Googley สะท้อนบุคลิก Google

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพลักษณ์ของกูเกิลในสายตาของปุถุชนทั่วไปที่มองจากภายนอกเห็นว่าองค์กรแห่งนี้เปียมไปด้วยสีสัน ดูน่าตื่นเต้น จนมีการตั้งคำถามว่าบุคลิกแบบไหนจะเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิลได้ “ต้องเก่งกล้าสามารถอย่างสุดขั้ว” หรือ “มีความมุ่งมั่นเพียงใดที่เรียกว่า ใช่”

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนหนึ่งทำงาน ร่วมกับกูเกิล หลังจากกูเกิลตัดสินใจเปิดสำนักงานประจำประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 มีพนักงานหลักอยู่ 3 คนดูแล ปัจจุบันเช่าอาคารอยู่ที่ดิ ออฟฟิศ (ติดกับเซ็นทรัลเวิลด์)

นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ สัมภาษณ์ อริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำประเทศไทย พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่าย การตลาด ประเทศไทย และเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและมวลชน สัมพันธ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นทัศนคติและบุคลิกของกูเกิล

อริยะ พนมยงค์ วัย 38 ปี หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำประเทศไทย เขาเป็นผู้ชาย ไทยคนแรกที่ร่วมงานกับกูเกิล และเหตุผล ในการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานกับกูเกิล หลังจากลาออกจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ร่วมงานมากว่า 10 ปีว่า เขาชื่นชมกูเกิล มานาน ปรารถนาจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแห่งนี้และไม่ต้องการให้โอกาสผ่านไป เขามองว่าเป็นเรื่องภูมิใจที่ได้กลาย เป็นรุ่นบุกเบิกกูเกิลในประเทศไทย

อริยะจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากสองสาขาคือคณิตศาสตร์และเทคโน โลยีสารสนเทศจากมหาวิทยาลัย Marne-La-Vallee ประเทศฝรั่งเศส และวิทยาการ จัดการจากสถาบัน London School of Economics สหราชอาณาจักร และพูดได 4 ภาษา ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน

คุณสมบัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน ทำให้เขาถูกทาบทาม และก่อนที่เขาจะได้ร่วมงานกับกูเกิล เขาต้องเดินทางไปหลายแห่งเพื่อให้รู้จักองค์กร รวมทั้งต้องการผ่านสัมภาษณ์จากหัวหน้างานในสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง แต่การสัมภาษณ์ไม่ได้จบที่หัวหน้าเพียงคนเดียว เขาต้องถูกสัมภาษณ์จากหัวหน้างานฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพื่อนร่วมงาน เหมือนดังเช่นเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและมวลชนสัมพันธ์ ประจำประเทศไทย ที่ร่วมงานกับกูเกิลก่อน อริยะเพียง 4 เดือน

“คำถามที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า เป็นคำถามที่ต้องการให้สัมผัสถึงความเป็น บุคคล เชื่ออะไร ศรัทธาสิ่งไหน และบางคำถามก็ง่ายๆ เช่น อะไร หรือสิ่งไหนที่ทำให้คุณโกรธ?” เอมี่กล่าวกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ

อริยะถูกส่งให้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมกูเกิลในต่างประเทศ เช่น ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พนักงานบางคนสวมกางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาทำงาน สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมความเป็นกันเอง พนักงานกูเกิลที่นี่มาจากทุกมุมโลก ทุกคนคุยกันอย่างเปิดเผย แต่ถ้าเป็นเรื่องงานจะคุยกันอย่างจริงจัง

บทบาทหน้าที่ของอริยะในประเทศไทยคือ กำกับดูแลด้านการขายและการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ

เขาบอกว่าพนักงานกูเกิลสามารถเปลี่ยนสายงานใหม่ได้ เช่น วิศวกรต้องการ ทำงานด้านการตลาด เขาจะได้โอกาสให้ทดลอง โดยทำงานประจำเป็นหลัก แต่แบ่ง เวลาอีก 20% ไปทดลองงานใหม่ประมาณ 2-3 เดือน เพื่อทดสอบว่าชอบหรือไม่

