ทิศทาง-ที่เมืองไทยจะตั้งรับกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

หากสืบสาวราวเรื่องไปถึงต้นตอของมหาอุทกภัยที่เพิ่งเกิดขึ้นมา จะพบว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและสภาวะโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งส่งผลให้บางแห่งของโลกเกิดพายุฝนตกหนัก ตามมาด้วยน้ำท่วมใหญ่ ขณะเดียวกันบางแห่งของโลกก็เกิดความแห้งแล้ง แผ่นดินร้อนระอุไฟป่า อันเป็นเหตุให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วถึงคำทำนายในเรื่องภัยล้างโลก ในปี 2012

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างจะแน่ใจกันดีแล้วว่า ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนจะต้องมาจากก๊าซเรือนกระจกเป็นแน่แท้ก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการเผาเชื้อเพลิง คาร์บอน เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และกิจกรรม การพัฒนาความเจริญของมนุษย์ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซมีเทน สารซีเอฟซี เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้ไปรวมตัวสะสมกันอยู่ใน บรรยากาศโลกและอมความร้อนไว้ ทำให้เกิดการปรวนแปรของภูมิอากาศโลกอย่างรวดเร็ว นักคิดนักค้านที่อธิบายการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศโลกจากทฤษฎีอื่นจึงค่อยๆ เงียบเสียงลงไป ด้วยหลักฐานอ่อนกว่า

เมื่อเร็วๆ นี้ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตัวขึ้นจากนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change รับรองโดยรัฐบาลทั่วโลก นำโดย UNFCCC IPCC ออกมาแถลงผลงานล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศแบบแรงสุดขั้วต่างๆ ที่คาดการณ์ไว้ ประกาศเตือนชาวโลกได้เกิดขึ้นแล้วจริง และจะทยอยสำแดงฤทธิ์กันอย่างต่อเนื่องนับแต่นี้ไป ถ้าเรายังไม่ตระหนักหรือลงมือทำอะไรอย่างจริงจังก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายมหาศาลอย่างช่วยไม่ได้ ประมาณว่า ทุกๆ 1 บาทที่เรา ลงทุนเตรียมการตั้งรับปรับตัวไว้ในวันนี้จะสามารถลดความสูญเสียได้ถึง 60 บาท มหาอุทกภัยของไทย-ประจักษ์พยาน ที่เด่นชัดของ Climate Change

สำหรับเมืองไทย น้ำท่วมขนานใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาก็เป็นประจักษ์พยานที่เห็นแน่ชัดแล้วว่า Global warming และ Climate Change เป็นเรื่องจริง เราก็ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ศักยภาพในการจัดการน้ำและภัยพิบัติของเมืองไทยนั้นอ่อนแอเสียนี่กระไร ไม่นับรวมถึงความไม่ปรองดอง การทุจริต กินสินบน การเล่นพวกเล่นพ้อง การถือโอกาสเอาเปรียบคนไทยด้วยกันเอง กฎหมายและกติกามารยาทเริ่มเสื่อมลง แต่ก็มิใช่ทั้งหมด มิใช่คนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป คนดีมีน้ำใจ มีความสามารถก็ยังมีอยู่มาก เพียงแต่คนกลุ่มหลังนี้ไม่ได้กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้ และมักจะทำงาน แบบปิดทองหลังพระ

ในมุมมองของประชาคมโลก เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ยืนยันได้ว่า ภัยจาก Climate Change นั้น กระทบต่อประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้รุนแรงกว่า บ่อยครั้งกว่า ประเทศร่ำรวยในเขตหนาวและเขตอบอุ่นของโลก เพราะส่วนใหญ่ของประเทศพัฒนา น้อยกว่าเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตร้อนตรงเส้น ศูนย์สูตรของโลกที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้เร็วเกิดพายุหมุนได้ง่าย เมื่ออากาศร้อนอยู่แล้ว ภาวะโลกร้อนขึ้นก็ยิ่งทำให้ดำรงชีวิต ได้ยากขึ้น นอกจากนั้นยังมีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาได้น้อยกว่า ทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน ส่วนคนยากจนและด้อยการศึกษาก็มากกว่าด้วย

หากเราพิจารณาย้อนสูงขึ้นไปอีก ก็จะเห็นว่า ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่อยู่นั้น ในเขตหนาว หิมะและแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกกำลัง ละลายอย่างรวดเร็ว glacier บนเทือกเขา สูงต่างๆ เช่น เทือกเขาหิมาลัยก็ละลายเร็วและมากขึ้นกว่าปกติ หิมะที่ละลายทั้งหมดนี้ไหลลงสู่มหาสมุทรต่างๆ ทำให้กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นระหว่างมหาสมุทรที่ควบคุมสภาพภูมิอากาศชายฝั่งทวีป ปรวนแปรไปด้วย ก่อตัวเป็นพายุหมุนรุนแรงในเขตร้อน เช่น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือความแห้งแล้งยาวนานในทวีปแอฟริกาตอนใต้และออสเตรเลีย และยังเพิ่มอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่าให้รุนแรงขึ้น

