|
การศึกษาไทยและความเป็นนานาชาติ 2
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
สืบเนื่องจากฉบับก่อนที่ผมเล่าถึงปัญหาของโรงเรียนไทยในการหาบุคลากรต่างชาติมาสอน เดือนนี้ผมจะพูดถึงโปรแกรม EP และโรงเรียนนานาชาติในไทยที่ได้รับความนิยมมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาทำให้ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด
ในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรธิดาท่านผู้อ่านหลายต่อหลายท่าน ผมเชื่อ ว่าถ้าถามว่าอยากให้ลูกหลานเรียนโรงเรียน แบบไหน ผมเชื่อว่าจากค่านิยมและสิ่งที่ผมมักจะได้ยินจากบรรดาเพื่อนๆ และคน ที่มาขอคำปรึกษาผม ส่วนมากเขาจะมีความเห็นของตนเองอยู่แล้วว่าจะไปเรียนอีพีที่ไหน อินเตอร์โรงเรียนอะไร ทุกครั้งที่ผมฟัง ผมก็จะให้คำแนะนำว่า อย่างไร ก็ตามผมก็เชื่อว่าโดยลึกๆ แล้วบรรดาผู้ที่มาขอคำปรึกษาต่างมีคำตอบสุดท้ายไว้แล้วให้กับบุตรธิดาของตนเอง
อย่างไรก็ดี ผมจะขอเล่าต่อจากฉบับที่ผ่านมาถึงปัญหาทางการศึกษาในไทย ฉบับนี้ผมจะขอพูดถึงสองโปรแกรมยอดนิยมคือ EP กับ Inter ในระดับมัธยม ศึกษาและผลกระทบต่อนักเรียนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนฉบับหน้าผมจะขอพูดถึงมหาวิทยาลัยและในระดับอุดมศึกษา
ก่อนอื่นผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะทราบข้อแตกต่างคร่าวๆ ระหว่าง EP กับโรงเรียนนานาชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผมขออธิบายแบบคร่าวๆ นะครับ
ในโรงเรียนนานาชาติทุกวิชาจะทำ การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หลายแห่งจะเอาการสอบวัดผลของอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย มาเพื่อเป็นวุฒิการศึกษาเพื่อไปต่อต่างประเทศอีกทีหนึ่ง เราจะมีชื่อสำหรับโรงเรียนเหล่านี้ว่า วิเทศน์ศึกษา ส่วนโปรแกรม EP นั้นจะอยู่ภายใต้ กระทรวงศึกษาธิการของเรา ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นนักเรียนจะเรียนวิชาการเป็นภาษาไทยอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์และภาษาอังกฤษ ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อขึ้นไปในระดับมัธยมปลาย นักเรียนจะเรียนวิชาการโดยมากเป็นภาษาอังกฤษยกเว้นวิชาภาษาไทย วัฒนธรรม หรือพุทธศาสนาที่ยังเป็นภาษา ไทย แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ไปโรงเรียนบางแห่งที่ยกระดับ EP เป็น IP (International Programme) ซึ่งผมก็ได้สอบ ถาม ซึ่งก็คือการเอา EP ในระดับมัธยมปลายมายกระดับให้เข้มข้นขึ้น ผมได้ไปเยี่ยมชมโครงการสาย EP จากโรงเรียนจำนวนหลายแห่งในประเทศไทยทั้งเอกชน และรัฐบาลซึ่งทำให้ผมได้มองเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับวงการศึกษาในบ้านเรา
ในช่วงที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปแนะแนวนักเรียนมัธยมหลายที่ด้วยกันทำให้ผมได้สังเกตว่านักเรียนมีแนวโน้มสนใจจะเรียนอะไรและเพราะอะไร เมื่อผม มีโอกาสเหมาะๆ จึงถามคำถามว่า ทำไมถึงเลือกสายวิทย์ ศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษา EP, IP ก็ว่ากันไป ในอนาคตทำไมถึงอยาก เรียนแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตย์ นักเรียนที่มาฟังอาจจะคิดว่าผมถามเรื่อยเปื่อยเพื่อชวนคุย ที่จริงแล้วผมเริ่มเก็บข้อมูล ทำให้ผมพบสัจธรรมว่านักเรียนโดยมากมีคนตัดสินใจเรื่องเข้าเรียนคือ ผู้ปกครอง คุณครู หรือแม้แต่เพื่อนๆ ต่างมีอิทธิพลสูงที่สุดกับชีวิตของพวกเขา เมื่อเรามาดูตรงจุดนี้เราจะพบว่าส่วนนี้เองที่ทำให้เด็กไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและจำนวนไม่น้อยที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ไปอย่างน่าเสียดาย
ราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา เรามักจะจำกัดความเก่งของนักเรียนว่าต้องสายวิทย์ เด็กที่ไม่เก่งไปสายศิลป์ เมื่อเรียนจบแล้วเด็กหัวกะทิต้องไปเป็นหมอหรือวิศวกร แต่จากสถิติในเอเชียคืออาชีพที่แม้ว่าจะเริ่มได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ แต่ในระยะยาวกลับสร้างกลุ่มคนที่ไม่ประสบความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็คือ หมอและวิศวกร นี่เป็น การพิสูจน์ว่าหมอและวิศวกรที่ประสบความ สำเร็จต้องมาจากใจที่รักในอาชีพของเขาแบบไม่ไขว้เขว ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก
ในขณะที่หัวกะทิของไทยจำนวนมหาศาลกลับมาติดกับสายงานที่ไม่ก้าว หน้าและเป็นการทำลายอนาคตของชาติโดยตรงเพราะแทนที่เราจะได้นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักการเกษตร นักบัญชี และนักการเมืองระดับหัวกะทิจำนวนมาก กลับกลายเป็นว่าที่เป็นหัวกะทิในสายงานเหล่านี้คือคนที่พบตนเองและไม่แคร์กระแสสังคม ไม่ก็ไปเติบโตในต่างประเทศแบบคุณอภิสิทธิ์ แต่เราจะมาหวัง supply อันแสนจะตีบตัน จากทุกอาชีพ และหัวกะทิของไทยกลับไปโผล่ในสายงานเดียวกันแล้วประสบความล้มเหลวในแค่อาชีพสองอาชีพย่อมทำให้ประเทศของเราก้าวหน้าไปช้ากว่าทั่วโลก
อะไรที่เป็นสาเหตุของการที่นักเรียน ผู้ปกครอง หรือสังคมชี้นิ้วไปให้เรียนอะไร จากสายวิทย์ในอดีตสายตาตอนนี้มาจับจ้องที่ EP, IP, Inter อย่างรวดเร็ว ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ใครๆก็อยากเป็นอินเตอร์แต่จะเป็นอย่างไรไม่ค่อยได้คิด ผมมองว่าเหตุผลที่ผู้ปกครองบอกให้ลูกเรียนอะไรก็มาจากเหตุผลง่ายๆ ว่ารักและหวังดี เพราะมองจากประสบ การณ์ผู้ใหญ่แล้วว่า เรียนตรงนี้แล้วจะได้ ภาษา เรียนตรงนี้แล้วจะได้เงินเดือนดี แต่นั่นเพราะเขาไปมองที่ปลายทางกับจุดเริ่มต้น แต่ผู้ใหญ่น้อยคนที่จะมองระหว่างทางว่าบุตรธิดาของตนจะเดินไปอย่างไร ในฐานะที่ผมได้พบนักศึกษามามาก ผมมองว่าปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่ตอนเริ่ม ไม่ใช่ ตอนจบว่าจะได้อะไร แต่เป็นถนนที่ผู้ใหญ่เลือกให้เด็กๆ เพราะบนถนนสายนั้นเราปล่อยให้เด็กเดินเอง ผิดบ้างถูกบ้าง หลงทางกันก็มากแต่กี่คนที่จะหาทางออกให้กับตนเองเจอ
อีกเหตุผลหนึ่งคือผู้ใหญ่หลายคนเอาความหวัง ความฝันของตนเองไปให้ลูก แบกรับ พ่อแม่หลายคนภาษาไม่เก่งก็อยาก ให้ลูกเก่งภาษาเลยให้ไปเรียน EP, IP, Inter แต่สิ่งที่พ่อแม่หลายท่านไม่ได้คิดคือ ลูกต้องการหรือไม่ และเมื่อไปอยู่ในสังคมที่เป็นโปรแกรมพิเศษแล้ว ลูกของพวกเขาจะสร้างตัวตนหรือตามกระแสสังคม
