|

อินเดียในคมเลนส์ของ Homai Vyarawalla
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
เช้าวันที่ 15 มกราคม 2012 ท่ามกลางข่าวร้อนเย็นที่ลามไหล ชาวอินเดียทราบถึงการจากไปของ Homai Vyarawalla ในวัย 98 ปี แต่คนไม่มากนักที่ทราบว่าหญิงชราผู้นี้คือใคร จนเมื่อสื่อบางสำนักเริ่มนำภาพข่าวผลงานของเธอออกเผยแพร่ ซึ่งล้วนเป็นบันทึกบทตอนสำคัญๆ ทางการเมืองทั้งช่วงก่อนและหลังการประกาศเอกราช ชาวอินเดียจึงระลึกได้ว่า เธอคือช่างภาพข่าวหญิงคนแรกที่คนรุ่นเก่ารู้จักในนามแฝง 'Dalda 13'
Homai Vyarawalla เป็นชาวปาร์ซี เกิดเมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 1913 ในรัฐคุชราต แม้ครอบครัวค่อนข้างยากจน แต่บิดาผู้เป็นนักแสดงในคณะละคร เร่ก็สนับสนุนให้เธอเรียนจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ และเรียนสาขาจิตรกรรมในระดับอนุปริญญาที่ Sir J.J. School of Art อันมีชื่อ ของบอมเบย์ เดิมนั้นโฮไมสนใจแต่การเขียนรูปและดนตรี ขณะที่คู่หมั้นของเธอ Manekshaw Jamshetji Vyarawalla ซึ่งทำงานอยู่ฝ่ายบัญชีของหนังสือพิมพ์ Times of India สนใจการถ่ายภาพ กระทั่งวันหนึ่งชมรมนักศึกษาหญิงของวิทยาลัยที่โฮไมเรียนอยู่จัดไป ปิกนิกนอกสถานที่ โฮไมจึงอ้อนวอนขอยืมกล้องและ ขอให้คู่หมั้นสอนวิธีการวัดแสง แล้วกลับมาพร้อมกับภาพมุมเด็ดชุดใหญ่ มาเนกชอว์จึงเลือกภาพบาง ส่วนส่งไป Bombay Chronicle ภาพถ่ายของโฮไมก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1938
นับแต่นั้นมา การถ่ายภาพก็กลายเป็นงานอดิเรกที่โฮไมและมาเนกชอว์ใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมกัน คนคู่นี้มักตระเวนไปตามย่านชุมชนและงานเทศกาล พร้อมด้วยกล้อง Rolleicord หนึ่งตัว เพื่อเก็บภาพต่างมุมที่แต่ละคนสนใจ ในช่วงแรกโฮไมจะส่งภาพ ถ่ายของเธอไปตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ ภายใต้ชื่อมาเนกชอว์ เพราะงานถ่ายภาพโดยเฉพาะภาพข่าวในสมัยนั้นยังถือเป็นอาณาจักรของผู้ชาย กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บรรณาธิการของ The Illustrated Weekly of India ได้เริ่มให้งานโฮไมเป็นประจำทุกสัปดาห์ เธอจึงมีโอกาสริเริ่มงานแนว photo essay สื่อเล่าชีวิตอารมณ์ของคนต่างถิ่นต่าง อาชีพ ซึ่งถือว่าใหม่มากในยุคนั้น ทำให้ผลงานของเธอเป็นที่จับตามอง และโฮไมหันมาใช้นามแฝงในงานว่า Dalda 13
ทั้งสองแต่งงานและทำงานกันเป็นทีม โดยโฮไมถ่ายภาพและมาเนกชอว์รับผิดชอบงานส่วนห้องมืดทั้งล้างฟิล์มและอัดขยายรูป ต่อมาในปี 1942 ทีมสามีภรรยา Vyarawalla พร้อมด้วยลูกชายวัยสามเดือนต้องย้ายไปเดลีเมืองหลวง ในฐานะฝ่ายภาพ ประจำ British Information Service ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง โฮไมเล่าว่านอกเวลางานแล้วเธอยังสามารถตระเวนเก็บภาพในหัวข้อที่ได้รับมอบหมายจากนิตยสาร Onlooker ของอินเดีย รวมถึงนิตยสารหัวนอกอย่าง Time และ LIFE สำหรับแวดวง ช่างภาพเดลีในสมัยนั้นซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชาย ภาพผู้หญิงตัวเล็กผมตัดสั้นในชุดส่าหรี ปั่นจักรยานตัวปลิวมางานข่าว ถือเป็นเรื่องแปลกตา แต่ไม่ช้าความมุ่งมั่นในการทำงาน ภาพผลงาน และจรรยามารยาท ก็ทำให้โฮไมเป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพและแวดวงการเมืองของเดลี
โฮไมให้ความสำคัญกับมารยาทและจรรยาบรรณของช่างภาพ เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง News-Cameramen’s Association ของอินเดียและเคยเล่าว่า “เราเข้มงวดทั้งเรื่องจรรยาบรรณและ การแต่งกาย เวลาไปงานข่าวช่างภาพชายจะต้องสวม รองเท้าหุ้มส้นและใส่เชิ้ตติดกระดุมให้สุภาพ ส่วนตัวฉันเองจะใส่ส่าหรีเสมอ ไม่ใช่ซัลวาร์-กามีซ” เธอหมายถึงชุดเสื้อและกางเกงของสาวอินเดีย ซึ่งมาตรฐานสมัยนั้นถือว่าลำลอง “หากเป็นงานข่าวกลางคืน อย่างงานราตรีสโมสรตามสถานทูต เราจะไปต่อเมื่อมีบัตรเชิญ และฉันจะใส่ส่าหรีผ้าไหมให้ดูสุภาพ” หากสงสัยว่าโฮไมถ่ายรูปพร้อมสะพายกระเป๋ากล้องหนักหลายกิโลในชุดส่าหรีอย่างไร เธอเล่าเคล็ดลับว่า “ฉันพกเข็มกลัดไปด้วยเสมอ ถ้าชายส่าหรีดูจะพลิ้วไปกวนช่างภาพอื่นหรือฉันเองปีนป่ายหามุมไม่ถนัด ก็จะงัดขึ้นมากลัดให้กระชับและคล่องตัว”
โฮไมเป็นหนึ่งในช่างภาพข่าวแถวหน้าที่ร่วม บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าสำคัญๆ ของ อินเดีย นับจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง Viceroy ของลอร์ด เมาน์ทแบ็ตเท่น การประชุมนัดสำคัญๆ ซึ่งกำหนดชะตากรรมของอินเดีย แต่ครั้นถึงช่วงจลาจลนองเลือดหลังการประกาศแยกประเทศเป็นอินเดียและปากีสถาน ในวันที่ 14 สิงหาคม 1947 โฮไมไม่สามารถออกไปร่วมบันทึกภาพได้ เนื่องจากเจ้าของห้องเช่าที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่เป็นชาวมุสลิม อันเป็นเป้าโจมตีของม็อบชาวฮินดู เธอและสามีเป็นชาวปาร์ซีผู้ไม่อยู่ในขั้วความขัดแย้งดังกล่าว จึงอาสาอยู่โยงระวังไม่ให้ม็อบบุกเข้ามาเผาทำลาย
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง อินเดียก็ก้าว สู่บทตอนใหม่ของการสร้างชาติ นับจากการร่างรัฐธรรมนูญ การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานา ธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนแรก การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก การสูญเสียผู้นำคนสำคัญ การเยือนของประมุขประเทศคนสำคัญๆ ซึ่งโฮไมได้มีส่วนบันทึกภาพไว้อย่างใกล้ชิด อาทิ พิธีศพของมหาตมะคานธี การเสด็จเยือนอินเดียของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบทที่สอง การเยือนของแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ การเสด็จเยือนสิกขิมครั้งแรก ขององค์ทะไลลามะที่ 14 ในปี 1956 และต่อมาในปี 1959 เมื่อทรงเสด็จลี้ภัยมายังอินเดีย โฮไมก็เป็นหนึ่งในช่างภาพไม่กี่คนที่สามารถบันทึกภาพในวันแรกที่เสด็จข้ามชายแดนเข้ามา
โฮไมเคยบอกเล่าทัศนะของเธอในการทำงาน ว่า “กฎข้อหนึ่งคือฉันไม่เคยขอให้คนที่จะถ่ายโพสให้ เพราะเขาจะดูไม่เป็นธรรมชาติ อารมณ์และการแสดงออกของคนเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และเราต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ช่างภาพที่ดีควรถือเกียรติและศักดิ์ศรีของคนที่ตนกำลังถ่ายเป็นสิ่งสำคัญ ภาพที่ออกมาไม่ควรทำให้คนผู้นั้นดูต่ำต้อย ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม”
