|
เทรนด์เซตเตอร์ จาก “ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์” สู่ “ไฮบริดมอลล์”
โดย
สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
นพพร วิฑูรชาติ บางคนว่าเขาเป็นเจ้าพ่อศูนย์การค้า บางคนว่าเป็นพ่อมดร่ายเวทมนตร์ เพราะเปิดโครงการในทำเลไหน เหมือนมาได้จังหวะ ถูกที่ ถูกเวลา โดนกลุ่มเป้าหมายและปลุกกระแสไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ๆ ไม่รู้จบ
นักธุรกิจหนุ่มที่เศรษฐีรุ่นใหญ่อย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องส่งเทียบเชิญเพื่อขอดูตัว
ผู้ชายคนนี้ก่อตั้งบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในวัยไม่ถึงสามสิบเมื่อปี 2537 เริ่มจากทุนก้อนแรก 10 ล้านบาท ปัจจุบันกลายเป็นลีดเดอร์ในวงการธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ มีโครงการอยู่ในมือ 31 แห่ง เมื่อรวมพื้นที่เช่าของอภิมหาโครงการ “เมกาบางนา” ที่จะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2555 สยามฟิวเจอร์ จะมีพื้นที่เช่าทั้งหมดมากกว่า 400,000 ตารางเมตร มูลค่าสินทรัพย์ เติบโต 20 เท่า
ที่สำคัญโครงการทั้ง 31 แห่ง แม้ในภาพรวมคือศูนย์การค้า ชุมชน หรือคอมมูนิตี้มอลล์ แต่แตกรูปแบบ แนวคิดและจุดขายอย่างหลากหลาย เหมือนพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องราววิวัฒนา การของคอมมูนิตี้มอลล์ในไทย เริ่มจากศูนย์การค้าข้างบ้านหรือ “เนเบอร์ฮูดเซ็นเตอร์” มีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวขายหลัก, คอนวีเนียน เซ็นเตอร์ที่เน้นร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัสเอ็กซ์เพรส ร้านอาหาร, “เพาเวอร์เซ็นเตอร์” ที่รวมคู่ค้าหลักรายใหญ่มากกว่า 1 ราย เช่น โฮมเวิร์ค อินเด็กซ์ บิ๊กซี เมเจอร์
จากนั้นเข้าสู่ยุคสร้างสีสันการใช้ชีวิตเป็น “ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์” พัฒนาใส่ความบันเทิง หรือ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์” มีโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ โรงละคร จนกระทั่ง เปิด “เฟสติวัลวอล์ค” ย่านนวมินทร์ ซึ่งถือเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ เต็มรูปแบบ หรือ “อาร์ตวิลเลจ” ก่อนมาฉีกความคุ้นเคยเดิมๆในจังหวะที่ได้ผู้ร่วมทุนต่างชาติอย่าง “อิเกีย” เปิด “ไฮบริดมอลล์” พื้นที่ขนาดใหญ่ 254 ไร่ รวมร้านค้าปลีกเกือบ 800 ราย หลากหลายรูปแบบเข้ามาอยู่ในศูนย์การค้า “เมกาบางนา”
