พม่ากับสิงคโปร์และความเป็นเพื่อน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

สิงคโปร์ชื่นชมอดีตนายพลพม่าผู้กลายมาเป็นประธานาธิบดีพลเรือนนักปฏิวัติคนแรกของพม่า

บุคคลระดับชั้นหัวกะทิของพม่ามักจะเดินทางไปสิงคโปร์อยู่บ่อยๆ ด้วยกิจธุระจำเป็นหลายอย่าง ทั้งไปชอปปิ้ง ไปเช็กความเรียบร้อยของบัญชีเงินฝากที่อยู่ในธนาคารสิงคโปร์ ไปหาหมอ พาลูกไปเข้าโรงเรียนที่นั่น ไปเสี่ยงโชคสนุกๆ ในบ่อนกาสิโนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไปดูให้เห็นกับตาถึงความมั่งคั่งที่เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์

ประธานาธิบดี Thein Sein ของพม่า ก็เพิ่งเดินทางไปสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยพ่วงคณะเจ้าหน้าที่พม่าชุดใหญ่ไปด้วย เพื่อไปลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายด้านกับสิงคโปร์ ตั้งแต่การท่องเที่ยวไปจนถึงด้านกฎหมาย และเพื่อขอบคุณสิงคโปร์ที่สนับสนุนพม่ามาตลอดระยะเวลาอันยาวนานโดยไม่เคยทอดทิ้ง อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องส่วนรวมแล้ว ประธานาธิบดี Thein Sein ยังเดินทางไปสิงคโปร์ครั้งนี้ เพื่อรับการยกย่องชื่นชมเป็นการเฉพาะอีกด้วย

คล้ายกับเด็กนักเรียนที่ภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ จึงไม่รู้สึก หวั่นเกรงต่อสายตาที่จ้องจับผิดของครูอีกต่อไป ประธานาธิบดี Thein Sein อดีตนายพลของกองทัพพม่า ผู้กลายมาเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกของพม่าในรอบครึ่งศตวรรษ เป็นผู้นำในการริเริ่มกระบวนการเปิดเสรีภาพทางการเมืองอันน่าตื่นตาของพม่า ที่โดดเด่น ที่สุดคือ การที่ระบบการเมืองของพม่าได้อ้าแขนรับอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าและพรรคการเมืองของเธอ ซูจีสามารถลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะมีขึ้นต้นเดือนเมษายนนี้ และหลังจากนั้น Thein Sein อาจนำซูจีเข้าร่วมรัฐบาลของเขา

หลังจากพม่าตกอยู่ใต้การปกครองของกองทัพที่จำกัดเสรีภาพ มาอย่างยาวนาน การเปลี่ยนแปลงข้างต้นจึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของพม่าและสิงคโปร์ รวมไปถึงชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ ของพม่าในอาเซียน ก็ไม่รีรอที่จะอ้างความดีความชอบ สำหรับการที่ชาติ อาเซียนได้ใช้นโยบาย “เกี่ยวพัน” กับพม่าอย่างได้ผล ในการกล่าวต่อการประชุมประจำปีของที่ประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ Kishore Mahbubani อดีตนักการทูตของสิงคโปร์ และขณะนี้เป็นนักเขียนด้านการระหว่างประเทศ กล่าวอ้างอย่างยินดีว่า นโยบายการทูตแบบ “น้ำหยด” ของอาเซียน ซึ่งใช้วิธีละมุนละไมแบบค่อยเป็นค่อยไปกับพม่า ในที่สุดก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี


พม่าคงยอมรับการกล่าวอ้างข้างต้นและรู้สึกขอบคุณสิงคโปร์ที่ไม่เคยทอดทิ้ง และยังคงทำการค้าและลงทุนในพม่ามาโดยตลอด แม้ในช่วงที่คณะนายพลผู้ปกครองพม่าถูกชิงชังรังเกียจจากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือแรงจูงใจที่แท้จริง ที่อยู่เบื้องหลัง การลุกขึ้นมาปฏิรูปของรัฐบาลพม่า ก็คือ ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเห็นมาตรการ ลงโทษของชาติตะวันตกถูกยกเลิก

และการอ้างความดีความชอบให้แก่นโยบายการทูตแบบนี้ ก็เป็นการกล่าวอ้างที่มีหลักวิชาการรองรับ เพราะนี่คือการทูตแบบ win-win ซึ่งทุกฝ่ายสามารถอ้างได้ว่าตนเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง หลักการนี้เป็นจริงสำหรับกระบวนการเปิดเสรีภาพทางการเมืองในพม่าเช่นกัน นักโทษการเมืองพม่าที่ได้รับการปล่อยตัว และฝ่ายค้านพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย สามารถอ้างได้ว่า ตนเป็นฝ่ายชนะ เช่นเดียวกับที่ผู้นำของอดีตรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยและเสรีภาพของพวกเขาไม่ได้รับความกระทบกระเทือนเลยแม้แต่น้อยจากการ ที่พม่าปฏิรูปการเมือง ก็สามารถอ้างชัยชนะได้เช่นเดียวกัน

ในการเดินสายหาเสียง อองซาน ซูจี เริ่มหยิบยกประเด็นยากๆ ขึ้นมาเอ่ยถึง อย่างเช่นการแก้รัฐธรรมนูญพม่า ซึ่งปกป้องการ เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของกองทัพพม่า ด้วยการกำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญในข้อนี้ จะต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพเท่านั้น

คงจะดีไม่น้อย ถ้าหากว่าประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องที่สามารถ win-win กันทุกฝ่ายได้ เหมือนดังเช่นนโยบายการทูตที่ใช้กับพม่า แต่ความจริงคือ แม้แต่พม่าเองก็ไม่อาจหนีพ้นการที่จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้

อันเป็นไปตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย


แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.