สถานการณ์สิ่งทอ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศที่ตั้งความหวังว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะต้องเริ่มจากสิ่งทอก่อน แม้แต่ในประเทศอังกฤษเอง อุตสาหกรรมสิ่งทอในศตวรรษที่ 19 นั้น มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการเริ่มต้นของการที่มี INDUSTRIAL REVOLUTION ในอังกฤษ

เหตุผลที่อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นจุดเริ่มต้นของทุก ๆ ประเทศที่จะเริ่มดำเนินการนโยบายอุตสาหกรรมเพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถทำให้ประเทศที่จะเริ่มต้นมีฐานะ COMPARATIVE ADVANTAGE ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยในการผลิต เช่น ค่าแรง ค่าไฟฟ้ามีต้นทุนอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกัน COMPARATIVE ADVANTAGE ก็ขึ้นอยู่กับยุทธวิธีของการผลิตและการขาย

ที่ผ่านมา ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน เป็นผู้นำในเรื่องนี้ ต่อมาก็เป็นประเทศสิงคโปร์ที่เน้นด้านเครื่องนุ่งห่ม แต่ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนดังกล่าวนี้ อุปสรรคก็เริ่มปรากฏให้เห็น ซึ่งเกี่ยวพันกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของโลก ตามปกติอุตสาหกรรมสิ่งทอจะดีติดต่อกัน 3-4 ปี แล้วกลับเป็นไม่ดี 3-4 ปีอย่างมาก แต่ในระยะหลัง ช่วงที่ตกต่ำจะยาวนานกว่าเดิม คือนาน 4-5 ปี ทั้งนี้เกิดจากปัญหาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่ว ๆ ไป ต้องคำนึงว่าสิ่งทอนั้นประกอบด้วย 5 วิธีการ คือเริ่มต้นจากการผลิตฝ้าย การผลิตใยสังเคราะห์ การปั่นด้าย การทอผ้าหรือการถักผ้า การย้อม การพิมพ์ การทำเครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมดนี้สำหรับประเทศไทยอยู่ในสภาพที่น่าพอใจ

ยกเว้นปัญหาในเรื่องฝ้ายเท่านั้นที่ต้องอาศัยดินฟ้าอากาศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางปีอาจจะได้ฝ้ายถึง 80,000-90,000 ตัน แต่เนื่องจากในระยะหลังราคาฝ้ายในตลาดโลกตกการผลิตจึงน้อยลง ปีนี้อาจจะได้เพียง 30,000 ตันเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอกับการใช้ฝ้ายในประเทศจึงต้องนำเข้ามาส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันกำลังผลิตของไทยในเรื่องการปั่นฝ้ายและทอผ้า สูงกว่าความต้องการของประเทศเป็นอย่างมาก สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ซึ่งภาคเอกชนพยายามที่จะแก้ไขแต่ไม่ค่อยสำเร็จ เพราะการทำ GENTLEMAN AGREEMENT ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ปรากฏว่าพ่อค้าทุกคนไม่พร้อมเพรียงที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง

เหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือ นโยบายของรัฐบาลในอดีตมีการกำหนดว่าจะไม่มีการเพิ่มกำลังผลิต แต่บางกิจการก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นการสร้างความปวดหัวให้กับพวกนักอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการค้าอย่างสุจริต

เมื่อกำลังการผลิตของประเทศไทยสูงกว่าความต้องการมาก อุตสาหกรรมของไทยจึงเจริญเติบโตยิ่งใหญ่จนเกือบเข้าไปแทนเกาหลี ไต้หวัน หรือฮ่องกงได้ เพราะประเทศเหล่านี้สามารถไปเพิ่ม VALUE ADDED PRODUCT คือไปทำ CERTIFICATE จาก PRODUCT มากขึ้น ไทยจึงสามารถเข้าไปแทนที่ในสิ่งที่เขาเลิกทำกันแล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งออกไปขายนอกประเทศ

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของไทย ในปี 2527 ประเทศไทยส่งออกสิ่งทอเป็นมูลค่า 23 พันล้านบาท หรือ 13.14% ของมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด ยกเว้นการส่งออกข้าวแล้ว สิ่งทอถือได้ว่าเป็นสินค้าอันดับสองที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยมากที่สุด

และในปี 2527 นั้น เป็นการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท เป็นผ้าผืน 5 พัน 5 ร้อยล้านบาท เป็นด้ายเส้นใยประดิษฐ์ประมาณ 1 พันล้านบาท ทั้ง 3 รายการคิดเป็น 81.46% ของราคาสิ่งทอที่ส่งออกทั้งหมด

