Mainlanders vs. Hong Kongers

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ปักษ์แรกประจำปี 2555 ของวารสารฉิวซื่อสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีการเผยแพร่สุนทรพจน์ของหู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนที่กล่าวในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 17 (ประชุมระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2554) ในหัวข้อ “มุ่งมั่นอย่างไม่หวั่นไหว ก้าวเดินไปบนหนทางแห่งการพัฒนาวัฒนธรรมสังคมนิยม เอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน หมั่นเพียรสรรค์สร้างประเทศสังคมนิยมที่มีความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม”1

สุนทรพจน์ชิ้นดังกล่าว มีรูปแบบการจัดวางเนื้อหาแบบเรียงความจีนดั้งเดิมที่มีการกล่าวและอ้างอิงถึงแนวคิดและปรัชญาจีนหลายส่วน ทั้งยังมีความยืดยาว ทำให้ชาวต่างชาติค่อนข้างจะทำความ เข้าใจได้ลำบากแม้จะมีการแปลแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม เนื้อหาใหญ่ใจความหลักของสุนทรพจน์ ดังกล่าวระบุถึงการรุกคืบเข้ามาของภัยคุกคามจากตะวันตกในรูปแบบของอัสดงคตานุวัตร (Westernization) หรือในภาษาจีนคือ ซีฮั่ว อันเป็นกระบวนการที่ใช้วัฒนธรรมและอุดมคติทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกและเปลี่ยนแปลงจีนให้มีความเป็นตะวันตกมากขึ้น

“ภายใต้พื้นฐานของโลกยุคปัจจุบันที่การแลกเปลี่ยน หลอมรวม และสู้รบกันทางความคิดและวัฒนธรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ใดที่สามารถพัฒนาวัฒนธรรมตนเองให้ขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ ผู้นั้นย่อมมีอำนาจละมุน (Soft Power-ผู้เขียน) ทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และผู้นั้นย่อมกุมอำนาจในการกำหนดทิศทางการแข่งขันอันเข้มข้นของสากลเอาไว้ได้” หู จิ่นเทากล่าวในสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญ

เดือนตุลาคม 2554 สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (ซีอาร์ไอ) อีกหนึ่งกระบอกเสียงของพรรคฯ รายงานถึงข้อสรุปจากการประชุมครั้งดังกล่าวของคณะผู้นำสูงสุดของจีนว่า ในที่ประชุมดังกล่าวได้มีการผ่านมติเกี่ยวกับ “การปฏิรูประบบวัฒนธรรม” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในการ ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางของพรรค

“ในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ ในส่วนการสร้างสรรค์วัฒนธรรมนั้น ไม่เคยมีความสำคัญและความเร่งด่วนเช่นในปัจจุบัน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จีนเริ่มดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ วงการวัฒนธรรมและวงการปรัชญาต้อง การแก้ไขข้อผิดพลาดและเชิดชูความถูกต้องการปลดแอกแนวความคิดในเวลานั้น มีบทบาทชี้นำยิ่งใหญ่ต่อการปฏิรูปและเปิดประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

“ถึงวันนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างมากของสังคม ทำให้เกิดค่านิยมที่หลากหลาย เกิดสถานการณ์ใหม่ ที่ลึกซึ้งในด้านความคิด กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมปัจจุบัน วัฒนธรรมดั้งเดิม และวัฒนธรรมต่างถิ่นมาหลอมรวม ณ เวลาเดียวกัน ทั้งเพิ่มพลังที่มีชีวิตชีวาแก่สังคม และสร้างข้อขัดแย้งกับปัญหาบางประการที่สลับซับซ้อนอย่างไม่เคยมีมาก่อน

“จีนในยุคปัจจุบันตกอยู่ในภาวะต้องการให้วัฒนธรรมเป็นตัวนำสังคมอีกครั้ง การปลูกสร้างค่านิยมหลัก การปูพื้นฐานศีลธรรมให้แก่ประชาชน การส่งเสริมให้ทั่วทั้งสังคมยอมรับวัฒนธรรม และการรวมน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน กลายเป็น ปัญหาเด่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” รายงานจากซีอาร์ไอระบุ2

