|
ธุรกิจฟันปลอมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
อาคารชั้นเดียวสีเขียวอ่อนรูปทรงคล้ายบ้านจำนวนหลายหลังบนเนื้อที่ 7 ไร่ ในบริเวณภายใต้ต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ที่แทรกตัวอยู่ในชุมชนตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ใครๆ อาจไม่คาดคิดว่าเป็นบริษัทผลิตฟันปลอมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
บริษัท เอ็กซา ซีแลม จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตฟันปลอมมาเป็นระยะเวลา 16 ปี เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตฟันปลอมที่จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งเข้ามาศึกษางานและเจรจาขอเข้าร่วมทุนหลายต่อหลายครั้ง
ปัจจุบันบริษัทเอ็กซา ซีแลมมีรายได้ ประมาณ 150 ล้านบาท มีพนักงาน 350 คน ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นแต่ก็มีต่างชาติร่วมทำงาน อยู่หลายคน
อนุชา มีเกียรติชัยกุล วัย 50 ปี กรรมการ ผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็กซา ซีแลม จำกัดกล่าวถึงอนาคตของบริษัทคือ การขยายตลาดใหม่ให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทในต่างประเทศ
โดยเป้าหมายในการร่วมทุนครั้งใหม่นี้ นอกเหนือจากการขยายตลาดแล้วก็เพื่อนำเทคโน โลยีใหม่ๆ เข้ามาบริหารจัดการด้านการผลิต
บริษัท เอ็กซามีผลิตภัณฑ์ฟันเทียม 3 ประเภทคือ แบบติดแน่น แบบถอดได้ และบริการ งานทันตกรรมจัดฟัน ซึ่งผลิตภัณฑ์จะได้รับรองมาตรฐานการจัดการ ISO 9001 มาตรฐานสิ่งแวดล้อม 14000 และ มรท.มาตรการในการดูแลพนักงาน
อนุชาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจร่วมทุน 3 ประเทศ ไทยถือหุ้นร้อยละ 51 ส่วนฮอลแลนด์และเบลเยียมถือหุ้นร้อยละ 49 ซึ่งในตอนนั้นทั้ง 2 ประเทศมีความเชี่ยวชาญทั้งเทคโน โลยีและต้องการเน้นส่งออกเป็นหลัก
บริษัทตัดสินใจเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นฐานการผลิต เพราะต้องการได้รับสิทธิยกเว้นภาษี 8 ปีจากบีโอไอ เพราะอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ 300 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมองเห็นว่าเชียงใหม่มีสนามบินอินเตอร์เนชั่นแนล และคนท้องถิ่น มีฝีมือ เพราะการผลิตฟันปลอมไม่ได้พึ่งพา เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีความสวยงามอีกด้วย เพราะฟัน 1 ซี่ จะใช้สีจำนวน 3 สี เริ่มตั้งแต่โคน กลาง และปลาย
ในตอนแรกเน้นจำหน่ายสินค้าไปยัง ประเทศของผู้ถือหุ้น แต่ดูเหมือนว่าจะขาด ความเชี่ยวชาญในการทำตลาด จึงทำให้ตัดสินใจขอทำตลาดในประเทศ เพราะมอง เห็นว่าผู้ประกอบการยังไม่มากนัก แม้ว่าบริษัทคู่แข่งจะมีพื้นฐานอาชีพหมอเป็นส่วนใหญ่
อนุชาบอกว่าเขาได้ให้ช่างจากประเทศฝรั่งเศสออกแบบและผลิต โดยนำสินค้าไปเสนอขายให้หมอ เมื่อได้รับคำตอบ จากหมอทำให้แทบช็อก เพราะหมอบอกว่า ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับคนไทย เนื่องจากสรีระฟันของยุโรปและเอเชียมีความแตกต่างกัน ทำให้เขาต้องเริ่มต้นใหม่ หลังจาก เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ทำให้พบว่าตะขอที่เป็นส่วนหนึ่งของฟันปลอมส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ในตอนนั้นยังไม่มีสีขาวทำให้เห็นโอกาสและสั่งนำเข้าเป็นรายแรกของเมืองไทย
หลังจากมีการปรับปรุงออกแบบฟันปลอมให้เหมาะสมกับคนไทย บริษัทจึงเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังในภาคเหนือ ปัจจุบันมีศูนย์การผลิต 2 แห่งในจังหวัดพิษณุโลก และเชียงราย ส่วนการทำตลาดได้ครอบ คลุมทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ปัจจุบันได้ขยายตลาดไปทั่วประเทศ มีลูกค้าโรงพยาบาล 139 แห่ง และมีลูกค้าคลินิก 203 แห่ง
ส่วนลูกค้าในต่างประเทศ บริษัทจะมีทีมงานต่างชาติส่วนหนึ่งเข้ามาดูแลโดยระบบการสั่งซื้อจะผ่านอินเทอร์เน็ต
สำหรับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท จะได้รับประกันทุกชิ้น ฟันเทียมติดแน่น รับประกัน 5 ปี ฟันเทียมถอดได้รับประกัน 3 ปี และบริการจัดฟันรับประกัน 6 เดือน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รับซ่อมฟันปลอมให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้า กรณีเกิดอุบัติเหตุกับฟันปลอมจนได้รับความเสียหาย
ความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่การผลิตไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ เนื่องจาก บริษัทขาดแคลนบุคลากรด้านการผลิต โดยเฉพาะช่างผู้ชำนาญ ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวที่ผลิตช่างทันตกรรม คือมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงปีละ 10-15 คน ในขณะที่สถาบันการศึกษาทั้งหมดในประเทศ ไทยผลิตทันตแพทย์ได้ 1 หมื่นคนต่อปี
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องตั้งโรงเรียนสอนช่าง ทันตกรรมขึ้น หลักสูตรการเรียน 4 เดือน มีค่าใช้จ่าย 6,000-7,000 บาท ในแต่ละปีจะสอนได้ 8-10 คน หลังจากจบบริษัทจะรับเข้าทำงานทันที
สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียนบริษัทจะดูแลให้ทั้งหมด รวมทั้งค่าจ้างผู้สอนจากต่างประเทศจำนวน 150,000 บาทต่อคน
“การเรียนรู้ของคนไทยที่ผ่านมาจะเป็นรูปแบบของรุ่นพี่ถ่ายทอดให้รุ่นน้อง รู้จักแต่ภาคปฏิบัติ โดยไม่เข้าใจภาพรวมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอย่างแท้จริง การเปิดสอนเพื่อให้เรียนรู้ทั้งสองด้าน แต่ข้อดีของคนไทยในการทำฟันปลอมเป็นคนใจเย็น และมีศิลปะ จึงทำให้งานออกมาสวยงาม”
แม้ว่าความต้องการของตลาดจะมีมากก็ตาม แต่คู่แข่งก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะประเทศจีนสามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากและราคาถูก ทำให้บริษัท ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
ขณะนี้บริษัทเริ่มมองหาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเพิ่มการผลิต เนื่องจากทำให้ระบบการผลิตมีความรวดเร็ว และลดขั้นตอนการผลิตได้
กระบวนการทำงานในปัจจุบันจะต้องเริ่มจากการสร้างโมเดลเพื่อสร้างต้นแบบ และนำไปผลิตเป็นโลหะ เข้าสู่การ สร้างเป็นเซรามิกหลังจากนั้นนำเข้าเตาเพื่ออบให้ได้ฟันปลอม
ในขณะที่ระบบดิจิตอลสามารถถ่ายรูปต้นแบบ และส่งเป็นไฟล์มายังห้องแล็บได้ทันที และจำลองภาพออกเป็น 3 มิติ เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างผ่านระบบ 3 มิติ บริษัทได้นำมาใช้นำกระบวนการผลิตเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
ระบบดิจิตอลจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 50-60 รวมถึงลดค่า แรงงาน ลดค่าขนส่ง โดยเฉพาะเวลาจะผลิตได้ภายใน 1-2 วัน จากเดิมใช้เวลา 4-7 วัน
แต่การกำหนดราคาจำหน่ายที่สูงกว่าคู่แข่งในตลาดมากกว่าร้อยละ 20 เพราะบริษัทมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูง มีระบบไอเอสโอ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลพนักงานอย่างใกล้ชิด และมีการตรวจสอบสารเสพติดทุก 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี กระบวนการผลิตมีระบบดิจิตอลเข้ามาช่วยแล้วก็ตามแต่คนก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในการผลิต โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายการเลือกใช้สีเพื่อให้เหมาะกับสีฟันของเจ้าของเดิมที่เครื่องจักรยังทำไม่ได้ ดังนั้นต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่ของบริษัทเอ็กซายังเป็นเรื่องของคน แม้บริษัทจะมีรายได้ถึง 150 ล้านบาทก็ตาม แต่กำไรจากรายได้มีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น
อย่างน้อยอนุชาก็เชื่อมั่นว่าธุรกิจ ฟันปลอมยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส เพราะฟันเทียมยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ต่อไป
แม้อนุชาจะไม่เอ่ยอ้างตัวเลขหรือแนวโน้มผู้สูงวัยในอนาคต แต่ก็มีดัชนีชี้วัดแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ฉะนั้นโอกาสของบริษัทเอ็กซายังมีอยู่ไม่น้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|