เปิดกำแพงมรกต: “เมี๊ยะ-วดี”

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

พม่าในวันนี้กำลังเกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ภาพการเดินเข้าสู่ถนนประชาธิปไตยหลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 มีการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ถือเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ตลอดแนวพรมแดน

นักวิเคราะห์มองว่าขณะนี้พม่าเปรียบเหมือนกระดานหมากรุกของโลกที่มหาอำนาจทั้งจากตะวันตกอย่างสหรัฐ อเมริกาและยุโรป รวมถึงจากตะวันออกคือจีน เป็นผู้เล่นหลัก

ท่าทีของชาติตะวันตกที่มีต่อพม่าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว (2554) ตามด้วยตัวแทนรัฐบาลอีกหลายประเทศแถบยุโรปที่เดินทางเยือนพม่ากันแบบถี่ยิบ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ

ประเมินกันว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าภายในกลางปีนี้ (2555) หลังใช้มาตรการนี้กดดันพม่ามานานหลายสิบปี ซึ่งจะทำให้พม่า ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงโควตาส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน จีนในฐานะผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือหลักแก่พม่า ก็กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่า หลังจากท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในพม่าหลายๆ ด้าน

แน่นอนว่า เกมหมากรุกบนกระดานนี้ย่อมมีผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น

“ขณะนี้รัฐสภาพม่ากำลังพิจารณากฎหมายส่งเสริมการลงทุน รองรับการลงทุนจาก ต่างประเทศอยู่ โดยอาจจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนานถึง 8 ปี ซึ่งน่าจะประกาศใช้ได้ อีกไม่นานต่อจากนี้”

Myo Nyunt Aung ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี (Myawadi Border Trade Zone) กล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ เป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังด่านเมียวดีถูกเปิดอย่างเป็นทางการขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปีที่แล้ว หลังถูกปิดมานานกว่า 1 ปี

“เมียวดี” หรือ “เมี๊ยะวดี” แปลว่ากำแพงมรกต (เมี๊ยะแปลว่ามรกต วดีแปลว่ากำแพง) สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียระบุว่า คนพื้นเมืองเรียกเมืองนี้ว่า “บะล้ำบะตี๋” ตั้ง อยู่ในรัฐกะเหรี่ยงตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เดิมประชากรส่วนใหญ่เป็นพม่า ต่อมาเริ่มมี ชาวจีน แขก กะเหรี่ยง มุสลิมเข้ามาค้าขาย จนขยายตัวเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นช่องทางการค้าไทย-พม่า ที่มีมูลค่าการค้าปีละหลายหมื่นล้านบาท

ล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมา (2555) ด่านฯ แม่สอด-เมียวดีมีมูลค่าการค้าเกิดขึ้น มากถึง 3,000 ล้านบาท สูงที่สุดในภาคเหนือ

เมียวดีจึงถือเป็น 1 ในพื้นที่เป้าหมายหลักในการพัฒนาของรัฐบาลพม่า

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขมูลการค้าผ่านด่านแม่สอด-เมียวดีที่ปรากฏในฝั่งไทยกับพม่า แตกต่างกัน เพราะตัวเลขการค้าผ่านศุลกากรเมียวดีตั้งแต่ปี 2006-2011 อยู่ในระดับสูงสุด เพียง 158.277 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2008-2009 เท่านั้น ต่างจากตัวเลขฝั่งไทยหลายเท่า

(อ่าน “แม่น้ำเมย: ลำน้ำหมื่นล้าน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ภายใต้นโยบายปฏิรูปประเทศพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม พม่าวางแผนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น 19 แห่งให้ครบทั่วทั้งประเทศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งการประมงและอื่นๆ โดยในปีนี้ (2555) พม่าจะประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจ พิเศษประมาณ 8 เขตก่อน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี-ผาอัน, มะละแหม่ง, ย่านลิน, เมืองท่าเรือชายฝั่งอันดามัน, ทวาย, เกาะสอง, ด่านเจดีย์สามองค์และกรุงเนปิดอ

ส่วนที่เหลืออีก 11 แห่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เริ่มมีผลอย่างเป็นทางการ แนวทางพัฒนาดังกล่าว จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิ้น 13 จุด แบ่งเป็นพรมแดนที่ติดกับจีน 4 จุด อินเดีย 2 จุด บังกลาเทศ 2 จุด ไทย 5 จุด ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจชายแดน จนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกิดขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท เช่น เขตเศรษฐกิจเจียก้าว ลุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ เต๋อหงของจีน ซึ่งติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ของพม่า ที่มีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เป็นต้น

