"การประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2529"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ในระยะนี้คงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกอยู่ในขั้นวิกฤต เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ว่าของกลุ่มประเทศไหนก็ตาม มักมีอัตราการเติบโตลดลงทั้งนั้น ในปี 2523-2525 ระยะนั้นมีภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และหวังกันว่าปี 26-27 คงจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ ความจริงฟื้นตัวเหมือนกัน แต่ในอัตราที่ไม่สมหวังเท่าไรนัก และในปี 2528 กลับฟุบลงไปอีก แต่เท่าที่มองอยู่แม้ว่าจะเข้าปี 2529 สถานการณ์ก็คงจะไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัก?

ในสมัยนี้ไม่ว่าจะมีผลอะไรเกิดขึ้นในต่างประเทศมักจะมีผลสะท้อนกระทบกระเทือนถึงบ้านเราเสมอ มีข้อหนึ่งที่น่าสังเกตในระยะหลังนี้คือ สถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็วและรุนแรงมาก เมื่อก่อนจะสังเกตว่า Economic cycle ยาวและการเปลี่ยนแปลงไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่ระยะหลังเปลี่ยนแปลงเร็วและแต่ละครั้งรุนแรงมาก เลยส่งผลกระทบกระเทือนถึงเราแรงเช่นเดียวกัน

ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศโดยทั่วไปปี 2528 ตัวเลขที่ออกมาคาดว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต่ำกว่าในปี 2527 คือปี 2528 จะอยู่ประมาณ 2.8% ตัวที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2527 ขณะที่เศรษฐกิจเขาฟื้นตัว การขยายตัวก็เพิ่มขึ้นถึง 7% แต่ในปี 2528 คาดว่าการขยายตัวของสหรัฐฯ อยู่ในราว 2.4% เท่านั้น ยังมีปัญหายิ่งใหญ่อีกประการ คือประเทศต่าง ๆ ที่อาศัยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งสินค้าออกต้องพบกับความยุ่งยากขึ้น เพราะเหตุว่าในปีนี้สหรัฐฯ คาดว่าจะมีดุลการค้าขาดดุลถึง 150,000 ล้านเหรียญ จากการขาดดุลที่ร้ายแรงนี้เป็นแรงผลักดันทำให้สหรัฐฯ ต้องใช้นโยบายกีดกันสินค้าขาเข้า ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งสินค้าประเภทเกษตรกรรมหรือสินค้าขั้นปฐม คือพวกวัตถุดิบออกนอกประเทศ ราคาโดยทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ สร้างความลำบากให้กับประเทศกำลังพัฒนาไม่น้อย ประกอบกับหนี้สินต่างประเทศซ้ำเติมอีก ซึ่งยังแก้ไขไม่ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ คิดว่าการแก้ไขการค้าระหว่างประเทศอันหนึ่งคือ ต้องพยายามทำให้เงินของสหรัฐฯ อ่อนลง ซึ่งพอจะมีผลบ้าง แต่ดูอีกทีแล้วนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปอาจทำให้เงินดอลลาร์กลับแข็งขึ้นไปอีกได้ เหตุการณ์ในต่างประเทศเหล่านี้ยุ่งยากสับสนมาก เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของบ้านเราอย่างไร

เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2528 โดยทั่วไปก็ไม่ดีไปกว่าประเทศอื่น การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้ เช่น ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 คาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 6% แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 4.4%

เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ขยายตัวขึ้นก็มีผลกระทบกระเทือนให้การค้าซบเซา ประกอบกับราคาพืชผลด้านเกษตรมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ทำให้การลงทุนลดลงด้วย จะพัวพันกันไปเรื่อย ๆ จึงต้องหาวิธีแก้ไข

เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้โดยทั่วไปต้องอาศัยหลักอย่างหนึ่งคือ การลงทุน ถ้ามีการลงทุนคึกคักการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มี การค้าก็คึกคัก ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ในระยะนี้การลงทุนเติบโตช้าซึ่งจะกระทบถึงการค้าต่อเนื่องไปด้วย

