มุมเล็กๆ กับชีวิตในแบบ “ศุภชัย”

โดย สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

“ผมเคยตั้งเป้าว่า 20 ปีแรกของชีวิต เราเทค คือเราเรียนรู้ให้มากที่สุด 20 ปีถัดมา เราทำงานเพื่อสร้างตัว 20 ปีถัดไป เรากะว่า เราพยายามจะสร้างคุณค่าและให้ และ 20 ปีสุดท้าย เดี๋ยวดูอีกที...”

ศุภชัยเกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2510 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คนของธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ พี่สาวคนโตคือ วรรณี รอสส์ มีพี่ชาย 2 คน ได้แก่ สุภกิต เจียรวนนท์ (คนที่ 2) และณรงค์ เจียรวนนท์ (คนที่ 3) และมีน้องสาว 1 คน คือ ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์

จากแผนที่ชีวิตคร่าวๆ ที่ศุภชัยกำหนดไว้ให้ตัวเองในวัย 44 ปี เขาได้เดินทางมาแล้วกว่าครึ่งทาง ณ วันนี้ ชีวิตเขากำลังอยู่ในสเต็ปที่ 3 ที่เขาเซตตัวเองไว้ว่า เป็นช่วงชีวิต แห่งการให้

รางวัล “ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2555” น่าจะเป็นสิ่งยืนยันความตั้งใจ “ที่จะสร้างคุณค่า” และ “การให้” ของศุภชัย ได้ไม่มากก็น้อย โดยรางวัลนี้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการมอบให้เป็นกำลังใจแก่ “ทรูปลูกปัญญา ดอทคอม”

เว็บไซต์ “ทรูปลูกปัญญาดอทคอม www.trueplookpanya.com” เปิดตัวปลายปี 2552 โดยเป็นการต่อยอดมาจากโครงการ “ปลูกปัญญา” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารทุกรูปแบบของทรูไปมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูและโอกาสเข้าถึงข่าวสารและความรู้ที่ทันสมัย เพื่อเป็นช่องทางให้นักเรียน ครู และโรงเรียน สามารถเข้าถึงแหล่งสาระ ความรู้แบบบูรณาการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สิ่งที่จุดประกายให้เกิดโครงการ “ปลูกปัญญา” ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของศุภชัยที่ว่า การกระจายข่าวสารและความรู้อย่างทั่วถึงจะนำมาซึ่งการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมและการกระจายรายได้ อย่างเสมอภาค อีกส่วนมาจากแรงบันดาล ใจที่ได้รับจากบุคคลต้นแบบ หรือ Idolของศุภชัย

“ถ้าถามว่าเราดูตัวอย่างการกระทำ จากคนที่เรานับถือ แน่นอน ก็ต้องคุณพ่อ นอกจากคุณพ่อก็มีพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ท่านทั้งติดดิน ทั้งประหยัดและเสียสละ ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคนที่มีความ สุขที่สุด แต่กลับกลายเป็นผู้ที่รับภาระทั้งประเทศหนักที่สุด”

นี่จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ “GIVE” ซึ่งเป็นธีมในการออกแบบเคสไอโฟนที่ศุภชัย นำออกประมูลเพื่อหารายได้ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในงาน Help Together for Flood by True Move H 3G+ เมื่อปลาย ปีที่ผ่านมา และด้วยคอนเซ็ปต์นี้ทำให้เคสไอโฟนของเขาถูกประมูลไปด้วยราคาที่สูงถึง 250,000 บาท

ภายใต้คำว่า GIVE ศุภชัยเริ่มต้นด้วยการเขียนโค้ดคำว่า 84 ไว้บนเคสเพื่อสื่อถึงพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย พร้อมกับสื่อถึงความรับผิดชอบที่ผู้ใหญ่ต้องมีต่อคนรุ่นถัดไป และการใช้ความรักเป็นตัวนำในการให้ และการช่วยเหลือกันโดยสะท้อนผ่านภัยน้ำท่วม