อริยะให้คำนิยามวัฒนธรรมกูเกิลว่าเป็นองค์กรที่มีไฟ และมี passion ในสิ่งที่ทำโครงสร้างขององค์กร flat ทุกคนสามารถสื่อสารและพูดภาษาเดียวกันได้

อริยะยอมรับว่า เขาเป็นคนบ้างาน แต่ก็พยายามสร้างสมดุลให้กับครอบครัว รวมทั้งมีเวลาพักผ่อน เล่นกีฬาศิลปะป้องกันตัว โยคะ ดำน้ำ และ Kite Surf

เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา เป็นคนออส เตรเลีย แต่ด้วยความสนใจในเอเชีย ทำให้ตัดสินใจมาศึกษาปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความสนใจในเอเชียทำให้เอมี่พูดได้ถึง 7 ภาษา เช่น ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เขมร เวียดนาม ลาว ทำให้มีประสบการณ์ การทำงานค่อนข้างหลากหลาย

ก่อนเข้าร่วมงานกับ Google เอมี่ทำงานกับบริษัท Coca-Cola บริษัท Syngenta และ AUSTRADE สำนักงานพาณิชย์ของรัฐบาลออสเตรเลียโดยรับผิดชอบดูแลกิจกรรมต่างๆ ในกว่า 15 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เอมี่มีประสบการณ์และความเชี่ยว ชาญในตลาดกำลังพัฒนาในภูมิภาคและในฐานะอาสาสมัครหรือที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ผ่านการร่วมมือระหว่างชุมชน

เธอบอกว่าการพูดได้หลายภาษาทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเพราะสามารถสื่อสารและเข้าใจกันได้

จนทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกแต่งงานกับคนไทย และใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่นี่ ส่วนเหตุผลที่เอมี่ร่วมงานกับกูเกิล เพราะต้องการเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่

“ประสบการณ์การทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราที่จะเล่าให้ลูกหลาน ได้ฟัง”

ด้วยกระบวนการทำงานของกูเกิลที่เป็นรูปแบบบริการออนไลน์ ทำให้บัตรพนักงานของทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าออฟฟิศที่ไหนก็ได้ด้วยบัตรพนักงานเพียงใบเดียว เข้าเน็ตเวิร์กและพิมพ์งานเอกสาร จากที่ต่างๆ ได้ทั้งหมด ดังนั้นระบบการทำงานของที่อื่นอาจใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่กูเกิลใช้เวลา 30 นาที

ดูเหมือนเอมี่จะยึดหลักการทำงาน 10 ข้อ ที่เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อนของแลร์ลี่ เพจ และเซอร์เกย์ บิน ผู้ก่อตั้งกูเกิลเมื่อปี 2541

หลักการ 10 ข้อของกูเกิล เช่น ยึด ผู้ใช้เป็นหลักแล้วอย่างอื่นจะตามมาเองเร็วดีกว่าช้า ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะจึงจะ ต้องการคำตอบ ผู้คนในทุกแห่งหนต้องการ ข้อมูลเหมือนกัน เอาจริงเอาจังโดยไม่ต้องใส่สูท หรือถึงจะดีมากแต่ก็ยังไม่ดีพอ

แม้ว่าการทำงานของพนักงานต้องทุ่มเทและจริงจัง แต่ทุกคนก็ต้องเคารพสิทธิ ส่วนบุคคล เพราะจากประสบการณ์ทำงาน ที่ผ่านมา มีพนักงานบางคนพยายามติดต่อ หัวหน้างานในวันหยุด ทำให้หัวหน้างานไม่พอใจ และไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ไม่ว่ากับเขาหรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม

ด้วยบุคลิกยิ้มง่าย เป็นกันเองของเอมี่ ทำให้เธอรับบทบาทเข้าหาสื่อมวลชน ทุกแขนง เพื่อเปิดประตูให้สื่อได้รู้จักมากขึ้น

พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด ประเทศไทย มีประสบการณ์ทำงาน นานที่สุด 6 ปี มีหน้าที่ดูแลและพัฒนากิจกรรมการตลาดรวมถึงการขยายธุรกิจของกูเกิลในประเทศไทย