“นพพร” ยังมีฝันอีกชุดใหญ่เพื่อต่อจิ๊กซอว์บิ๊กโปรเจ็กต์ “เสนามาสเตอร์แพลน” รูปแบบ “เมืองใหม่” ที่ร่วมพัฒนากับกลุ่ม “ที.ซี.ซี.แลนด์” ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ในย่านเอกมัย-รามอินทราและเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่ขนาดมหึมา 320 ไร่ โดยที.ซี.ซี.แลนด์ พัฒนาพื้นที่โครงการที่อยู่อาศัยและโรงแรมขนาดใหญ่ ส่วนสยาม ฟิวเจอร์จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งศูนย์การค้า ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ และเอ็นเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์ ซึ่งนวมินทร์ซิตี้และเฟสติวัลวอล์ค เป็นจิกซอว์สองตัวแรก เพื่อทดสอบตลาดก่อนขยาย สู่แผนขั้นต่อไป
หากดูแนวคิดทางธุรกิจของนพพรมีจุดเริ่มต้นจากการทำ “ตลาดสดติดแอร์” ร่วมกับบริษัท สยามจัสโก้ของญี่ปุ่นเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ซึ่งถือเป็นความเฮงที่บังเอิญมาเจอกับความเก่งของเขา เพราะสยามจัสโก้ต้องการขยายธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย และมองทำเลแถวๆ มีนบุรี ขณะที่ที่ดินแถบนั้นแทบทั้งหมดอยู่ใน มือ เสียง วิฑูรชาติ ปู่ของนพพร และเขาลาออกจากบริษัท เอสซีที คอมพิวเตอร์ในเครือปูนซิเมนต์ไทย มาช่วยครอบครัวบริหารตลาด มีนบุรี
ปฐมบทจึงเกิดขึ้นเมื่อนพพรได้เรียนรู้วิชาความรู้ด้านการค้าปลีกจากจัสโก้ เดินทางไปฝึกงานด้านซูเปอร์มาร์เก็ตถึงประเทศ ญี่ปุ่น เขามองเห็นความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าจึงเสนอให้จัสโก้เช่าที่ดินเปิดสาขาในไทย ปรากฏว่า จัสโก้มีนบุรีกลายเป็นซูเปอร์ มาร์เก็ตที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น กวาดยอดขายเกินเป้าหมายและด้วยวิสัยทัศน์ของคนหนุ่มรุ่นใหม่ เปิดรับความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่เถ้าแก่แบบเก่าๆ ทำให้จัสโก้อยากลุยต่อกับนพพร เขาบอกว่านี่คือ โอกาส
นพพรตัดสินใจดึงเพื่อนรุ่นพี่ที่ปูนซิเมนต์ไทย คือ พงศ์กิจ สุทธพงศ์ จัดตั้งบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับจัสโก้ขยายศูนย์การค้าที่มีซูเปอร์ มาร์เก็ตเป็นแม่เหล็กหลักอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแก่ประสบการณ์และอยากฉีกกรอบออกจากคู่มือค้าปลีกของญี่ปุ่น บวกกับแรงบันดาลใจที่ได้ไปเห็นศูนย์การค้าฮอว์ตันพลาซ่าในเมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์แรกๆ ของอเมริกา เน้นศูนย์การค้าแบบเปิด (Open Air) และใส่ดีไซน์สร้างแรงดึงดูดลูกค้า
พัฒนาการธุรกิจของสยามฟิวเจอร์ จึงเปลี่ยนจากตึกสี่เหลี่ยม กล่องๆ แบนๆ เริ่มมีสีสันการดีไซน์และมีคู่ค้าหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่จัสโก้ แต่หมายถึงซูเปอร์ มาร์เก็ตเกือบทุกค่ายทั้งท็อปส์ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส วิลล่า ซึ่งจัสโก้ ต้องพัฒนารูปแบบทันสมัยมากขึ้นและแตกแบรนด์ใหม่ “แม็กซ์แวลู” เข้ามาเล่นในตลาดด้วย
