จีนเผยนโยบายเจ้าอวกาศ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

จีนตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศในทศวรรษหน้า

ปกติแล้วโครงการอวกาศมักจะมีเป้าหมายเป็นการเดินทางไปยังที่ที่ยังไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าโครงการอวกาศของจีนจะคิดต่าง โดยจีนมีแผนที่จะเดินทางไปยังส่วนของอวกาศที่มีคนเคยไปมาแล้ว

จีนเพิ่งเปิดเผยนโยบายอวกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าจีนต้องการจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ มนุษย์คนล่าสุดที่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์คือ Eugene Cernan ชาวอเมริกัน ตั้งแต่เมื่อปี 1972 หากดูจากนโยบายอวกาศ ใหม่ล่าสุดของจีนดังกล่าว ซึ่งเป็นนโยบายอวกาศอย่างเป็นทางการ ของจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มนุษย์คนต่อไป ที่จะได้ไปเหยียบดวงจันทร์คงจะเป็นคนจีน

ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของจีนได้ถกกันถึงภารกิจเหยียบดวงจันทร์นี้มานานแล้ว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จีนยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีแผนการจะส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆ ไม่ได้เพียงอวดโอ่แต่อย่างใด ในเอกสารนโยบายดังกล่าว จีนระบุแผนการนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างจริงจัง หากดำเนินการสำเร็จ จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางอวกาศเทียบชั้นสหรัฐฯ และรัสเซีย

เป้าหมายสำหรับ 5 ปีต่อจากนี้ จีนจะปรับปรุงจรวด Long March ของจีนเอง ซึ่งเป็นจรวดตัวหลักที่จีนใช้ในการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ จรวด Long March-5 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด จะถูกปรับปรุงให้สามารถบรรทุกได้ถึง 25 ตัน ขึ้นไปสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก ซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกที่มากกว่ากระสวยอวกาศของสหรัฐฯ บรรทุกได้กว่า 600 กิโลกรัม

นโยบายอวกาศใหม่ของจีน ระบุต่อไปว่า จะยกระดับเครือข่าย ดาวเทียมของจีน โดยมีแผนจะส่งดาวเทียมสำรวจโลกความคมชัด สูงหลายดวงตลอด 5 ปีข้างหน้า และภายในไม่เกินปี 2020 ระบบดาวเทียมนำทางและระบุพิกัดบนพื้นโลกของจีน ที่มีชื่อว่า Beidou ซึ่งจะประกอบด้วยดาวเทียมทั้งหมด 35 ดวง และเทียบได้กับระบบดาวเทียมระบุพิกัด GPS (Global Positioning System) ของสหรัฐฯ น่าจะพร้อมใช้งานได้ นั่นจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ของกองทัพจีนในการควบคุมและบัญชาการ

จีนยังมีแผนจะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ Tiangong-1 สถานีอวกาศที่จีนเพิ่งส่งขึ้นไปยังอวกาศ และจีนจะส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ขึ้นไปยังดวงจันทร์หลายเที่ยว โดยจะเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาด้วย รวมทั้งจะส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นไปใช้ชีวิตในวงโคจร เพื่อทดสอบระบบสนับสนุนการมีชีวิตในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม มีอย่างหนึ่งที่จีนคงไม่กล้าจะแตะต้อง นั่นคือ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งริเริ่ม โดยสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่อยากให้จีนมายุ่ง เพราะไม่ต้องการเปิดเผยเทคโนโลยีให้จีนรู้ นโยบายอวกาศของจีนล่าสุด นี้ จะว่าไปก็ดูเหมือนจะเป็นการประชดอเมริกาอยู่กลายๆ ว่า จีนขอทำในสิ่งที่อเมริกาไม่ทำแล้ว อย่างเช่นการส่งคนไปดวงจันทร์ หรือเพียงโครงการอวกาศที่ส่งคนขึ้นไปอยู่ในวงโคจรได้เท่านั้น

แม้ว่าการส่งคนไปยังอวกาศจะเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ เพราะภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญทุกอย่างบนอวกาศนั้น สามารถใช้หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่หากมนุษย์คนต่อไปที่จะเหยียบดวงจันทร์เป็นคนจีน หลายคนก็อาจจะมองเรื่องนี้เป็นชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ของจีนที่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.