หลังจากที่ติดต่อและเตรียมติดตั้งเครื่องมือสื่อสารของสวิฟท์ (SWIFT-SOCIETY
FOR WORLDWIDE INTERBANK FINANCE TELECOMMUNICATION) ในวันจันทร์ที่ 23 กันยายน
2528 ธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่ง และสาขาธนาคารต่างประเทศอีก 3 แห่งที่เป็นสมาชิกของสวิฟท์ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ที่ธนาคารกรุงเทพอันเป็นที่ตั้งศูนย์สวิฟท์ประจำประเทศไทย
พอย่ำค่ำ ตามกำหนดนัดหมาย 18.00 น. บรรดาผู้บริหารและพนักงานของธนาคารที่เป็นสมาชิกก็ร่วมกันจัดงานเลี้ยงฉลองกันตามธรรมเนียม
ที่ห้องรีเจนซี่ โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยมีผู้บริหารและพนักงานทั้งไทยและเทศไปร่วมชุมนุมกันหนาตาพอสมควร
สมาชิกที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารศรีนคร ธนาคารเอเชีย
ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศที่ร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ BANQUE INDOSUEZ, CHASE
MANHATTAN BANK NA., EUROPEAN ASIAN BANK
และในเดือนพฤศจิกายนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
และสาขาธนาคารสากลพาณิชย์แห่งประเทศจีน
ในการนี้ กลุ่มสมาชิกในประเทศไทยได้รวมตัวกันตั้งเป็น USER GROUP โดยมี
โชติ โสภณพนิช เป็นประธาน ชฎา วัฒนศิริธรรม และทิพย์สมาตร์ ณ เชียงใหม่
เป็นรองประธาน บัณฑูร ล่ำซำ เป็นเหรัญญิก และธีระ อภัยวงศ์ เป็นเลขาธิการ
สมาชิกที่เหลือต่างก็มีตัวแทนมาร่วมเป็นคณะกรรมการ
วกมาที่งานเลี้ยงกันอีกที โชติ โสภณพนิช มาถึงงาน 18.00 น. เป๊ะ เดินสำรวจอาหารเครื่องดื่มอยู่รอบหนึ่ง
ก่อนออกไปยืนต้อนรับแขกกับเบสเซล ค็อก ผู้จัดการทั่วไปและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารจากสมาคม
นายค็อกคนนี้เจ็บมาก ไปเที่ยวอำนักข่าวไทยว่าพี่แกมีเชื้อสายมาจากคนจีน
และนามสกุลของแกไม่ได้อ่านว่า "ค็อก" แต่เป็น "ก็อก"
ซึ่งเป็นแซ่ของบรรพบุรุษ นักข่าวไทยอำตอบโดยพูดจีนเร็วปรื๋อ…ชนิดที่คนจีนแท้ก็ฟังไม่รู้เรื่อง
นายค็อกฟังแล้วมึน หัวเราะแหะๆ เดินหนีไป
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นายแบงก์ที่เป็นข่าวอยู่เรื่อย เพราะแบงก์ที่ตนเป็นผู้จัดการกำลังจะถูกยึดอำนาจโดยอาบังชื่อดัง-
สุระ จันทร์ศรีชวาลา เดินเข้างานมาพร้อมกับอนุตร์ อัศวานนท์ แห่งแบงก์ทหารไทย
คู่นี้แปลกมาก เพราะตั้งแต่เข้างานมาจนกระทั่งออกไปพร้อมกันตอนใกล้ๆ จะทุ่ม แทบจะไม่แยกห่างกันเลย
มีจังหวะก็คุยกันแค่ 2 คน
"ผู้จัดการ" อดตั้งโจทย์ตุ๊กตาเล่นไม่ได้ว่า… ธนาคารแหลมทองมีผู้ถือหุ้นหน้าใหม่รายใหญ่ชื่อวานิช
ไชยวรรณ แห่งไทยประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตแห่งนี้มีประธานกรรมการชื่อว่าประยูร
จินดาประดิษฐ์ ที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารทหารไทย
ทีนี้มาว่าถึงคำเฉลยเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา อันเป็นวันสุดท้ายในการจ่ายเงินจองหุ้นออกใหม่ของธนาคารแหลมทอง
1 ล้านหุ้น สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ประกาศก้องว่ากลุ่มของตนยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด
ในแบงก์แห่งนี้ ส่วนสุระ จันทร์ศรีชวาลา ที่หนุนโดยซุมม่า กรุ๊ป ประเทศอินโดนีเซีย มีสัดส่วนการถือหุ้นแค่
41 เปอร์เซ็นต์
จะไม่โยงให้ละเอียดหรอกว่าคำเฉลยกับโจทย์ตุ๊กตาเกี่ยวกันอย่างไร บอกแล้วว่าตั้งโจทย์เล่นมาเจอ
THE THAI MILITARY BANK หอบเสื่อกลับบ้านไปได้แล้ว เรื่องเงินอาจพอวัดกันได้