มูลค่าการส่งออก 23 พันล้านบาทนั้นเพิ่มขึ้น 37.37% เมื่อเทียบกับปี 2526 แสดงว่าตัวเลขการเพิ่มของสิ่งทอนั้นเพิ่มกันจริง ๆ เมื่อ 2-3 ปีนี้เอง ก่อนหน้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เหตุผลก็เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของอเมริกาดีขึ้น ราคาน้ำมันถูกลงและสินค้าไทยมีคุณภาพพอที่จะแข่งกับประเทศอื่น ๆ ได้

และการที่ตัวเลขการส่งออกสินค้าสิ่งทอของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จึงเกิดปัญหาเจนกิ้นส์ บิล ขึ้น

ปัจจุบันนี้สภาวะสิ่งทอของไทยก็ยังไม่พ้นช่วงวิกฤต จะเห็นได้จากเมื่อปีที่แล้วตัวเลขผู้ทำกิจการสิ่งทอจะออกมาขาดทุนทั้งนั้น แต่ในอนาคตสภาวะคงจะแจ่มใสขึ้นเล็กน้อย เพราะอัตราการเติบโตของสิ่งทอในเมืองไทยยังไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่ค่อยดี จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่เป็น DETAIL TRADE อุตสาหกรรมที่เป็น CONSUMER PRODUCT ไม่ค่อยเติบโตหรืออาจจะถอยหลังกลับเสียด้วยซ้ำ กำลังซื้อของคนไทยในปีหน้าก็จะยังไม่ดีขึ้น ตราบใดที่ประชากร 70 % ยังอาศัยรายได้จากการขายพืชผลการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างมาก

เมื่อ 25 ปีก่อน ประเทศไทยอาจส่งออกพืชผลเพียง 3 รายการ แต่ปัจจุบันได้เพิ่มมากขึ้นถึง 25 รายการ และไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่ราคาพืชผลเหล่านี้จะตกลงพร้อม ๆ กันอย่างเช่นในปีนี้ จึงน่าเป็นห่วงมากว่ากำลังซื้อของคนไทยจะไม่ดีขึ้นในปีหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อกำลังซื้อไม่ดีเราจะต้องมองว่าสิ่งที่คนจะซื้อต่อไปนี้จะต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและเสื้อผ้า ในกรณีนี้กำลังซื้อเสื้อผ้าอาจจะมากกว่ากำลังซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในขณะที่กำลังผลิตสิ่งทอของเมืองไทยเกินความต้องการอยู่แล้ว คาดว่าสภาวะสิ่งทอของเมืองไทยคงจะไม่ดีขึ้นเท่าใดในระยะ 1 ปีข้างหน้า

เมื่อดูตลาดภายนอกแล้ว ประเทศไทยส่งไปขายประมาณ 16 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศอเมริกา ประเทศในกลุ่มตลาดร่วมยุโรป และประเทศอื่น ๆ อีกเล็กน้อย มีมูลค่าประมาณ 80% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ว่าพยายามหาตลาดในตะวันออกกลางหรือตลาดในแ อฟริกา แต่ตลาดเหล่านี้ก็ยังไม่ใหญ่พอ

ดังนั้นนโยบายการกีดกันการนำเข้าสินค้าสิ่งทอของอเมริกาและกลุ่มประเทศตลาดร่วมยุโรป จึงมีผลกระทบกระเทือนต่อการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วถ้าโรงงานใดในอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ มีฐานะการเงินคล่องตัวพอใช้และสามารถส่งสินค้าได้ตามกำหนดเวลา โอกาสที่จะทำกำไรเล็กน้อยจากการส่งออกจะมีมากกว่าการที่จะพยายามผลักดันสินค้าของตนเข้าไปขายอยู่ในตลาดเมืองไทย

นอกเสียจากโรงงานนั้นจะมีวิธีการพิเศษที่สามารถควบคุมยุทธจักรสิ่งทอของเมืองไทยได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ไม่ต้องการที่จะปวดหัวกับการต่อสู้กับกฎเกณฑ์บางอย่างของทางราชการหรือกฎเกณฑ์บางอย่างภายในสังคมไทย ก็ควรหันไปมุ่งส่งออกดีกว่า

อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องกฎหมายเจนกิ้นส์ บิล เมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา โอกาสของกฎหมายนี้จะผ่านรัฐสภาของอเมริกาและออกมาเป็นตัวพระราชบัญญัติกฎหมายของอเมริกา ซึ่งสามารถกีดกันการส่งออกสินค้าสิ่งทอของไทยได้ถึง 64% มีโอกาสค่อนข้างมาก

