|
ดอยตุงโมเดล ต้นไม้ให้ป่า ผลผลิตให้ชุมชน
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“สมัยก่อนเวลาถามว่าดอยตุงอยู่ตรงไหน เขาก็บอกนั่นแหละที่ดอยดินแดง เพราะภูเขามันโล้นไม่มีป่า เห็นแต่ดินสีแดง”
อมรรัตน์ บังคมเนตร เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ทำงานที่ดอยตุง 17 ปี เป็นหนึ่งในทีมงานที่ซึมซับดอยตุงโมเดลและสามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าความเป็นมาของดอยตุงได้เหมือนเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่นี่
คำอธิบายภาพของเธอ หาหลักฐานยืนยันได้จากหลายแหล่ง ทั้งจากพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งสมเด็จย่าทรงเริ่มต้นปลูกแมคคาเดเมียต้นแรกบนดอยตุง และภาพแรงงานชาวเขาที่มารับจ้างปลูกป่าในช่วงเริ่มต้นโครงการ
นอกจากดินแดงเพราะไร้ป่า ต้นไม้กลายเป็นของหายาก ดอยตุงยังเป็น ศูนย์รวมของการค้าฝิ่น ยาเสพติด ซื้อขาย อาวุธ และจุดเปราะบางชายแดนไทย-พม่า ที่มีปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์
ปัญหาหนักระดับที่ชาวเขาในท้องที่ขาดความมั่นคงในชีวิตทุกด้าน ทั้งสุขภาพ จิตใจ อาหาร และรายได้ ต้องใช้ชีวิตเป็นแรงงานในไร่ฝิ่นเพื่อยังชีพ
ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของดอยตุงปกคลุมด้วยต้นแมคคาเดเมียและกาแฟสายพันธุ์อะราบิก้า เป็นป่าเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพและผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ดอยตุงออกจำหน่ายนำรายได้กลับคืนมาพัฒนาชุมชน
“เราเลิกรับเงินภาษีเพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการจากภาครัฐตั้งแต่ปี 2545 เป็นปีนับหนึ่งของการอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังที่สมเด็จย่าทรงมีพระราชปณิธานไว้ตั้งแต่ต้นว่า คนบนดอยตุงจะต้องเลี้ยงตัวเองได้ โดยชาวบ้านเป็นเจ้าของผลผลิต ที่เก็บเกี่ยวได้จากในพื้นที่ นอกจากนี้เรายังใช้เงินมูลนิธิส่งคนในท้องที่ไปศึกษาต่อนอกพื้นที่เพื่อกลับมาใช้ทุนพัฒนาชุมชน รวมทั้งจ้างครูเพิ่ม 18 คนเพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลน จ้างทันตแพทย์ แต่โครงการก็มีแผนที่จะให้ชาวบ้านที่ทำมาหากินตอบแทนประเทศโดยในอนาคตพวกเขาต้องเสียภาษีจากการใช้ประโยชน์ ในพื้นที่คืนให้กับประเทศเหมือนคนไทยทั่วไป” อมรรัตน์เล่า
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการบนดอยตุง คงทำอะไรเช่นที่เล่ามานี้ ไม่ได้เลย หากพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองให้มีความแข็งแรงพอจะไปช่วยคนอื่น