ในฐานะ “ผู้นำ” ขององค์กรที่มีพนักงานกว่า 22,000 คน ศุภชัยนับเป็นผู้บริหารอีกคนที่ค่อนข้างใส่ใจในการสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่พนักงาน นอกเหนือจากการเปิดแถลง CEO Vision เพื่อให้พนักงานได้รับฟัง แลกเปลี่ยน และสอบถาม ทุกคำถาม (รวมทั้งคำถามยอดฮิตอย่างเรื่องโบนัส) ต่อหน้าผู้บริหารสูงสุด หลายปีที่ผ่านมาศุภชัยยังมีแคมเปญส่งคำอวยพรปีใหม่ให้พนักงานทุกคนผ่านไปกับของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาเลือกสรรให้เข้ากับสถานการณ์แต่ละปี

ปีที่ผ่านมา ศุภชัยได้มอบซองมือถือกันน้ำที่มีข้อความ “น้ำท่วมสูงเท่าไร ก็ไม่เกิน น้ำใจเรา” พร้อมกับคำอวยพรน่าประทับใจว่า “ขอให้พวกเราชาวทรูเข้มแข็ง เปี่ยมพลังใจ เราจะก้าวไปด้วยกัน” หรือปีก่อนนั้นที่เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ สิ้นปีเขาก็มอบ “ยาหม่อง CEO” ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่พนักงาน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้อาจดูเล็กน้อยสำหรับคนนอก แต่สำหรับพนักงานทรู พวกเขารู้ดีว่า ผู้นำ ของเขามีงานยุ่งมากขนาดไหน ของขวัญเหล่านี้จึงทำให้พนักงานระดับล่างหลายคนซาบซึ้ง ถึงขนาดต้องเขียนการ์ดส่งกลับมาขอบคุณ

ยังมีอีกเหตุการณ์ที่ไม่เพียง “ได้ใจ” พนักงานทรู แต่ยังทำให้สื่อมวลชนและผู้คนที่พบเห็นประทับใจตามไปด้วย คือ เหตุการณ์ที่ศุภชัยร่วมเป็นจิตอาสานำทีม True Search & Rescue ลงพื้นที่ช่วยเหลือพนักงานทรูและครอบครัวที่ประสบภัยน้ำท่วม ระหว่างที่ทุกสายตามองเห็นสุนัขตกน้ำ ศุภชัยตัดสินใจกระโดดลงไปช่วยสุนัขขึ้นมาอย่างกล้าหาญ

ในฐานะผู้นำครอบครัว ศุภชัยสมรสกับบุษบา มหพันธ์ มีบุตร 3 คน สมตามความ ตั้งใจ ปัจจุบันลูกชายคนโตอายุ 17 ปี ลูกสาวอายุ 16 ปี และลูกชายคนเล็กเพิ่งมีอายุ 8 ปี ในการบริหารเวลาให้ครอบครัว เขาย้ำว่า ไม่ว่าตลอดสัปดาห์จะมีงานยุ่งขนาดไหน แต่วันอาทิตย์ต้องไม่มีคิวงานอะไรเลย เพื่อที่เขาจะได้ทุ่มเทเวลาทั้งวันให้ครอบครัวได้เต็มที่

“เดี๋ยวนี้ติดเล่นเกมใน iPad จากลูกชายคนเล็ก เล่นเกม Plants VS Zombies เขาเป็นคนสอนผมหมดเลย เขาดีใจมากที่ทุกเกมเขาจะชนะผมหมด” ศุภชัยมักมีรอยยิ้มทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องราวของลูก

หลังจากทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลาร่วม 10 ปี เมื่ออายุย่างเข้า 37 ปี ศุภชัยเริ่มรู้สึกตัวว่าสุขภาพแย่มาก นับจากนั้นเขาจึงเปลี่ยนตัวเอง หันมาจัดสรรเวลาสำหรับออกกำลังกายด้วยการเข้าฟิตเนส วิ่ง แอโรบิกแบบศิลปะป้องกันตัว และว่ายน้ำกับลูกๆ เมื่อมีโอกาส

