สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องรอปี 30!


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกเพ่งเล็งมากในการใช้เงินตราต่างประเทศมาก คือมีการนำเข้าค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ภายในประเทศ แต่ก็ได้รับการพัฒนาการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ และไม่สามารถแยกได้ว่า รถยนต์นั้นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยหรือจำเป็น และก็ได้ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลา 24 ปีแล้ว จากการที่ได้รับขนานนามว่า อุตสาหกรรมขันนอตบ้าง อุตสาหกรรมไม้แคระบ้าง อุตสาหกรรมเฒ่าทารกบ้าง แต่เราก็ค่อยเติบโตขึ้นมาจนถึงปัจจุบันก็ได้รับการพัฒนามาพอสมควร ถ้าจะเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนแล้ว ประเทศไทยยังนำหน้าในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะไทยยังสามารถผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศสูงสุด ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศที่ใช้รถ NATIONAL CAR แต่โครงการนี้ในอีก 4-5 ปี อาจจะให้มากกว่าไทย แต่ในปัจจุบันนี้เขาใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่าเรา

เมื่อรัฐบาลเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อให้มูลค่าการนำเข้าลดลง และมองสภาพตลาดของรถยนต์แล้วเห็นว่า รถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งโครงสร้างภาษีของประเทศหรือความนิยมของประเทศทำให้มีความต้องการรถบรรทุกเล็กสูง เพราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นรัฐบาลกำหนดให้ส่งเสริมรถบรรทุกเล็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายว่าในอนาคตจะสามารถผลิตในประเทศได้ ความต้องการรถบรรทุกเล็กในตลาดเมืองไทยนั้นประมาณ 55% เป็นรถยนต์นั่ง 33% และประเภทอื่น ๆ อีก 12%

การกีดกันการนำเข้าของสินค้าประเภทเดียวกันที่สามารถประกอบได้ภายในประเทศ เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ดังนั้นรถยนต์ที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนประมาณ 90% เป็นรถที่ประกอบขึ้นภายในประเทศ ส่วนที่นำเข้ามาสำเร็จรูปนั้นมีประมาณ 5% ของอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศมีการเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ มีลงบ้างขึ้นบ้าง ยังไม่เคยพบกับภาวะเช่นปี 2528 นี้เลย คือลดลงประมาณ 27-28% เมื่อเทียบกับกำลังผลิตของภายในประเทศนั้นปัจจุบันผลิต 60% เท่านั้น ในปี 2526 เป็นปีทองของอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะเศรษฐกิจของประเทศดีมาก และก็เริ่มลดลงในปี 2527 และมาเมื่อปลายปี 2527 ซึ่งมีการลดค่าเงินบาท แต่การลดค่าเงินบาทครั้งนั้นไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง เพราะเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมราคาสินค้าเป็นการเร่งให้มีการซื้อเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้นตลาดของรถยนต์ในปี 2527 ลดลงไปเพียง 4% เมื่อเทียบกับปี 2526 ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงแล้วควรจะลดมากกว่านั้น แต่ก็เกิดผลสะท้อนว่าในต้นปี 2528 กำลังการซื้อลดลงไปมาก

ภาวการณ์ของอุตสาหกรรมในปัจจุบันการผลิตก็ลดลงไป บางแห่งทำงาน 40% ของวันทำงาน สำหรับโรงงานผลิตรถปิกอัพนั้นกำลังการผลิตลดไม่มากนัก ส่วนรถยนต์นั่งลดลงประมาณ 22-23% รถบรรทุกใหญ่ประมาณกว่า 50% เพราะภาวะการผลิตพืชผลของไทยราคาไม่ดี ทำให้กำลังซื้อลดลง แต่ก็ยังเป็นตลาดของผู้ซื้ออยู่ เพราะภาวการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องระบายสินค้าในสต๊อกออกให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาจึงยังคงสูงอยู่มาก

