|
ปัดฝุ่นเศรษฐนิเวศเพื่อสุโขทัยยั่งยืน
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ...เพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือน ค้าทอง ค้า...
ความตอนหนึ่งจากเนื้อความจำนวน 124 บรรทัดจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นประโยคที่ทุกคนจดจำได้ไม่ลืม และเป็นประโยคทองที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัย
บ้านเมืองใดที่จะค้าขายสุขใจเช่นนี้ ได้ มักจะต้องเป็นบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการสร้างสรรค์พัฒนางานฝีมือ ซึ่งนำไปสู่อาชีพ และระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง นอกจากหลักฐานจากศิลาจารึก หลักฐานทางวิชาชีพ ของชาวเมืองเก่าสุโขทัยเอง ก็ยังคงเหลือสืบทอดไว้ให้คนรุ่นหลังใช้ประโยชน์ ทำกินเลี้ยงตัวอยู่หลายสาขาในปัจจุบัน
วิชาชีพดังกล่าว อาทิ เครื่องปั้นดินเผาหรือสังคโลก ทั้งที่เป็นภาชนะจานชามถ้วย ซึ่งมีลักษณะเฉพาะด้วยเทคนิคการเคลือบแบบศิลาดล พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ งานปูนปั้น เครื่องประดับจากข้าวตอกพระร่วง หินชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะใน พื้นที่เมืองสุโขทัย การทำตู้ไม้โบราณ เรือสำเภาและบ้านจำลองซึ่งเก็บเศษไม้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยที่เหลือจากทำตู้มาปะติดปะต่อเป็น รูปร่างจนเกิดคุณค่าและมูลค่า กอหญ้าคา หลังคาจากพืชที่ขึ้นอยู่มากในพื้นที่ใกล้เคียง ปลาตะเพียนใบลานสาน จากป่าหมากป่าลานในเขตอุทยานฯ หรือแม้แต่งานฝีมือของสาวๆ ในการถักเสื้อไหมพรมและผ้าทอ ฯลฯ
วิชาชีพแต่ละด้านของชาวเมืองเก่าสุโขทัยล้วนจัดเป็นฝีมือระดับชั้นแนวหน้าของประเทศทั้งสิ้น ซึ่งนั่นเป็นการย้ำให้เห็น ว่า หากอดีตสุโขทัยไม่ใช่บ้านเมืองที่ปราศจากความสงบสุขและสมบูรณ์ ผู้คนที่ไหนจะมีเวลามานั่งประดิดประดอยคิดค้นงาน ศิลปะทิ้งไว้มากมายขนาดนี้
เป็นที่น่าเสียดายว่าวิชาชีพเหล่านี้ต่างคนต่างสืบทอดสู่คนรุ่นหลังแบบตามมีตามเกิด ดีแต่ว่ายังไม่ถึงกับสูญหายไป
ช่างฝีมือแต่ละด้านกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในบริเวณเขตเมืองเก่า การคงอยู่ของแต่ละวิชาชีพขึ้นกับความนิยม ของตลาดจากส่วนกลางและระบบกำไรขาดทุนทางการค้า มากกว่าการเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของแต่ละวิชาชีพที่เหลืออยู่ อีกทั้งค่านิยมของสังคมยุคใหม่ที่มองคุณค่า จากเศรษฐกิจที่พึ่งพาระบบจากภายนอกมากกว่าคุณค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทำให้ระบบเศรษฐนิเวศของชุมชนค่อยๆ ถูกละลายหายไปจนแทบไม่เหลือคุณค่า เพียง แต่อาศัยทำกินไปวันๆ
แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงสภาพแวด ล้อมของเมืองสุโขทัย นอกจากชุมชนและวิชาชีพ ทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดวิชาชีพเหล่านี้ก็คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาชีพ เหล่านี้ยังคงอยู่คู่เมืองสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันด้วยเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะบูรณาการให้คนหรือชุมชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปภายใต้ระบบเศรษฐนิเวศที่จะหล่อเลี้ยงให้ชุมชนนี้ยั่งยืนต่อไปได้
รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งนำระบบการวิจัยมาสร้างกลไกเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย เริ่มต้นโครงการวิจัย “การพัฒนา ชุมชนรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแบบมีส่วนร่วม โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว” เพราะมองเห็นคุณค่าที่กระจัดกระจายอยู่ของวิชาชีพเหล่านี้ จนนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการวิจัย ที่กลายมาเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพเหล่านี้ให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัย (สกว.)
“ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเมืองเก่าสุโขทัย เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่อยู่ในชุมชน ผมก็มีหน้าที่ช่วยกันคิดว่าเราจะทำอะไรกับชุมชน ให้คนรู้จัก โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนซึ่งมีของดีเหล่านี้อยู่ เพื่อให้ชุมชนพัฒนาไปสู่แหล่งรายได้ที่เป็นรูปธรรม”
สิ่งที่ รศ.ดร.จิรวัฒน์และคณะวิจัยเข้าไปทำในเบื้องต้น เริ่มจากสร้างทีมงานด้านการท่องเที่ยว สร้างอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ออกแบบและติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ชุมชนจากเอกลักษณ์ของชุมชน จัดทำแผนที่และคู่มืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ใน 12 ชุมชนของตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
“คนในชุมชนกับนักวิจัย เราเริ่มต้น จากพูดภาษาเดียวกันก็คือ ต้องการขายวัฒนธรรมของตัวเองที่อยู่ในชุมชน จุดประสงค์ของการทำวิจัยครั้งนี้ ต้องการให้เปิดพื้นที่ของชุมชน รอบอุทยานประวัติ ศาสตร์สุโขทัย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสรู้จักชุมชนซึ่งมีวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้ง 12 ชุมชน กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงเป็นผลผลิตที่ร่วมมือกันทำ”
สิ่งที่เกิดขึ้นมองเผินๆ อาจจะดูเป็น งานเล็กน้อย แต่ป้ายต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้พบเห็นเมื่อมาเที่ยวชุมชนเมืองเก่า เกิดจากความคิดของชุมชนร่วมกันออกแบบ ผ่านประชาคมไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ขณะที่ทีมวิจัยก็เข้าถึงพื้นที่ทุกหลังคาเรือนในตำบลเมืองเก่ากว่า 4,000 หลังคาเรือนแล้วบรรจุทุกหลังคาเรือนลงในแผนที่ทั้งหมด ทดลองแล้วทดลองอีก จนกระทั่งเป็นแผนที่ ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของเมืองเก่าสุโขทัย
“ผมเขียนทุกหลังคาเรือนด้วยลายมือเองนะครับ นั่นหมายความว่า นักวิจัยได้เข้าภาคสนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็น เครื่องมือที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปถึงชุมชน ให้เห็นว่าคนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบเดิมอย่างที่เขาเป็นอยู่จริง”
ดร.จิรวัฒน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการของทีมวิจัยเน้นชักจูงนักท่องเที่ยวให้เป็นฝ่ายเข้าไปหาชุมชน มากกว่าจะเข้าไปพัฒนารายละเอียดในชุมชนนั้นเป็นเพราะ
“สินค้าของเมืองเก่าสุโขทัยหลายอย่างเป็นที่รู้จักของตลาดอยู่แล้ว มีการเข้า มาส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากหลายหน่วยงานแต่ส่งเสริมเฉพาะผลิตภัณฑ์ ซึ่งชุมชนเขาไม่ต้องการ เพราะเขาทำของเขาได้อยู่แล้ว เขามีฝีมือ แต่เขาอยากได้คนเข้าไปในชุมชน เขา เพื่อเขาจะได้มีรายได้”