หลังจากนั้นการฉีกกรอบจากตำราของญี่ปุ่น โครงการของ สยามฟิวเจอร์กว่าจะคลอดรูปแบบและแนวคิดล้วนมาจากประสบ การณ์ โดยเฉพาะการเดินทางไปประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่ชอบตระเวนกินร้านดังๆ ทั่วโลก ชอบดื่ม ชอบเที่ยว ชนิด ที่ว่า ในปีหนึ่ง 365 วัน แบ่งเวลาเดินทางไปต่างประเทศถึงครึ่งปี
เขาคุยกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ว่า ไปมาทุกทวีปตั้งแต่ ขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้
“ผมไปญี่ปุ่น ไปยุโรปปีละสามสี่หน ไม่ได้ไปทัวร์แต่ขับรถไปสถานที่ต่างๆ เอง ผมพูดญี่ปุ่น พูดฝรั่งเศสได้ ขับไปโน่นไปนี่ บางทีไปประชุม พบนักลงทุน คุยกับสถาปนิก ดูศูนย์การค้าที่ได้รางวัล ได้ทั้งงาน นอกงานได้ไลฟ์สไตล์มาปรับใช้กับศูนย์ของเรา ผมไปมาแล้ว ขั้วโลกเหนือ ไปปาตาโกเนีย อเมริกาใต้สุดปลายโลก บินไปชิลี บินลงไปเรื่อย อีกนิดเดียวถึงแอนตาร์กติกา มีเพนกวินจักรพรรดิเล่นน้ำ ไกลสุดขอบโลก ผมอยากรู้ว่าไกลสุดแค่ไหน”
แผนต่อไป นพพรตั้งใจจะเดินทางไปคาบสมุทรคัมชัตกา ประเทศรัสเซีย ซึ่งเล่าขานว่าเป็นดินแดนธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ของโลก ล้อมรอบด้วยธารน้ำแข็งและภูเขาไฟที่พร้อมจะระเบิดทุกเมื่อมากกว่า 30 ลูก และยังเป็นอาณาจักรของหมีสีน้ำตาลจำนวนนับหมื่นตัว
“ปีที่แล้ว ผมไปลาว หลวงน้ำทาเหมือนเมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ผมเอา BMW 325i convertible ขับเปิดประทุน 200 กว่ากิโล เมตร วิ่งสาย R3A ไปบ่อหาน ประเทศจีน โอ้โห รถพัง รู้เลยว่าทำไมต้องโฟร์วีล เพราะถนนเส้น ฝั่งไทยมีหินหล่นตลอดทาง ยางแตก บ้านเรือน แถวนั้นไม่มีไฟฟ้า มืดสนิท สุดท้ายผมต้องทิ้งรถไว้ที่ด่านแล้วต่อแท็กซี่เข้าประเทศจีน โกลเด้น ซิตี้ นั่นคงเป็นรถสปอร์ตคันแรกที่ขับในหลวงน้ำทา อย่างเท่”
ถามว่า เหลือที่ไหนยังไม่ได้ไป
เขาตอบว่า ยังไปไม่ถึงแอนตาร์กติกา
นพพรบอกว่ารูปแบบศูนย์ของสยามฟิวเจอร์ฯ มาจากการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ ทั่วโลกบวกกับความรู้ เพราะการทำศูนย์การค้า เป็นโนว์ฮาว วางส่วนผสมของผู้เช่า ทำวิจัยด้านการตลาดกลุ่มลูกค้า ส่วนการออกแบบและดีไซน์ปรับใช้จากต่างประเทศให้เหมาะกับคนในประเทศ เพราะศูนย์การค้าถือกำเนิดจากสหรัฐ อเมริกาแล้วญี่ปุ่นเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนเอเชีย ศูนย์การค้าของญี่ปุ่นจึงเป็นการปรับใช้ที่ใกล้เคียงกับเมืองไทยมาก ที่สุด ซึ่งศูนย์การค้าของสยามฟิวเจอร์ในยุคแรกๆ เดินตามตำราของญี่ปุ่น จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนจากศูนย์การค้ารูปแบบเนเบอร์ ฮู้ดเซ็นเตอร์ หรือมอลล์ใกล้บ้าน มาเป็นไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์แห่งแรก โดยกระโดดเข้าใจกลางเมืองในซอยทองหล่อ
