เด็กน้อยในครัวกับ Ge'nie Chef

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

โอกาสจะได้เห็นภาพเด็กตัวเล็กๆ ทำขนมหรืออาหารอยู่ในห้องครัวคงจะยากซักนิด แน่นอนว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า คงไม่ยอมเป็นเด็ดขาด เพราะกลัวลูกหลานจะถูกมีดบาดมือ น้ำร้อนลวก

ในยุคสังคมเร่งรีบทำให้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อ แม่ และลูก ทำให้โอกาสในการทำอาหารรับประทานกันเองภายในบ้านไม่ค่อยมีมากนัก แต่ผู้ปกครองที่พอจะมีรายได้ก็แสวงหาโอกาสให้ลูกๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา และกิจกรรมในห้องครัวกำลังได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะไม่ใช่สนุกสนานเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะหลายๆ ด้าน

Ge’nie Chef ภาษาอิตาเลียนถูกคัดเลือกให้ตั้งชื่อเป็นสถาบันส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะเด็กผ่านการทำอาหาร ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจได้เพียง 1 ปี

รดา อดุลตระกูล วัย 27 ปี หรือฝ้าย เจ้าของสถาบันจีนี่เชฟ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิท จำกัด บอกถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ว่า เกิดจากเป็นคนรักทำอาหารตั้งแต่วัยเด็ก มักจะขลุกอยู่ในครัวกับคุณยายเป็นประจำ ถึงแม้จะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าครัวเพราะกลัวจะได้รับบาดเจ็บ

อีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่สนใจในธุรกิจนี้เพราะปัจจุบันมีลูกชาย 3 คน อายุ 4 ขวบ 2 ขวบครึ่ง และ 11 เดือน แต่ลูกทานยาก จึงเริ่มหาหนังสือมาอ่าน จนกระทั่งพบเล่มที่น่าสนใจ หนังสือมีชื่อว่า Kids in the kitchen พบว่าการทำอาหารเป็นการบูรณาการอย่างหนึ่ง หลังจากได้เห็นสถาบันสอนเด็กให้ทำอาหารในกรุงเทพฯ เช่น Young Chef หรือคิดส์ อิน เดอะ คิทเช่น

รดาจึงพาลูกชายไปทดลองเรียน พบว่าลูกชายรู้สึกสนุกกับการทำอาหาร จึงมีความ คิดจะก่อตั้งสถาบันขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีเด็กจำนวนมากทั้งคนไทยและต่างชาติ

แม้ว่าพื้นฐานการศึกษาจะไม่ได้ร่ำเรียนด้านครูมาโดยตรง แต่เนื่องจากมีเพื่อนรุ่นพี่ที่เคยรู้จักกันเมื่อครั้งเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนเรยีนา เชลีวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ มีประสบการณ์การสอนใน ต่างประเทศ มาช่วยดูแลเรื่องอาหาร ส่วนรดามีโอกาสสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ หลังจากเรียนจบ Bellaire High School ในสหรัฐอเมริกา และศึกษาปริญญาตรีด้าน บริหาร วิชาเอกภาษาจีนที่ Shanghai International Studies University ประเทศจีน หลังจากใช้เวลาศึกษาเพื่อเตรียมเปิดสถาบันได้ระยะหนึ่ง จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งสถาบันจีนี่เชฟบนถนนวงแหวนรอบกลาง ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

จีนี่เชฟจะเปิดสอนเด็ก วัยตั้งแต่ 3 ขวบจนถึง 12 ปี ใช้หลักสูตรการเรียนการสอน 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษา อังกฤษ

รดาบอกว่าระบบการสอนของสถาบันไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กทำอาหารเก่ง หรือมีเป้าหมายเป็นกุ๊ก แต่จะเน้นการพัฒนาทักษะของเด็กผ่านการทำอาหาร เพราะอาหารที่เปิดสอนจะเป็นอาหารนานาชาติ ซึ่งรายการอาหารแต่ละประเภท จะถูกสอดแทรกความรู้และความสนุกสนานควบคู่กันไป

รดาได้ยกตัวอย่างการทำสปาเกตตี ครูผู้สอนจะเริ่มเล่าประวัติของสปาเกตตีว่ามีต้นกำเนิดเป็นอย่างไร วิธีการผลิต พอถึงขั้นปฏิบัติเด็กๆ จะได้วัด ตวง เริ่มลงมือทำพร้อมกับเรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ ในห้องครัว และวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสม หลังจากเสร็จเรียบร้อย เด็กๆ จะได้รับประทานอาหารหรือขนมจากฝีมือตนเอง และอาหารบางส่วนก็สามารถนำกลับบ้าน

“วิธีการสอนของเราจะสอดแทรกหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน เช่น คณิตศาสตร์ เช่น การนับ ตวง หรือวิทยาศาสตร์ ก็ดม จับ หรือลงมือทำ และรับประทาน เป็น การฝึกวิชาโภชนาการ”

ผู้ปกครองบางคนที่ส่งเด็กมาเรียนเพราะเด็กมีปัญหา ไม่ยอมทานผักหรือผลไม้ แต่หลังจากให้เด็กลงมือทำ เขาจะชิมในสิ่งที่ตนเองทำ ทำให้เด็กบางคนจากที่ไม่ยอมรับประทานผลไม้ หรือปลาทะเล ก็เริ่มทานได้ เพราะในหลักสูตรจะสอดแทรกการทำน้ำสลัด และผักสลัด เช่น จัดมะเขือเทศสวยๆ ลงในจานพร้อมกับน้ำสลัดที่ทำและทดลองทาน โดยจะไม่มีการบังคับ

เพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อในหลักสูตรการสอนตลอด 12 เดือน จะมีอาหารนานาชาติแตกต่างกันไป อาหารไทย อาหารอเมริกัน อาหารฝรั่งเศส อาหารญี่ปุ่น และเมนูแต่ละประเทศจะสอดคล้องไปกับเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

จากก่อนหน้านี้ได้ซื้อหลักสูตรการเรียนและกิจกรรมมาจากต่างประเทศแต่ต้องนำมาปรับให้เหมาะสมกับพฤติกรรมเด็กไทย ซึ่งหลักสูตรของสถาบันจะแบ่งออก เป็น 3 วัย เนื่องจากมีพัฒนาการแตกต่างกันไป วัย 3-5 ขวบ เน้นทำอาหารไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเด็กจะไม่ชอบอยู่ใกล้เตา แต่จะให้ความรู้โดยการสอดแทรกเพลงเพื่อให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น

ส่วนเด็กอายุ 6-8 ขวบ ฝึกให้มีสมาธิมากขึ้น เช่น สามารถอยู่ในชั่วโมงเรียนได้ตั้งแต่ต้นจนจบในเวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่เด็กอายุ 9-12 ปี จะมีทักษะในการทำอาหารสูง ดังนั้นจะให้เด็กๆ อ่านเมนูและเตรียมอาหารเอง ส่วนครูทำหน้าที่ให้คำแนะนำ

การสื่อสารกับเด็กจะใช้ 2 ภาษา โดยมีครูประจำ 4 คนจะพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก และมีครูพี่เลี้ยงพูดภาษาไทย ช่วยเหลือเด็กที่พูดภาษาไทย ในห้องเรียน 1 ห้องจะจำกัดนักเรียนเพียง 8 คนต่อครู 3 คน

ส่วนกฎเกณฑ์ในการรับครูเข้ามาสอน สิ่งแรกจะพิจารณาจากทัศนคติที่มีต่อเด็กในด้านบวก และมีความอดทนเพียงพอ โดยความรู้ด้านการทำอาหารจะพิจารณาเป็นคุณสมบัติลำดับต่อไป

เพื่อให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ สถาบันจะจ้างเชฟ จากโรงแรมมีชื่อมาสอนเมนูใหม่ๆ แม้กระทั่งจ้างครูที่สอนด้านการแสดงเพื่อเพิ่มสีสันในการเรียน

นอกจากมีกิจกรรมภายในสถาบันแล้ว ยังมีกิจกรรมนอกโรงเรียนเพื่อให้สัมผัสสินค้าที่อยู่ในตลาด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสดทั่วไป หรือออกไปดูพืช ผัก สวนครัวในสวนต่างๆ และการออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ บางครั้งจัดให้เด็กแข่งขันการจ่ายตลาด ผู้ชนะ คือคนที่มีเงินเหลือมากที่สุด จะทำให้เด็กรู้จักบริหาร การใช้เงินอีกด้วย

สำหรับอัตราค่าเรียนเริ่มตั้งแต่ 3,600-43,200 บาท ระยะเวลาตั้งแต่ 1-12 เดือน เปิดสอนตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์

นอกเหนือจากหลักสูตรสำหรับเด็กเล็กแล้ว สถาบันยังจัดหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับมัธยม จัดเป็นหลักสูตรสั้นๆ ให้เช่าพื้นที่จัดงานวันเกิด พร้อมเมนูอาหารที่ผู้ปกครอง จะเลือก หรือเด็กสามารถทำขึ้นเองได้

ความสนใจการทำขนมหรือทำอาหาร ไม่ได้มีเฉพาะในเด็กๆ เท่านั้น สถาบันได้เปิดสอนหลักสูตรทำขนม หรืออาหารให้กับผู้ใหญ่ที่สามารถจบภายใน 1-2 ชั่วโมงได้เช่นเดียวกัน

รดาบอกว่าการเปิดสถาบันสอนทำอาหารให้กับเด็ก ส่วนหนึ่งต้องการให้เด็กมีโอกาส เปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทาน เพราะในยุคปัจจุบันอาหารรูปแบบ Junk food นับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

การส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะเด็กผ่านการทำอาหาร ด้วยการผสมผสานแขนงวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โภชนาการ สังคมศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่หยิบยกมาเล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและนำไปสู่การปฏิบัติ และสอดแทรกความสนุกสนานเข้าไป

แม้ในครัวแบบไทยๆ ที่มีคุณแม่หรือคุณยายคอยสอนหลาน จะมีสูตรเด็ดๆ ในการทำอาหารเช่นเดียวกัน แต่ทักษะการเล่าเรื่องและสีสันของห้องครัว อาจไม่ดึงดูดใจเด็กน้อยให้มีสมาธิอยู่ในครัวได้นานนัก

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเกินไปที่จะเริ่มเห็นสถาบันสอนอาหารของหนูน้อย เพราะหากมองในมุมของธุรกิจแล้ว จังหวัดเชียงใหม่กำลังเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ และมีการขยายตัวของครอบครัวใหม่เป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากป้ายโฆษณาโรงเรียนเด็กเล็กมีมากขึ้น ประกอบกับมีนักธุรกิจต่างชาติเข้ามา อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อย จนทำให้มีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น

จีนี่เชฟจึงใช้โอกาสทั้งหมดเริ่มต้นธุรกิจในขณะที่การแข่งขันในบริการนี้ยังไม่ดุเดือดมากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.