|
เยือนกรุงเก่า
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังผ่านพ้นวิกฤติน้ำท่วม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ระดมปรับภูมิทัศน์ในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมอีกครั้ง
เกิดมาจำความได้ก็รู้จักแล้ว พอโตขึ้นอายุเข้าเกณฑ์ต้องเรียนหนังสือ ทำให้รู้จักมากยิ่งขึ้น ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ อู่ข้าวอู่น้ำเมื่อ 700 ปีล่วงมาแล้ว พระมหากษัตริย์ราชวงศ์อู่ทองมาสร้างเมืองนี้เป็นราชธานี... “อยุธยา”
417 ปีแห่งการเป็นราชธานี มีพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง 33 พระองค์ ประกอบด้วยราชวงศ์สุวรรณภูมิ สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง โดยมีสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง เป็นปฐมกษัตริย์ พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานได้สั่งสมอารยธรรมความเจริญมายาวนาน จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 องค์การยูเนสโก้โดยคณะกรรมการ มรดกโลกมีมติให้นครประวัติศาสตร์ “พระนครศรีอยุธยา” เป็นมรดกโลก โดยมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
แม้กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายเสียหายจากสงครามโดยเพื่อนบ้าน และการขุดค้นบุกรุกของคนไทยด้วยกันเองก็ตาม แต่ยังมีร่องรอยของความเจริญทั้งศิลปะและวัฒนธรรมปรากฏอยู่ให้เห็นได้รับรู้แก่ชาวโลก สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่จะประกอบด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ พระราชวัง วัดวาอาราม วังหลวง วังหน้า วังหลัง พระราชวังบางปะอิน ตำหนักนครหลวง อันล้วนแต่มีความสวยสดงดงามมีคุณค่าแห่งความเป็นไทยทั้งสิ้น
หลังภาวะน้ำท่วม ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ระดมความ คิด ร่วมแรงจากทุกภาคส่วน ปรับภูมิทัศน์ในสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดให้อยู่ในสภาพพร้อมต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชม
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา แบ่งเป็น 2 ส่วน
อาคารหลัก ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน
อาคารผนวก อยู่ที่ตำบลเกาะเรียน ในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์ของศูนย์แห่งนี้คือการสร้างภาพชีวิต วัฒนธรรม สังคมในอดีต โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาจัดแสดง อยุธยาในฐานะ ราชธานี เมืองท่า ศูนย์กลางการเมือง การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัยก่อน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยาทรงสร้าง
บริเวณพิพิธภัณฑ์
อาคาร 1 ชั้นล่าง จัดแสดงศิลปวัตถุโบราณที่ได้จากการขุดพบ และการบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในระหว่าง พ.ศ.2499-2500 ประกอบด้วยพระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ลพบุรี อยุธยา พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาของสมัยทวาราวดี ประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามาก ซึ่งในโลกพบเพียง 5 องค์เท่านั้น ในประเทศไทยและอีก 1 องค์ในประเทศอินโดนีเซีย
เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ทำด้วยสัมฤทธิ์ มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมิกราช ทำให้เห็นถึงฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ของ คนสมัยโบราณ
ชั้นบน จัดแสดงเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปี 2500 พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็ก มีคมทั้ง 2 ด้าน ฝักทำด้วยทองคำประจำหลัก ลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญมณี ด้ามทำด้วยหินเขี้ยวหนุมาน
อีกห้องจัดแสดงเครื่องทองที่ขุดพบจากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในผอบทองคำ แสดงพระพิมพ์ที่ทำด้วย โลหะชนิดเจือปน ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง และดินเผา (ชิน) สมัยสุโขทัย ลพบุรี อยุธยา ที่ค้นพบในกรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ และวัดพระราม
อาคาร 2 เป็นศิลปะโบราณในประเทศไทย อายุสมัยพุทธศตวรรษ 11-14 คือ สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปปางต่างๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระคเณศ
อีกอาคาร สร้างเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลาง กลางคูน้ำ จัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำวันของคนในยุคก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีต
วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดที่สร้างในพระราชวังหลวง เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุของ กรุงสุโขทัย หรือวัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม ในกรุงเทพมหานครนั่นเอง
สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ ต่อมาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ
ในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ ใหญ่ 2 องค์ องค์แรกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อีกองค์เป็นการบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา
ต่อมาทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 16 เมตร “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ชุบด้วยทองคำหนัก 171 กิโลกรัม ประดิษฐานไว้ในพระวิหาร
ภายหลังเมื่อเสียกรุงในปี 2310 ข้าศึกได้ลอกเอาทองคำไปในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธาน ซึ่งบูรณะแล้วนำมากรุงเทพฯ บรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น แล้วพระราชทานเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ
เจดีย์องค์ที่ 3 สมเด็จพระบรมราชา ธิราชที่ 4 พระหน่อพุทธางกูร พระราชโอรส สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ทราบว่าบรรจุพระอัฐิพระราชบิดา ซึ่งเจดีย์ทั้งสามองค์ นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา พระราชวังหลวง สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างตั้งแต่ครั้ง ยังประทับอยู่ที่เวียงเล็กเมื่อ พ.ศ.1890
เมื่อสร้างพระราชวังเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1893 จึงย้ายมาบริเวณหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนั้น สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ เป็นปราสาทยอดปรางค์ มุขหน้าหลังยาว มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน
ตามพงศาวดาร พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2186 เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้
ชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบราชพิธีต่างๆ
พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตรงกลาง สร้างแบบเดียว กับวิหารสมเด็จ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันถึง 5 ชั้น มีมุขเด็จยื่นออกมาเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลง มีพื้นสูงกว่า พระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ติดกำแพงริมแม่น้ำ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนทางน้ำ
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ พระเจ้า ปราสาททองทรงสร้างขึ้น พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์ คล้ายกับปราสาทที่นครธม
ลักษณะเป็นประสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรขบวนแห่และฝึกหัดทหาร
พระที่นั่งตรีมุข เป็นพระที่นั่งศิลาไม้หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เข้าใจว่าเป็นพระที่นั่งฝ่ายใน เป็นที่ประทับในอุทยาน เป็นพระที่นั่งองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ “พระที่นั่งท้ายสระ” เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญราชอิริยาบถ มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้
พระที่นั่งทรงปืน เป็นพระที่นั่งรูปยาวรี สำหรับฝึกซ้อมอาวุธและใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนางในสมัยพระเพทราชา อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์
นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งที่มีซากหลงเหลือให้ได้เห็นในปัจจุบัน สร้างในสมัยสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในทุกรัชกาล
วังจันทรเกษม “วังหน้า” ริมแม่น้ำป่าสัก เกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ หลักฐานสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร และเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าบรมโกศ ฯลฯ
เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและทิ้งร้างไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยา และพลับพลาจตุรมุข ไว้เป็น ที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสอยุธยา และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ว่า พระราชวังจันทรเกษม
กำแพงและประตูวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐ มีใบเสมา ประตู 4 ด้าน ด้านละ 1 ประตู
พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข เดิมใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการ
ต่อมาใช้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิม พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง ประกอบด้วยอาคาร 4 หลังคือ อาคารปรัศว์ซ้าย ปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือหอส่องกล้อง หอสูง 4 ชั้น สร้าง ครั้งแรกในสมัยพระนารายณ์มหาราชและหักพังเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 และสร้างขึ้นใหม่ตามรากฐานเดิมเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้ประทับทอดพระเนตรดูดาว