เวลานั้น เขาและทีมสถาปนิก บริษัท คอนทัวร์ จำกัด ซึ่ง มีเพื่อนร่วมสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังคือ สุทธิศักดิ์ สุทธิสวาท เป็นคีย์หลัก ต้องนั่งขบโจทย์ข้อที่ยากที่สุด เพราะเป็น การบุกเข้าเมืองครั้งแรกของสยามฟิวเจอร์ แม้ “ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์” ตามความหมายของสภาศูนย์การค้าโลก (ICSC: International Council of Shopping Centers) คือ ศูนย์แบบเปิดอยู่ใกล้ชุมชนที่มีฐานะ มีรสนิยม และมีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต ซึ่งย่านทองหล่อลงล็อกหมด แต่รูปแบบของไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์แห่งแรกจะเป็นอย่างไร
ปี 2545 นพพรเผยโฉมไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์สาขาแรก “มาร์เก็ตเพลสทองหล่อ” โดยใช้กลิ่นอายตะวันออกจับตลาดคนญี่ปุ่น แม้ดูเหมือนยังไม่เต็มร้อย แต่อาศัยจังหวะการเข้าพื้นที่อย่าง ถูกที่ ถูกเวลา ประสบความสำเร็จจนต้องขยายพื้นที่ทะลุทองหล่อ ซอย 4 เพราะตอบสนองตลาดได้เหมาะเจาะ ทั้งคนญี่ปุ่นที่อพยพ เข้ามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและชาวตะวันตกที่คุ้นเคยกับศูนย์ การค้าประเภทนี้ ผลักดันให้สยามฟิวเจอร์ยึดครองพื้นที่ซอยทองหล่อชนิดไร้คู่แข่ง โดยเฉพาะการเปิด “เจ อะเวนิว” ที่ซอยทองหล่อ 15 ในเวลาต่อมา ซึ่งนพพรเคาะคอนเซ็ปต์ “แฟลกชิพ สโตร์” ดึงร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง “โอโตยะ” เข้ามาเปิดสาขาแรก สร้างพื้นที่กิจกรรม ออกแบบอาคารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ใส่น้ำพุเพิ่มความสดชื่นให้ลูกค้า
การเปิดตัว “เจ อะเวนิว” ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างแรงส่งให้สยามฟิวเจอร์เกิดอย่างโดดเด่น ในตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้นแบบที่ผู้ประกอบการ หลายค่ายหันมาผุดคอมมูนิตี้มอลล์ที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์” คำว่า “อะเวนิว” ถูกตั้งชื่อลอกเลียน มากที่สุดด้วย
“สิ่งที่ผมต่างจากคนอื่น คือเราไม่ได้มองว่าเราทำธุรกิจเพื่อเงิน เราทำธุรกิจศูนย์การค้าอย่างเดียว เรายอมเป็นเจ้าเล็กๆ ทำศูนย์การค้าขนาดกลางเป็น ส่วนใหญ่ก่อนเพราะเป็นตลาดที่ว่าง เราไม่เหมือนผู้พัฒนารายอื่นๆ เราจะสร้างพื้นที่ให้ชุมชนก่อน สร้างสถานที่ให้ผู้คนมาพบปะกัน มาใช้ชีวิตร่วมกันแล้วค่อยเติมการค้าเข้าไป สร้างพื้นที่การค้า เพราะฉะนั้นเราต้องมีพื้นที่ มีสวน ที่จอดรถกว้างๆ ไม่เหมือนศูนย์อื่น”