ทั้งยังกล่าวอีกว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้สืบทอดและส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ของชนชาติจีน เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาวัฒนธรรมที่ทันสมัยของจีน ข้อเสนอดังกล่าวมีคุณค่าทางทฤษฎีและการปฏิบัติ อันแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นถึงความเป็นเอกภาพในการสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมและการขยายตัวของวัฒนธรรมในปัจจุบัน เป็นการปูพื้นฐานแก่การส่งเสริมการยอมรับวัฒนธรรมร่วมกัน

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่วารสารพรรคคอมมิวนิสต์เผยแพร่สุนทรพจน์ของหู จิ่นเทาเกี่ยวกับการปฏิรูประบบวัฒนธรรม และตีฆ้องร้องป่าวถึงภัยคุกคามทางวัฒนธรรมจากตะวันตกที่ชาวจีนต้องระมัดระวังตัว

บนเกาะฮ่องกง ณ ประตูหน้าด่านทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของจีนก็เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างคนฮ่องกง-คนจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่อสัญญาณให้เห็นถึงความขัดแย้ง และความไม่พอใจที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

จุดแตกหักของความขัดแย้งมาจากผลการสำรวจ “ทัศนคติของชาวฮ่องกงต่อสำนักทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (Ethnic Identity)” ของ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชุง นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ.1997) อันเป็นปีที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับเกาะฮ่องกงคืนจากการปกครองของรัฐบาลอังกฤษ โดยผลสำรวจชิ้นล่าสุดในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ปรากฏออกมาว่า ชาวฮ่องกงราวร้อยละ 63 มองว่าตัวเองเป็น “คนฮ่องกง (Hong Kongers)” เป็นลำดับแรก และมีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่มองว่าตัวเองเป็นคนจีน (Chinese)

ตัวเลขการสำรวจล่าสุดที่ชาวฮ่องกงมองว่าตัวเองเป็น “คนฮ่องกง” มากกว่า “คนจีน” นั้นถือว่า มีสัดส่วนสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการสำรวจกันมาในรอบ 15 ปีเลยทีเดียว

ประกอบกับการที่ในช่วงเดือนมกราคม 2555 ซึ่งมีเทศกาลสำคัญสองเหตุการณ์มาบรรจบกันในเดือนเดียวคือ เทศกาลปีใหม่สากล และเทศกาลตรุษจีน ทำให้มีชาวจีนหลั่งไหลเดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะฮ่องกงเป็นจำนวนมาก จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเล็กๆ น้อยๆ จากการที่เด็กชาวจีนแผ่นดินใหญ่นำบะหมี่แห้งขึ้นไปรับประทานบนรถไฟฟ้าใต้ดินของฮ่องกง และถูกชาวฮ่องกงฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากในระบบรถไฟใต้ดินของฮ่องกง ห้ามมิให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มบนรถ

เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับมีชาวฮ่องกงบันทึกภาพวิดีโอการด่าทอระหว่างเจ้าถิ่นคนฮ่องกงกับนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ มาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในวงกว้างและลุกลามจนกลายเป็น กระแสความไม่พอใจของ “คนฮ่องกง” ต่อ “คนจีนแผ่นดินใหญ่” ในภาพรวมไป

ในอีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจทัศนคติของชาวฮ่องกง เมื่อประกอบเข้ากับคลิปวิดีโอการด่าทอระหว่างคนฮ่องกงและคนจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้ปลุกกระแสความไม่พอใจของคนจีนแผ่นดินใหญ่บางส่วน ด้วยเช่นกัน โดยในเดือนมกราคม 2555 มีนักวิชาการ ด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนนาม ศาสตราจารย์ข่ง ชิ่งตง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเลยเถิดไปถึงขั้นด่าทอคนฮ่องกงอย่างรุนแรงว่าเป็น “สุนัขรับใช้ของอังกฤษ” และดูถูกคนฮ่องกงที่ไม่ยอมพูดภาษาจีนกลาง (แมนดาริน) ด้วยว่าเป็น “ไอ้ไข่เต่า” อันเป็นคำด่าหยาบคาย ซึ่งมีความหมายถึงคนถ่อย คนไร้คุณธรรม

