|
อนาคตประเทศไทย
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
บรรยากาศงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ CEO Forum at BOI Fair 2011 เมื่อกลางเดือนมกราคม ได้รับความสนใจจากผู้บริหารทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงโอกาสในภูมิภาคอาเซียน
วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) พูดถึงการบริหาร จัดการน้ำ ส่วนศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชา ชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา สมัยที่ 2 และสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ในฐานะคนไทยแต่ร่วมงานองค์กรระดับโลกได้ให้ความเห็นในมุมมอง ของระบบการคิดแบบสากล
วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย หลังจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปี 2554 เกิดขึ้นในรอบ 50 ปี ว่าความเสียหายจากน้ำท่วมมหาศาลในหลายอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม
นับเป็นภาระหน้าที่อันหนักหน่วง แต่ได้ตัดสินใจประกาศว่า แม้น้ำท่วมในปีนี้จะมากหรือเท่ากัน น้ำจะต้องไม่ท่วมอย่างนี้ เพราะได้เห็นข้อบกพร่องหลายอย่างคือ ประเทศไทยไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่เป็นเรื่องราว และมีประสิทธิภาพ เพราะการจัดการน้ำที่ผ่านมาคือการใช้เพื่ออุปโภคบริโภค แต่งานระบบน้ำไม่ได้อยู่ในทัศนคติของระบบราชการ ดังนั้นทัศนคติต้องเปลี่ยน
ส่วนกรมชลประทานมีหน้าที่ให้น้ำ แต่ไม่ทำหน้าที่ระบายน้ำ ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ single command unit หมายความว่า นายกรัฐมนตรีต้องกระโดดมาเป็นประธาน เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นคือความไม่เป็นเอกภาพในการตัดสินใจระบายน้ำ และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่แปลก กรณีนักการเมืองเข้ามาดูแลเขตเลือกตั้งของตัวเอง ส่วนรัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ
ส่วนโครงการพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำ มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกของกรุงเทพฯสามารถระบายน้ำได้ดีและมีโครงการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ รวมถึงสร้างคันกั้นน้ำตั้งแต่ปี 2527 น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน แต่การรุกล้ำลำคลองโดยประชาชนทั้งคนจน รวมถึงคนรวยที่สร้างห้างสรรพสินค้าบางแห่งขวางทางน้ำ
ดังนั้นจึงมีโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว แบ่งออก เป็น 3 ส่วน ภาคเหนือ น้ำมาถึงปากน้ำโพต้องมีการชะลอน้ำเหมือนโครงการแก้มลิง ส่วนภาคกลาง ปากน้ำโพ เขื่อนชัยนาท เป็นทางเดินของน้ำ แต่ไม่พอต้องสร้างทางเดินใหม่เพิ่มเติม
หลังจากน้ำไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลาง จะผันน้ำออกทะเล ตะวันออก และอีกส่วนควบคุมให้ไหลไปทางตะวันตกแม่น้ำท่าจีน และอีกส่วนหนึ่งผ่านกรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณ ในการบริหารจัดการน้ำประมาณ 350,000 ล้านบาท
เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้วีระพงษ์ต้องเดินทางไปพบกับบริษัทประกันต่อรายใหญ่ 12 แห่งทั่วยุโรป เพื่อสร้างความ มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมอีก และอธิบายถึงวิธีการบริหารจัดการน้ำ แต่องค์กรก็ยังเป็นห่วงเรื่องเงินลงทุน ซึ่งวีระพงษ์บอกว่าประเทศไทยไม่ได้ยากจนเหมือนสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ไทยมีงบประมาณเกินดุลมา 15 ปี มีทุนสำรอง 180,000 ล้านบาท และมีจีดีพีเป็นอันดับ 17 ของโลก
การระดมทุนเพื่อลงทุนการบริหารจัดการน้ำจะเน้นการระดมทุนในประเทศเป็นหลัก ยกเว้นต่างประเทศมีเงื่อนไขที่รับได้