ขณะเดียวกันอาจเป็นความโชคดีของสยามฟิวเจอร์ เพราะ จริงๆ แล้วมีผู้ประกอบการหลายค่ายทดลองทำคอมมูนิตี้มอลล์ก่อนหน้าเขาเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรีเมียร์ เซ็นทรัล แต่สุดท้าย ก็เบนเข็มไปทำศูนย์ขนาดใหญ่ กลายเป็นช่องว่างให้นพพรเจาะตลาดและใช้รูปแบบการขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นเงินกู้ก้อนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติค่าเงินบาทที่นักธุรกิจหลายรายต้องหยุดการเติบโต แต่สยามฟิวเจอร์กลับได้โอกาสที่ที่ดินราคา ตกต่ำผุดโครงการทั่วเมือง
“ช่วงแรกเป็นช่วงที่ผมต้องหาบิสสิเนสโมเดลที่ชัดเจน โชคดี ผมมาจากปูนซิเมนต์ไทย ได้แนวคิดจากการบริหาร การเลือกรับคน ตั้งแต่วันแรกและสร้างสินทรัพย์ทีละโครงการแล้วขยายสู่เมืองจนถึงจุดหนึ่งมองโอกาสมีอีกเยอะ แต่ธุรกิจนี้ใช้ทุนสูง สร้างศูนย์ทีร้อยล้าน จึงเป็นช่วงระดมทุน ผมจ้างที่ปรึกษาทางการเงินจดทะเบียนเข้าตลาดเอ็มเอไอ จดปีเดียวเจอสแตรจเตอจิคพาร์ตเนอร์ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ป เพิ่มทุนเป็น 500 ล้านบาท เข้าตลาดใหญ่ บิ๊กโกรทเลย ได้ทุน ได้พันธมิตร มีโรงหนัง จนเริ่มพัฒนาอีกขั้น มีผู้ร่วมทุนเป็นต่างชาติคือ อิเกีย เพราะแอสเสทใหญ่แล้ว เราสามารถมีผู้ร่วมทุนรายใหญ่ ทำศูนย์การค้าเมกาบางนาและถ้ามีโอกาสทางธุรกิจก็จะขยายต่อเนื่อง”
เมื่อถามถึงปัจจัยความสำเร็จทุกขั้นตอนและค้นพบพันธมิตร ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ป ที.ซี.ซี.แลนด์ หรือคู่ค้าอีกมากมายในศูนย์ และมีนักธุรกิจใหญ่ส่งเทียบเชิญไปพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดอยู่เสมอๆ
คำตอบออกมาทันที “เพราะผมเป็นคนดีไม่ใช่แค่คนฉลาด”
“สมัยนี้ เราทำธุรกิจรวยคนเดียวไม่ได้ เราไม่ได้ฉลาดกว่า คนอื่น คนโบราณหาว่าคนอื่นไม่รู้ ไปเอาเปรียบเขา เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ คลิกกูเกิลก็รู้แล้ว สิ่งที่ต่างคือความดี เขาอยากทำธุรกิจกับคุณ เขาจะรักคุณเพราะความดี ไมใช่ความฉลาด การมีเครือข่าย มีความ ซื่อสัตย์ ผมมองคู่ค้าที่ทำธุรกิจเป็น เหมาะกับทำเล เป็นบริษัทที่มีความซื่อสัตย์ มีวินัยทางการเงิน เราโตมาด้วยกัน มีหลายราย ที่มาเกิดกับผมและทำให้ผมโต”
ล่าสุด นพพรสร้างความแปลกใหม่อีกครั้งโดยเปิด “เฟสติวัล วอล์ค นวมินทร์ อาร์ต วิลเลจ” จุดนัดพบแฮงก์เอาต์ กิน เที่ยว และดื่มอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังถือเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ เต็มรูปแบบ โดยสร้างศูนย์เป็นเมืองที่ประกอบด้วยสถาปัตยกรรม จากหลายๆ สถานที่ในโซนยุโรป เช่น บ่อน้ำพุที่ทอดยาว สี่แยกในเมืองปารีส