ฉะนั้นนอกจากของดีทางวิชาชีพที่สืบทอดอยู่ในเมืองเก่าแห่งนี้ สิ่งที่ชุมชนรอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปค้นหาจึงรวมถึงรูปแบบ วิถีชีวิตความเป็นอยู่จริงในชุมชนรวมไปถึงอาหารการกินแบบบ้านๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ด้วย อาทิ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ก๋วยเตี๋ยวพ่อ (เส้นวุ้นเส้นห่อถั่วงอกกะหล่ำปลีลวก ห่อด้วยแป้งเหมือนข้าวเกรียบปากหม้อแล้วเติมน้ำซุปและเนื้อเหมือนก๋วยเตี๋ยวทั่วไป) ขนมครกโบราณจากข้าวโม่ไม่ใช่แป้งสำเร็จ รูป เมี่ยงคำ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมให้ค้นหามากขึ้นกว่า การเที่ยวดูเพียงโบราณวัตถุเช่นที่ผ่านมา
อีกทั้งสินค้าและอาหารเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการสะท้อนความเป็นท้องถิ่นได้ไม่แพ้วิถีชีวิตชุมชนด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมรูปแบบ การท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ทั้งต่อนักท่องเที่ยว และชุมชน จากการรวมตัวเป็นระบบนี้ ที่สำคัญชุมชนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือต้องออกมาตั้งหน้าร้านหน้าตาเหมือนกับทุกแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพราะเป็นการพาคนเข้าไปถึงชุมชนที่มีของดีอยู่แล้ว”
ขณะที่สุทัศน์ เหมลักษณ์ไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองเก่า หนึ่งในภาคีที่เริ่มทำงานกับทีมวิจัยมาตั้งแต่ เริ่มต้น เป็นตัวแทนจากชุมชนที่ยืนยันว่างานวิจัยนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่นำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยกล่าวว่า
“ในอดีตคนเมืองเก่ามีอาชีพหลักคือทำนา ไม่ได้มีรายได้อะไรมากนัก บ้านเรือนของเมืองเก่าก็ไม่ได้มากมายเหมือนในปัจจุบันนี้ จึงเป็นปัญหาว่าถ้าปากท้องของพี่น้องในชุมชนกินไม่อิ่ม นอนไม่อิ่ม เขาจะรู้จักรักตัวโบราณสถานได้อย่างไร”
ดังนั้นเมื่อโครงการสามารถมาต่อลมหายใจให้ชุมชนในการมีรายได้ที่ดีขึ้น ก็จะทำให้มีผลพลอยได้ในการรักษาโบราณสถานของเมืองสุโขทัยคงอยู่ต่อไปได้ดีด้วยเช่นกัน
สุทัศน์เล่าว่า ที่ผ่านมามีโครงการ ที่เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวมากมายในเขตเมืองเก่า แต่ไม่มีโครงการไหนลงมาคลุกคลีและหา Insight จากชุมชนเท่าโครงการนี้
“ดร.จิรวัฒน์ลงพื้นที่กับทีมวิจัยตลอดเกือบ 2 ปี ค้นหาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปขายสู่ตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์ ชุมชนพวกนี้สืบทอดต่อเนื่องมาจากในอดีต จนพัฒนามาเป็นรูปแบบในปัจจุบัน เมื่อผลิตภัณฑ์สร้างรายได้พอเลี้ยงชุมชน ผมเชื่อว่าโบราณสถานกับชุมชนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ชุมชนจะช่วยกันอนุรักษ์ และจรรโลงให้สิ่งต่างๆ ในเมืองเก่าอยู่ไปตลอดทั้งสร้างคุณค่ากับตัวโบราณสถานให้ มากขึ้น หลังจากที่ทีมวิจัยเริ่มต้นไว้ ต่อจาก นี้ก็คือหน้าที่ของชุมชนที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน”
ความมั่นใจของนายกเทศมนตรีเกิดขึ้นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวชุมชนในเขตเมืองเก่าต้องประสบปัญหากับความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เพราะหลายชุมชนอาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ทำให้ทางราชการไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ เมื่อมีรายได้เข้ามามากขึ้นก็น่าจะเป็นส่วนชดเชย ความรู้สึกมั่นคงในชีวิตให้กับชุมชน เพิ่มขึ้น
