สถานการณ์เครื่องไฟฟ้าต้องช่วยกันหนัก


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในเวลา 15 ปีที่ผ่านมานี้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก

1) รัฐบาลมีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศโดยให้สิทธิประโยชน์มากมาย

2) รัฐบาลให้ความคุ้มครองโดยกำหนดอัตราภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้าไว้สูง

3) พัฒนาไฟฟ้าให้มีใช้ทุกตำบล ทั่วประเทศ และสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ก็สามารถถ่ายทอดภาพไปยังทุก ๆ จังหวัด

4) เศรษฐกิจของประเทศในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ของประชาชนก็เพิ่มตามไปด้วย มาตรฐานการครองชีพก็สูงตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าก็กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต

ทั้ง 4 ประเด็นที่กล่าวมานี้ทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า เรื่องภาษีที่รัฐบาลให้ความคุ้มครองนั้น ก็ทำให้มีพวกลักลอบขนของหนีภาษีมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนและรัฐบาลก็ร่วมมือกันอย่างหนักมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อที่จะหาอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อแสดงว่าการนำเข้าโดยการลักลอบเสียภาษีนั้นไม่คุ้ม เมื่อสิงหาคม 2525 ก็มีข่าวดีออกมาว่า รัฐบาลนั้นสามารถหาอัตราภาษีที่เหมาะสมซึ่งเป็นการทำลายตลาดมืดไปโดยสิ้นเชิง

อัตราภาษีที่ตั้งใหม่นั้น โทรทัศน์สีลดลงเหลือ 40% ส่วนภาษีการค้าที่เคยสูงมาก ๆ ถึง 33% ก็ลดเหลือ 9.9% และวันนั้นเป็นวันที่เริ่มต้นยุคทองของเครื่องไฟฟ้า เนื่องจากราคาสินค้าได้ลดลง 10-20% ทำให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำนั้นมีอำนาจในการหาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาใช้ได้ มีร้านค้าที่ขายส่ง ขายผ่อน ขายปลีกเกิดขึ้นอย่างมากมาย คือขายส่งประมาณ 70 แห่ง ส่วนขายปลีกและผ่อนประมาณ 4,000 แห่งทั่วประเทศ

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยแล้วก็ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเหมือนพายุมา จากปลายปี 1983 ถึงต้นปี 84 นั้นนโยบายการคลังจำกัดสินเชื่อทำให้ทรัสต์ล้ม แชร์หนี เวลานั้นภาวะการเงินตึงเครียด และธุรกิจหาเงินมาหมุนไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทำให้เศรษฐกิจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในอุตสาหกรรมไฟฟ้า คือกำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลง ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานมีประมาณ 27 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน และในจำนวน 27 ล้านคน มีเกษตรกรประมาณ 19 ล้านคน ส่วนประชากร 2.7 ล้านคนอยู่ในภาคอุตสาหกรรม 350,000 คนอยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 120,000 คนเป็นลูกจ้าง ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีอยู่ประมาณ49,000คน รวมทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม SEMI CONDUCTOR ซึ่งกิจการนี้กำลังซบเซา กิจการตกต่ำไป 40-50% ในญี่ปุ่น SEMI CONDUCTOR ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็กำลังประสบปัญหา ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้านั้นก็สรุปได้ว่าไม่ค่อยจะดีนัก