“กว่าจะถึงวันนี้ ดอยตุงมีข้อผิดพลาด ระหว่างการพัฒนาหลายต่อหลายเรื่อง” พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าและย้ำถึงประเด็นนี้หลายครั้ง อย่างน้อยก็เป็นเสมือนการเตือนตัวเองว่า แม้วันนี้ดอยตุงจะประสบความสำเร็จ แต่โครงการยังมีเรื่องให้เรียนรู้และพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปี นอกจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากหน้ามือเป็นหลังมือ ภายใต้เงาป่าที่เห็น ดอยตุงกลายเป็นโมเดลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีองค์ความรู้ให้คนมาศึกษา เผยแพร่ และนำรูปแบบไปพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ
ไม่จำกัดเฉพาะชุมชนในไทย แต่ได้รับการร้องขอให้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไป พัฒนาชุมชนที่ยังมีชีวิตติดลบอีกหลายแห่งในโลก ทั้งที่อาเจ๊ะ อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน พม่า และพื้นที่เขาหัวโล้นอีกหลายแห่งในเมืองไทยเอง
ล่าสุดสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมสมาชิกสถาบันเพิ่มผลผลิตของประเทศในกลุ่มเอเชีย ก็เลือก ดอยตุงเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกกว่า 20 ประเทศ อาทิ จากประเทศกัมพูชา ลาว อินเดีย ปากีสถาน ฟิจิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ เป้าหมายในการดูงานนอกจากถ่ายทอดองค์ความรู้จากทีมผู้ดูแลโครงการ ยังเป็นการเปิด โอกาสให้ทุกคนมีประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงรูปแบบหนึ่งของธุรกิจที่เป็น Social Enterprise ตั้งแต่วันแรกเกิด และเป็นโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่เติบโตมาด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนอย่างเข้มแข็ง
“ป่าเศรษฐกิจ คือป่าไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นำไปแปรรูปและเพิ่มมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง จึงสามารถสร้างรายได้ให้คนดูแลในระยะยาว โดยไม่ต้องตัดป่าหรือทำลายระบบนิเวศป่าเศรษฐกิจจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพา” ข้อความที่ติดไว้ในหอแห่งแรงบันดาลใจบนดอยตุง และเป็นหนึ่งในแนวคิดเริ่มต้นของการพัฒนา
“ที่บอกว่าโครงการเคยผิดพลาดนั้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นก่อนหน้าที่จะเป็นป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้แนะนำให้ปลูกป่าสน แต่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้สนองงานสมเด็จย่าในการดูแลโครงการพัฒนาดอยตุง พบว่าเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะป่าสนไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ชาวบ้านเองก็เรียกต้นสนว่า “ป่าไร้เพื่อน” ปลูก 20 ปีผ่านมาก็ไม่มีไม้อื่นขึ้น แถมไม่มีประโยชน์ จะเลี้ยงไว้กรีดยางสนก็ยาก เลยเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่” อมรรัตน์ให้ข้อมูล
คำตอบมาลงตัวที่ป่าเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ โดยตั้งโจทย์จากปัญหาที่พบในพื้นที่ หาคำตอบ ถ้ายังไม่ใช่ ก็ตั้งคำถามใหม่ เพื่อหาคำตอบที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
