|

มิงกาลาบา-ซินจ่าว เมื่อ East มาบรรจบ West
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
การเปิดประเทศของพม่ามิเพียงมีผลกระทบต่อแกนอำนาจระดับโลกเท่านั้น แต่ในเวทีระดับรองลงมา กรอบความร่วมมือย่อยภายใต้กรอบใหญ่ของอาเซียนที่กำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า ก็ได้รับผลพวงด้วยเช่นกัน
บนรถบัสจากเวียดนามที่นำคณะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จาก 4 ชาติ อันประกอบด้วยพม่า ลาว ไทย และเวียดนาม กว่า 30 ชีวิต ซึ่งเข้า ร่วมโครงการ Structured Visit for Business to Business along EWEC หรือ B2B EWEC ที่สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) มหาวิทยาลัย ขอนแก่นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2554 เต็มไปด้วยสีสันตลอดการเดินทาง
ผู้ประกอบการจาก 4 ประเทศตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เหล่านี้ได้เข้าร่วมขบวนเจรจาจับคู่ธุรกิจภายใต้ การนำของ Madhurjya Kumar Dutta ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้จัดการโปรแกรม Trade & Investment Facilitation (TIF) ของ MI
เป็นสีสันของกรอบย่อยที่กำลังพัฒนาขึ้นสู่กรอบใหญ่ นั่นคือการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะมีผลอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 หรืออีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้
Thet Lwin Toh หรือแจ็คกี้ กรรมการผู้อำนวยการ MYANMAR NOVA International Trading Co,Ltd และ MYANMAR VOYAGE Co,Ltd และ Tran Van Trung หรือทุง ผู้อำนวยการ Golden Wings JSL ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ใจกลางกรุงด่าหนัง ของเวียดนาม ใช้โอกาสที่เข้าร่วมโครงการนี้ ร่วมกันวางโปรแกรมท่องเที่ยว เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนระเบียงเศรษฐกิจสายนี้อย่างจริงจัง
นอกจากเป็นเจ้าของกิจการ แจ็คกี้ยังเป็นกรรมการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม แห่งสหภาพเมียนมาร์ (The Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry: UMFCCI) อีกด้วย
ทั้งแจ็คกี้และทุงเลือกที่จะเกี่ยวก้อยกันไปนั่งที่เบาะแถวหลังสุดบนรถบัสโดยสารของ MI ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์
รถคันนี้ขับไปรับคณะ B2B EWEC ที่ประกอบด้วยนักธุรกิจ SMEs ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ทั้งพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม ซึ่งเพิ่งกลับจากการศึกษาดูงานในเวียดนามและลาว มาตามเส้นทางหมายเลข 9 ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 สะหวันนะเขต-มุกดาหาร เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถาบันฯ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทั้ง 2 นำแผนที่แนวเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจ EWEC ซึ่งเริ่มจากเมืองด่าหนังของเวียดนาม เข้ามายังลาวทางแขวงสะหวันนะเขต ก่อนจะข้ามฝั่งมาไทยทางสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ผ่าน จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ไปสิ้นสุดที่หน้าด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก รวมถึงแผนที่แหล่งท่องเที่ยวในพม่าขึ้นมาศึกษา
ตลอดจนหารือกันถึงโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ ขั้นตอนและพิธีการ การข้ามพรมแดน ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่าง 4 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน เพื่อวางแผนที่จะทำธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันเป็นการนำร่อง
เบื้องต้นทั้ง 2 พร้อมที่จะร่วมจัดคาราวานทัวร์ EWEC Link ประมาณ 50 คัน 100 คน ให้เป็นจริงขึ้นมาในช่วงต้นปีนี้ (2555) โดยอาจจะเริ่มต้นคาราวานจากด่าหนัง กวางตริ ลาวบาว สะหวันนะเขต มุกดาหาร ขอนแก่น แม่สอด เมียวดี ผาอัน Kyeikhtiyo (Golden Rock) พะโค กรุงย่างกุ้ง ก่อนกลับด่าหนังทางเครื่องบิน หรือในทางกลับกัน คือนั่งเครื่องบินไปยังกรุงย่างกุ้งก่อน แล้วเดินทางโดยรถทัวร์มาตามทางเดียวกัน มุ่งหน้ากลับเข้าด่าหนังก็ได้
EWEC Link แม้เป็นโครงการที่ริเริ่มจากแจ็คกี้กับทุงแต่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบ การตลอดแนวเส้นทางนี้ แสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการด้วย โดยที่เวียดนามซึ่งมีทุงคอยดูแล อยู่ที่ด่าหนัง ในลาวยังมีบริษัทท่องเที่ยวท้องถิ่นอีก 2-3 รายเข้าร่วมด้วย เช่น เซโปนทราเวล และสะหวันบ้านเฮาทัวร์ ในสะหวันนะเขต ส่วนในไทยมี VIP Siam Travel บริษัทนำเที่ยวในมุกดาหาร ราชาวดี รีสอร์ทในขอนแก่น รวมถึงผู้ประกอบการใน จ.พิษณุโลก และ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นต้น
“ด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดีที่ปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 เปิดขึ้น อีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ทำให้ปัญหาความปลอดภัยตามแนวเส้นทางในพม่าน่าจะดีขึ้น” แจ็คกี้กล่าว
เขาหวังว่า ถ้าคาราวานทัวร์นำร่องตามโครงการที่วาดไว้เป็นจริง หลังจากนั้นอีก 6 เดือน พวกเขาน่าจะสามารถพัฒนาโปรแกรมทัวร์ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะในอนาคตการเดินทางไปมาระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียนจะสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการเข้า-ออกเมือง ขณะที่เวียดนามก็เปิดให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว
ซึ่งต่อไปประเทศสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียนก็จะใช้นโยบายเดียวกัน อันจะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างกันเติบโตขึ้นแน่นอน
โครงการความร่วมมือระหว่างแจ็คกี้และทุง ถือเป็นรูปธรรมหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง การเปิดประเทศของพม่า
แสดงให้เห็นความสนใจของนักธุรกิจ ในประเทศต่างๆ ที่มีต่อพม่า ซึ่งปิดประเทศ มากว่า 20 ปี
สิ่งที่นักธุรกิจจากทุกชาติรับรู้เกี่ยวกับพม่า คือเป็นประเทศที่ยังอุดมด้วยทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ
ดังนั้น สภาพการณ์ในขณะนี้จึงไม่แตกต่างจากประโยคที่กล่าวว่า “ถนนทุกสายกำลังวิ่งสู่พม่า”
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันมากกว่า 1,000 กิโลเมตร จะแสวงหาโอกาสใดได้บ้าง จากสภาพการณ์เช่นนี้...
(อ่าน “พม่า จุดเปลี่ยนอาเซียน?” และ “สัญญาณเปิดประเทศ” เรื่องจากปกฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 และพฤศจิกายน 2554 รวมถึงเรื่อง “East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด” และ “มิงกลาบา: เมียวดี” ใน Indochina Vision นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 และเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www. gotomanager.com ประกอบ)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|