แต่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ เข้าใจว่าโอกาสที่จะผ่านมาใช้บังคับค่อนข้างน้อยเพราะเข้าใจว่าประธานาธิบดีเรแกนจะวีโต้ร่างกฎหมายฉบับนี้

ปัจจุบันพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านสภาล่างด้วยคะแนนเสียง 256 เสียง ส่วนสภาสูงมีแนวโน้มว่าจะผ่านด้วยคะแนนเสียง 51-52 เสียง อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติที่จะผ่านสภาสูงมีข้อความที่ต่างไปจากข้อความของสภาล่างมาก กล่าวคือร่างฯ ของสภาล่างจะย้อนไปบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2524 แต่ของสภาสูงสำหรับกรณีประเทศไทยจะย้อนไปเพียงปี 2527 ทำให้โอกาสการส่งออกของไทยดีขึ้น

รายละเอียดข้อหนึ่งของร่างกฎหมายของสภาสูง เดิมนั้นให้เปลี่ยนจากผู้ส่งออกในประเทศอื่นเป็นผู้ถือโควตาให้เป็นผู้นำเข้าในอเมริกาเป็นผู้ถือโควตา และถ้าเป็นเช่นนั้นผู้นำเข้าของอเมริกาสามารถกดราคาได้อย่างเต็มที่ และก็อาจจะลามไปถึงสินค้าอื่นที่มีโควตาอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยก็ตกลงกันว่าจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ LOCAL QUATA ที่ปัจจุบันจะแยกให้เป็นประเทศ ๆ แต่ถ้าเป็นลักษณะในเจนกิ้นส์ บิล LOCAL QUATA จะขึ้นอยู่กับผู้สั่งเข้าของอเมริกาว่าจะให้ประเทศไหนส่งเข้ามาเท่าไหร่ สิ่งนี้ทางไทยเห็นว่าขัดกับ GATT หรือของ MFA

ในเรื่องโอกาสที่ประธานาธิบดีเรแกนจะวีโต้นั้นมีมาก และคิดว่าวีโต้แน่ๆ และเมื่อประธานาธิบดีวีโต้แล้วตามกฎหมายของอเมริกานั้นทั้งสภาล่างและสภาสูงจะต้องได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ที่จะสามารถคว่ำวีโต้ของประธานาธิบดี ก็เท่ากับต้องได้เสียงจากสภาล่าง 290 เสียง และเสียงในสภาสูง 67 เสียง เท่าที่มีการโหวตผ่านมา เสียงทั้ง 2 สภายังมีไม่ถึง

เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้คงจะไม่ออกมาบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ส่งออกจะต้องระวัง คือ การประชุม MFA ซึ่งครั้งแรกจะมีการประชุมที่เจนีวาในวันที่ 2-4 ธันวาคมของปีนี้ เพื่อจะเตรียมการประชุมจริงในเดือนพฤษภาคม 2529 และในอดีตจะมีปัญหาตรงที่ว่าจะมีการต่ออายุ MFA หรือไม่

ตามปกติการค้าระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับ GATT อันเป็นสนธิสัญญาที่ส่งเสริมให้มีการค้าขายแบบเสรี แต่เนื่องจากมีความปั่นป่วนในเรื่องการค้าขายสิ่งทออย่างมากในระยะเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีผู้เสนอให้มีสัญญา MFA ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิการค้าขายสิ่งทอหรือการผลิตสิ่งทอของประเทศทั่วไป ทำให้แคบกว่า GATT และทำให้มีการแบ่งแยกว่าประเทศไหนจะมีการนำเข้าเท่าไหร่

สำหรับการประชุม MFA ที่จะมีในปีหน้านั้นก็คาดว่าจะมีการจำกัดตัวเองมากเข้าไปอีก รวมทั้งถ้าจะมีการทำสัญญาต่ออายุ MFA ในปีหน้าแล้ว ทางอเมริกาคงจะมีกลยุทธ์บางอย่าง เช่น

ประการแรกภายใต้ MFA เก่านั้น อเมริกาจะอนุญาตให้มี ANNUAL GROWTH RATE 6% สมมุติว่าเมืองไทยได้โควตาจากอเมริกา 100 ตัน ในปีต่อไปก็จะได้ 106 ตัน สิ่งนี้คือ PERCENTAGE ที่ MFA กำหนดให้ และในปีต่อ ๆ ไปนั้นคงจะให้เพียง 1% เท่านั้น