ก่อนจะเข้าร่วมงานในกูเกิล เธอเป็น ผู้จัดการฝ่ายคู่ค้าสำหรับโซลูชั่นธุรกิจ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด มีหน้าที่สร้างเครือข่ายคู่ค้า และการบริหาร งานลูกค้าสัมพันธ์เอสเอ็มอีในประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งบริษัทตัวแทนท่องเที่ยว

พรทิพย์เป็นคนไทยคนแรกที่ร่วมงาน กับกูเกิล เพราะในตอนนั้นกูเกิลต้องการเปิดตลาดในประเทศไทย ซึ่งเธอรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประจำประเทศไทย เพื่อรายงานวิวัฒนาการของแบรนด์กูเกิล หลังจากนั้นได้รับหน้าที่เป็นผู้พัฒนาธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแลประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพื่อพบปะพันธมิตรและแนะนำ ผลิตภัณฑ์

พรทิพย์เล่าว่า ในตอนแรกที่สมัครงาน ได้สมัครผ่านออนไลน์ และต้องเดินทางไปสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคุยผ่านทางโทรศัพท์ อีก 2-3 ครั้ง

โจทย์ในตอนนั้น กูเกิลต้องการให้เธอทำแผนธุรกิจสำหรับประเทศไทย โดยให้คนไทยได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักกูเกิล มากขึ้น

พรทิพย์บอกกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ว่า แม้เวลาจะเปลี่ยนไปในช่วงระยะเวลาที่ร่วมงานกับกูเกิล แต่แนวคิดของกูเกิล ยังเหมือนเดิม คือสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในตอนที่เธอร่วมงานมีพนักงาน 5,000 คน ปัจจุบันมี 18,000 คน ระบบการทำงานของกูเกิลจะเปิดกว้างให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็น

“พนักงานของกูเกิลเราเรียกว่า Googley เป็นบุคลิกที่บ่งบอกถึงคนสนุก สนาน เรียนรู้ กระตือรือร้น ร่วมงานกับสิ่งแวดล้อมได้ ทำงานเป็นทีม”

กูเกิลเป็นองค์กรที่ต้องการคนเก่ง แต่ไม่เครียด เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แชร์ รับรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะวัฒนธรรมของที่นี่เป็นองค์กรนวัตกรรมยืดหยุ่นได้

เธอได้ยกตัวอย่างการทำงานในประเทศไทย ระหว่างพรทิพย์ อริยะ และเอมี่ว่า ทั้ง 3 คนไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานออฟฟิศทุกวัน แต่สามารถติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ เช่น อีเมล chat หรือการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำให้สามารถเห็นข้อมูลเดียวกันได้ทั้งหมด ซึ่งรูปแบบการทำงานนี้ก็ทำในต่างประเทศ

พรทิพย์บอกว่าการทำงานทุกองค์กร มีความกดดัน แต่ต้องผลักดันตัวเอง ต้องตั้งเป้าหมาย ในขณะที่ต้องการทำงานอย่าง รวดเร็วและมุ่งมั่น แต่ในอีกฟากหนึ่งของกูเกิลเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้การทำงานผ่อนคลาย ดังนั้นทุกวันศุกร์จะมีงานปาร์ตี้ และกูเกิลเรียกว่า Thank God It Friday

เหมือนชีวิตส่วนตัวของพรทิพย์ที่อีกด้านหนึ่งเมื่อถึงเวลาพักผ่อน เธอก็หาเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือเล่นไวโอลิน ตอนนี้กำลังสนใจที่จะเรียนดนตรีไทยเพิ่มเติมคือ ตีขิม พร้อมบอกเคล็ดลับว่า หาก จะเล่นเครื่องดนตรีให้ได้ผล “ครูต้องดุ”

ทั้งอริยะ พรทิพย์ และเอมี่ แม้ว่าจะทำงานร่วมกันอยู่ในสำนักงานประเทศไทยก็ตาม แต่ทั้งสามคนมีโครงสร้างการทำงานขึ้นตรงกับหัวหน้าของแต่ละคนในต่างประเทศ

บุคลิกของ Googley ได้สะท้อนการทำงานของกูเกิลได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์ต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะหนึ่งในหลักการ 10 ข้อ บอกไว้ว่า “เร็วดีกว่าช้า”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.