ในปี 2528 รัฐบาลคงจะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการรถยนต์ได้น้อย เพราะบางบริษัทแทบจะไม่มีกำไรกันเลย และในปี 2529 คาดคะเนกันว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศคงจะดีขึ้นประมาณ 4% (เทียบกับปี 2528) แต่เมื่อเดือนกันยายน เงินดอลลาร์ตกลงไป ทำให้เงินเยนสูงขึ้นและรถยนต์ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดสินค้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ราคาต้นทุนของรถยนต์สูงขึ้น ดังนั้นในปี 2529 ภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์นี้คงใกล้เคียงกับปี 2528

ในปัจจุบันนี้ตลาดรถจักรยานยนต์ซึ่งเคยมียอดขายที่สูง แต่ขณะนี้ผู้ผลิตจักรยานยนต์หลายรายก็เริ่มลดการผลิตลง เนื่องจากความต้องการของตลาดลดน้อยลง และการเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างจะสูง

เพราะฉะนั้นในปี 2529 นี้ก็คงจะมีมาตรการพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ให้อยู่รอดต่อไป แต่อย่างไรก็ดี ต้นทุนของสินค้าในปี 2529 นี้จะต้องสูงกว่าปีนี้ เพราะมูลค่าในการนำเข้าซึ่งใช้เงินเยนจะสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนที่นำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ จากญี่ปุ่นสูงขึ้นด้วย อีกประการ คือตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และต้องเพิ่มชิ้นส่วนขึ้นอีก โดยรถยนต์นั่งเพิ่มจาก 45% เป็น 50% ในเดือนมกราคม 2529 รถยนต์ปิกอัพจะขึ้นอีก 5% เช่นเดียวกันรถยนต์บรรทุกประเภทอื่น เนื่องจากความต้องการของตลาดมีไม่มากนัก รัฐบาลจึงไม่มีนโยบายให้เพิ่มขึ้น จึงให้ใช้ชิ้นส่วนในอัตราเดิม

ดังนั้น จึงคาดคะเนว่า ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้าง แต่กำลังซื้อก็จะอยู่ในลักษณะเช่นเดิม เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2529 ด้านผู้ประกอบและผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์คงจะไม่มี เนื่องจากยังมีกำลังผลิตที่สูงพอสมควรประมาณปีละ 140,000 คัน ส่วนในภาคของจักรยานยนต์ก็เช่นเดียวกับรถยนต์ คือ มีความต้องการของตลาดปีละ 3 แสนคัน ส่วนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนจะขยายตัวบ้างเล็กน้อยตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการใช้ชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น แต่จะขยายตัวในลักษณะเพิ่มรายการของชิ้นส่วนมากขึ้น แต่จำนวนของชิ้นส่วนที่เคยทำการขายอยู่นั้นลดลงบ้าง เนื่องจากจำนวนรถที่ผลิตและประกอบภายในประเทศลดน้อยลง

สำหรับการลงทุนในปี 2529 คงจะไม่มี จะเริ่มมีในปี 2530 ในด้านรถยนต์ปิกอัพดีเซลสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็ก และผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหลายก็พยายามให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือ แต่ถ้ามองในแง่ของรัฐบาลซึ่งต้องการรายได้สำหรับงบประมาณแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์สามารถทำรายได้ให้มาก ราคารถยนต์นั่งในท้องตลาดนั้นเราจ่ายค่าภาษีไปประมาณ 60% ต่อรถ 1 คัน ถ้าเป็นรถบรรทุกคิดเป็นค่าภาษีประมาณ 18-20% แล้วแต่ขนาดของรถ เพราะฉะนั้นการที่จะขอให้รัฐบาลปรับปรุงภาษีหรือลดภาษีลงไปนั้นจึงทำได้ยาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพยายามปรับตัวเองโดยการรณรงค์ให้พนักงานของโรงงานทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงก็คือ การไล่พนักงานออก และอีกประการหนึ่งที่จะต้องทำก็คือ การลดวันทำงานซึ่งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายทางด้วยกัน

สรุปแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ในปีหน้าก็คงเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะต้องลำบากต่อไปอีก แต่ก็คาดว่าในปี 2530 คงจะดีขึ้นกว่านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.