ผลสืบเนื่องจากเจนกิ้นส์ บิล ก็คือ MFA ในปัจจุบันไม่รวมผ้าไหม ผ้าลินิน และผ้ารามี แต่ MFA ใหม่จะต้องรวมสินค้าทั้ง 3 ประเภทเข้าไปด้วย สำหรับลินินและรามีนั้นประเทศไทยไม่ได้ผลิตอยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง ที่จะเป็นปัญหาก็คือผ้าไหมซึ่งประเทศไทยผลิตเพื่อส่งออกเพียงเล็กน้อยก็คงกระทบกระเทือนบ้าง

ประการสุดท้ายจะมีการ CONTROL GROWTH คือการควบคุมแต่ละรายการมากขึ้น ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นรายการใดบ้าง เป็นการจำกัดการเจริญเติบโตของสิ่งทอในประเทศกำลังพัฒนา

สรุปแล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอในปีหน้าคงจะไม่ดีขึ้น แต่ก็คงจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว และสภาวะสิ่งทอในประเทศยังอยู่ในระดับที่คับขันมาก รัฐบาลน่าจะได้พยายามพิจารณาแก้ไขให้มากขึ้น

วิธีการแก้ไขก็มีการเสนอมาจากหลายหน่วยงาน เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ เคยเสนอ RESTRUCKTIONING ของอุตสาหกรรมเท็กซ์ไทล์ ที่จะต้องให้ความสมดุลกันในเรื่องการปั่นด้าย ทำใยสังเคราะห์ การทอผ้า ในขณะเดียวกันก็ควรจะต้องมีการปรับปรุงภาษีให้สมดุลกันด้วย

ยกตัวอย่างในปัจจุบันผ้าผืนของไทยผลิตเกินความต้องการมากจึงทำให้หลายบริษัทต้องส่งออกไปต่างประเทศ ในขณะที่มีโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มอยู่ประมาณ 400-500 โรงงาน และเพราะระบบโครงสร้างภาษีของไทยไม่อำนวยให้โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนในประเทศ เนื่องจากถ้าโรงงานนำเข้าจากต่างประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าทำให้ต้นทุนต่ำลง

ในทางตรงข้ามหากโรงงานหันมาซื้อผ้าผืนที่ผลิตในเมืองไทย โรงงานผลิตผ้าผืนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในวัตถุดิบบางประเภทที่นำเข้า รวมทั้งต้องเสียภาษีการค้า ทำให้ต้นทุนสูงกว่าสั่งผ้าผืนจากต่างประเทศเข้ามา สิ่งเหล่านี้น่าจะมีการปรับปรุงในเรื่องโครงสร้างของภาษีใหม่ให้สมดุลกัน เป็นการช่วยให้ใช้สินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยตลอดจนเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วย

ภาวะกีดกันของตลาดต่างประเทศยังคงจะมีต่อไป รัฐบาลจะต้องพิจารณาหาทางเปิดตลาดต่างประเทศทั้งสำหรับสินค้าและสินค้าอื่น ในเวลาเดียวกันนั้นก็ต้องวางมาตรการบางประการเพื่อเปิดตลาดในประเทศพร้อม ๆ ไปด้วย เพราะในปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลมีลักษณะเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางทีก็มากเกินไป

ตามหลักการแล้วอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องอาศัยการคุ้มครองในระยะหนึ่ง แต่บางคราวก็ทำให้อุตสาหกรรมบางประเภทกลายเป็นเด็กที่เลี้ยงแบบไม่ยอมให้โต เด็กก็ไม่อยากโต มีการเก็บภาษี SERCHARGE ในบางรายการ แม้จะเป็นเรื่องที่จำเป็นในบางครั้ง ก็ควรที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาว่าในโลกทุกวันนี้ถ้าต้องการรักษา INTERNATIONAL TRADING SYSTEM ที่เป็นระบบการค้าแบบเสรี

และคำนึงถึงว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวแก้ไขให้อยู่ในภาวะเหมือนเดิมนั้น จะต้องอาศัยการค้าแบบเสรี

หากทุกประเทศใช้นโยบายการค้าแบบกีดกันแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทั่วหน้ากันหมด

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยน่าจะทำควบคู่ไปกับการขยายตลาดในต่างประเทศก็คือ มีวิธีการใดที่จะเปิดตลาดภายในให้ประเทศอื่นบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลี่คลายบรรยากาศที่แต่ละประเทศให้รัฐบาลของตนปกป้องตลาดของตัวเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.