ด้านกำลังซื้อลดต่ำลง ยิ่งในระยะนี้มีการดำเนินการด้านภาษีบางอย่างของรัฐบาลทำให้สินค้าแพงขึ้น ยิ่งดึงให้กำลังซื้อของเราต่ำลง อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอยู่ตลอดซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กำลังซื้อต่ำลง ในภาครัฐบาลก็ไม่มีกำลังที่จะเข้ามาช่วยกำลังซื้อเข้ามาในตลาดมากนัก ในปลายปี 2528 รัฐบาลต้องตัดงบลงไปอีก 4,000 ล้าน เพราะการเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้กำลังซื้อของประเทศอ่อนตัวลงทันที

การที่เศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้ออ่อนตัวลง ราคาภาคเกษตรลดลงทำให้ระดับราคาของในประเทศไม่เพิ่มขึ้น ในปี 2528 ดัชนีค่าครองชีพคงไม่สูงกว่าปี 2527 เท่าไร คือสูงประมาณ 2-3% กำลังซื้อไม่มาก ผลผลิตที่ได้มากขึ้นในสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเป็นแรงผลักดันให้ต้องส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศมากขึ้น และเมื่อปลายปี 2527 มีการลดค่าเงินบาททำให้มูลค่าในการส่งสินค้าออกในปี 2528 สูงกว่าในปี 2527 ประมาณ 12% ในขณะเดียวกันมูลค่าของสินค้าขาเข้าตามตัวเลขที่ประมาณไว้ขึ้นไปเพียง 9% ที่น้อยลงก็เพราะกำลังซื้อในประเทศต่ำลงมาก เพราะฉะนั้นการขาดดุลระหว่างประเทศในปี 2528 จึงใกล้เคียงกับปี 2527 คือประมาณหกหมื่นเก้าพันกว่าล้าน

การชะงักงันของเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลสะท้อนไปยังภาวะการจ้างแรงงาน ตามสถิติปี 2528 มีประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน 27 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน แต่ในจำนวน 27 ล้านคนที่จะมาหางานทำมีเพียง 25.3 ล้านคนที่หางานทำได้ แสดงว่ามีคนว่างงานถึง 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 6% กว่า ต่อไปภาวะการหางานจะต้องลำบากขึ้น เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจลดลง และมีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่จะต้องผลิตน้อยลง ทำให้มีการเลิกจ้างมากขึ้น

ในภาครัฐบาลก็ไม่แจ่มใสเท่าไรนัก งบประมาณปี 2528 ตัวเลขขาดดุลมีถึง 53,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขขาดดุลที่สูงผิดปกติ สูงมากกว่าปี 2527 ถึง 36% ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 7.3% รายจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13% กว่า โอกาสที่รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นคงไม่ดีนัก

ภาวะการเงินในประเทศ ปี 2528 ต้นปีมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เงินฝืด เพราะปลายปี 2527 ลดค่าเงินบาท ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น คนที่กู้เงินจากต่างประเทศมาพยายามเอาเงินคืนไปและไม่มีใครกล้ากู้เข้ามาใหม่ แต่ในไตรมาสที่ 2 และ 3 อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศลดลง ผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศกว้างขึ้น เป็นเครื่องส่งเสริมให้คนเอาเงินเข้ามาจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการลงทุนชะลอตัวลง เพราะฉะนั้นสภาพคล่องในไตรมาส 2-3 มีมากขึ้น แต่ในไตรมาสที่ 4 จะฝืดมาก เนื่องจากความไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะเข้มงวดกับตะกร้าการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เงินบาทอาจจะอ่อนตัวลงทำให้คนคืนเงินที่ไปกู้มาจากต่างประเทศ ทำให้มีภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น ตัวเลขประมาณคร่าว ๆ ขณะนี้เงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นประมาณ 14% ในปีนี้เงินกู้สูงขึ้นประมาณ 10% กว่า การขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนมาก

จากตัวเลขที่ประมาณได้ในปีนี้ด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างต่ำราว 5-6% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตของใช้ในประเทศ เป็นต้นว่าพวกรถยนต์ ตู้เย็น ฯลฯ จะได้รับผลกระทบมาก เพราะกำลังซื้อในประเทศลดลง อุตสาหกรรมที่คิดว่าจะขยายตัวได้บ้าง คืออุตสาหกรรมประเภทแปรรูปที่ส่งขายต่างประเทศได้ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน

ในเมืองไทยการผลิตไม่มีปัญหาเพราะมีกำลังการผลิตมากพอ แต่ปัญหาอยู่ที่ผลิตแล้วหาตลาดไม่ได้ เพราะตลาดในประเทศมีจำกัด ถ้ามีการส่งออกที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ในปี 2528 สินค้าออกเพิ่มขึ้น 12% สินค้าเข้า 9% ที่เพิ่มช้าก็เพราะการกีดกันทางการค้าและสินค้าเกษตรตกต่ำลง ผลต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ Terms of trade ต่ำลงด้วย ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2527-28 ต่ำลงถึง 10% คือจาก 87.5 เหลือ 78.5

ในปี 2529 การค้าระหว่างประเทศจะลดน้อยกว่าปี 2528 อาจสามารถส่งสินค้าออกได้บ้างถ้าไม่ถูกรบกวนจากเจนกินส์บิลล์ จะสามารถขยายการส่งออกได้ถึงประมาณ 8% แต่สินค้าเข้าลดลงมากโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง

บัญชีด้านการบริการในปี 2528 เกินดุลไป 20,000 กว่าล้านบาท สูงกว่าปี 2527 เล็กน้อย ที่เกินดุลเพราะลดค่าเงินบาท เงินบาทที่เข้ามาด้านการท่องเที่ยว ค่าจ้างแรงงานที่คนไทยไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้รายได้ด้านบริการเพิ่มขึ้น ในปี 2529 จะลดลงกว่าปี 2528 เล็กน้อย เพราะคาดว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น เงินที่เป็นค่าจ้างแรงงานคงจะต่ำลง ดูจากบัญชีเดินสะพัดในปี 2528/29 คงจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2527

ถ้ามองปี 2529 เหตุการณ์ต่าง ๆ จะไม่กระเตื้องขึ้นเท่าไร? การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมจะลดลงประมาณ 2%

แม้แต่ในญี่ปุ่นหรือในประเทศกลุ่มอาเชียนไม่มีประเทศใดที่มีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเช่นกัน สำหรับประเทศไทยปัจจัยที่ได้รับผลกระทบจากต่างประเทศมีมาก เช่น การกีดกันสินค้าขาเข้าของประเทศอุตสาหกรรม ราคาสินค้าเกษตรลดลง ความไม่แน่นอนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ยุ่งยากมาก ในปี 2529 การขยายตัวจะไม่มากว่าปี 2528 การลงทุนคงไม่ดีนัก การค้าระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย กำลังซื้อไม่ดีขึ้น การลงทุนไม่สูงกว่าปี 2528 ระดับราคาสินค้าคาดว่าจะมีดัชนีค่าครองชีพสูงขึ้นไม่มากนัก ประมาณ 2-3% การค้าระหว่างประเทศ การขาดดุลจะใกล้เคียงคือเพิ่มหรือลดกว่าปี 2528 เล็กน้อย

ด้านการคลัง งบประมาณปี 2529 ตั้งไว้ 218,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าชำระหนี้ถึง 50,000 กว่าล้าน หรือประมาณ 23.3% ที่เหลือเป็นงบประมาณที่ใช้สอยจริง ๆ คิดเป็นเงิน 167,281ล้าน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.8% อัตราการเพิ่มขึ้นถ้าเอาอัตราเงินเฟ้อหรือระดับราคามาเทียบแล้วจะลดลงเพราะคาดว่าอัตราระดับราคาจะสูงขึ้นประมาณ 2-3% แต่ในปี 2529 มีข้อที่น่าเป็นห่วงคือรัฐบาลตั้งรายได้ถึง 185,000 ล้าน ซึ่งสูงกว่าปี 2528 ถึง 14.2% ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซา การค้าไม่คล่อง การลงทุนน้อย การเก็บภาษีเพิ่มจึงคาดว่าจะทำได้ลำบาก

ในระยะ 2-3 ปีหลัง มาตรการของรัฐบาลค่อนข้างจะเข้มงวดเพราะรัฐบาลมีความเป็นห่วงในเรื่องเสถียรภาพภายในประเทศในเรื่องราคามาก ฉะนั้นมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้นี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายในปี 2528 ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างหนัก ประกอบกับสินค้าเกษตรราคาตกต่ำทำให้กำลังซื้อลดน้อยลง ปัญหานี้จะตามจากปี 2528 ไปถึงปี 2529 ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.