องหาวิธีลด ซึ่งโดยปกติการใช้พลังงานซึ่งมีผลต่อการปลดปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเจริญเติบโตของธุรกิจ ต้องใช้เวลาและเทสโก้กรุ๊ปก็ให้เวลาถึง 14 ปี ทำให้พันธกิจส่งผล ต้องบอกว่าค่อนข้างยาก” สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ผู้อำนวยการฝ่ายอสังหา ริมทรัพย์ เทสโก้ โลตัส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าว
สำหรับเทสโก้ โลตัสในเมืองไทย ถือว่ามีการดำเนินงานค่อนข้างดีในด้านนี้ เพราะเริ่มต้นทำตัวกรีนมาก่อนที่เทสโก้ กรุ๊ป จะประกาศพันธกิจนี้เสียอีก โดยเริ่มพัฒนา กรีนสโตร์แห่งแรกในเมืองไทย หรือสโตร์ประหยัดพลังงานแห่งแรกที่สาขาพระราม 1 ตั้งแต่ปี 2547
กรีนสโตร์เป็นหนึ่งในบทเรียนเพื่อหาวิธีการลดการใช้พลังงานในร้านของเทสโก้ โลตัสในไทย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและลักษณะอากาศของความเป็นเมืองร้อน ซึ่งแตกต่างจากสาขาของบริษัทแม่ในอังกฤษ และแตกต่างจากสาขาของเทสโก้ในอีกหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วโลก หนึ่งสาขาของเทสโก้ โลตัสในไทยใช้พลังงานเฉลี่ยกว่า 6 หมื่นหน่วยต่อเดือน เมื่อคำนวณออกมาก็คือจำนวนการปลดปล่อยคาร์บอน
“วิธีคิดง่ายๆ ลดคาร์บอนก็คือลดการใช้พลังงาน เพราะยิ่งใช้พลังงานมากเท่าไรก็สร้างคาร์บอนในชั้นบรรยากาศมาก เท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามศึกษา คิดค้นและริเริ่มอยู่เสมอคือการหาวิธีลดการใช้พลังงานควบคู่ไปกับการหาพลังงาน ทดแทนมาใช้งานในสโตร์”
ปี 2547 กรีนสโตร์สาขาแรกของเทสโก้ โลตัสที่พระราม 1 เกิดขึ้นเพื่อหา Initiative ในการลดการใช้พลังงานในร้าน สิ่งที่ได้มาตอนนั้น ได้แก่ ทำให้แสงสว่าง เข้าไปในร้านมากขึ้น ทำการเปลี่ยนจากใช้ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ธรรมดามาเป็น T8 ที่ประหยัดพลังงานมากกว่า และอัพเกรดเป็น T5 ในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดแค่ที่พระราม 1 แต่นำไปใช้กับทุกสาขาเท่าที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ทำให้หลอดไฟ T5 กลายเป็นรูปแบบการประหยัดพลังงานมาตรฐานในร้านค้าปลีกอื่นๆ ด้วย
“เราเป็นค้าปลีกรายแรกในเมืองไทย ที่ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม พอเปิดกรีนสโตร์สาขา สองที่ศาลายา เราก็เป็นค้าปลีกรายแรกที่นำกังหันลมผลิตไฟฟ้าเข้ามาใช้ ดีไซน์สโตร์ ให้มีน้ำล้อมรอบเพื่อลดความร้อนที่ส่งผลต่อการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ”
สมพงษ์บอกว่า นอกจากหาวิธีการลดการใช้พลังงานโดยตรงในสาขาเพื่อตอบ โจทย์ ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่เทสโก้ โลตัส คิดและพยายามทำเพื่อส่งเสริมความเป็นมิตรด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอดนับแต่เปิดกรีนสโตร์แห่งแรก เช่น การพัฒนาไบโอดีเซล (ปี 2550) ออกฉลากผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) และฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภค มีส่วนร่วมรณรงค์ใช้ถุงผ้าโดยสมนาคุณเป็น แต้มสะสมให้ลูกค้า แม้แต่ทำโครงการปลูกป่า เป็นต้น เรียกว่าพยายามไปสู่เป้าหมายในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุดทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