โดยรวมแล้ว IPCC คาดการณ์ว่าใน อีกไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ ผลพวงทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจาก Climate Change เหล่านี้ จะทำให้ประชากรของโลกเดือดร้อน ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานถึง 150 ล้านคนภายในปี 2050 ความพยายามของทุกๆ ประเทศทั่วโลกที่จะร่วมกันบรรเทาแก้ไข และปรับตัว จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกของ การอยู่รอดของมนุษยชาติเลยทีเดียว

UNFCCC, Kyoto Protocol, CDM (Clean Development Mechanism), Low-carbon society

คำศัพท์เหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยความ พยายามของประชาคมโลกที่จะสื่อสารและสร้างกลไกในการบรรเทา แก้ไข และตั้งรับ กับผลพวงต่างๆ ของ Global Warming และ Climate Change ที่กำลังคุกคามเรา อยู่ขณะนี้ กลไกเหล่านี้จะมีประสิทธิผลแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกๆ ประเทศทั่วโลก ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจและประเทศที่กุมเศรษฐกิจทั้งหลาย จะต้องจริงใจลดความทะเยอทะยานและการแข่งขันที่จะสร้างความ มั่นคงความร่ำรวยให้กับประเทศของตน เพิ่ม อำนาจทางการค้าการเศรษฐกิจ และหันมาสนใจพื้นฐานความกินดีอยู่ดีที่แท้จริงของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจพอเพียง

การเจรจาในเวทีโลกขององค์การสหประชาชาติและเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่อง Climate Change ซึ่งจัดขึ้นเป็น ประจำทุกปี เพื่อถกเถียงตกลงกันในการปฏิบัติ เรียกกันว่า COP (Conference of Parties) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 จัดขึ้นที่เมือง Durban ประเทศ South Africa ประเด็นที่สำคัญก็ยังอยู่ที่ข้อถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นผู้เสียสละมากกว่ากัน ประเทศยากจนพัฒนาน้อยทั้งหลายเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาที่ร่ำรวยแล้ว รับผิดชอบมากขึ้นต่อผลกระทบอันเกิดจากการปล่อยก๊าซจำนวนมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการลดการปล่อยก๊าซให้มากขึ้น (mitigation) และ ให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยี และเงินทุน ให้มากขึ้น แก่ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลาย เพื่อช่วยในการปรับตัวตั้งรับผลกระทบ (adaptation) แต่เสียงจากประเทศพัฒนาร่ำรวยก็คัดค้าน เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาน้อยที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วรับผิดชอบด้วย เพราะปัจจุบันประเทศเหล่านี้ที่ปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นๆ โดยไม่มีการควบคุมและเป้าหมายแน่ชัดที่จะลดเอาเสียเลย

ทั้งๆ ที่มีกลไกอยู่แล้วหลายลู่ทาง เช่น CDM แต่ในความเป็นจริง กลไกเหล่านี้ ก็ก้าวไปได้อย่างช้าๆ ไม่ทันการณ์กับภัยพิบัติ ที่ก่อตัวขึ้นอย่างสุดขั้ว ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น เทคโนโลยีเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาด้าน renewable energy กำลังเป็นความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ ในระหว่างนี้จึงมุ่งเน้นที่การประหยัดและการ เพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงรูปแบบเก่าไปก่อน ในขณะที่รอ low carbon sources of energy หรือเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ (เช่น ก๊าซไฮโดรเจน พลังงานคืนรูป และ biofuels แบบต่างๆ) ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา IPCC สนับสนุนให้ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลายเสริมสร้างศักยภาพที่เน้นทางด้านการวาง แผนจัดการและปรับตัวตั้งรับต่อภัยพิบัติ โดยเฉพาะการขยายตัวของเมืองซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา

ผลการประชุมที่ Durban ซึ่งเพิ่งจบลงไปหมาดๆ เร่งเร้าให้นักการเมือง ผู้ปกครองประเทศทั้งหลายแสดงความตั้งใจจริงที่จะผลักดัน (political will) ให้เกิดการ ปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างเป็นรูปธรรม หากความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกล้มเหลว ในเวลา 5 ปีต่อจากนี้ เราอาจจะเห็นหายนภัยที่รุนแรงกว่านี้เกิดขึ้นทั่วไปอีกหลายเท่าตัว