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตก็คือว่า ความเป็นอยู่ของพี่น้องในชุมชนต้องเกิดความมั่นคง โครงการนี้จึงเข้ามาในช่วงจังหวะที่ถูกจังหวะพอดี เพราะเป็นส่วนทำให้คนในชุมชนเกิดรายได้ ถ้าชุมชน เกิดรายได้ ปากท้องกินอิ่ม นอนอุ่น ผมคิดว่าเขาคงจะมีความรักความผูกพันเผื่อแผ่แก่โบราณสถานมากขึ้น” สุทัศน์กล่าว
รศ.ดร.จิรวัฒน์เล่าว่า หลังจากเสร็จ สิ้นโครงการวิจัยและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานได้จริงแล้ว ขั้นต่อไปทีมวิจัยจะทำการวัดผลเรื่องรายได้ และศักยภาพของ ชุมชนว่าพัฒนาเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยดูว่าชุมชนมีการคิดทำอะไรเพิ่มเติมมากกว่าเดิม หรือไม่
ขณะที่ด้านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม วิชาชีพในชุมชน รศ.ดร.จิรวัฒน์ ค่อนข้างมั่นใจว่า เมื่อคนเข้าไปในชุมชนมาก การพัฒนาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ชุมชนจะมีการสืบทอดวิชาชีพในครัวเรือนโดยไม่ต้องยัดเยียดหรือเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรในแบบที่เคยทำกัน พวกเขาจะเต็มใจสืบทอดต่อกันเอง ภายใต้รูปแบบวิถีชีวิตของชุมชนที่ค่อยๆ พัฒนากันขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งมีข้อดีตรงที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนกว่าการถูกกระตุ้นโดยคนนอก
วิธีคิดแบบนี้หากย้อนไปในอดีตก็คงเหมือนการทำเครื่องถ้วยชามสังคโลกของคนสุโขทัยในอดีต เริ่มต้นจากการรับซ่อมแซมจานชามให้ชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย เมื่อบริการได้รับความนิยม ผู้ทำเกิดความรู้ความชำนาญ เรียนรู้สินค้าจากการรับซ่อม ก็พัฒนาจนกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าสังคโลกออกขายเสียเอง โดยพัฒนาลวดลายจากสภาพแวดล้อม วาดเป็นรูปปลา ดอกไม้ สัตว์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ตนมี กลายเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่ดัดแปลงจากต้นแบบที่ได้ศึกษามา
“ผมเชื่อว่ากลไกการสืบทอดวิชาชีพก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และจะไม่สูญหายไปจากชุมชน เพราะเขาได้ทั้งคุณค่าและมูลค่าจากสิ่งที่ทำ”
จากความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ รศ.ดร.จิรวัฒน์เล่าว่า หัวใจที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ ต้องให้เครดิตกับชุมชน การที่ชุมชนยอมร่วมมือเห็นด้วยกับโครงการวิจัย รวมทั้งสลายความเป็นชุมชนแต่ละชุมชนซึ่งเดิมแยกกันอยู่ให้มามีสถานะเป็น “คนเมืองเก่า” เหมือนๆ กัน นอกจากแสดงให้เห็นว่าทุกคนเห็นประโยชน์ที่เป็นจุดร่วมแล้วยังพร้อม ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสูงมาก
บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่เพียงแต่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ยังแสดงให้เห็นว่า งานวิจัยที่ดีสามารถนำเทคนิควิธีวิจัยมาเป็นตัวประสานประโยชน์ชุมชนได้ด้วย เพียงแต่ว่าต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์และพัฒนาให้ถูกจุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|