The Fifty Best (and Worst) Business Deals of All Time


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณคิดว่ามีอะไรที่เหมือนกันอยู่ในตัวพริสซิลลา เพรสลีย์ โทมัส เจฟเฟอร์สัน และกรณีเทกโอเวอร์กิจการของโคห์ลเบิร์ก คราวิส โรเบิร์ต (เคเคอาร์) คำตอบก็คือ พวกเขารู้ว่าเมื่อไรที่เป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการเจรจาธุรกิจ

นี่คือ ทัศนะของไมเคิล เครก ผู้เขียน The Fifty Best (and Worst) Business Deals of All Time ซึ่งมีเนื้อหาอ่านสบาย โดยมีกรณีศึกษาสั้นๆ 50 กรณีให้ภาพของธุรกิจที่ดีและไม่ดี คละกันไป และอิงอยู่กับกฎ 10 ประการที่จะเจรจาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ (โปรดดูในล้อมกรอบ)

‘ ขายเอลวิส

กฎข้อแรกของเครกก็คือ "การมุ่งเน้นที่จุดแข็งของตนเอง" กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือพริสซิลลา เพรสลีย์ ซึ่งบริหารธุรกิจของสามีเอลวิส เพรสลีย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้อย่างยอดเยี่ยม

ที่จริงเอลวิสมีชื่อเสียงในเรื่องการบริหารเงินที่แย่เอาการ หลังจากเขาเสียชีวิตในปี 1977 ธุรกิจมูลค่า 4.9 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งตกเป็นของลูกสาวคือ ลิซา แมรี) ถูกผลาญอย่างรวดเร็ว และในเวลาเพียงราวสองสามปีเงินก็เกือบจะหมดไป จนกระทั่งเมื่อผู้จัดการมรดกของเอลวิสเสียชีวิต และพริสซิลลาได้เข้ามาดูแล โดยจัดตั้งบริษัทชื่อ "Elvis Presley Enterprises Inc." ขึ้น บริษัทได้พัฒนายุทธศาสตร์ที่จะขายชื่อเอลวิส เพรสลีย์ อีกทั้งยังสู้กับพ่อค้าที่หากำไรจากชื่อเอลวิสโดยไม่เคยจ่ายค่าสิทธิ์และค่ารอยัลตี้แค็ตตาล็อกเพลง นอกจากนั้น บริษัทยังจัดทำระบบการขายของตนเอง และเมื่อถึงปี 1988 กิจการเอลวิส เพรสลีย์ เอนเตอร์ไพรซ์ก็มีกำไรในปีนั้นถึง 35 ล้านดอลลาร์ จนต้องนับเป็นปรากฏการณ์ "เอลวิสฟื้นคืนชีพ" ทีเดียว

‘ เจรจาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่

กฎข้อสองในการเจรจาธุรกิจให้สำเร็จตามทัศนะของเครก ก็คือ "การใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม" นี่คือสิ่งที่ โทมัส เจฟเฟอร์สันและผู้แทนของเขาใช้ในปี 1803 โดยฉวยโอกาส เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสให้โอกาสซื้อที่ดิน 800,000 เอเคอร์ในเขตปกครอง หลุยส์เซียนาในราคาถูก (ครั้งนั้นสหรัฐฯ ต้องหาเงินสนับสนุนการ สู้รบกับอังกฤษ)

กรณีการซื้อกิจการของโคห์ลเบิร์ก คราวิส โรเบิร์ตส์ (เคเคอาร์) มีการกล่าวถึงในหนังสือนี้หลายครั้ง เคเคอาร์เคยโด่งดังมาก เมื่อครั้งเข้าซื้อกิจการอาร์เจอาร์ นาบิสโก แต่กรณีที่เคเคอาร์ซื้อกิจการดูราเซลนั้นแสดงให้เห็นถึงกฎข้อหก (โปรดดูในล้อมกรอบ) ด้วย โดยในกรณีนี้คนที่อ่อนด้อยกว่าก็คือ ผู้บริหารของดูราเซลครั้งนั้น เคเคอาร์พยายามโน้มน้าวให้ผู้บริหารของดูราเซล 35 ราย ยอมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ และยอมปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการบริหารหลักๆ หลังจากนั้น กิจการดูราเซล ซึ่งรวมทั้ง ผู้บริหารเดิมและเคเคอาร์ ต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการที่กิจการมีกำไรจากการลงทุนสูง

ยังมีกรณีศึกษาอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีโซนี่ซื้อโคลัมเบีย พิคเจอร์ ในปี 1989 หรือกรณีเรย์ คร็อกซื้อแฟรนไชส์ แมคโดนัลด์ ในปี 1955 ในตอนท้ายของแต่จะกรณีศึกษาจะเป็นข้อสรุปท้ายสั้นๆ ว่า ข้อผิดพลาดอยู่ที่ไหน จุดแข็งอยู่ที่ไหน นับเป็นหนังสือคู่มือเล่มบางที่อ่านสบาย สร้างแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจและใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง กับการเจรจาธุรกิจ โดยลองหันกลับไปสำรวจดูสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สักรอบก่อนคิดและตัดสินใจด้วยตัวคุณเอง

กฎ 10 ประการ 1. เน้นที่จุดแข็งของคุณ 2. ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม 3. มองหาคุณค่าจากสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น 4. อย่าปล่อยให้ความต้องการเข้าครอบงำตัวคุณ 5. ริเริ่มสร้างสรรค์ 6. ใส่ใจคนที่อ่อนด้อยกว่า 7. เป็นตัวป่วนเมื่อจำเป็น 8. ทำการบ้าน 9. คาดการณ์อนาคตแล้วฉวยโอกาสไว้ 10. อย่าเจรจากับคนที่เหนือกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.