“เท่าที่ผมทราบ มีคนฮ่องกงจำนวนมากไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนจีน เปิดปากก็บอกว่า พวกเราคนฮ่องกง พวกคุณคนจีน’ พวกนี้คือไอ้พวกไข่เต่า พวกนี้คือพวกสุนัขรับใช้ของจักรวรรดินิยมอังกฤษ พอรับใช้จนชิน ถึงตอนนี้ก็เป็นสุนัข พวกคุณไม่ใช่มนุษย์ ผมรู้ว่าคนฮ่องกงมีคนดีเยอะ แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนฮ่องกงจำนวนมากที่ยังเป็นสุนัข... พวกนี้อยู่ต่อหน้าพวกจักรวรรดินิยมเป็นสุนัข พออยู่ต่อหน้า คนจีนด้วยกันก็แปลงร่างเป็นหมาป่า” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งด่าคนฮ่องกงอย่างรุนแรงผ่านรายการโทรทัศน์3

คำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ข่งคล้ายเป็นการราดน้ำมันเบนซินไปบนกองไฟ เป็นการกระพือกระแสความไม่พอใจคนจีนแผ่นดินใหญ่ในหมู่คนฮ่องกงให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น จนนำมาสู่การประท้วงของคนฮ่องกงจำนวนหนึ่งหน้าสำนักงานติดต่อของรัฐบาลกลางประจำฮ่องกงในวันที่ 21 มกราคม 2555 ที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปักกิ่งไล่ ศาสตราจารย์ข่งออกจากสถาบัน

จากนั้นความอัดอั้นตันใจ ความเก็บกดของคนฮ่องกงที่มีต่อคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทะลักเข้ามาท่องเที่ยว และพยายามเข้ามาขอแบ่งส่วนทรัพยากร ของคนฮ่องกงไปใช้ เรื่อยไปจนถึงความไม่พอใจต่อการครอบงำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของรัฐบาลปักกิ่งภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ปะทุออกมาอย่างต่อเนื่อง

การแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อคนจีนแผ่นดินใหญ่ของคนฮ่องกงที่ฮือฮาที่สุด และกลายเป็นข่าวไปทั่วโลกดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่คนฮ่องกงจำนวนหนึ่งระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี หนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่จำหน่ายบนเกาะฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ระบุถึงความไม่พอใจต่อกรณีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนจีนแผ่นดินใหญ่มีค่านิยมเดินทางมาคลอดลูกที่ฮ่องกงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโฆษณาชิ้นดังกล่าวเป็นภาพตั๊กแตนยักษ์เกาะอยู่บนหน้าผา กำลังมองลงมายังบรรดาตึกระฟ้าบนเกาะฮ่องกง

คนฮ่องกงกลุ่มนี้ตอบโต้กลับ โดยเปรียบชาวจีนเผ่นดินใหญ่กับฝูง “ตั๊กแตน” ที่เข้ามาดูดกิน ทรัพยากรของเกาะฮ่องกง พร้อมข้อความเป็นภาษา จีนระบุว่า “คุณยอมให้คนฮ่องกงต้องจ่ายเงิน 1 ล้าน เหรียญฮ่องกง ทุก 18 นาที เพื่อเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจาก พ่อแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หรือ? คนฮ่องกงอดทนมามากเกินพอแล้ว!”