แต่ที่เลวร้ายที่สุด คือวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท ทำให้ราคาต้นทุนของเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทันที ซึ่งแล้วแต่ชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้า บางชนิดก็ขึ้นทันที 17.35% บางชนิดก็ขึ้น 3-10% แล้วแต่ชิ้นส่วนที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หลังจากมีการลดค่าเงินบาทแล้วรัฐบาลก็ให้มีการควบคุมราคาสินค้า และซ้ำเติมด้วยการขึ้นภาษีชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และวันที่ประกาศลดค่าเงินบาทนั้น บางบริษัทผู้ผลิตขาดทุนย้อนหลังไป 8-9 เดือน เนื่องจากสินค้าที่ขายไปนั้น ชิ้นส่วนยังไม่ได้จ่ายเงินธนาคาร แต่บางบริษัทก็โชคดีมีสต๊อกของไปได้อีก 3-4 เดือน ทำให้ต้นทุนการผลิตแตกต่างกันมาก บริษัทที่ขาดทุนพยายามที่จะขึ้นราคาโดยอาจจะแนะนำสินค้าใหม่ เป็นต้น แต่เมื่อขึ้นไปแล้ว ราคาสินค้าของบริษัทอื่นก็ยังอยู่ที่เดิม ดังนั้นบริษัทเหล่านั้นก็จำเป็นต้องลดราคาให้เท่าเดิม และเมื่อบริษัทแรกลดลงก็สวนทางกับบริษัทที่สองที่จำต้องขึ้นราคาอีก แล้วก็ไปไม่รอดเช่นกัน การขึ้น ๆ ลง ๆ นี้ทำให้ร้านค้าเอือมระอาและตลาดปั่นป่วนมากในตอนนั้น

บริษัทผู้แทนจำหน่ายก็มีสต๊อกล้นออกมาเช่นเดียวกัน และพยายามใช้กลยุทธ์การตลาดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถผลักดันสินค้านั้นออกไปได้ หรือพยายามช่วงชิงลูกค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการครองตลาด วิธีการต่าง ๆ เช่น การยืดการชำระเงินสดออกไป บางครั้งอาจใช้การโหมโฆษณา มีการเปิดประชุมสังสรรค์ลูกค้าใหญ่เล็กทั้งหลาย มีการจัดนำเที่ยว พยายามใช้ความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีมาเก่าแก่แกมบังคับให้ช่วย ถ้าวิธีการเหล่านี้ไม่สำเร็จแล้วก็คงจะต้องใช้วิธีการหั่นราคากัน

สำหรับร้านค้านั้นเมื่อมีการลดค่าเงินบาทต่างก็คิดจะเก็งกำไรกันเพราะคาดว่า ราคาสินค่าจะต้องขึ้นอีกอย่างน้อย 10% จึงเริ่มรับซื้อสินค้าเข้าสต๊อกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม พยายามขอให้รัฐบาลยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า ปรากฏว่าร้านค้าเหล่านี้มีสต๊อกค้าง 3-4 เดือน แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะกำลังจะเข้าหน้าร้อน จึงมีความหวังอยู่ แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถที่จะเขยิบราคาขึ้นมาได้เลย และหน้าร้อนซึ่งเป็นฤดูการขายก็กำลังผ่านพ้นไป แต่ละแห่งก็ทนต่อภาวะดอกเบี้ยไม่ไหว ก็พยายามระบายเทสินค้าเข้ามาในตลาดพร้อม ๆ กัน ราคาแทนที่จะขึ้นจึงกลับลดลงทุกวัน ๆ แต่นิสัยการซื้อของผู้บริโภคมักจะรอคอยราคาให้ถูกลงไปอีก แต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ สถานการณ์ก็เลวร้ายไปกว่าเก่าเนื่องจากเงินเยนได้เพิ่มค่าขึ้นทุกวัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วพวกพ่อค้าที่ใช้เงินดอลลาร์ซื้อชิ้นส่วนเข้ามานั้นก็หันมาใช้เงินเยนกัน แต่ตอนนี้เงินเยนขึ้นมาวันละ 1% ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

สรุปได้ว่า MATERAIL COST ต่าง ๆ โดยเฉพาะของทีวีสีนั้นเพิ่มขึ้นจนถึงวันนี้ประมาณ 47% ดังนั้นยอดขายก็ตกไปซึ่งแล้วแต่ประเภทของสินค้าตั้งแต่ 10-30% และปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าของเราได้

ดังนั้นสรุปได้ว่า ภาวะของปี 2528 นั้น ไม่ค่อยจะดี อีก 2 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่ดี และในปี 2529 ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีเลย เพราะเนื่องจากต่างประเทศมีปัญหา คือมีกำลังผลิตมากเกินไปจึงต้องมีนโยบายทุ่มตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องค่าจ้างแรงงานนั้นก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีแนวโน้มว่าเงินเยนจะตกลงไปอีก

แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่เราเคยประสบความสำเร็จมาตลอด 10 กว่าปีมานี้ เราจะต้องมีความอดทน และต้องต่อสู้กับวิกฤตการณ์ที่เป็นอยู่และปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดมาในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แล้วอนาคตของเราจะแจ่มใส ความจริงแล้วอนาคตของเครื่องไฟฟ้ายังต้องไปอีกไกล เพราะประเทศไทยมีประชากร 52 ล้านคน ถ้าประมาณ 9 ล้านครัวเรือนซื้อโทรทัศน์ 1 เครื่อง ก็จะมีความต้องการเท่ากับ 9 ล้านเครื่อง ปัจจุบันตามสถิติมีทีวีสีอยู่ประมาณ 3 ล้านเครื่อง และมีตู้เย็นประมาณ 2 ล้านเครื่อง เครื่องซักผ้าประมาณ 1-2 แสนเครื่อง ดังนั้นพวกเราที่อยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จมาตลอดนั้นเราจะต้องสู้ ที่จริงแล้วเราก็สู้กันจริง ๆ คือตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ลดสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ทั้งชิ้นส่วนและสำเร็จรูป พยายามชะลอการสั่งซื้อ หรือหาแหล่งกู้เงินที่ถูก ๆ โครงการทั้งหลายที่ไม่จำเป็นก็ควรจะต้องระงับไว้ก่อน และยังมีบางอย่างที่ควรจะทำ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การโฆษณาก็ควรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในระยะยาวนั้นเราควรจะเพิ่มความสามัคคีในหมู่สินค้าอุตสาหกรรมไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น ชะลอการผลิตอย่าให้มีเกินความต้องการ ต้องพยายามให้มีการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากขึ้นแทนการนำเข้า ซึ่งในขณะนี้ก็มีโครงการหลอดภาพโทรทัศน์สี ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมกำลังพิจารณาอยู่ และอีกสิ่งหนึ่งคือ ทุกโรงงานควรจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องช่วยเหลือกัน

แต่สิ่งที่จะขอร้องกับรัฐบาลก็คือ ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่ให้แรงงานไทยที่อยู่ต่างประเทศสามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าประเทศได้คนละ 1 เครื่อง ตลาดนี้ผู้ผลิตจึงเสียไปปีละ 4 แสนเครื่อง จึงขอร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ใหม่ อีกเรื่องคือ ขอร้องให้รัฐบาลลดอัตราภาษีขาเข้าของชิ้นส่วนให้เท่ากับอัตราภาษีก่อนเดือนเมษายน 2528 และต้องการให้รัฐบาลกีดกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยอาจจะให้มีนโยบายที่ให้ความสนับสนุนผู้ที่สามารถผลิตในประเทศแล้วจะไม่มีการนำเข้ามา ซึ่งครั้งหนึ่งนโยบายอันนี้ เคยเสนอไปตั้งแต่ปี 2523 แล้ว ควรจะถึงเวลาที่รัฐบาลมาทบทวนนโยบายนี้กันใหม่

นอกจากนี้นโยบายทางอ้อม คือทำอย่างไรจึงจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ทำอย่างไรจึงจะกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบท เพื่อชาวบ้านจะได้มีงานทำมากขึ้นเหมือนในประเทศญี่ปุ่น และขอร้องรัฐบาลทบทวนนโยบายงบประมาณรายจ่ายให้เป็นการสร้างงานแทนที่จะซื้ออุปกรณ์เป็นหมื่น ๆ ล้านเข้ามา และสุดท้ายขอให้รัฐบาลช่วยทบทวนนโยบายแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตรงกับความต้องการ มิใช่สนับสนุนให้เรียนสูง ๆ แต่ออกมาตกงาน ไม่มีงานรองรับ

ขอให้พวกเราที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และจริงใจ และช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยความอดทน เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้น ประชาชนของไทยก็จะมีความหวังมากขึ้น และประเทศชาติของเราก็จะเจริญก้าวหน้าต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.