เจษฏ์ บุญเรืองรอด Director of Corporate Identity Design บริษัท คอนทัวร์ จำกัด ในฐานะผู้ออกแบบโครงการ กล่าว กับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ว่า เฟสติวัลวอล์ค มีจุดต่างที่สามารถ ทำให้สนุกได้เต็มที่ เนื่องจากบริเวณนั้น สยามฟิวเจอร์มี “นวมินทร์ ซิตี้อะเวนิว” อยู่แล้ว และต้องการสร้างฝันค่อนข้างใหญ่ เพราะจาก การสำรวจข้อมูลทางการตลาดพบกลุ่มคนที่พร้อมที่จะใช้ชีวิต กิน เที่ยว ดื่ม ในบริเวณนั้นไม่ต้องอยู่ในเมือง องค์ประกอบพร้อมหมดย่านเกษตร-นวมินทร์เต็มไปด้วยผู้คนที่มีธุรกิจมั่นคงแล้ว นักสร้าง สรรค์ทั้งหลายทั้งแถบทาวน์อินทาวน์และแถบเสนา ซึ่งเป็นคนรุ่นที่สองที่สาม ทำอาชีพเชิงสร้างสรรค์จำนวนมาก เสาร์อาทิตย์มีแก๊ง ปั่นจักรยานเต็มถนน เหมือนซอยทองหล่อ เจ้าของพื้นที่เป็นคนมีไลฟ์สไตล์ ที่นี่อาจไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่เป็นคนผลิตชิ้นงาน ภาพยนตร์ โฆษณา ตัดต่อ นวมินทร์ซิตี้จึงเหมือนไม่พอสำหรับคนพวกนี้และ น่าจะมีสถานที่ให้เขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกันที่เรียกว่า “good quality night style”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สยามฟิวเจอร์กำลังผลักดันและสร้างตลาดใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นการหนีคู่แข่งที่ขยายศูนย์การค้าประเภทคอมมูนิตี้มอลล์อย่างรวดเร็ว อีกส่วนเป็นกระแสตลาด เพราะหลายพื้นที่อาศัยเพียง “ซูเปอร์มาร์เก็ต” และคู่ค้าที่มีกลุ่มเป้าหมาย ประเภทครอบครัวแบบเดิมๆ ไม่ได้
ในเวลาเดียวกัน กระแสความนิยมกินดื่มเริ่มพัฒนารูปแบบ มากขึ้น มีร้านไวน์ที่บริการอาหารมื้ออร่อยอย่าง “Tell me Wine” และ Noreste หรือร้านเบียร์สไตล์เบลเยียม “HOBS” ซึ่งเป็นกลุ่ม ยังสเตอร์ที่นำเสนอเบียร์ต่างจากเยอรมนี มีเบียร์เป็นร้อยชนิดและ เบียร์ทุกยี่ห้อต้องมีแก้วของตัวเอง เพื่อรสชาติที่ดีจากการริน จาก การแตกฟอง ซึ่งทั้งนพพรและสุทธิพันธ์ สถาปนิกคู่ใจ ต่างมีฝัน อยากให้ประเทศไทยมีจุดท่องเที่ยวชีวิตกลางคืนอย่างมีคุณภาพเหมือนในต่างประเทศ ไม่ใช่ซอกหลืบ การตัดสินใจเปิดอาร์ตวิลเลจ แห่งนี้เพราะเห็นสัญญาณความเป็นไปได้ โดยเฉพาะการเกิดกลุ่มธุรกิจดื่มกินของกลุ่มคนรุ่นใหม่และมีกลุ่มลูกค้ารออยู่แล้ว
นอกจากเฟสติวัลวอล์คที่กำลังสร้างจุดขายใหม่แล้ว อีกเดือนเศษๆ สยามฟิวเจอร์จะเปิดตัวโครงการเมกาบางนา ซึ่งเป็น การร่วมทุนกับบริษัท อิคาโน่ จำกัด เจ้าของเชนสโตร์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน “อิเกีย” ผ่านบริษัท เอสเอฟ ดีเวลอป เมนท์ จำกัด โดยสยามฟิวเจอร์ถือหุ้น 49% อิคาโน่ 49% และบริษัท เอส.พี.เอส.โกลเบิลเทรด จำกัด 2% มูลค่าลงทุนรวมมากกว่า 12,000 ล้านบาท