เริ่มจากแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเลิกทำไร่เลื่อนลอย เพื่อไม่ให้ไปทำลายป่า แต่ยุคนั้นขนาดถางป่าทำไร่ทำนาชาวบ้านก็ยังมีข้าวพอกินแค่ 6 เดือน โครงการได้เรียนรู้ว่าเหตุผลที่ชาวบ้านถางป่าก็เพราะทำกินไม่พอต้องทำไร่หมุนเวียนเพราะปีแรกที่ถางป่าจะได้ผลผลิตดี แต่ปีต่อไปก็ลดลงเพราะไม่รู้ วิธีใส่ปุ๋ยบำรุงดินหรือการดูแลพืช หนึ่งครอบครัวมีไร่หมุนเวียนอย่างน้อย 3 แปลง ครอบครัวไหนขยันก็อาจจะมีถึง 20 แปลง เวลาที่เหลือต้องไปรับจ้างทำงานในไร่ฝิ่น
“นอกจากทำงานในไร่ฝิ่นเพื่อรับจ้าง ตอนที่เข้ามายังพบว่าชาวเขาจำนวนไม่น้อยติดยาเสพติด พอโครงการจ้างเขาปลูกป่าจ่ายเงินค่าจ้างสูงกว่าปลูกฝิ่น ก็ถือว่า ผิดพลาดที่ให้เงินนั้น เพราะการที่เขาไม่เคยมีรายได้ก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ได้ไปทำอะไร คนจำนวนมากก็กลับไปใช้เงิน กับฝิ่น เราเลยตั้ง Rehabitation Program เป็นโครงการ 1 พันวัน บำบัดผู้ติดยา และอบรมการทำงานอื่น เช่น ซ่อมเครื่องยนต์ ปลูกต้นไม้ หรือเข้ามา เป็นชาวไร่ในป่าเศรษฐกิจที่ปลูกขึ้นเพื่อไม่ให้กลับไปหายาเสพติด” พิมพรรณเล่าถึงปัญหาที่ต้องคิดแก้ไขทันทีที่พบ
การพัฒนาที่ดอยตุงถูกถอดเป็น องค์ความรู้ออกมาเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นที่หนึ่ง ต้องทำให้ชาวบ้านอยู่รอด ได้เสียก่อน จากนั้นพัฒนาไปสู่การมีชีวิตที่อยู่ได้อย่างพอเพียง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด เป็นโมเดลการทำงาน 3 ขั้นตอนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงใช้ในการพัฒนา โครงการในที่อื่นด้วยนั่นเอง
เมื่อสรุปว่าจะพัฒนาป่าเศรษฐกิจก็มี คำถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดขยายการถางป่าให้ทำกินอยู่กับที่ เพราะถ้าเอาที่ดินชาวบ้านมาปลูกป่าใหม่ พวกเขาจะทำมาหากินที่ไหน
ช่วงแรกที่โครงการปลูกป่าในพื้นที่ ก็ปรากฏว่าโครงการปลูก ชาวบ้านก็ถอน เพราะถือว่ามาปลูกในที่ทำกินของพวกเขา อีกทั้งไม่เชื่อถือว่าโครงการจะอยู่กับ เขาในระยะยาว ก่อนหน้านั้นมีหน่วยงาน รัฐเข้ามาทำโครงการอบรมโน่นนี่แล้วก็หายไป หลังจาก 3-6 เดือน ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะเอาวิชาที่ได้ไปใช้ทำอะไรที่ไหน จนกระทั่งสมเด็จย่าทรงสร้างพระตำหนัก ดอยตุง ชาวบ้านเชื่อว่านั่นคือสัญลักษณ์ ที่โครงการจะอยู่กับพวกเขาในระยะยาว แล้วโครงการพัฒนาดอยตุงก็เริ่มอย่างจริงจังเมื่อปี 2531
“เราให้ชาวเขาที่ทำไร่เลื่อนลอย มารับจ้างปลูกป่าให้กับโครงการ ต้องจ่ายเงินวันต่อวัน หนึ่งเดือนจ่ายไม่มีใคร มาทำงานกับเรา ตอนนั้นเขารับค่าจ้าง 14 บาทต่อวัน โครงการเราให้ 3 เท่าเลย 40-50 บาท ใครมาก็ได้ลูกเด็กเล็กแดงมาได้หมด ขุดหลุมกาแฟหลุมละ 2 ขุด หลุม แมคคาเดเมียหลุมละ 8 บาท ถางหญ้าก็ได้ ในช่วง 3 ปีแรก เขาได้ปลูกป่าธรรมชาติ คนมีงานทำ 3 ปี ต่อจากนั้นถ้าใครดูแลต้นแมค คาเดเมียก็อยู่ทำงานต่อได้อีก 7 ปี พ้นจากจุดนั้นก็สามารถไปทำพวกหัตถกรรม ทำสวน คนงานสวนจะเป็นกลุ่มแรกที่เรามองดูแววแล้ว ใครมีพื้นฐานทักษะดี โครงการจะชวนเข้ามาเป็นคนงานสวน เพราะทำดอกไม้ต้อง ใช้ความละเอียดอ่อน ต้องดูแลเอาใจใส่มันถึงจะสวย” อมรรัตน์เล่า