ทั้งนี้ จากสถิติของทางการฮ่องกงล่าสุดก็ยืนยันว่าในปี 2554 (ค.ศ.2011) เด็กทารกที่เกิดในฮ่องกงเกือบครึ่งหนึ่ง คือ 38,043 คน จากทั้งหมด 80,131 คน เป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่หลบมาคลอดบุตรคนที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ และ/หรือ เพื่อให้บุตรได้สิทธิ์ในการเป็นพลเมืองของ ทั้งแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกง

ด้วยเหตุนี้ตอนท้ายของโฆษณาชิ้นดังกล่าวจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 24 ของกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ในการปกครองและบริหารฮ่องกง ที่ระบุเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่รวมถึงพลเมืองถาวรและพลเมืองไม่ถาวร เพื่อหยุดยั้งการหลั่งไหลของผู้หญิงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาคลอดในฮ่องกง

ในทัศนะของผม กระแสความขัดแย้งระหว่าง คนฮ่องกงกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงต้นปี 2555 หากพิจารณาลงไปในเนื้อหาแล้ว เราจะพบว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องความขัดแย้งแต่เพียงผิวเผิน แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความอ่อนแอเชิงวัฒนธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ในภาพรวม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความล้มเหลวในการเสริมสร้างอำนาจละมุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในห้วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ภายหลังเติ้ง เสี่ยวผิงดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีน รวมถึงการผลักดันแนวนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ (One country, Two systems) เพื่อนำมาปรับใช้กับฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันในอนาคต แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจากแผ่นดินใหญ่จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาและขยายอิทธิพล ทางเศรษฐกิจให้สามารถครอบงำฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงไต้หวันได้เกือบจะเบ็ดเสร็จ (ในไต้หวันสังเกตได้จากชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของหม่า อิงจิ่ว ที่นักธุรกิจไต้หวันที่ไปลงทุนในจีนมีส่วนอย่างมากในชัยชนะของตัวแทนจากพรรคก๊กมินตั๋ง) แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลปักกิ่งยังคงประสบความล้มเหลว ในการสร้างสรรค์และพัฒนา “วัฒนธรรมสังคมนิยม เอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน” ให้เป็นที่ยอมรับ แม้แต่ในสายตาของคนในประเทศอย่าง “คนฮ่องกง” เอง

เพราะฉะนั้นยังมิต้องพูดถึงการผลักดันหรือการสร้างสรรค์ให้วัฒนธรรมแบบจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นวัฒนธรรมสากล เป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่ยอม รับในสายตาของสังคมโลกและสามารถต่อกรกับ “วัฒนธรรมทุนนิยมเสรี-ปัจเจกชนนิยม” ที่แผ่ขยายและรุกเข้ากลืนกินวัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วโลกอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องนี้ถือเป็น “เรื่องใหญ่” ของจีนทั้งปัจจุบัน และในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าแก้ยากยิ่งกว่าการเปิดประเทศในห้วง 30 กว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก

หมายเหตุ:
1 “ฉิวซื่อ” มาจากสำนวนเต็ม “สือซื่อฉิวซื่อ” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “แสวงหาสัจจะจากความเป็นจริง” เป็นสำนวนโบราณจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ที่ในเวลาต่อมาประธานเหมา เจ๋อตงหยิบมาใช้ โดยถูกจัดเป็นหนึ่งในแก่นแกนทฤษฎีความคิดของเหมา สามารถอ่านสุนทรพจน์ชิ้นดังกล่าว (ภาษาจีน) ได้ทาง http://cpc.people.com.cn/GB/64093/64094/16778578.html

2 การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 17 จะมีบทบาทลึกซึ้งต่อแนวทางการสร้างสรรค์วัฒนธรรมจีน, ซีอาร์ไอ ภาคภาษาไทย, 20 ตุลาคม 2554.

3 ชมคลิปวิดีโอ ข่ง ชิ่งตง ด่าทอคนฮ่องกงว่าเป็น “สุนัขรับใช้ของจักรวรรดินิยมอังกฤษ” ได้ทาง http://youtu.be/NFYTWB9mKx4


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.