“สิ่งสำคัญที่เราพยายามปลูกฝังมาตลอดคือ การลดการใช้พลังงานหรือลดการ ปลดปล่อยคาร์บอนไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกในการ ใช้พลังงาน การทำงาน นอกจากทำเรื่องพวกนี้เรายังอบรมพนักงานให้รู้จักการใช้พลังงานอย่างรู้ค่า การเปิดปิดไฟอย่างถูกต้อง รวมถึงส่งเสริมให้ลูกค้าใช้พลังงานหรือ ให้ช่วยกันรักษาโลก โดยสร้างแรงจูงใจที่ให้ลูกค้าได้ประโยชน์เช่นได้แต้มสะสมเมื่อใช้ถุงผ้ามาซื้อของ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม ธีรรัตน์ สุขดี ผู้จัด การร้านตลาดโลตัส สาขาบางพระ ให้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคว่า ณ วันนี้มีผู้บริโภคที่เริ่มถามถึงแนวทางที่เทสโก้ โลตัส ทำในสาขาและให้ความสนใจมากพอๆ กับลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกใดๆ แต่เท่าที่เธอสัมผัสได้ลูกค้ามีแนวโน้มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เวลาชอปปิ้งก็จะสำรวจดูสิ่งต่างๆ ที่บริษัทนำมาใช้ในสโตร์ ตามสื่อต่างๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือจาก ข้อมูลที่บริษัทเผยแพร่อยู่ในร้าน บางรายก็สอบถามถึงรายละเอียดของวิธีการต่างๆ ที่ใช้อยู่ในร้านอย่างสนใจ
ตลาดโลตัส สาขาบางพระ เป็นสาขาแรกของเทสโก้ โลตัสที่ประกาศเป็นสโตร์ปลอดคาร์บอน หรือ Zero Carbon Store
สโตร์ปลอดคาร์บอนในนิยามของเทสโก้ โลตัสคือ เป็นร้านที่เมื่อนำการใช้พลังงานประเภทที่ปลดปล่อยคาร์บอนมาคำนวณรวมกันแล้วนำไปเทียบกับปีฐาน ส่วนที่เกินมานั้นคือเป้าหมายที่ต้องลดการใช้พลังงานลงให้ได้
“3 ตัวหลักที่เราใช้ในการคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอน คือ 1-ไฟฟ้า ได้แก่ ระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบทำความเย็น และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ 2-น้ำยาระบบทำความเย็นของตู้แช่ประเภทต่างๆ และ 3-ก๊าซ LPG สำหรับการหุงต้ม และเตรียมอาหาร พอรู้ปริมาณเราก็ไปหามาตรการประหยัดและลดพลังงาน ลดมลภาวะเช่นเรื่องสารทำความเย็นก็เท่ากับลดการปล่อยก๊าซแล้วในขั้นตอนแรก จากนั้นเมื่อเราหาพลังงานทดแทนได้มากกว่าหรือเท่ากับพลังงานที่ใช้ไป จึงเท่ากับเราสามารถดำเนินการได้โดยการปลดปล่อยก๊าซ คาร์บอนเท่ากับศูนย์ นี่คือนิยามของสโตร์ปลอดคาร์บอน”
ประเสริฐ กำธรกิตติกุล ผู้จัดการอาวุโส-พลังงาน อธิบาย เขาย้ำด้วยว่าสโตร์นี้เป็นสโตร์ปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย
“สาขานี้ขายไม่ค่อยดี เปิดมาได้ปีกว่าแล้ว สาขาที่เป็นกรีน คนก็ไม่ค่อยเข้า ขายไม่ค่อยได้” เสียงจากผู้คุ้นเคยกับการซื้อของในเทสโก้ โลตัสกระซิบบอก
ขณะที่ข้อมูลจากสมพงษ์บอกว่า สาขาที่เป็นกรีนจะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าและมีระยะเวลาคืนทุนนานกว่าสาขาปกติเกือบ 3 เท่าอีกด้วย