ป่าผืนแรกบนดอยตุงมีพื้นที่ 9,900 ไร่ ต้องใช้วิธีรวมกลุ่มตั้งบริษัท เพื่อเป็นตัวแทนไปหาเงินทุนจากหลาย หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเอเชีย บริษัทเอื้อชูเกียรติ และบริษัทมิตซุย ชื่อบริษัทนวุติ (อ่านว่า นะ-วุ-ติ) แปลว่า 90 ซึ่งเป็น ปีเดียวกับที่สมเด็จย่าพระชนมายุครบ 90 พรรษา แล้วสมเด็จพระสังฆราชพระราชทานชื่อบริษัทนี้ให้
“ที่ต้องมีบริษัทญี่ปุ่นเพราะคนที่ให้กู้เงินคือไจก้า ซึ่งเป็นของรัฐบาลญี่ปุ่น และมูลนิธิไม่สามารถกู้เงินได้ โครงการใช้วิธีโน้มน้าวผู้ให้กู้ว่า การปลูกป่าผืนนี้จะช่วยคนได้เกือบหนึ่งหมื่นบนดอยให้หลุดพ้นจากบ่วงยาเสพติด เงินที่ยืมมาไม่มีดอกเบี้ยแต่เราจะคืนให้และเพิ่งจะคืนไปหมดเมื่อปี 2553 วันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าป่าผืนนี้ยั่งยืนแค่ไหน เพราะแม้แต่บริษัทบางแห่งที่ร่วมทุนก็ยังเลิกไปแล้วแต่ป่ายังอยู่”
ต้นทุนการปลูกป่าในตอนนั้นใช้เงินตั้งแต่ปลูกและดูแลรักษาไร่ละ 3,000 บาท 9,900 ไร่ก็ประมาณ 30 ล้านบาท ชาวบ้านที่มารับจ้างปลูกและดูแลป่านอกจากมีรายได้ ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้วิธีการปลูกพืชผักเกษตรแบบง่ายๆ ไปด้วย แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการขุดหลุม คลุมโคนต้น ใส่ปุ๋ย ตัดแต่ง ให้น้ำ ก็ต้องสอน เพราะอย่านึกว่าคนอยู่กับต้นไม้จะรู้วิธีปลูกต้นไม้ทั้งหมด
ทำไมต้องเป็นแมคคาเดเมียและกาแฟ ทั้งที่ไม่ใช่พืชท้องถิ่น เทคนิคการ หาคำตอบที่ดอยตุงใช้การถามจากคน ในพื้นที่ซึ่งตัดต้นไม้ไปกับมือว่า ก่อนภูเขาจะโล้น ที่ดอยตุงเคยมีต้นไม้อะไรขึ้นอยู่บ้าง
“ที่ขึ้นดีเลยแถวนี้ เขาบอกว่าเป็น ต้นก่อ ข้างนอกมีหนามเหมือนเงาะข้างในแข็งเหมือนเกาลัด แต่เป็นเกาลัด แบบพื้นบ้านลูกเล็กกินได้แต่ไม่มีมูลค่า เพราะฉะนั้นคุณชาย (ม.ร.ว.ดิศนัดดา) และทีมผู้บริหารก็มาคิดกันว่า ถ้าต้นนี้ไม่มีมูลค่า แต่เป็นตระกูลถั่วใช่ไหม ก็เลยหาดูว่า ถั่วอะไรแพงที่สุดในโลก คำตอบคือแมคคาเดเมียนัท”
ด้วยความหวังว่า ถ้าแมคคาเดเมียนัทเติบโตให้ผลผลิตก็จะมีตลาดที่สดใสเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่ในช่วงต้นก็ถือว่าต้องเสี่ยงดวงกันไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าจะได้ผล ผลิตจากพืชต่างถิ่นนี้ไหม แต่วันนี้แมคคาเดเมียที่ดอยตุงก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถให้ผลผลิตที่ขายสู่ตลาดได้ราคาสูง ถั่วเต็มเมล็ด ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800 บาท แต่ที่แตกเป็นเศษอาจจะดูว่าทำราคาไม่ได้ แต่เมื่อนำไปปรุงเป็นรสชาติต่างๆ หรือใช้ผสมเนื้อเค้กหรือโรยหน้า คิดแล้วทำกำไรให้กับโครงการกิโลกรัมละมากกว่าหนึ่งพันบาท แพงกว่าถั่วเต็มเมล็ดเสียอีก