“จริงๆ ผมชอบศิลปะป้องกันตัวมาก แต่เดี๋ยวนี้เอาแค่ให้เหงื่อออกเฉยๆ ไม่ได้ เก่งกาจเหมือนสมัยก่อน วันก่อนลองกระโดดกลับตัวแล้วเตะข้างกลางอากาศ (Reverse-side Kick) ปรากฏพอลงปุ๊บเจ็บเข่าต้องลงไปนั่ง แต่ก็ยังทำได้อยู่ ถึงจะไม่สูงเหมือนแต่ก่อน” เป็นอีกครั้งที่ศุภชัยเล่าด้วยรอยยิ้มพร้อมเสียงหัวเราะ

ศุภชัยชื่นชอบศิลปะป้องกันตัวหลายแขนง ถึงขนาดเคยได้สายดำในศิลปะ “วันฮวาโด” และเคยฝึกสายดำในศิลปะ “เทควันโด” โดยเหตุผลในความชอบนี้ เขาเชื่อว่าน่าจะมาจากอิทธิพลของหนังกังฟู ในยุคบรูซลี เฉินหลง แจ็คกี้ชาน และเจ็ทลี ที่ดูมาตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อได้ลองฝึกจนเป็น ก็เกิดความสนุก จนกลายเป็นติดใจกีฬาประเภทนี้เรื่อยมา

นอกจากความสนุก สิ่งที่ศุภชัยได้รับจากการฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวคือ กล้ามเนื้อที่ฟิตแอนด์เฟิร์มจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในชุดทำงานสไตล์ลำลอง และหลักปรัชญาในศิลปะการต่อสู้ที่นำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอยู่หลายครั้ง เช่น การ เลือกใช้หลักการต่อสู้ที่ถูกจะทำให้เราอาศัยแรงของคู่ต่อสู้มาใช้ โดยที่เราไม่ต้องออกแรงเยอะ หรือเลือกวิธีต่อสู้ให้ถูกสถาน การณ์ เพราะบางกรณีเราอาจเปลี่ยนมาใช้ วิธีที่ไม่ใช้กำลังทำลายล้างมายุติความรุนแรงได้

“ศิลปะการต่อสู้สอนให้เรานับถือคนอื่น และทำให้รู้ว่าการต่อสู้ที่แท้จริงคือ การต่อสู้ที่ตัวเรา ที่ใจเรา ก็เหมือนกับการแข่งขันทางธุรกิจ เราต้องเอาชนะตัวเองก่อน ต้องดูว่าเราทำดีแล้วหรือยัง” นี่เป็นสุดยอด เคล็ดวิชาการต่อสู้แบบศุภชัย

นอกจากศิลปะป้องกันตัว ศุภชัยยัง ชอบในศิลปะการวาดรูป โดยเฉพาะภาพสเกตช์ ซึ่งคำกล่าวอ้างจากผู้เคยเห็นภาพระบุว่าเป็นภาพที่ดูมีฝีมือไม่น้อย และภาพ เขียนสีน้ำมัน ซึ่งเขากำลังฝึกฝนอยู่

สำหรับช่วงชีวิตหลังเกษียณ ศุภชัย ออกแบบภาพอนาคตให้กับตัวเองเอาไว้แล้ว ว่า เขาอาจจะใช้ชีวิตในช่วง 20 ปีสุดท้าย เรียนรู้ธรรมะในระดับสูงขึ้นอีกขั้น อันเป็นสิ่งที่เขาอยากทำมาตลอด แต่ไม่มีเวลา เพราะภารกิจและความรับผิดชอบที่ต้องแบกไว้นั้นมากมายเกินจะปลีกตัวได้

แต่จากแผนที่ชีวิตที่เขาเขียนไว้ในตอนต้น ดูชีวิตในสเต็ปที่ 3 เขายังต้องทำงานหนักในฐานะ “ผู้บริหารสูงสุด” แห่งทรูต่อไปอีกหลายปี กว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณ หรืออาจจะยังต้องทำงานหลังวัยเกษียณ เพื่อเป็นผู้ควบคุมการขยายอาณาจักรด้วยตัวเอง เหมือน เช่นผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็น “ไอดอล” อีกคนของเขา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.