วัดราชบูรณะ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา ที่ชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.1967 และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์ 2 องค์ เมื่อคราวเสียกรุงถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก ด้านหน้ามีบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ผนังวิหารเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏ เสา พระวิหาร และฐานชุกชีพระประธานให้เห็นอยู่
พระปรางค์ปราสาท เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกที่นิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์ มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ องค์ปรางค์ประดับศักยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ 2 ชั้น เข้าชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนราง
ชั้นล่างที่เคยเป็นที่เก็บเครื่องทองมีจิตรกรรมเขียนด้วยสีแดงชาด ปิดทอง เป็นพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้
เมื่อปี พ.ศ.2500 เป็นที่ตื่นตระหนกและข่าวดังไปทั่วประเทศ เมื่อคนร้ายลักลอบ ขุดโบราณวัตถุที่ฝังอยู่ในกรุพระปรางค์
ต่อมาทางราชการได้ติดตามจับคนร้ายและยึดโบราณวัตถุของกลางได้เพียงบางส่วน วัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะทำด้วยทองคำ สำริด หิน ดินเผา และอัญมณี
เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์ต่อ ได้นำวัตถุมีค่าต่างๆไปเก็บรักษา แสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
วัดมหาธาตุ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในฐานพระปรางค์ประธานของวัด พระปรางค์วัดมหาธาตุนี้ถือว่าเป็นปรางค์ที่สร้างขึ้นในระยะแรกของสมัยอยุธยา
ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ให้สูงกว่าเดิม ปัจจุบัน เหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น
กรมศิลปากรพบผอบศิลาภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งเป็น ชั้นเงิน นาค ไม้ดำ ไม้จันทร์ แดง แก้วโกเมน และทองคำ ภายในบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องประดับมีค่า
ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติเจ้าสามพระยา นอกจากนี้ยังมีเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่มีรากไม้ ปกคลุมอยู่
วัดพระราม สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงสถานที่ถวาย พระเพลิงพระเจ้าอู่ทอง พระราชธิดา มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด ปัจจุบันคือสวนสาธารณะบึงพระราม
วิหารพระมงคลบพิตร พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 12.45 เมตร นับเป็น พระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
พระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางทิศตะวันตกที่ประดิษฐานในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ครอบมณฑปสวมไว้
ในสมัยพระเจ้าเสือ อสุนีบาตตรงลงมา ยอดมณฑปเกิดไฟไหม้ ทำให้ส่วนบนองค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหาร และหล่อพระเศียรใหม่ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เมื่อครั้งเสียกรุง พระวิหารพระมงคลบพิตรถูกเผาจนพระเมาฬีและกรขวาหัก รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่
สำหรับบริเวณด้านข้างพระวิหารพระมงคลบพิตรนั้น (ด้านทิศตะวันออก) คือสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับสนามหลวงที่กรุงเทพฯ
ป้อมและปราการรอบกรุง กำแพงเมือง ที่พระเจ้าอู่ทองสร้างครั้งแรกนั้น เป็นเพียงเนินดินโดยมีเสาไม้ระเนียดปักข้างบน
สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ก่ออิฐถือปูนและมีการสร้างป้อมต่างๆ ขึ้นก่อน ป้อมมหาไชย ป้อมเพชร ป้อมขนาดใหญ่จะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ เช่น ป้อมเพชรตั้งอยู่ตรงที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำป่าสัก
ป้อมมหาไชยตั้งอยู่มุมพระราชวังจันทรเกษม บริเวณที่เป็นตลาดหัวรอ ปัจจุบันตัวป้อมถูกรื้อเพื่อนำอัฐิไปสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1
วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง พระเจ้าปราสาททองทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นวัดที่มีความงดงามมากวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย กับเจ้าฟ้าสังวาลที่ต้องราชอาญาถูกโบยจนสิ้นพระชนม์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และที่มีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม เรียกพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ
การที่พระเจ้าปราสาททองมาสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับ เป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยม สร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้าง ปรางค์ของวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ภายใต้พระราชอำนาจ จึงนำรูปแบบสถาปัตยกรรม มาสร้างปรางค์อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุกัน พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าวัด วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และกรมศิลปากรได้บูรณะตลอดมา