ส่วนกาแฟ เลือกสายพันธุ์อะราบิก้า แม้จะไม่ใช่พืชท้องถิ่นแต่ก็ได้รับการทดลองมาแล้วจากโครงการหลวงในพื้นที่อื่น และด้วยคุณสมบัติของอะราบิก้าที่ชอบร่มต้องปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูก แซมในป่าเศรษฐกิจได้อย่างลงตัว
ในป่าชุดแรกยังมีต้นเกาลัดที่ปลูกรวมอยู่ด้วย เป็นกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงในการเลือกปลูกพืช 3 อย่างพร้อมๆ กัน ถ้าทั้งแมคคาเดเมียและเกาลัดไม่ได้ผลอย่างน้อยก็มีกาแฟเป็นตัวการันตี
“ตอนนี้เกาลัดสู้จีนสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ไปแม่สายครึ่งชั่วโมงลูกเบ้อเริ่มอร่อยและเยอะ โครงการเลยหยุดแล้วปล่อยให้เป็นป่า แต่ถ้าในอนาคตเมื่อเราเริ่มให้ชาวบ้านเข้ามาดูแลเขาอาจจะเก็บกินหรือเก็บขายก็ได้ ส่วนกาแฟตอนนี้เรายกให้ชาวบ้านแล้ว แต่แมคคาเดเมียยังยกให้ไม่ได้เพราะโครงการยังต้องเรียนรู้แม้จะให้ผลผลิตแล้ว”
ย้อนไปตอนที่แมคคาเดเมียบนดอยตุงอายุครบ 7 ปี ปรากฏว่าผลผลิตแทบไม่ออก เล่นเอาผู้ร่วมทุนเพื่อกู้เงินมาพัฒนาแทบกระเจิง ทางโครงการต้องเชิญ รอน แบนเน็ด เจ้าของไร่แมคคาเดเมียที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียเข้ามาช่วยหาสาเหตุและเป็นที่ปรึกษามาถึงปัจจุบันโดยจะมาอยู่ที่ดอยตุงปีละ 2 เดือน
สาเหตุที่พบ หนึ่ง-สภาพพื้นที่ต่าง ที่ ออสเตรเลียปลูกในที่ราบเป็นสวนเป็นแนวสวยงาม แต่ที่ดอยตุงปลูกตามลาดเขาเป็นส่วนใหญ่แถมปลูกกาแฟแทรกอีก ผู้เชี่ยวชาญ สั่งเคลียร์พื้นที่ใต้ต้นให้โล่งเพื่อไม่ให้แย่งอาหาร และแมคคาเดเมียเป็นไม้รักสะอาดไม่ชอบให้โคนต้นรกเว้นแต่ใบจากต้นสำหรับ เป็นปุ๋ย ต้นหญ้าบาน่าที่ปลูกไว้ใต้ต้นก็ต้องตัดทิ้งไปด้วย
สอง-แมลงและศัตรูพืชต่างกัน กระรอกชอบแทะเมล็ด ส่วนค้างคาวจะกินลูกอ่อน และต้องล่อแมลงไม่ให้ทำลายช่อดอก เพราะที่นี่เป็น Organic Macadamia ไม่ฉีดยา
สาม-ปลูกเยอะเกินไป ดังนั้นจากจำนวนต้นที่ปลูกไปทั้งหมด 5 หมื่นต้น จึงมีเพียง 2 หมื่นต้นเท่านั้นที่โครงการเลือกดูแลเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต
“แมคคาเดเมียเป็นพืชที่ไม่เก็บจากต้น เมื่อผลสุกจะหล่นพื้น พื้นใต้ต้นจึงต้องสะอาดโล่ง ต้องใช้แรงงานคนเก็บจำนวนมากเรายังไม่หาเครื่องจักรมาช่วยเพราะต้องการให้ชาวบ้านมีงานทำทั้งปี”
ชาวบ้านจะเริ่มเก็บเกี่ยวกาแฟช่วงเดือนตุลาคมไปจนสิ้นสุดที่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เดือนมีนาจะตัดแต่งกิ่ง พอเดือน พฤษภาคมก็เริ่มเก็บแมคคาเดเมียไปจนสิ้นสุดราวเดือนตุลา ก็ถึงรอบเก็บกาแฟพอดี
พิมพรรณเล่าว่า การบริหารไร่กาแฟ เป็นอีกบทเรียนที่น่าสนใจของดอยตุง จากเดิมดอยตุงเน้นขายแค่เมล็ดกาแฟซึ่งราคาประมาณกิโลกรัมละ 400 บาท แต่หลังจาก ดูมูลค่าเพิ่มแล้วพบว่า หากพัฒนาไปสู่ถ้วยกาแฟได้ด้วยตัวเอง โครงการจะสามารถขาย กาแฟได้ถึงกิโลกรัมละ 4,000 บาท ทำให้ดอยตุงเริ่มหันมาบุกธุรกิจร้านคาเฟ่ดอยตุงด้วยการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังสักหนึ่งปีที่ผ่านมานี้เอง โดยนำความเป็น Social Enterprise ของโครงการนับแต่วันแรกที่เริ่มพัฒนาดอยตุงเป็นจุดขาย
