จารึกวัดโพธิ์ จารึกโลก จารึกธรรม

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

“โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์” (นายมี: นิราศพระแท่นดงรัง) แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานกว่า 212 ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงมีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้ เป็น The Great Cultural Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาชมมากที่สุด ถึงกับได้รับการจัดลำดับที่ 24 ของโลก จากสถิติเฉลี่ยมีคนเข้าชมวัดเดือนละแสนคน หรือตกปีละ 1.2 ล้านคน แต่สถิติที่เคยทำสูงสุดในปี 2549 มากถึง 8.15 ล้านคน!

วัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือ “วัดโพธิ์” แห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ใหม่ทั้งอาราม โดยใช้เวลาถึง 7 ปี 5 เดือน 28 วัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2336 และโปรดฯ ให้จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนไว้เป็นศิลาจารึกจดหมายเหตุให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จดจำ (ปัจจุบันจารึกโบราณขนาด ใหญ่ที่มีอายุ 200 กว่าปีนี้ยังประดับให้เห็นอยู่ที่ผนัง พระวิหารทิศพระพุทธโลกนาถ)

30 ปีต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ยิ่งใหญ่และมีพระราชดำริให้วัดโพธิ์เป็น “มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย” โดยนำเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันชำระตำรับตำราแพทย์แผนโบราณ ตำรายาไทย ประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เวชศาสตร์ และสุภาษิต จารึกลงแผ่นศิลาประดับไว้ตามที่ต่างๆ ในวัดโพธิ์ และยังมีแผ่นศิลาใหญ่ จารึกพระราชดำริว่าด้วยการสร้างพระพุทธไสยาสที่งดงามและใหญ่ที่สุดด้วย

ล่าสุด 24 ธันวาคม 2554-2 มกราคม 2555 วัดโพธิ์ได้จัดงานฉลองเก้าวันเก้าคืนข้ามปี ในวาระโอกาสที่ “จารึกวัดโพธิ์” ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World Register) จากองค์การยูเนสโก

โดยในวันแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเชิญเสด็จฯไปทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสดับพระธรรมเทศนามหาชาติ กัณฑ์มหาราช ที่แสดงธรรมโดยพระครูวินัยธรมานพ กนฺตสีโล ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ด้วย

งานเฉลิมฉลองจารึกวัดโพธิ์นี้ให้บรรยากาศย้อนยุค แกะรอยตามจารึกเก่าแก่ ในรัชกาล 1 ที่เคยจัดงานฉลองยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2344 หลังเสร็จสิ้นงานบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ เช่น วัฒนธรรมการละเล่น ร้องรำทำเพลง การแสดงโขน การรำโคม ตลาดเก่าร้อยปี ฯลฯ

ใครที่พลาดก็น่าเสียดายที่ไม่ได้เก็บรูปเก็บความทรงจำไว้ เพราะงานนี้จัดเต็มทั้งให้ความรู้คู่บันเทิงที่จำลองตามแบบแผนไทยโบราณจริงๆ ใครใคร่ฟังวงเสวนาวิชาการก็มี หรืออยากฟังธรรมจากเทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆ ก็ดี หรืออยากจะชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยตามเวทีสำคัญๆ ก็มีหลากหลายการละเล่น เช่น เวทีแสดงโขนราว เวทีลานหอระฆังก็แสดงงิ้ว เวทีแปดเหลี่ยมมีเพลงฉ่อย และที่ศาลาแม่ซื้อก็มีหนุ่มสาวขับขาน ทำนองเสนาะอ่านฉันท์กาพย์กลอนโคลง รำไทยที่หาชมยาก วงปี่พาทย์ไม้แข็งที่เล่นโดยเด็กประถม และขบวนแห่พุ่มเทียนรอบพระอุโบสถยามพลบค่ำก็สวยงาม ท่ามกลางฉากอันเมลืองมลังของวัดโพธิ์

นอกจากนี้ยังแสดงคติไทยๆ ที่สนุกและน่าสนใจติดตาม เช่น คติคนโบราณที่เชื่อ ว่า “แม่ซื้อ” คือเทวดาคุ้มครองทารกทั้งเจ็ดวัน ในงานนี้ได้จัดให้การระบำแม่ซื้อมาให้ชมด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงของฤษีดัดตนโดยจำลองท่ามาจากรูปปั้น ปัจจุบันรูปปั้นฤษีดัดตนที่วัดโพธิ์เหลืออยู่เพียง 24 ท่าจากเดิม 80 ท่า และยังมีการแสดงชุดชาติพันธุ์ต่างถิ่นต่างภาษา 12 ชาติพันธุ์ที่จารึกไว้แต่ครั้งโบราณ แสดงว่าคนไทยรู้จักโลกานุวัตน์ Globalization มาเป็นร้อยๆ ปีแล้วนั่นเอง!