ประเทศไทยควรจะหันไปในทิศทางไหน

ถ้าว่ากันตามหลักการในเวทีโลกแล้ว เมืองไทยก็น่าจะร่วมมือร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาคมโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง (mitigation) เท่าที่ทำได้ เพื่อความอยู่รอดของประชาชนคนไทยเราจำต้องคำนึงถึงการเตรียมการตั้งรับปรับตัวต่อภัยที่จะมาถึงตัวก่อน (adaptation) เรื่องน้ำท่วมดูจะเป็นปัญหาที่ใครๆ เห็นชัดกันอยู่ในเวลานี้ แต่นั่นมิใช่เรื่องเดียว ยังมีปัญหาอื่นๆ ติดตามมาเป็นพรวน อาทิ ปัญหาความแห้งแล้ง แหล่งน้ำและดินเสื่อมโทรม ผลผลิตทางเกษตรกรรมตกต่ำ ปัญหาผลกระทบต่อการประมงและชายฝั่งทะเล กำลังจะตามมา และยังมีโรคต่างๆ ที่มากับความร้อนและความชื้น ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และต้องหยิบจับมาทำอย่างประสานสอด คล้องกัน มีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนความร่วมมือกับเวทีโลก เราก็จำเป็นต้องทำไม่มากไม่น้อยเกินไป เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภาพในเวทีโลกมากนัก ปัจจุบันทุกๆ ประเทศ ก็มักจะมีอะไรหมกเม็ดอยู่เพื่อประโยชน์ของประเทศตนเองทั้งสิ้น สิ่งที่ประเทศของเราจำเป็นต้องตระหนักคือ ปัญหาแท้จริงที่เราจะต้องเผชิญ และศักยภาพที่เรามีอยู่ในการแก้ไขปัญหาและสนองความต้องการ (ของประชาชนคนไทย)

หนทางบรรเทาเบาบาง-รู้ปัญหา รู้ศักยภาพ

หากเราสามารถมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเมืองไทยอันเกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างถี่ถ้วน และเราสามารถเสริมสร้างศักยภาพขึ้นมารองรับได้ ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่าชาติไทยของเราก็คงอยู่คู่โลกใบนี้ต่อไปอย่างมั่นคง

ในการระบุปัญหาผลกระทบโลกร้อน เราจำเป็นต้องศึกษาเข้าถึงสภาพที่เป็นจริง จากข้อมูลพื้นที่และบทเรียนที่เจ็บแสบผ่านมา เราสามารถเตรียมแผนเตรียมการตั้งรับปรับตัวได้ ส่วนเราจะทำได้ตามแผนแค่ไหน นั้นย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพ จากบทเรียนที่ผ่านมา ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยประเมินจุดอ่อน จุดแข็งของทุกๆ พื้นที่ ทุกๆ ภาคส่วน รวมไปถึงความสามารถและ ลักษณะนิสัยของคนไทย ประสิทธิภาพของระบบการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญที่สุดคือความ ซื่อสัตย์สุจริตในทุกระดับ (นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงคนงานก่อสร้าง)

ในการเสริมสร้างศักยภาพ นอกจาก จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ การประสานงาน การมีส่วนร่วม ตามหลักการแล้ว เรายังต้องหันมาดูถึงคุณภาพของประชาชนโดยทั่วไปด้วย โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ เน้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมปฏิบัติได้จริง (ซึ่งอาจมิใช่เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดหรือสร้างมูลค่ามากที่สุด) การสร้างจิตสำนึก จิตอาสา จิตสาธารณะ ตลอดจนถึงศีลธรรมและจริยธรรม

ความเป็นจริงในปัจจุบัน สังเกตเห็น ได้ว่า กลุ่มชุมชนและองค์กร NGO ท้องถิ่น ต่างๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม มีความรู้ความตระหนักสูงขึ้น และมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หน่วยงานภาครัฐสิอ่อนแอเพราะถูกการเมืองเข้าแทรกแซง ข้าราชการและทหารแบ่งเป็นพรรคเป็นพวกหลายฝักหลายฝ่าย ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินนโยบายไปในทิศทางไหนแน่ ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มประชาชนกลุ่มม็อบที่จัดตั้งขึ้นโดยนักการเมือง กลายเป็นเครื่องมือที่ก่อความรุนแรงในบ้านเมืองไม่รู้จบ

เวทีโลกขององค์การสหประชาชาติ อันเรียกว่า UNFCCC ซึ่งมี Kyoto Protocol เป็นข้อตกลงร่วม กำลังร้อนระอุในการเจรจา COP 17 นี้ ด้วยการรักษาผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว กับประเทศพัฒนาน้อยและกำลังพัฒนาดังที่ได้เกริ่นไว้ในช่วงแรกของบทความ ในที่นี้เราจะไม่กล่าวละเอียดที่ประเด็นในการโต้เถียงกัน เพราะเป็นเรื่องยาวที่แม้แต่ที่ประชุมก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ พูดถึงประเทศไทย เราถูกจัดไว้เป็นประเทศนอกกรอบภาระผูกพัน หรือ Non-Annex 1 พูดง่ายๆ คือเราไม่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพียงแต่ให้ความร่วมมือ แต่เราควร ตระหนักไว้ว่า อัตราการปล่อยก๊าซของเราสูงขึ้นๆ เร็วมาก เนื่องจากยังไม่มีมาตรการใช้พลังงานคืนรูปอย่างจริงจัง แถมประสิทธิการการใช้พลังงานรูปแบบเดิมก็เป็นไปอย่าง ฟุ่มเฟือย ส่วนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมก็ไม่ได้อยู่ในการควบคุมเท่าที่ควร เราจำเป็น ต้องหันมาแก้ไขตรงนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.