สิ่งที่ผมอยากที่จะหยิบยกตรงนี้ไม่ใช่ การเรียนการสอนว่าที่ไหนดีหรือไม่ดี เพราะ ตอนนี้ EP, IP, Inter ต่างผุดออกมาทุกจังหวัด ซึ่งผมคงไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะวิจารณ์โปรแกรมของที่ต่างๆ ว่าที่ไหนดีกว่าที่ไหน แต่ที่ผมสามารถบอกเล่าได้ต่างมาจากโรงเรียนที่มีโปรแกรม EP จำนวนมากที่ผมได้มีโอกาสสนทนากับโรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งได้คำตอบแนวเดียวกันว่านักเรียนในโปรแกรมเหล่านี้จะเจอปัญหาไม่สามารถสู้กับนักเรียนโปรแกรม ไทยแบบดั้งเดิมได้ในด้านต่างๆ เพราะต้องปรับมาเรียนเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่คุ้นเคยทำให้ไม่สามารถเข้าถึงวิชาการได้มากเท่าที่ควร ผลที่ออกมาทำให้นักเรียนไม่ได้ทั้งวิชาการ ไม่ได้ทั้งภาษาเพราะเพื่อนที่เรียนด้วยต่างเป็นคนไทยและหันมาคุยภาษาไทยกันตลอดเวลาทำให้พัฒนาการทางภาษาไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนจำนวนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อ ของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่น่าสนใจ คือนักเรียน ซึ่งแม้ว่าทางโรงเรียนแม้แต่ท่านผู้อำนวยการจะเคี่ยวเข็ญให้พูดภาษาอังกฤษมากเท่าไหร่ก็ตาม ผลที่ออกมาคือนักเรียนก็จะพูดภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ
ในทางเดียวกันเมื่อผมหันไปมองโรงเรียนนานาชาติ ก็ไม่ได้แปลว่าปราศจาก ปัญหาแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถ้านักเรียนเข้าเรียนนานาชาติตั้งแต่เริ่มต้น ย่อมไม่เกิดปัญหาด้านภาษาอังกฤษ แต่อาจจะเกิดปัญหาด้านการปรับตัวกับคนรอบข้างที่เป็นคนไทย เพราะเด็กอาจจะไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้ตลอด ในทางกลับกันหากนักเรียนเข้าเรียน เมื่ออายุมากขึ้น เช่น ตอนมัธยมก็มักที่จะเกิดปัญหาเช่นการปรับตัวทั้งจากสภาพการ เรียนการสอนและสภาพแวดล้อม ทำให้มีโอกาสล้มเหลวไม่น้อยเหมือนกัน
นอกจากนี้โรงเรียนนานาชาติในไทย ไม่ได้แปลว่ามีคุณภาพเดียวกันหมด ตรงนี้ผมไม่ขอสรุปว่าใครดีกว่าใคร แต่โรงเรียน นานาชาติก็เหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ แน่นอนครับโรงเรียนที่อยู่มานานมีชื่อเสียง ลูกหลาน นักการทูตหรือนักธุรกิจนานาชาติไปเรียนอย่างร่วมฤดี บางกอกพัฒนาที่กรุงเทพฯ หรือดัลลิชที่ภูเก็ต ย่อมมีทั้งชื่อเสียงและระบบที่เป็นสากล
ในขณะที่โรงเรียนนานาชาติใหม่ๆ หลายแห่งอาจจะมีความพร้อมที่เป็นรองโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งมานานแล้ว เช่นเดียวกับโรงเรียนไทยที่โรงเรียนเก่าแก่มีมาตรฐานที่ดีกว่า ตรงนี้ทำให้เกิดอะไรครับ ผมเรียกว่า lost generation ก็คงไม่น่าจะผิด แม้ว่าจะเป็น terminology ที่เรามักจะเอามาใช้อธิบายประชาชนในช่วงสงครามโลกที่กลับมาจากสงครามแล้วไม่ได้มี skills ที่ควรจะมีหรือควรจะเป็น
จากที่ผมสังเกตจากเด็กยุคใหม่ในสังคมไทย แน่นอนครับ พ่อแม่ทุกคนอยาก จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกๆ ของพวกเขา อย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด เช่น ภาษาอังกฤษ โรงเรียนที่แพงที่สุด ดีที่สุด ที่ผู้ปกครองคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกๆ เขาพึงจะได้รับ สิ่งที่ตอนเด็กๆ ผู้ปกครองทั้งหลายอยากจะมีอยากจะเป็น สิ่งที่พวกเขาคิดว่า ถ้าผม ถ้าฉัน มีความสามารถตรงนี้จะทำให้ธุรกิจของไปได้อีกไกลขนาดไหน