เหตุการณ์น้ำท่วมทำให้เกิดการบริหารการจัดการน้ำ และ มองว่าเป็นโอกาสยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุขต่างๆ
วีรพงษ์กล่าวว่า เขาได้เฝ้ามองการพัฒนาประเทศ 5-6 ปีที่แล้วมาด้วยความไม่สบายใจ โดยเฉพาะให้ความสำคัญการเมือง มากเกินไป โดยไม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร
โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ และศูนย์กลางต่างๆ ของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงขาลง และ จะเป็นเช่นนี้อีกนาน นอกจากจะค้นพบเทคโนโลยีใหม่
ด้านยุโรป ไม่ต้องพูดถึง ล้มแน่นอน เพราะการใช้เงินสกุล เดียวในยุโรปเป็นสิ่งไม่ถูกธรรมชาติ เปรียบเหมือนผูกขาคนอ้วน คนผอม คนสูง และคนเตี้ยไปด้วยกัน ทำให้ล้มได้ง่าย ดังนั้นเอเชีย จะเป็นหัวรถจักรของโลกในศตวรรษหน้ารวมถึงบราซิล และรัสเซีย การเปลี่ยนแปลงในพม่าได้เปิดโอกาสใหญ่หลวงให้กับประเทศไทย กลุ่มประเทศในอินโดจีนที่พร้อมจะเดินไปพร้อมกับกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2558
“ผมกับท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ทุกท่านเอ่ยถึงโครงการทวาย ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า พม่า หรืออินโดจีน กำลังเปลี่ยนแปลง เราต้องฉวยโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทยและเพื่อนๆ ประเทศใกล้เคียงของเรา”
วีรพงษ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะเห็นการ ย้ายโรงงานไปยังเพื่อนบ้าน ไทยจะยังเป็นศูนย์กลางการส่งออก แต่ชิ้นส่วนจะผลิตมาจากเพื่อนบ้าน ผลิตในประเทศไทย แต่เป็นยี่ห้อญี่ปุ่น
“ผมใฝ่ฝันจะเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคู่ค้าของจีน อินเดีย ซึ่งเราจะต้องตามให้ทัน”
ต้องเอาจริงเอาจัง
ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังก์ถัด (UNCTAD) พูดถึงการลงทุนของต่างชาติและโอกาสของประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยต้องโน้มน้าวให้เกิดความมั่นใจให้เกิดการลงทุน โดยให้บีโอไอและกระทรวงการคลังสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสมและชี้ให้ เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดทิศทาง วางกฎกติกา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยหน่วยงานเดียว เช่น บีโอไอ ทำมากเพียงใด แต่ก็ทำได้แค่นั้น แม้แต่เรื่องน้ำท่วมที่มองว่าเป็นหายนะ และจะไม่เกิดขึ้นอีก นักลงทุนจะไม่เชื่อถือ ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ
แผนการลงทุนของบีโอไอใน 5 ปีข้างหน้ามีนัยสำคัญมาก แต่เศรษฐกิจโลกมีปัญหามาก คาดการณ์ไม่ถูก มีการพลิกผันตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งแรกต้องรู้ว่ากำลังเผชิญกับสิ่งใด
การค้าระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้น แต่มีการขยายตัวน้อยลง แม้ว่าจีน อินเดีย มาเลเซีย ไทย บราซิล เป็นประเทศที่มีการขยาย ตัวมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวร้อยละ 2 ขยายน้อยมาก
การลงทุนที่แตกต่างกันจะทำให้เห็นนโยบายแทรกแซงมาก ขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงธรรมชาติ รัฐบาลจะเข้ามากำกับดูแล โดยเฉพาะในแอฟริกา มีการแทรกแซงด้านการลงทุน การแข่งขันด้านผลประโยชน์
และแนวโน้มจะมีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุนในภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เพราะโลกต้องผลิตอาหารจำนวนมาก เพราะในปัจจุบันมีประชากรขาดแคลนอาหารถึง 1 พันล้านคน แต่สิ่งที่จะเห็นเพิ่มมากขึ้นคือการแย่งชิงที่ดิน
ศุภชัยกล่าวว่าสิ่งที่เขาเห็นในการทำงานของรัฐบาลไทย คือ การแทรกแซงการลงทุน ไม่ลงทุนในรูปแบบยั่งยืน