“เราเป็นแบรนด์เดียวที่ควบคุมคุณภาพกาแฟตั้งแต่ปลูกไปจนถึงถ้วยกาแฟด้วยตัวเองอย่างแท้จริง และเริ่มถ่ายโอนความเป็นเจ้าของนี้ไปให้กับชาวบ้าน โดยเริ่มจากให้ความเป็นเจ้าของในส่วนของต้นกาแฟด้วยการให้เช่าต้นละ 1 บาท ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เราพัฒนาคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว”
นั่นเป็นเพราะตอนที่โครงการเป็นเจ้าของต้นกาแฟและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวทั้งหมด ชาวบ้านเป็นแค่แรงงานในไร่ โครงการมีต้นกาแฟ 8 แสนต้น ในพื้นที่ 6 แปลง เก็บเมล็ดกาแฟเฉลี่ยได้แค่ต้นละ 0.6 กิโลกรัม เพราะทุกคนจะเร่งเก็บโดยไม่คัดคุณภาพและรูดทั้งผลกาแฟที่สุกและดิบรวมกัน แต่พอชาวบ้านได้เป็นเจ้าของปรากฏว่าแค่ 2-3 เดือนหลังจากนั้น ผลผลิตที่เก็บได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.6 กิโลกรัมต่อต้น เพราะโครงการประกาศชัดว่าจะรับซื้อเฉพาะผลกาแฟสุกที่เรียกว่าเชอรี่หรือมีสีแดงและดำเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านพิถีพิถันเลือกเก็บเฉพาะเมล็ดกาแฟที่สุกแล้ว
“จากที่มาทำงาน 9 โมงเช้าเลิก 5 โมง ชาวบ้านก็ดูแลต้นกาแฟของเขาตลอดเวลา โดยนำความรู้จากที่โครงการสอนไปใช้ แล้วไปดูต้นกาแฟตั้งแต่ตีห้า นี่คือผลลัพธ์ที่ได้จากความรู้สึกที่เขาได้เป็นเจ้าของ”
เพียงแค่ในบริบทของป่าเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องให้ถอดเป็นองค์ความรู้ที่มีรายละเอียดให้ผู้สนใจศึกษามากมาย ป่าเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยแมคคาเดเมียที่อายุยืนให้เก็บกินได้มากกว่า 100 ปี กาแฟ และพืชพันธุ์อื่นเช่น ไม้ดอก ไม้ผลอย่างกล้วยน้ำว้าพันธุ์ดีที่ได้จากศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของโครงการ ซึ่งถูกปลูกกลับคืน ให้ผืนป่า ก็ยังมีช่องทางให้ชาวบ้านศึกษาเรียนรู้เพื่อเก็บผลผลิตเลี้ยงตัวต่อไปในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
เป็นการพึ่งพาระหว่างคนกับป่าไม่ใช่แค่เรื่องการยังชีพหรือสร้างรายได้ แต่ยังเป็นการบ่มเพาะและต่อยอดภูมิปัญญาได้อย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาดอยตุงยังคงมีส่วนของการพัฒนาที่ต่อยอดเป็นกิ่งก้านสาขาอีกมากมายให้ศึกษาในปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนากาแฟจนได้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างจุดต่างให้กับแบรนด์ โรงงานทอผ้าฝ้ายที่สามารถรวมเอาผู้หญิงถึง 3 วัย ยาย แม่ และลูก มานั่งผลิตงานฝีมือที่ต่อยอดจาก ภูมิปัญญาและวิชาชีพที่มีอยู่เดิมในชนเผ่านำมาผสมด้วยการพัฒนาคุณภาพ และการสร้างแบรนด์แบบธุรกิจแฟชั่นสากล เป็นผ้าทอมือแบรนด์ดอยตุงที่ไปอวดโฉมในเมืองแฟชั่นและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคระดับพรีเมียม
“โรงทอผ้าเราก็เคยทำพลาด ตอนแรกเราได้บริษัท Interkai carpet มาร่วมตั้งโรงงาน แต่ปรากฏว่าสินค้าเราเข้าตลาดไม่ได้ เพราะขาดประสบการณ์ เราต้องกลับ มาเริ่มต้นพัฒนาจากพื้นฐานที่มีไปทีละขั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อตามแนวที่สมเด็จย่ารับสั่ง ไว้คือ เราจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีดีไซน์ และความแตกต่าง เพราะถ้าคนซื้อ สินค้าเราเพราะความสงสาร หรือเพื่อการกุศล เขาจะซื้อแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าซื้อเพราะคุณภาพและถูกใจเขาถึงจะซื้อซ้ำอีก” พิมพรรณกล่าว
ผ้าทอของดอยตุง เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ด้านดีไซน์และโดดเด่นไม่แพ้เซรามิก เพราะการเป็นโรงงานเซรามิกขนาด เล็ก ถ้าออกแบบไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเองก็จะสู้กับผู้ผลิตเซรามิกที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือได้ยาก ส่วนเหตุผลอื่นที่ดอยตุงพัฒนาโรงงานเซรามิกไว้ในพื้นที่ก็เพื่อรอง รับแรงงานวัยหนุ่มสาว ซึ่งคนหนุ่มที่เรียนจบ เดิมก็จะมีแหล่งงานในพื้นที่รองรับ ส่วนสาวๆ ก็อาจจะเลือกไปทำงานที่โรงเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นไม้ของโครงการ ซึ่งสามารถอบรม ให้คนทุกระดับการศึกษาทำงานในห้องแล็บได้เหมือนกับผู้ที่เรียนจบมาโดยตรงเฉพาะด้านจากรั้วมหาวิทยาลัย เพราะหนึ่งในหลักการของดอยตุงเชื่อว่า การทำซ้ำและทำบ่อยๆ จะทำให้เกิดทักษะและได้งานคุณภาพดีขึ้น ใครทำไม่ได้ก็จะสอนกันจนเป็น และให้ค่าจ้างตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน แม้จะยังทำอะไรไม่เป็นเลยและยังอยู่ในขั้นฝึกหัดเรียนรู้ก็ตาม
การพัฒนาโครงการด้านธุรกิจอาจจะมีเป้าหมายแน่ชัดเรื่องผลกำไร แต่สำหรับ ที่ดอยตุง มีโจทย์เริ่มต้นเพื่อเข้ามาพัฒนาให้คนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อโครงการประสบความสำเร็จเติบโตจึงได้เริ่ม ต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคม จากมิติแค่การทำให้ป่ากับคนอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพา จึงต้องขยายมุมมองให้กว้างขึ้น โดยมีโจทย์พื้นฐานสำหรับธุรกิจที่ต่อยอดขึ้นใหม่ว่า ทุกเรื่องที่ทำ ต้องตอบให้ได้ครบทุกด้านว่า ทำแล้ว “เศรษฐกิจ” “สังคม” และ “สิ่งแวด ล้อม” ได้อะไร
ถ้าจะวัดผลผลิตจากดอยตุงเพื่อประเมินคุณภาพแล้วล่ะก็ ต้องไม่ลืมวัดคุณภาพชีวิตชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้ม กันทั้งต่อความมั่นคงของชีวิตและรายได้ รวมทั้งความยั่งยืนไปด้วย เพราะนั่นคือผลผลิตที่ทรงคุณค่าและหาดูยากจากโครงการที่สามารถพัฒนาจนทำให้คนที่เคยมีชีวิตติด ลบสามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีความเป็นอยู่แห่ง ความพอเพียงและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|