(อ่าน “เต๋อหง” ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดสิ้นสุดถนนเมียวดี-กอกาเร็ก หรือกรุกกริก ช่วงแรกที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุง เพื่อเป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร

รัฐบาลพม่าให้สัมปทานแก่ 5 บริษัทเอกชนคือ บริษัท Asia Wealth, บริษัท Eden Construction, บริษัท Ngwe Sin Construction, บริษัท Shwe Nagar Min Construction และบริษัท Lah Construc-tion เข้ามาพัฒนาพื้นที่ 466 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,165 ไร่ ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้อายุสัมปทาน 30 ปี

(อ่าน “มิงกลาบา: เมียวดี” นิตยสาร ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ที่นี่จะเป็นศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออก ระหว่างพม่ากับไทยผ่านชายแดนเมียวดี-แม่่สอด ในลักษณะ One Stop Service รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการค้าพาณิชย์, ศุลกากร, สรรพากร, ธนาคารพาณิชย์, ตำรวจ และหน่วยตรวจคนเข้าเมือง มีการ นำระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มาให้บริการ นอกจากนี้ยังก่อสร้างโกดัง คลังสินค้าขึ้นมารองรับอีก 23 แห่ง อาคารพาณิชย์อีก 226 ยูนิต ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 125 ยูนิต

ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดียังบอกอีกว่า Myawadi Border Trade Zone จัดเตรียมพื้นที่บางส่วนที่จะใช้ก่อสร้างโรงแรม ที่พักอาศัย รวมทั้งห้องเย็นขึ้นมารองรับธุรกรรมทาง การค้า การท่องเที่ยวที่จะขยายตัวตามแนว ทางการพัฒนาเส้นทางคมนาคมแม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-บางกาน และจังหวัดกอกาเร็ก ซึ่งมีระยะทางช่วงแรกจาก เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี 17 กิโลเมตร

มีการปรับปรุงและโครงการก่อสร้าง เส้นทางสายใหม่ระยะทาง 28 กิโลเมตร จากบางกานจนถึงจังหวัดกอกาเร็ก รวม 45 กิโลเมตร งบประมาณ 1,114 ล้านบาท ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งมีบริษัทสี่แสงการโยธาของไทยชนะการประมูลรับเหมาก่อสร้างและกำลังคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีน่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไม่เกิน 2 ปีต่อจากนี้ พร้อมกับช่วงเวลาที่ถนนได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ จนรถยนต์สามารถวิ่งสวนทางกันได้ จากทุกวันนี้ ที่ต้องจัดให้การเดินรถเพื่อขนส่งสินค้าและผู้คน จากเมียวดีเข้าพื้นที่ชั้นในแบบสลับกันวันเว้นวันมาตลอด

ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น การเดินทางจากเมียวดีไปยังเมาะละแหม่งจนถึงกรุงย่างกุ้งจะทำได้ภายในวันเดียว เพราะมีระยะทางเพียง 400 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้พม่ายังเตรียมพื้นที่ด้านตะวันตกของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ไว้สำหรับพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต เบื้องต้นจะเปิดพื้นที่พัฒนาก่อน 950 เอเคอร์ หรือประมาณ 2,300 กว่าไร่ แต่สามารถขยายได้อีก 1,200 เอเคอร์ หรือไม่น้อยกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไม่เกิน 2 ปีต่อจากนี้เช่นกัน

“เราก็หวังว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีจะได้รับการพัฒนาเหมือนมูเซ-เจียก้าว โดยมีเป้าหมายดึงนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุน” Myo Nyunt Aung บอก

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก และติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งไทย จีน สิงคโปร์ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ทำหนังสือถึงผู้นำพม่า เพื่อ ขอเข้าไปลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีแล้วหลายราย

โดยแจ้งความประสงค์จะประกอบธุรกิจในพม่าทั้งขนาดเล็ก มีสัดส่วนประมาณ 60% ขนาดกลาง 26% และขนาดใหญ่ (อุตสาหกรรมหนัก) 18%

“เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมผาอันก็มีนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนแล้ว 8 ราย” ติน ติน เมี๊ยะบอก

นี่คือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่กำลังขึ้น ณ แนวรบ ด้านตะวันตกของไทย ซึ่งถือเป็นชุมทางฝั่งตะวันออกของพม่าที่ชัดเจนยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.