บวรวงศ์ (มวลชนพัฒนาฯ พ.ศ. 2510) บริษัทเก็บค่าต๋งเหล้าเมื่อ 18 ปีที่แล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

การตั้งบริษัทมวลชนพัฒนาขึ้นมาเพื่อเก็บค่าต๋งเหล้า หรือเรียกให้ไพเราะหน่อยก็คือเป็นบริษัทกลางจัดจำหน่ายเหล้า โดยนายพลนอกประจำการและในประจำการกลุ่มหนึ่งนั้น ถ้าจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว

เมื่อ 18 ปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้

บริษัทนั้นชื่อบริษัท บวรวงศ์ จำกัด

ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2510 มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เท่ากันกับบริษัทมวลชนพัฒนาในปัจจุบัน

บริษัท บวรวงศ์ มีผู้ถือหุ้นกลุ่มแรก 7 คน เป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง ประกอบด้วย พลเอกประภาส จารุเสถียร พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ร้อยโทประยุทธ จารุเสถียร ประวิทย์ รุจิรวงศ์ และกิตติภูมิ สีวะรา

พลเอกประภาส (ต่อมาเป็นจอมพล) ตอนนั้นก็มีตำแหน่งทางทหารเป็นผู้บัญชาการทหารบก และมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร

พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ

พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเสนาธิการทหารอากาศ

พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก

ส่วนพลเรือนอีก 2 คน กับนายทหารยศร้อยโทอีกคนหนึ่งก็เป็นทายาทของนายทหารใหญ่ข้างต้น ใครจะเป็นทายาทใครก็ลองดูนามสกุลเอาเองก็แล้วกัน

เมื่อก่อตั้งบริษัทบวรวงศ์ขึ้นมาแล้ว บริษัทบวรวงศ์นี้ก็ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของ ศุภสิทธิ มหาคุณ ร่วมกับกลุ่มเตชะไพบูลย์ และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อีกไม่กี่กลุ่ม เป็นบริษัทที่ได้สิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายเหล้าแม่โขงในสมัยโน้น

ก็ว่ากันว่า เป็นการถือหุ้นลม ไม่ได้ลงเงินแต่ประการใด

สิ้นปีบริษัทบวรวงศ์ ก็รับปันผลจากบริษัทสุรามหาคุณ

แล้วก็มาจ่ายอีกต่อให้กับผู้ถือหุ้นที่เป็นนายทหารใหญ่ทั้งหลาย

ปัจจุบันบริษัทบวรวงศ์ก็ยังอยู่ ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เพียงแต่หุ้นของจอมพลประภาสนั้นต้องกลายเป็นหุ้นของกระทรวงการคลังไป เพราะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พร้อมๆ กับการพังทลายของรัฐบาลถนอม-ประภาส รัฐบาลชุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้จัดการยึดทรัพย์สินของถนอม-ประภาส หุ้นที่จอมพลประภาสถืออยู่ในบริษัทบวรวงศ์ ก็เลยต้องโดนยึดไปด้วย

ส่วนผลประโยชน์จากเหล้านั้นก็หมดไปตั้งแต่บริษัทสุรามหาราษฎรได้แม่โขงไปทำแทนบริษัทสุรามหาคุณ

เรื่องของบริษัทบวรวงศ์ก็เลยต้องกลายเป็นตำนานของยุคหนึ่งไป!

แต่ก็คงเป็นตำนานที่หลายคนกำลังจะทำให้มันหวนกลับมาอีก แต่มาในชื่อใหม่ที่ขอบข่ายกว้างกว่าเก่า !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.