แต่เรื่องบารมีและอะไรต่อมิอะไรของแบงก์นี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า "อย่าเสี่ยงดีกว่า"
18.30 น. ห้องรีเจนซี่ดูแคบไปถนัดใจ เมื่อแขกจำนวนเกินร้อยมาถึง และเผอิญเหลือเกินที่บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับสวิฟท์
ก็คือ จอมยุทธค้าเงินของแบงก์ต่างๆ ประกอบกับวันนั้นเป็นวันที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
ร่วงลงมาอย่างคาดไม่ถึง
จากดอลลาร์ละ 27.23 บาท ตอนเย็นวันศุกร์ที่ 20 กันยายน มาเป็นดอลลาร์ละ
26.98บาท ในเย็นวันจันทร์ที่ 23 กันยายน เงินบาทแข็งขึ้น 25 สตางค์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์
ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามรั้งบังเหียนอย่างเต็มกำลัง
จันทร์นั้นจึงเป็นวันที่นักค้าเงินปวดหัว ไหนจะต้องเฝ้าจอมอนิเตอร์ดูค่าเงินสกุลต่างๆ
เพื่อที่ตนจะขายหรือซื้อเงินบางสกุลโดยที่ไม่ทำให้ฐานะเงินตราต่างประเทศที่จำต้องถือไว้ขาดทุน
หรือถ้าเป็นไปได้หากำไรเสียเลย แล้วไหนจะต้องคอยให้คำปรึกษากับลูกค้าของตน
โดยเฉพาะพวกพ่อค้าส่งออก ที่ยังไม่เคย "เจ็บตัว" กับอัตราแลกเปลี่ยน
เหมือนกับพวกพ่อค้านำเข้าที่เป็นมวยขึ้นมาก
แค่ให้คำปรึกษาน่ะไม่เท่าไหร่ แต่การที่ต้องรับซื้อเงินดอลลาร์ล่วงหน้านี่สิ
จะกำหนดค่าพรีเมียมแค่ไหน… อั้นได้แค่ไหน เพราะแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังปักหัวดิ่งอยู่เรื่อๆ
(วันอังคารดอลลาร์ตกลงมาอีก 55 สตางค์เมื่อเทียบกับบาท)
หัวข้อที่สนทนากันในงานค็อกเทลคืนนั้นจึงมีแต่ เรื่องดอลลาร์ตก… ดอลลาร์ตก…
ดอลลาร์ตก… เฮ้อ…ต้องย้ำเยอะหน่อย เพราะมุดเข้าไปกลุ่มไหนก็กลุ่มนั้น คุยกันแต่ว่าพรุ่งนี้ดอลลาร์จะลงมาอีกเท่าไหร่
ที่โดนรุมโดยนักข่าวเป็นคนแรกก็คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ จากธนาคารไทยพาณิชย์
รายนี้ เธอมองโลกในแง่ดี โดยอธิบายว่าผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว น่าจะเป็นผลดี
เพราะสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมจะได้รายรับในรูปของเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น
และจากการที่ดอลลาร์อ่อนตัวลง สหรัฐฯ ก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น กฎหมายกีดกันสินค้าอย่างเช่น
"เจนกินส์ บิลล์" จะได้รับเสียงสนับสนุนน้อยลง
"บางคนเขาไม่ได้ดูระยะยาว เขาดูระยะสั้นว่าดอลลาร์หนึ่งเคยได้ 27
บาทกว่าตอนนี้เหลือ 26 บาทกว่า… มันน้อยลงแน่นอน แต่ไม่ได้ดูว่าผลต่อดอลลาร์ก็คือได้มากขึ้น
การที่ได้ดอลลาร์มากขึ้น เมื่อเอามาคูณกับ 26 บาทกว่า อาจจะได้เงินบาทมากกว่า
ตอนที่ดอลลาร์ยังอยู่ที่ 27 บาทกว่าก็ได้"
ค่ายบัวหลวงนอกจากโชติ โสภณพนิชแล้ว ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย "เจ้าหนูมหัศจรรย์"
ที่ผันเงินตราสกุลต่างๆ ทำกำไรให้แบงก์กรุงเทพ เป็นกอบเป็นกำทุกปี เป็นตัวชูโรงที่เด่นมากคนหนึ่ง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แห่งแบงก์รวงข้าว ขนาดติดนัดอีกงานยังเถลไถลอยู่ในงานจนทุ่มกว่า
เพราะในฐานะประธานกลุ่มฟอร์แร็กซ์ เรื่องที่คุยกันมันถูกใจหม่อมอุ๋ยเหลือเกิน
เอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ที่เพิ่งลุกจากเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศของแบงก์ชาติมาสดๆ
ร้อนๆ เป็นอีกเป้าหนึ่งที่ทั้งนักข่าวและนักค้าเงินแวะเข้าไปตั้งคำถาม
แต่พี่ท่านยิ้มลูกเดียว