วัดกษัตราธิราช อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อวัดกษัตริย์ วัดโบราณในสมัยอยุธยา มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานของวัด ทั้งยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยา ซึ่งมีดาวเพดานจำหลักไม้งดงาม
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ประดิษฐานอยู่ระหว่างบึงพระรามกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระบรมรูปมีขนาดเท่าครึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์รมด้วยน้ำยาสีเขียว ในท่าประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ เกล้าเกศา ฉลองพระองค์แบบพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาตอนต้น
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองตรงข้ามวัดกษัตราธิราช พระเจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำยุทธหัตถีระหว่างพระมหาจักรพรรดิ์กับพระเจ้าแปร
วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมืองตรงข้ามพระราชวังหลวง สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
สถานที่ตั้งของวัดนี้ เดิมเป็นที่สร้างของพระเมรุของกษัตริย์สมัยอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ต่อมาจึงสร้างวัดขึ้น วัดนี้เป็นวัดที่พระมหาจักรพรรดิ์เมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองมีการทำสัญญา สงบศึก ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส
วัดหน้าพระเมรุ เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่พม่าไม่ได้เผา ไม่ได้ทำลาย ซึ่งยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตร มีเสาอยู่ภายในเป็นแบบอยุธยาตอนต้น ต่อมามีการขยายโดยเพิ่มเสาที่ชายคาภายนอกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็น ช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถว แถว ละ 8 ต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลัก ไม้ลงรักปิดทอง ลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อยเป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่ได้นำชิ้นส่วนอื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีชื่อว่า “พระพุทธนิมิต ลิขิตมารุโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”
วัดภูเขาทอง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2112 ไว้เป็นที่ระลึกเมื่อคราวทำสงครามชนะไทย ในขณะที่ประทับอยู่ในพระนครศรีอยุธยาได้สร้างเจดีย์ใหญ่แบบมอญ-พม่าขึ้น แต่ทำได้เพียงรากฐาน แล้วยกทัพกลับ
ครั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพคืนมาเมื่อ พ.ศ.2127 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานแบบมอญ-พม่าที่มีอยู่เดิม ณ สมรภูมิทุ่งมะขามหย่อง เจดีย์ภูเขาทองจึงมีลักษณะ สองแบบผสมกัน
พระที่นั่งเพนียด สร้างขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตร การคล้องช้างและการจับช้างในเพนียด ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ทั้งในยามปกติและยามสงคราม เพนียดมีลักษณะเป็นคอกล้อมด้วยซุงทั้งต้น มีปีกกางแยกเป็นรั้วไปสองข้าง รอบเพนียดเป็นกำแพงดินประกอบด้วยอิฐเสมอยอดเสาด้านหลังคอกตรงข้ามแนวปีกกาเป็นพลับพลาที่ประทับซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2500
วัดพุทไธสวรรย์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมพระเจ้าอู่ทอง “เวียงเล็ก” ในวัดมีปรางค์ประธานองค์ใหญ่ ศิลปะแบบ ขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพทีมีลักษณะย่อเหลี่ยม มีบันไดขึ้นทั้งทางทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก มีมณฑปอยู่ทางทิศเหนือ ทิศใต้ภายในมีพระประธาน
วัดใหญ่ชัยมงคล วัดป่าแก้ว หรือวัดเสาพระยาไทย สันนิษฐาน ว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 เพื่อเป็นสำนักของพระสงฆ์ ที่ไปบวชเรียนมาจากประเทศศรีลังกา สำนักพระวันรัตน์มหาเถระนิกาย คณะป่าแก้ว
พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกกับพระมหาอุปราช ทรงสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ
วัดโบราณที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่ง ซึ่งการสร้างพระเจดีย์อาจสร้าง เสริมเจดีย์ที่มีอยู่แล้วหรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ “เจดีย์ชัยมงคล”
วัดนี้น้ำไม่ท่วม เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตรงข้ามเกาะเมืองก็ตาม
วัดพนัญเชิง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานจากพงศาวดาร พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก
พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ “หลวงพ่อโต” ชาวจีนเรียก “ซำปอกง” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19 เมตรเศษ ฝีมือปั้นมีความงดงามมาก
