ก้าวย่างบนวิถี RICOH

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายใต้ปรัชญาพื้นฐานขององค์กรที่ว่าด้วย “Love your Neighbor, Love your country, Love your work” ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นประหนึ่ง code of conduct ของบริษัท RICOH ประกอบกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้วิถีของ RICOH นับจากนี้มีความน่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย

ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จากผลของมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2011 ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ บรรษัทผู้ประกอบการและนักลงทุนจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ถามหามาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนได้อาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทบทวน หรือปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนในประเทศไทยไปโดยปริยาย

หากประเมินในมิติดังกล่าว กรณีที่ว่านี้ย่อมเกี่ยวเนื่องกับทั้งพันธะสัญญา (commitment) และยุทธศาสตร์ (strategy) ของผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีต่อการลงทุนในประเทศไทยนี้ด้วย อย่างไม่อาจเลี่ยง และดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนกลุ่มใหญ่ในภาค อุตสาหกรรมของไทย จะเป็นกลุ่ม ที่ได้รับการกล่าวถึงและเฝ้าติดตาม ถึงทิศทางในอนาคตอย่างกว้างขวางเช่นกัน

แต่สำหรับจังหวะก้าวของ RICOH หนึ่งในบริษัทผู้ประกอบการด้านการผลิตและบริการอุปกรณ์ เครื่องพิมพ์ และเครื่องใช้ ไฟฟ้าสำนักงานจากญี่ปุ่นที่เข้ามา ประกอบการในประเทศไทยอย่างยาวนาน อาจจะข้ามพ้นเข้าสู่บริบทใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมไปแล้ว

“ในอดีตที่ผ่านมา RICOH อาจมีภาพลักษณ์โดดเด่นในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิต (manufacturer) แต่เป้าหมายที่ RICOH วางไว้ในอนาคตคือ การเป็นผู้ให้บริการด้านงานเอกสารและสารสนเทศครบวงจร” จูเลี่ยน ไฟร์เอ็ต ประธานบริหารบริษัท ริโก้ ประเทศไทย นิยาม RICOH ให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟัง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ บริษัทริโก้ (ประเทศ ไทย) จำกัด ถือเป็นสาขาของบริษัทริโก้ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้นำในด้านการผลิตเครื่องใช้สำนักงานอัตโนมัติ (office automation) ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมัลติฟังก์ชัน (MFP), เครื่องพรินเตอร์ (Printer), เครื่องโทรสาร (Facsimile), เครื่องพิมพ์สำเนาระบบดิจิตอล (Digital Duplicator), เครื่องพิมพ์หน้ากว้าง (Wide Format), เครื่องสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมการพิมพ์ (Production Printing) รวมถึงวัสดุสิ้นเปลืองและการบริการที่เกี่ยวเนื่องอย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกัน ภายใต้บริบททางธุรกิจที่ขยายแผ่กว้างออกไป ในโลกยุคดิจิตอลนี้ RICOH ยังมีชื่อเสียงในด้านระบบการจัดการงานเอกสาร (Document Solutions & Services: DSS) และการให้บริการด้านการบริหารงานเอกสาร (Managed Document Services: MDS) ที่พร้อมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงานแก่ลูกค้า ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในกรณีของ MPS หรือ Managed Print Services เท่านั้น

“RICOH พร้อมเข้าไปแนะนำและปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการเอกสารขององค์กรลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการให้บริการที่มากกว่าการบริหารจัดการเอกสารทั่วไป โดย RICOH จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษา (Office Consulting) เพื่อจัดลำดับความสำคัญ วิเคราะห์สถานการณ์ ออกแบบระบบการบริหารจัดการเอกสารใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการบริหารจัดการเอกสารที่ RICOH แนะนำนั้นสามารถปฏิบัติได้จริงและเหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ”

การเคลื่อนผ่านจากการเป็นเพียงผู้ผลิตมาสู่การให้บริการ และสนับสนุนแบบครบวงจรของ RICOH ประกอบส่วนเข้ากับความ แข็งแกร่งของทีมงานและสาขาสำหรับการจัดจำหน่าย และบริการที่กระจายอยู่ในจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศ ทั้งเชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง สุราษฎร์ธานี อยุธยา และอำเภอหาดใหญ่ ทำให้ RICOH สามารถเติมเต็มความต้อง การของหน่วยธุรกิจต่างๆ ให้สามารถบริหารและจัดการเอกสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความแข็งแกร่งของ RICOH ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่ว ข้ามคืน หากแต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของ RICOH เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยมานานกว่า 35-40 ปี โดยผ่านการจัดจำหน่าย ของบริษัท Inchcape Plc ที่ต่อมาได้รวมตัวเข้ากับบริษัท Gestetner Pls จนกลายเป็นบริษัท Inchcape NRG (Thailand) ซึ่งผลของการประกอบธุรกิจของ Inchcape NRG (Thailand) ในด้านหนึ่งก็ถือเป็นการวางพื้นฐานและเครือข่ายการให้บริการสำหรับบริษัท RICOH (ประเทศไทย) ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาด้วย

เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจระดับสากลของ RICOH ทำให้ RICOH ประเทศญี่ปุ่น เข้าซื้อหุ้นใน Inchcape NRG (Thailand) ทั้งจาก Gestetner และในส่วนของ Inchcape เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัท RICOH (ประเทศไทย) สำหรับการรุกเข้าสู่การดำเนินธุรกิจด้านอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มตัว ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 1999

การเกิดขึ้นของ RICOH ประเทศไทย ในห้วงเวลาดังกล่าว ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนพันธสัญญา หรือ commitment ในเชิงธุรกิจของ RICOH ในประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจาก พื้นฐานของความเชื่อมั่นที่มิได้ดำเนินอยู่ท่ามกลางวาทกรรมที่เลื่อนลอย หากแต่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงของเค้าโครงการลงทุนที่มีรูปธรรมรองรับอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา เมื่อ RICOH ประเทศไทยลงทุนสร้างโรงงาน RICOH Manufacturing (ประเทศไทย) และสามารถเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2009

หรือแม้กระทั่งความเป็นไปในกรณีของ Yamanashi Electronics (Thailand) ที่ดำเนิน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งได้รับการผนวกให้เข้ามาอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการผลิต ภายใต้ร่มธงของ RICOH Group ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2006

“โรงงานของ RICOH ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งลง ทุนไปกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ RICOH วางยุทธศาสตร์และให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะที่จะเป็นฐานการผลิตระดับโลกของ RICOH ในอนาคต” จูเลี่ยน ไฟร์เอ็ต ประธานบริหารบริษัท ริโก้ ประเทศไทย ย้ำ

แม้ในปัจจุบันฐานการผลิตหลักในต่างประเทศของ RICOH จะเน้นหนักอยู่ที่โรงงานในประเทศจีน หากแต่แผนของ RICOH ในห้วงระยะเวลาถัดจากนี้ ก็คือย้ายฐานและไลน์การผลิตสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาไว้ที่โรงงาน RICOH Manufacturing ในประเทศไทย ตามเป้าหมายของแผนงานที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากนี้

ยุทธศาสตร์ของ RICOH ดังกล่าวในด้านหนึ่งก็คือการกระจายความเสี่ยง ทั้งในมิติของกำลังการผลิต และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ขณะเดียวกันก็สอดรับกับข้อกังวลใจของบรรดาบรรษัทผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ประเมินว่าการย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศจีนมากเกินไป กำลังเป็นประหนึ่งการเพิ่มพูนศักยภาพในเทคโนโลยีการผลิตให้กับคู่แข่งขันสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต

เป้าหมายของ RICOH ประเทศไทยดังกล่าว น่าจะดำเนิน การได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น และปรากฏผลให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ ในเวลาไม่นานนับจากนี้ หากไม่เกิดเหตุมหาอุทกภัยในประเทศไทยให้กระบวนการทั้งหมดต้องสะดุดชะงักงันไปเสียก่อน

แม้โรงงานของ RICOH จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา แต่กระบวนการผลิตบางส่วนของRICOH ในประเทศไทยก็จำเป็นต้องหยุดลงชั่วคราว จากผลของการขาดแคลนส่วนประกอบในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสายการผลิตเครื่องพิมพ์ Laser printer ก่อนที่จะกลับมาเดินเครื่องสายการผลิตนี้ได้ในระดับก่อนเกิดเหตุอุทกภัยได้อย่าง รวดเร็ว ในลักษณะที่อาจเรียกได้ว่าเกือบจะในทันทีที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย

กรณีดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตของ RICOH ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นอาจต้องใช้เวลาอีกระยะในการกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตปกติได้

นั่นอาจจะเทียบไม่ได้กับปรากฏการณ์แห่งความสูญเสียในช่วงเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งโรงงานของ RICOH หลายแห่งในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ (Great East Japan Earthquake and Tsunami) จนทำให้ต้องระงับกระบวนการผลิตลงชั่วคราว แต่ RICOH สามารถ กลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างปกติด้วยความรวดเร็ว ควบคู่กับการสื่อสารถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ให้คู่ค้าได้รับทราบอยู่เป็นระยะ

“สำหรับ RICOH สิ่งสำคัญอยู่ที่การพัฒนาและจัดหาบริการ ที่เป็นเลิศ เพื่อให้ RICOH เป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจในระดับโลก ภายใต้แนวความคิดว่าด้วย The Spirit of Three Loves ของผู้ก่อตั้ง ที่นอกจากจะต้องดูแลผู้ถือหุ้นของบริษัท ยังต้องเคารพ ในวิชาชีพ สังคมและโลกที่เราเป็นสมาชิกอยู่ด้วย”