ยิ่งกว่านั้น ความเป็นเลิศทางอักษรศาสตร์ก็ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รัตนกวีและปราชญ์แห่งแผ่นดินสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นอธิบดีสงฆ์องค์ที่สองสืบต่อจากสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) และได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในวาระครบ รอบ 200 ปีแห่งวันคล้ายวันประสูติ งานพระนิพนธ์ของท่านมีทั้งร้อยกรอง เช่น โคลงภาพฤษีดัดตน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย ส่วนงานร้อยแก้ว เช่น พระปฐม สมโพธิกถาซึ่งให้ทั้งอรรถรสภาษาและวรรณคดีจากเนื้อหาพุทธประวัติ

ตำราฉันท์ที่จารึกวัดโพธิ์มีลักษณะ เด่นที่สุดตรงกำหนดคำ ครุ (เสียงหนัก) ลหุ (เสียงเบา) ถือเป็นตำราการประพันธ์ยอดเยี่ยม เพราะเป็นอัจฉริยลักษณ์พิเศษของภาษาไทยที่เดียวในโลกที่สามารถเลือก สรรคำแต่งฉันท์ได้กว้างขวางไพเราะเพราะพริ้งชั้นสูง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จารึกสรรพตำราหมวดวรรณคดีและอักษรศาสตร์ไว้ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์มาตราพฤติ ซึ่งคงเหลือไว้ที่วัดโพธิ์เพียงแห่งเดียว

“พฤศภกาษร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสนงคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตยทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” (ฉันท์กฤษณาสอนน้อง: กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

ดังนั้น “จารึกวัดโพธิ์: มรดกความทรงจำแห่งโลก” จึงหมายถึง ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ เรื่องราวของมนุษยชาติในประเทศไทยที่จารึกลงบนแผ่นศิลาด้วยภาพ ลายลักษณ์อักษรไทยอันสวยงาม ถึงวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และเชื้อชาติหลากหลายแตกต่างที่อยู่ในไทย เพื่อกันลืม และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าถึง-เรียนรู้-ใช้ประโยชน์เต็มที่

ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ จารึกวัดโพธิ์เป็นความทรงจำ แห่งโลกที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ เป็นศิลาจารึกที่อุดมปัญญาแผนไทยมากกว่า 1,440 รายการ ถูกประดับไว้ตามอารามเปิดโล่งให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ มิได้เป็นเอกสารแห่งความทรงจำที่ถูกเก็บไว้ในหอสมุด หรือหอจดหมายเหตุ หรือในพิพิธภัณฑ์อันมืดทึบ

วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือน “มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก” ของประเทศไทย ที่กษัตริย์สร้างระบบการศึกษาเพื่อประชาชนได้เข้าถึงภูมิปัญญาไทยจากจารึกวัดโพธิ์ 1,440 รายการและได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ถึงความสำคัญและครอบคลุมครบถ้วนภูมิปัญญาไทยทั้ง 6 หมวดที่ควรรู้ขณะเดินเที่ยววัดโพธิ์ ได้แก่

หนึ่ง-หมวดพระพุทธศาสนา (310 แผ่น) มี 12 เรื่อง คือ เรื่องมหาวงษ์ พระสาวกเอตทัคคะ พระสาวิกา เอตทัคคะ อุบาสิกาเอตทัคคะ พาหิรนิทาน ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก อรรถกถาชาดก ญาณ 10 นิรยกถาและ เปรตกถา

สอง-หมวดเวชศาสตร์ (608 แผ่น) มี 9 เรื่อง ได้แก่ ตำรายา แผนเส้น แผนฝี แผนปลิง แม่ซื้อ ลำบอง ราหู โองการปัดพิษแสลง อาธิไท้โพธิบาท และโคลงภาพ ฤษีดัดตน