ดังนั้นลูกทุกคนคือความหวังของพ่อแม่ แต่พ่อแม่หลายคนก็ไม่ได้มีข้อมูลที่มากพอว่าจะส่งลูกไปไหนดี จึงอาศัยแหล่งข้อมูลเช่นตามเพื่อนๆ ที่รู้จักซึ่งก็ไม่มีใครรู้ดีกว่าใคร ที่ผมเจอมากที่สุดคือเด็กๆ เหล่านี้คือคนที่สามารถทำได้อย่างที่ พ่อแม่คาดหวังก็จะเป็นคนที่มีศักยภาพสูงแต่หลายคนก็จะเป็นตัวของตัวเองมากไปจนไม่เดินตามที่พ่อแม่คาดหวังจริงๆ ไม่ก็จะเกิดกลุ่ม lost generation ที่ยึดติดกับความสบาย มีชีวิตที่สนุกสนานแต่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างในชีวิต เช่นเดียวกับคนที่พ่อแม่ส่งไปเมืองนอกใน สมัยก่อนแล้วไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้คืออุปสรรคสำคัญของการศึกษาของไทยซึ่งต้องการการเข้ามาศึกษาและแก้ไขอย่าง จริงจัง ไม่ใช่ว่าคิดอะไรได้ก็อัดๆ ลงไปให้ นักเรียน ซึ่งสุดท้ายแล้วเด็กที่ออกมาก็จะหัวมังกุท้ายมังกร ในระบบการศึกษาของต่างประเทศเขาจะเน้นให้นักศึกษาได้คิด มากกว่าจำ แต่ในไทยเราจะเน้นความจำ และวิชาเลือกให้เด็กจะจำกัดที่สาย ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นให้เด็กเลือกวิชาที่อยากเรียนเอง ลองผิดลองถูกก็ลองกันไป ใครอยากเรียนอะไรให้เลือกที่เขาคิดว่า เขาถนัด
สุดท้ายแล้วเมื่อเราประกาศดังๆว่าจะไปสู่ประชาคมอาเซียน เราต้องมอง แล้วว่าเราพร้อมขนาดไหน การศึกษาที่เป็นอยู่ในบ้านเราเป็นการชี้ชัดอย่างหนึ่งว่าเราเองก็ประสบปัญหาสำคัญว่าเรามีทิศทางในภาพรวมที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังดูเหมือนว่าเราไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้เราไม่สามารถโทษรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะเราต้องหันมามองว่าผู้ปกครอง วางแผนระยะยาวให้บุตรธิดาไว้อย่างไร เพราะเท่าที่ผ่านมาผู้ปกครองหลายท่านเลือกให้บุตรธิดาเรียนอย่างที่ตนเองอยากจะเป็นแต่ไม่เคยถามบุตรธิดาว่าเขาอยากเรียนอะไร และเมื่อเลือกแล้วก็ไม่วางแผนระยะยาวว่าเขาจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร เช่นพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นหมอ หรือวิศวะ ก็จะผลักดันให้บุตรธิดาเรียนสายวิทย์ พอจบแล้วก็ให้เอนทรานซ์แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ได้คิดต่อว่าจะให้เรียนอย่างไร หรือบาง คนให้ลูกไปเรียนนานาชาติเพราะอยากให้ได้ภาษาและเรียนแต่วิชาสังคมกับภาษาเป็นหลักแต่ถึงเวลาจะให้เอนทรานซ์แพทย์ แล้วเด็กจะเอาความรู้ที่ไหนไปเอนทรานซ์ เมื่อไม่ได้พ่อแม่ก็จะบอกลูกว่าควรทำอะไร ต่อ ตรงนี้มีการวางแผนอย่างไร อย่าปล่อย ไปตามยถากรรม ถ้าคุณอยากให้ลูกเป็นอะไร คุณต้องศึกษาให้ถึงที่สุดว่าเขามีเส้นทางเดินไปไหนและไปอย่างไร เพราะคนโดยมากจะเลือกถนนให้ลูกตามค่านิยม และข่าวที่ได้ยินว่าอะไรดี แต่เมื่อพาลูกๆไปแล้วก็จะปล่อยให้เขาหลงทางเดิน แล้วมาตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลหรือครู ทั้งๆที่คนที่รู้จักลูกของคุณดีที่สุดก็คือตัวของลูกคุณเองและตัวของคุณ
อีกประเด็นหนึ่งคือการเลือกให้ลูกเดินไปทางไหน เราสามารถชี้ช่องทางให้เขาได้ แต่อย่าไปบังคับว่าเขาควรทำอะไร เพราะหลายท่านอาจจะมองว่าอะไรดีสำหรับบุตรธิดา แต่เราต้องดูว่าเขาอยากที่จะเป็นอะไรและเก่งอะไรเพื่อที่จะทำให้เขาเดินให้ถูกทาง
ในฉบับหน้าผมจะพูดถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยนานาชาติในไทยและการเลือกวิชาที่เหมาะสมกับการเตรียมตัวไปสู่อาเซียนที่แท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|