ซึ่งรัฐควรจะกำหนดนโยบายต้องคำนึงข้อกำหนดใหม่ในการแข่งขัน และเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา
ศุภชัยได้แนะนำภาพใหม่ของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องไม่หวังพึ่งค่าแรง หรือที่ดินราคาถูก เพราะแนวโน้มโครงสร้างจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไทยควรทำ คือการกำกับความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหารไม่ใช่วิกฤตการณ์แต่เป็น ความมั่นคงถาวร คนขาดอาหารมากขึ้น และมีหน่วยงานบางแห่ง ให้ทุนสนับสนุนก็ไม่จริงเสมอไป
ประเทศไทยควรสร้างการลงทุนในประเทศ สร้างความมั่นคงและสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จด้านปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า แต่ไทยต้องคิดเกินกว่านี้ เน้นการลงทุนใหม่ เน้นทำงานเป็นเครือข่าย แปรรูป เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้
นอกจากนี้เขายังได้เตือนหน่วยงานบีโอไอ รัฐบาลไทยว่าต้องทำงานเอาจริงเอาจัง ปรับระดับทักษะการทำงาน รวมถึงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ 2540 เราจะอยู่แบบอดีตไม่ได้อีกแล้ว
เราเห็นโลกกว้าง
สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่าทั้งเขาและศุภชัย พานิชภักดิ์ ทำงานอยู่ในเวทีโลกเหมือนกันทำให้เห็นโลกกว้าง และเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถพอที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนกัน
ปี 2552-2553 กลุ่มประเทศ 10 ประเทศในอาเซียนมีการลงทุน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 70 ลงทุนในภาคบริการ การศึกษา สาธารณสุข และการขนส่ง
สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศอาเซียน มีคนชนชั้นกลางโตมากขึ้น คนมีจิตสำนึกมากขึ้น นี่คือการขยายตัวของตลาดกับประชากรกว่า 600 ล้านคน
การทำการค้าระหว่างอาเซียนมีอุปสรรคน้อยลง ผู้นำมีจิตสำนึก ดังนั้นการบริหารจัดการต้องเรียนรู้อย่างบูรณาการชาญฉลาด ประเทศไทยจะทำอะไรโดยที่เพื่อนบ้านไม่รู้ไม่ได้ ต้องเรียนรู้ปัญหาและระมัดระวัง
“ผมอยากเห็นภาคเอกชนเอสเอ็มอีข้ามไปลงทุนสร้างรายได้ เพราะกฎระเบียบอาเซียนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียว”
เขาชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่สามารถโตเอง เช่น ญี่ปุ่น หรือ เกาหลี การเติบโตของจีดีพีไม่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่เกิดจาก การไปลงทุนในต่างประเทศ ฉะนั้นไทยต้องโตนอกประเทศ และ ขณะนี้มีบริษัทต่างประเทศกำลังย้ายสำนักงานใหญ่มายังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในมาเลเซียและสิงคโปร์ ดังนั้นไทยต้องแสดงให้เห็นความมั่นใจในบริบทของอาเซียน
“มีบริษัทไทย ผู้ผลิตรถยนต์เดินทางไปพบผมที่จาการ์ตา เขาได้ออร์เดอร์นำเข้ามากขึ้น”
สุรินทร์กล่าวต่อว่า บริษัทข้ามชาติกำลังพูดทำนองเดียว กันว่า การค้าระหว่างอาเซียนต้องดำเนินโดยบริษัทที่อยู่ในอาเซียน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี
ประเทศไทยอยู่ตรงกลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงให้เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย
“ผมเห็นสมาชิกรั้งรอ ไม่กล้า อยากเติบโต เศรษฐกิจอาเซียนเปิดแล้ว พม่า ลาว เขมร มีโอกาส ตลาดผู้บริโภคมหาศาล อย่าไปหาของแจก เงินช่วยเหลือ หรือหวังการกุศล”
มุมมองของสุรินทร์ พิศสุวรรณ และศุภชัย พานิชภักดิ์ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยจะไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังต้องเริ่มจาก เปลี่ยนแปลง และจะอยู่เหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|