เมื่อคราวเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตร ไหลออกมาทั้งสองข้าง ส่วนพระวิหาร เสาวิหารเขียนสีเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแหย่งสีแดง ที่หัวเสามีปูนปั้นเป็นบัวกลุ่มที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น ผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นซุ้มเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 84,000 องค์ ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมากประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ฯ ในเครื่องแต่งกายแบบจีน “จูแซเนีย” เป็นที่เคารพของชาวจีน
จากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว วัดวาอารามปราสาทราชวัง สถานที่น่าสนใจ หมู่บ้านชุมชนชาวต่างชาติ เช่น หมู่บ้านโปรตุเกส ที่เป็นชาวต่างชาติ ยุโรปชาติแรกที่มาติดต่อค้าขายเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยอยุธยา อยู่ฝั่งเจ้าพระยาใต้โดยยังมีร่องรอยให้เห็นด้วยความเจริญรุ่งเรือง ของอยุธยา ความอยู่ดีมีสุข พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นแหล่งพืชพรรณ อาหาร หัตถกรรมต่างๆ มากมายที่เป็นอาชีพมาช้านาน เช่น เมื่อเราเรียนประวัติศาสตร์ก็จะรู้จักหมู่บ้านอรัญญิกที่มีการทำมีดที่มีชื่อเสียง เครื่องจักสาน โต๊ะหมู่บูชา และอีกมากมาย
แต่ที่อยากพูดถึงคือมะตูม ซึ่งตอนเป็นเด็กเล็กยังเคยเห็นต้นและลูกมะตูมสดๆ แต่คนรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่รู้จักเสียแล้วก็เป็นได้
ที่นำเรื่องมะตูมมาคุยเพราะวันก่อนได้รับประทานเค้กมะตูม ซึ่งอร่อยมากและสอบถามผู้ทำแล้ว เขาทำเป็นโฮมเมด บ้านอยู่แถว เอกมัย เมื่อมีเวลาเขาจะขับรถตระเวนไปที่จังหวัดอยุธยา หาซื้อมะตูม ที่นั่นมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ซึ่งมีรสชาติหอมหวานที่อร่อยมากกว่ามะตูมจากท้องถิ่นอื่น
มะตูมเป็นทั้งผลไม้และยาสมุนไพรที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน มาช้านาน ทานได้ทั้งสดและแห้ง ใช้ทำน้ำมะตูม ใช้รักษาอาการท้องร่วง ท้องเดิน ท้องผูกได้ผลดี
มะตูมเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดชัยนาท เป็นต้นไม้ผลัดใบสูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้าน ตามลำต้นมีหนามยาว เปลือกต้นสีเทา ดอกเล็กขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลรูปไข่ ผิวเรียบเกลี้ยงเขียวอมเหลือง เปลือกแข็งมาก เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 10 ซม. ยาว 12-18 ซม. เนื้อในสีเหลือง มียางเหนียวแต่กลิ่นหอม
ใบมะตูมยังเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีแต่งงาน แรกนาขวัญ แม้แต่เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มที่จะไปรับราชการในต่างประเทศ เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลลา พระมหากษัตริย์จะพระราชทานใบมะตูมทัดหู
ใบมะตูมมี 3 แฉก คล้ายตรีศูลอาวุธของพระอิศวร ในทางศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า ต้นมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการบูชาพระอิศวร จะมีการถวายใบมะตูมพร้อมท่องมนต์ หรือใช้ใบมะตูมในน้ำมนต์ ซึ่งมีความหมายเบิกบานตูมแตกหน่อ
ในทางศาสนาฮินดูกล่าวกันว่า พระศิวะประทับอยู่ใต้ต้นมะตูม ดังนั้นจึงพบต้นมะตูมได้ทั่วไปในสวนของวิหารในอินเดีย
ตามความเชื่อในการปลูกต้นไม้ตามทิศกล่าวไว้ว่า การปลูกมะตูมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร และเป็นมงคลต่อผู้อยู่อาศัยมีชื่อเสียงดังตูมตาม
เมื่อวัยเด็กมีโอกาสไปอยุธยาบ่อย ซึ่งล่วงมากว่า 40 ปี สิ่งที่ได้เห็นติดตาอยู่ในความทรงจำมาตั้งแต่เด็กคือ ปลาตะเพียนสาน ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย ที่เดิมมักใช้ใบลาน มาทำเป็นเส้นแผ่นยาวๆ บางๆ นำมาตากแดด แล้วนำมาสานเป็นรูป ปลาตะเพียน
เมื่อก่อนมีปลาตะเพียนชุกชุม ปลาตะเพียนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ พูนสุข
ผู้ใหญ่ในอดีตจึงนิยมแขวนปลาตะเพียนสานไว้เหนือเปล เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ปลาตะเพียนสานมี 2 ชนิด คือ ชนิดลวดลายและตกแต่งให้สวยงาม ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และปลาตะเพียนสานเป็นใบลานธรรมชาติ
ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนประกอบด้วย 6 ชิ้นส่วนสำคัญ กระโจม แม่ปลา กระทงเกลือ ปักเป้าใบโพธิ์ และลูกปลา หากจะใช้สีธรรมชาติ ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกใบลานที่มีผิวสวยเรียบขาว
ปัจจุบันปลาตะเพียนสานเป็นสินค้า OTOP ของชาวบ้านกลุ่มท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
สินค้าอีกชนิดที่ทุกคนไปเที่ยวอยุธยาแล้วอดซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไม่ได้ คือพุทรากวน นั่นเอง
พุทราที่อยุธยาที่นำมากวนจะเป็นพุทราไทยพันธุ์โบราณ ซึ่งมีปลูกมากในวังโบราณใกล้วัดมงคลบพิตร
พุทรากวนเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยที่อุดมคุณค่าทางอาหาร
การเยือนพระนครศรีอยุธยา อดีตเมืองหลวงของไทยครั้งนี้ ได้รับรสชาติทั้งอาหารตา อาหารสมอง และของกินอย่างครบถ้วน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|