หากสังเกตจากภาพถ่ายหลายๆ ภาพ ย่อมพบว่าโฮไมเป็นช่างภาพที่ผู้นำอินเดียในช่วงสองทศวรรษแรกหลังการประกาศเอกราช ยอมรับให้ติดตามแบบประชิดวงใน ตัวอย่างเช่น มุมกล้องแบบ ประชิดตัวในภาพที่อดีตนายกฯ เนห์รูสวมกอดน้องสาวที่สนามบินเมืองเดลี และภาพเนห์รูขณะจุดบุหรี่ ให้แก่มิสซิสไซม่อน ภริยาของเอกอัครราชทูตอังกฤษ ในเครื่องบินขณะเดินทางไปลอนดอน ซึ่งถือเป็นภาพ หายากเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ว่าเนห์รูนั้นสูบบุหรี่
สามีของเธอเสียชีวิตลงในปี 1969 หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี โฮไมก็ตัดสินใจแขวนกล้องอำลาวงการช่างภาพข่าว “คนรุ่นใหม่ไม่แยแสเรื่องมารยาท และจรรยาบรรณ บางกลุ่มชอบมั่วเข้าไปในงานปาร์ตี้สถานทูตเพื่อไปเบ่งขอเหล้าบุหรี่กับพวกบ๋อย บ้างก็ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ขายภาพข่าวที่อัดล้างคุณภาพต่ำๆ อยู่ได้แค่เดือนสองเดือนสีก็ซีด คิดแต่จะหาช่องทางทำเงินได้เร็วๆ ฉันไม่อยากทำงานปะปนกับพวกเขาอีกต่อไป”
นับแต่นั้น โฮไมไม่เคยจับกล้องอีกเลย เธอย้ายไปอยู่กับลูกชายซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่ Birla Institute of Technology หลังจากลูกชายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 1989 เธอก็มีชีวิตเรียบง่ายอยู่โดยลำพัง ทำงานบ้าน ตัดเย็บเสื้อผ้า แม้แต่ทำเครื่องเรือนง่ายๆ ใช้เอง ทั้งไม่ชอบออกงานสังคมใด เว้นแต่มีคนเชิญไปเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายเป็นครั้งคราว จึงไม่น่าแปลกใจที่ชื่อของเธอและนามแฝง Dalda 13 จะค่อยๆ ถูกลืม จนกระทั่ง Parzor Foundation จัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานของเธอในชื่อ India in Focus: Camera Chronicles of Homai Vyarawalla ขึ้นในปี 2006 และ National Gallery of Modern Art กรุงเดลี จัดนิทรรศการประมวลภาพข่าวจากคมเลนส์ของโฮไม เมื่อปี 2010
ในปี 2011 รัฐบาลอินเดียมอบรางวัล Padma Vibhushan แก่ช่างภาพข่าวหญิงคนแรกของอินเดีย ผู้นี้ และไม่ถึงปีต่อมาเธอก็เสียชีวิตด้วยอายุ 98 ปี
ก่อนหน้านี้ โฮไมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่าในช่วงบั้นปลายชีวิตเธอแทบไม่อ่านหนังสือพิมพ์อีกต่อไป “ฉันโตมาในสมัยของการเรียกร้องเอกราช ฉันเติบโตในสายงานในยุคที่อินเดียกำลังสร้างชาติ สมัยนั้นหนังสือพิมพ์มีบทความที่น่าสนใจ มีเรื่องทางความคิดให้เรียนรู้ ผู้นำและนักการเมืองมีเกียรติและอุดมการณ์ แต่ทุกวันนี้ ข่าวคือผู้ว่าการรัฐพูดว่าอะไร นายกฯ พูดว่าอะไร นักการเมืองเก่งแต่เรื่องวิวาทกรรมในสภาฯ และหน้าสื่อข่าวร้อนคือคดีฉ้อฉลของนักการเมือง และการก่อการร้าย”
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่โฮไมวางมือจากงานข่าวเสียตั้งแต่วันที่ข่าวยังควรค่าให้บันทึกและจดจำผ่านคมเลนส์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|