กรณีสาขาบางพระใช้เวลาดีไซน์นานเป็นปี ก่อสร้างเสร็จใน 90 วัน สำหรับพื้นที่รวม 1,200 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ขาย 700 ตารางเมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 147 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในโครงการจำนวน 44 ล้านบาท คำนวณแล้วต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนในส่วน ของสโตร์นานถึง 18 ปี ขณะที่สโตร์ขนาดเดียวกันทั่วไปใช้แค่ 5-6 ปี ระบบโซลาร์เซลล์ 17 ปี หลอดประหยัดไฟ LED 13 ปี และระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า 2 ปี
“ไซส์ตลาดถ้าปกติจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40-50 ล้านเท่านั้น ที่เราทำให้ที่นี่เป็นสโตร์ปลอดคาร์บอนก็เพราะต้อง การรวม initiative ทั้งหมดมาไว้ที่นี่ แล้วใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ เปิดกว้างให้ดูฟรีสำหรับ ทุกหน่วยงาน รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ในกลุ่มเทสโก้ด้วยกันเอง” สมพงษ์กล่าว
จะว่าไปก็อาจจะคิดเสียว่านี่เป็นการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา
บางบทเรียนจากกรีนสโตร์ที่ผิดพลาดก็ถูกปรับและทดลองใหม่ที่ซีโร่คาร์บอนสโตร์แห่งนี้ เช่น กรณีกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ศาลายาซึ่งเลือกใช้กังหันแบบความเร็วสูงนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อมา เจอแรงลมเมืองไทยที่พัดเบากว่าทางยุโรปทำให้ประสิทธิภาพของไฟฟ้าต่ำ ที่บางพระ เลยเริ่มทดลองใหม่ ติดตั้งกังหันความเร็วต่ำเพียงตัวเดียว กังหันผลิตโดยคนไทยแบบเดียวกับที่ใช้ในโครงการพระราชดำริชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี หากทดสอบแล้วได้ ผลดีจะติดตั้งเพิ่มเพื่อผลิตพลังงานต่อไป
วิธีการประหยัดพลังงานในกรีนสโตร์ และซีโร่คาร์บอนสโตร์เรื่องใดที่ประสบผลสำเร็จดี เทสโก้ โลตัสก็จะนำไปใช้ในสาขา ต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 661 สาขาในไทย เท่าที่ปรับใช้ได้ เช่น กรณีสาขาสร้างใหม่การดีไซน์ให้ประหยัดพลังงานก็ทำได้ตั้งแต่เริ่ม ส่วนกรณีของโลตัส เอ็กซ์เพรสซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเช่าพื้นที่อาคารพาณิชย์ ก็จะมีข้อจำกัดด้านการอออกแบบ สิ่งที่ปรับใช้ได้ก็อาจจะมีเพียงเรื่องของอุปกรณ์ไฟฟ้าและสารทำความเย็น เป็นต้น
สาขาของเทสโก้ โลตัสประเภทที่มีมากที่สุด ได้แก่ โลตัส เอ็กซ์เพรส 449 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต (สาขาขนาดใหญ่สุด) 90 สาขา ตลาดโลตัส (สาขาที่มีพื้นที่ ประมาณ 1,000 ตารางเมตร) 76 สาขา และร้านคุ้มค่า 33 สาขา
ดังนั้นไม่ใช่ทุกสาขาที่จะมีภาพของกรีนสโตร์จนเป็นโชว์เคส แต่ทีมงานเทสโก้ในไทยค่อนข้างมั่นใจว่าแม้ภารกิจนี้จะยาก แต่การทุ่มเทอย่างต่อเนื่องก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้ทุกสาขามีส่วนร่วมกันผลักดันพันธกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|