ชุมพล ณ ลำเลียง แห่งค่ายปูนซิเมนต์ไทย พาร่างในชุดซาฟารีเข้ามาตอนทุ่มกว่า
ค่าเงินดอลลาร์ลงฮวบฮาบอย่างนี้ ปูนใหญ่คงอยากคุยเพื่อฟังทัศนะของนักค้าเงินเหมือนกัน
2 ทุ่มอันเป็นกำหนดเวลาปิดงาน แขกทยอยกลับ… บริกรเคลียร์พื้นที่ แต่ที่ยังกลับไม่ได้เพราะกำลังเพลินกับการตอบคำถามก็คือ
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย
"แบบนี้ต้องมาพูดกันแล้วว่าอะไร คือการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน การผูกค่าดอลลาร์กับอัตราแลกเปลี่ยน
การผูกค่าดอลลาร์กับอัตราแลกเปลี่ยน ควรมีหลักเกณฑ์มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เอานักค้าเงินทั่วโลก
ซึ่งอาจจะมีสัก 5,000 คนมาคิดว่าค่าเงินดอลลาร์จะไปทางไหน หรือมานั่งคิดว่า
ประธานาธิบดีคนนั้นพูดอย่างไร แล้วมาคิดว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร" ดอกเตอร์หนุ่มของแบงก์กรุงเทพ
"ระเบิด" ออกมาอย่างค่อนข้างแรง… ไม่รู้ว่าแบงก์กรุงเทพออกตัวกับดอลลาร์ได้มากน้อยแค่ไหนในวันจันทร์
ดร.วิชิตให้ความเห็นต่อไปว่า การที่ค่าเงินดอลลาร์ลงอย่างฮวบฮาบแบบนี้กระเทือนกับพ่อค้าระหว่างประเทศมาก
เพราะการขาดทุนหรือกำไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการหรือฝีมือทางการค้า
แต่ไปขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่พ่อค้าเหล่านี้ไม่มีความรู้
"พวกพ่อค้าเหล่านี้ เขาไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องค้าเงิน ถึงเขามีกำไรก็เพราะเขาโชคดีไม่ใช่เพราะฝีมือ
แต่ถ้าเขาขาดทุนล่ะ แม้เขาจะค้าขายเก่งมาก แต่ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเขาไม่ถนัด
เขาต้องเจ็บตัวไป… เจ๊งไป สุดท้ายคุณจะเหลืออะไรในระบบการค้า ก็เหลือแต่นักค้าเงินสิ
คนผลิตกับคนค้าขายหายไปไหน ปีนี้ไม่เจ็บตัวปีหน้าก็ต้องเจ็บตัว เหมือนคนที่ขึ้นไปอยู่ที่สูงรอฟ้าผ่า
วันนี้ไม่ผ่า พรุ่งนี้ก็ต้องผ่า"
สำหรับทางออกในการแก้ปัญหา ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย แบะปากยักไหล่อย่างจนปัญญา
เพราะการเข้าไปยุ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนของโลกไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำได้
ประเทศที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยังต้องรวมหัวกันทำ
"ธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องเข้ามามีบทบาทมากๆ คือต้องเข้ามาเป็นตัวคุ้มครองพ่อค้า
โอเค เรื่องค้าขายคุณเก่ง แต่ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนคุณอย่าเสี่ยง คือมันต้องเก่งคนละอย่าง
เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยง" ดร.วิชิตพูดสรุปอย่างไม่สบายใจนัก เพราะทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงโดยการขายหรือซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า
แบงก์พาณิชย์ก็ไม่กล้าเสี่ยง ค่าพรีเมียมเฉลี่ยจึงปาเข้าไปประมาณ 30 สตางค์ต่อดอลล่ร์ต่อเดือน
แถมยังมีอั้นด้วย ไม่ใช่ซื้อขายเท่าไหร่ก็ได้
งานเลี้ยงค็อกเทลเลิกแล้ว คนกลับหมดแล้ว แต่เรื่องดอลลาร์เป็นแค่ฉากเริ่มต้น
วันจันทร์ที่ 30 กันยายน ตกลงมาเหลือดอลลาร์ละ 26.30 บาท หล่นมาจากจันทร์ที่มีงาน
68 สตางค์และยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุด… การค้าระหว่างประเทศในเมืองไทยแทบชะงักอย่างสิ้นเชิง
"ผู้จัดการ" ไม่มีความเห็นต่อสภาพการเงินแบบนี้... ต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี
2528… ไม่มีความเห็นเพราะพูดไม่ออก มันตื้อน่ะ