ตามแผน เมกาบางนาจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 5 พฤษภาคม หลังจาก “อิเกีย” นำร่องเปิดสโตร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยโครงการมีพื้นที่เช่ารวม 185,000 ตาราง เมตร จำนวนผู้ค้าเกือบ 800 ราย แบ่งเป็นผู้เช่าหลัก 94,000 ตาราง เมตร ได้แก่ อิเกีย โฮมโปร โรบินสัน เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ผู้เช่ารอง 35,000 ตารางเมตร ได้แก่ สปอร์ตเวิลด์ ชิครีพับบลิค เอทูแซด มัลติเอวี ฟิตเนสเฟิร์ส ทอยอาร์อัส เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส เวิร์คช็อป ซาร่า ทเวนตี้วันฟอร์เอฟเวอร์ เบรดทอล์กกรุ๊ป ไอทีซิตี้ ที่เหลือเป็นผู้เช่ารายย่อยอีก 56,000 ตารางเมตร
ถือเป็นชอปปิ้งมอลล์ระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรก ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดลูกค้าเป้าหมายต่อปีไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน จะสร้างรายได้เข้ากระเป๋าสยามฟิวเจอร์ในปีแรกประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท
นพพรพูดถึงการเปลี่ยนแนวจากศูนย์การค้าชุมชนมาเป็น ชอปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ว่า เนื้อหาไม่เปลี่ยน แต่เป็นการพัฒนาศูนย์ การค้าแบบ “ไฮบริด” จากเดิมมีเพียงรูปแบบเดียวในโครงการ เช่น เนเบอร์ฮู้ดเซ็นเตอร์ เพาเวอร์เซ็นเตอร์ แต่ตอนนี้มีแนวใหม่ คือ ยิ่งใหญ่ยิ่งดีและเอารูปแบบศูนย์มารวมกันอย่างเมกาบางนา ประกอบด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีเพาเวอร์เซ็นเตอร์ ห้างเอาท์เล็ต ร้านสเปเชียลตี้ และเพิ่มไลฟ์สไตล์เข้าไปด้วย
“ทุกอย่างอยู่ที่คอนเซ็ปต์และโลเกชั่น ขนาดที่ดิน เราได้พื้นที่ที่เป็นจุดตัดวงแหวน บูรพาวิถี ถนนบางนาตราด ผมต้องทำ คอนเซ็ปต์ใหม่ กินตลาดมากขึ้น มีแมกเน็ตมากขึ้น มีอิเกียที่ดึงลูกค้าได้ ในโลเกชั่นหนึ่งมีได้หลายคอนเซ็ปต์ ดูอย่างสยามจนถึงมาบุญครอง มีตั้งแต่แบบศูนย์เปิดแบบสยามสแควร์ ตึกแถวมาบุญ ครองที่เน้นแฟชั่นระดับกลางถึงธรรมดา นักศึกษา วัยรุ่น ก็อยู่ได้ จะเอาหรูแบบสยามพารากอน นักท่องเที่ยว คนทำงาน หรือเซ็นทรัลเวิลด์ แบบกลางๆ คนทำงานไม่ต้องหรูมาก หรือไปเกษร พลาซ่าขายเฉพาะแบรนด์เนม ไม่ต้องการคนเดินเยอะ สามสี่เจ้าอยู่ที่เดียวกันหมด”
ดังนั้น ทำเลไม่ได้เป็นเงื่อนไขเดียว อยู่ที่แนวคิดในการจับ กลุ่มลูกค้า ต่างจากธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรที่ต้องสร้างตามกลุ่มลูกค้า แต่ศูนย์การค้าในทำเลเดียวกันสามารถแยกตามกลุ่มลูกค้าได้
แน่นอนว่า ฝันของนักธุรกิจหนุ่มคนนี้ยังอีกยาวไกล เขาตั้ง เป้าขยายโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ทุกปีปีละ 1 แห่ง และวางแผน เปิดศูนย์การค้าเมกาในพื้นที่แถบชานเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีก 2 แห่ง งบลงทุนแต่ละสาขาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม “Trend Setter” จากเขา
“นพพร วิฑูรชาติ”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|