|
“ผมไม่เคยคิดทำธุรกิจแบบครอบครัว...”
โดย
สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“สยามฟิวเจอร์ตั้งแต่วันแรกไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวไม่เคยคิดด้วย ถ้าคนทำธุรกิจ ไม่มีใครอยากให้เป็นธุรกิจครอบครัว อยากให้เป็นของเราคนเดียว คุณเอาความจริงหรือโกหก ถ้าเอาเรื่องโกหกก็ต้องบอกว่ารักกัน อยากเป็นแฟมิลี่ อยากสร้างอาณาจักร แต่เรื่องจริงอยากเป็นของฉันคนเดียว ฉันสั่งได้ เงินเข้ากระเป๋าฉันคนเดียว ถ้าไม่มีเงิน ควรชวนคนอื่นมาร่วม ถ้าชวนได้อย่าชวนพี่น้อง เพราะถ้าทะเลาะกันตัดกันไม่ได้ พาร์ตเนอร์ยังตัดได้”
นพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตอบนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ อย่างตรงไปตรงมาทันทีเมื่อถูกถามว่าจะดึงครอบครัวเข้ามาช่วยงานในบริษัทหรือไม่
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นพพรมาจากครอบครัวขนาดใหญ่ ปู่ คือ เสียง วิฑูรชาติ เป็นเจ้าของธุรกิจตลาดสดมีนบุรีซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อให้ลูก 11 คน พ่อของนพพรเป็นลูกชายคนโต แต่ออกมาทำรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่นพพรเป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 4 คน เคยมาช่วยงานบริหารตลาดมีนบุรีหลังจากลาออกจากบริษัท เอสซีที คอมพิวเตอร์ในเครือปูนซิเมนต์ไทย ทุกวันนี้แม้ไม่มีตำแหน่งในตลาด แต่ยังช่วยเป็นที่ปรึกษาบ้างและมีน้องสาวเข้าไปเป็นผู้บริหารในฐานะรองผู้จัดการตลาดมีนบุรี
การเติบโตในกิจการแบบธุรกิจครอบครัวมาเกือบตลอดชีวิต จึงสอนบทเรียน จุดอ่อนจุดแข็งอย่างมากมาย
“ผมมีแนวทางทำธุรกิจ ผมต้องการคนเก่ง มืออาชีพ บริษัทโตถึงจุดหนึ่ง เราอาจไม่เหมาะแล้ว เราอาจแก่แล้ว เราต้องเอาคนอื่นมา วันนี้ผมมีคุณวิเชฐ ตันติวานิช เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผมเป็นประธานกรรมการบริหาร ผมรับผิดชอบเรื่องที่ผมถนัด ดูคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ เอาประสบการณ์ ใช้เวลาสร้างสรรค์คอนเซ็ปต์ใหม่ๆ หาพันธมิตรดีๆ สร้างเมกา บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วมีเรื่องเยอะ เรื่องหุ้น นักลงทุน นโยบายการเงิน บุคคล ต้องหาคนเก่งๆ เข้ามาทำ ถ้ามองเป็นครอบครัว คุณทำแบบนี้ไม่ได้”
เวลากว่าชั่วโมงที่นพพรบอกเล่าแนวคิดการทำธุรกิจ เขาเริ่มต้นการสนทนาด้วยการชงกาแฟจากเครื่องอัตโนมัติที่วางประจำในห้องทำงานให้ทีมงานนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวที่สร้างความประทับใจให้คนแรกพบเสมอ
ถ้าฟังแนวทางการสร้างความเติบโตและกลยุทธ์การบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของนพพรหรือสยามฟิวเจอร์ ทั้ง 4 ประการ เริ่มจากความชัดเจนในการทำธุรกิจ (Clear & Focus Business Model) การมีวินัยทางการเงิน (Good Governance) การบริหารกระแสเงินสด (Cash Flow Management) และการให้ความสำคัญกับบุคลากร ซึ่งเทียบความสำคัญทุกข้อแล้ว “คน” สำคัญที่สุด
“ผมวางเป้าให้สยามฟิวเจอร์ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านศูนย์การค้าชัดเจน ผมไม่ได้ทำคอนโดมิเนียม โรงแรมหรือซื้อเรือยอชต์ และไม่ได้มองแค่คอมมูนิตี้ ผมขยายไปทำเมกามอลล์ แต่เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราต้องมีพันธมิตรมากขึ้นและต่างประเภทมากขึ้น เป็นการร่วมพัฒนาและเป็นอินเตอร์ด้วย เราทำธุรกิจใหญ่แต่เป็นองค์กรเล็กๆ ที่มีความรัก พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เป็นคนรุ่นใหม่ ผมให้พนักงานมีหุ้นของสยามฟิวเจอร์เพื่อให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมและใส่ใจกับการทำงาน ทุกวันนี้ผมต้องสัมภาษณ์พนักงานทุกคน อย่างน้อยดูตัว เพราะเราเชื่อในองค์กรและสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด คือ คน”
แต่ทั้งหมดทั้งปวง เขาไม่เคยคิดจะแตกธุรกิจให้รุ่นลูก รุ่นหลาน เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่มีผู้บริหารในตระกูลเต็มบริษัท
นพพรว่า “สมบัติผลัดกันชม เราทำของเรา หมดก็หมดกัน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|