สาม-หมวดวรรณคดีและสุภาษิต (341 แผ่น) มี 11 เรื่อง ได้แก่ โคลงกลบท โคลงภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ โคลงโลกนิติ เพลงยาวกลบท ตำราฉันท์มาตราพฤติ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์พาลีสอนน้อง ฉันท์กฤษณาสอนน้อง ฉันท์อัษฎาพรนร สุภาษิตพระร่วง และนิทาน 12 เหลี่ยม

สี่-หมวดทำเนียบ (124 แผ่น) มี 3 เรื่อง ได้แก่ ทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทำเนียบสมณศักดิ์ และโคลงภาพต่างคนต่างภาษา

ห้า-หมวดประวัติ (21 แผ่น) มี 2 เรื่อง ได้แก่ ประวัติการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ละอาคาร และจารึกชื่อเฉพาะต่างๆ ได้แก่ วิหารทิศพระมหาเจดีย์ฯ และสถูป

หก-หมวดประเพณี (36 แผ่น) มี 1 เรื่อง ได้แก่ ริ้วกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารค

ประชาชนได้เข้าถึงศึกษาหาความรู้แผนไทยทั้งหมดได้โดยสามารถคัดลอกจาก “ศิลาจารึกวัดโพธิ์” ที่ประดับอยู่ในวิหารอาราม บริเวณพื้นที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ ระเบียงรอบพระมหาเจดีย์ ศาลาคู่หน้าพระมหาเจดีย์ และศาลานวด โดยแยกจารึกได้ออกเป็นหลายสาขาคณะวิชา เช่น แพทย์แผนไทย (เปรียบเสมือนคณะแพทยศาสตร์) ตำราการแพทย์แผนไทยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีจริง เนื้อหาจารึกครอบคลุมทั้งสมุฏฐานของโรค-ตำรายารักษาโรคแม่และเด็ก-ตำราชื่อยาชื่อโรค-ตำราสรรพคุณยา-ตำรานวดที่ใช้มือ คนไทยรู้จักการนำเส้นประธานสิบมาใช้รักษาโรค เส้นประธานสิบเป็นความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่มีการบันทึกในตำราการนวดไทย ต่างๆ หลายตำราที่จารึกไว้ที่วัดโพธิ์

ปัจจุบันจารึกวัดโพธิ์ที่ “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำ โลก” สำรวจพบเหลือเพียง 1,440 ชิ้น ถือเป็นของแท้ที่ไร้เทียมทาน (Authenticity) ยากจะหาสิ่งใดทดแทนได้ (Unique & Irreplaceable) และมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณไทย (Social Spiritual Community Significance) ที่แสดงอัตลักษณ์ของสังคมชุมชน ถือเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ ปกป้องมิให้เสื่อมสูญหายไปและสมควรเผยแพร่ให้คนรุ่นต่อไปได้ประจักษ์ถึง ความมั่งคั่งทางภูมิปัญญาไทยที่สามารถเข้าถึงและนำมาปรับใช้ประโยชน์ ในยุคสมัยใหม่ได้อย่างดี (ค้นหาได้จากเว็บไซต์ www.unesco.org/webworld/mdm)

น่ายินดีที่ประเทศไทยมีมรดกทางปัญญาที่องค์การยูเนสโกยอมรับว่าเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” ระดับนานาชาติมากถึง 3 รายการ คือ

หนึ่ง-จารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 (ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2546)

สอง-เอกสารจดหมายเหตุการปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2411-2453 (ขึ้นทะเบียน 29 กรกฎาคม 2552)

สาม-จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียน 27 พฤษภาคม 2554)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และเขาใหญ่ ดงพญาเย็นเป็น “มรดกโลก” (World Heritage) 2 แห่ง เช่นเดียวกับ “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” (World Heritage) ใน 3 จังหวัดคือ 1. สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 2. อยุธยากับเมืองบริวาร 3. บ้านเชียง

นี่คือมรดกโลก มรดกธรรมที่ตกทอดมาถึงสังคมโลกและคนไทย รุ่นใหม่ เป็นฐานขุมทรัพย์ทางปัญญาความรู้แท้ๆ ที่รุ่นปู่ย่าตายายได้สร้างไว้ให้อนุชนได้นำไปต่อยอดสร้างสรรค์ Creative Economy ได้เต็มที่และเต็มความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.