21 กันยายน คณะกรรมการ บริษัทการบินไทย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 12 เสียง
คัดเลือกพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ รอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริการลูกค้า
ขึ้นเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ (DD) คนใหม่ แทนธรรมนูญ หวั่งหลี ซึ่งได้
เกษียณอายุไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน
ถือเป็น DD คนที่ 3 ที่ก้าวขึ้นมาจากลูกหม้อของการบินไทยเอง ภายหลังจากกองทัพอากาศ
ปล่อยมือจากการผูกขาด ตำแหน่งดังกล่าวลงในปี 2535
การเปลี่ยนมือการบริหารงานจากคนของกองทัพ มาเป็นคนในการบินไทยเอง ตั้งแต่ยุคของฉัตรชัย
บุญยอนันต์ มาจนถึงยุคของธรรมนูญ ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารสายการบินแห่งชาติแห่งนี้
ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
เพราะเป็นการเปิดช่องให้ภาคการเมืองได้มีโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการบินไทยได้มากขึ้น
โดยมองเห็น ว่าสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งเท่านั้น
ทั้ง ที่ความเป็นจริงแล้ว การบินไทยถือเป็นเป็นหน้าตาของประเทศ และการบริหารการบินไทย
ต้องยึดหลักของการเป็น International Company มากกว่าการเป็นเพียง Local
Company
"ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมิถุนายน 2543 เคยเขียนถึงเรื่องของการบินไทยไว้ในฐานะ ที่เป็นบริษัท ที่มียอดรายได้รวมสูงติดอันดับ
1 ของ "ผู้จัดการ 100" ซึ่งเป็นดัชนีชี้การเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการของบริษัทต่างๆ
ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ผลประกอบการของการบินไทยในปี 2542 มีรายได้รวมถึง 112,020 ล้านบาท สูงที่สุดในจำนวนบริษัท ที่จดทะเบียน
อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 247 บริษัท
"แต่การเป็นอันดับ 1 นั้น ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานของสายการบินแห่งชาติแห่งนี้
และไม่สามารถใช้ยอดรายได้รวม ที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท มาเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการบินไทยได้"
เป็นข้อสรุป ที่ "ผู้จัดการ" เคยชี้ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน
เพราะรายรับของการบินไทยส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลดีจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ความพยายามผลักดันตัวเองให้เป็น International Company ของการบินไทย ถือเป็นภาระใหญ่ ที่รอให้
พิสิฐ ใน ฐานะ DD คนใหม่เข้ามาผลักดันต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้ หากภาคการเมืองยังไม่มีความเข้าใจ
และมองเห็นการบินไทยเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ที่สามารถจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้
ก็อาจจะเป็นภาระ ที่ใหญ่เกินไปกว่า ที่ตำแหน่ง DD จะแบกรับไหว
"ความเป็นลูกหม้อ ที่ทำงานในการบินไทยมาถึง
28 ปี พิสิฐก็มองเห็นถึงประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำได้แค่ไหน" คนในการบินไทย
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
จุดที่การบินไทยจะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยน แปลงในอุตสาหกรรมการบิน
ที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงในขณะนี้มีหลายประการที่พอมองเห็น และสามารถสรุปได้คร่าวๆ
ดังนี้
1. ความคล่องตัวในการบริหารงาน เนื่องจากการที่ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
ทำให้การตัดสินใจแต่ละครั้งต้องผ่านขั้นตอน ที่ยุ่งยากมากจนอาจไม่ทันกับคู่แข่ง
โดยเฉพาะการ ตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับปรุงห้องโดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวก
และการให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับสูง
2. การปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะสำหรับสายการบินภายในประเทศ ซึ่ง ที่ผ่านมาการบินไทยประสบกับการขาดทุนมาโดยตลอด
ตลอดจนการลดแบบของเครื่องบิน และเครื่องยนต์ เพื่อลดภาระในการซ่อมบำรุง
3. การพัฒนาบุคลากรไทยให้มีความเป็นมืออาชีพ ลดระบบเส้นสาย ซึ่งฝังรากลึกมานาน
จนกลายเป็นตัวถ่วงสำคัญ ในการปรับตัวของการบินไทย
4. การวางยุทธศาสตร์การแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อสายการบินสิงคโปร์
แอร์ไลน์ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มพันธมิตร สตาร์อัลไลแอนซ์ ร่วมกับการบินไทยด้วยแล้ว
ทำให้ความได้เปรียบของการบินไทย ที่เคยมีต่อสายการบิน เพื่อนบ้านแห่งนี้ ลดลงไปทันที
ฯลฯ
ยังไม่รวมถึงภารกิจเฉพาะหน้า ซึ่งต้องทำให้สำเร็จตามกำหนดการ อย่างเรื่องการแปรรูป
โดยการขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป และพันธมิตรต่างชาติ ตามนโยบายแปรรูปของรัฐบาล
เวลา 2 ปีกว่า ในตำแหน่ง DD ของพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ เป็นช่วงเวลา ที่น่าติดตามดูว่า
จะสามารถปรับตัวการบินไทยให้ก้าวขึ้นมาสู่การเป็น International Company
อย่างเต็มรูปแบบได้มากน้อยเพียงใด