กระบวนทัศน์ดังกล่าว ทำให้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เมื่อปรากฏภาพของทีมผู้บริหารและพนักงานของ RICOH ในประเทศไทยร่วมให้ความช่วยเหลือผ่านทั้งหน่วยงานของรัฐและพันธมิตรในการร่วมบรรเทาเหตุมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ของ RICOH ก็ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งหนุน เสริมให้ RICOH สามารถเพิ่มช่องทางในการสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์และบริการกับสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง และเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เกิด brand awareness ในระยะยาว

ท่วงทำนองที่ว่านี้สอดรับกับแนวความคิดและค่านิยมหลัก ของ RICOH ที่ Kiyoshi Ichimura ผู้ก่อตั้ง RICOH ได้วางไว้เป็นรากฐานเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ซึ่งทำให้ RICOH เป็นบริษัทที่มีโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน โดดเด่นและต่อเนื่องมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ขณะเดียวกัน พื้นฐานแนว ความคิดและค่านิยมหลักที่หล่อหลอมเป็นพันธกิจและวิสัยทัศน์ของ RICOH ยังเป็นแรงผลักดันให้ RICOH ดำเนินไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทชั้นแนวหน้า ในธุรกิจอุปกรณ์สำนัก งานอัตโนมัติ และอุปกรณ์อิเล็ก ทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการขยายเครือข่ายในระดับโลกอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1995

เพราะภายใต้แบรนด์ที่ผลิตโดย RICOH Group ที่ยังประกอบส่วนด้วย Gestetner, Rex-Rotary, Nashuatec, Savin, Lanier และ Infotec ซึ่งต่างมีศักยภาพเฉพาะทางและมีฐานลูกค้าแตกต่างกันไป ทำให้ RICOH สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา

แต่ความสำเร็จและก้าวย่างในธุรกิจด้านการผลิตเครื่องใช้ สำนักงานอัตโนมัติ และการให้บริการด้านการบริหารงานเอกสาร อาจไม่ใช่ขอบเขตทางธุรกิจที่ RICOH ต้องการจะจำกัดตัวเองอยู่เท่านั้น เพราะนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา RICOH ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมการพิมพ์ (Production Printing) อย่างเต็มตัว หลังจากที่ RICOH เข้าซื้อกิจการของ Hitachi Printing Solutions, Ltd. ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Ricoh Printing Systems, Ltd.

วิสัยทัศน์ของ RICOH ในการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมการพิมพ์ ยังเป็นแรงผลักดันให้ RICOH ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด Digital Print -On-Demand อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา RICOH จะประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Heidelberger Druck-maschinen AG (Heidelberg) บริษัทผู้ประกอบการเครื่องพิมพ์ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ชั้นนำจากเยอรมนีในการร่วมกันรุกทำตลาด Print-On-Demand ซึ่งถือเป็นการสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้ธุรกิจงานพิมพ์เชิงพาณิชย์ที่กำลังขยายตัวกว้างขึ้น มีสีสันและเรื่อง ราวที่น่าสนใจติดตามยิ่งขึ้นไปอีก

“การได้ร่วมกับไฮเดลเบิร์ก ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากและมีความ ต้องการขยายตลาดดิจิตอลมาใน กลุ่มการพิมพ์ จึงเป็นความลงตัว ของการมีผลิตภัณฑ์ที่ดีและได้พาร์ตเนอร์ที่ดีมาร่วมขยายตลาด”

อุตสาหกรรมการพิมพ์ (Production Printing) เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมูลค่า ตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ RICOH มีส่วน แบ่งประมาณ 10% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15-20% ในปีหน้า ขณะที่ตลาด Digital Production Printingจะมีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น RICOH ตั้งเป้ามีส่วนแบ่ง ในตลาดประมาณ 25%

เพราะนอกจาก RICOH จะมีผลิตภัณฑ์ด้านการพิมพ์ดิจิตอลที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาด สามารถทำงานร่วมกับระบบงานพิมพ์ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีแล้ว ธุรกิจงานพิมพ์เชิงพาณิชย์ที่ต้องการความรวดเร็ว จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถเบียดแทรกเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของ RICOH สามารถตอบโจทย์และเติมเต็มช่องว่าง นี้ได้

บริบทแห่งความสำเร็จทั้งในระดับสากลและในประเทศไทย ที่ RICOH กำลังดำเนินอยู่นี้ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นจากผลของยุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่แหลมคมเท่านั้น หากยังประกอบ ส่วนขึ้นจากรากฐานของความเชื่อมั่นและพันธสัญญาที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความรักและความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับปรัชญา The RICOH Way โดยแท้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.