|

บทบาทที่ต้องติดตามของเวียดนาม
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
เวียดนามกำลังเดินบทบาทเชิงลึก ท่ามกลางความตื่นตัวในการรวมกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีก 3 ปีข้างหน้า บทบาทนี้น่าติดตามยิ่ง
เหงียน ฟุ ตร่องได้ไปเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ต่อจากลาวและจีน เป็นครั้งแรกที่เขาไปเยือนกัมพูชา นับตั้งแต่ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
เปรียบเทียบกับการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ของแกนนำเวียดนามใน บางประเทศ เช่น การเดินทางของเหงียน ฟุ ตร่องไปยังจีน หรือของประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซางไปยังอินเดียและฟิลิปปินส์ หรือของนายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๊น หยุง ไปยังญี่ปุ่น การเดินทางเที่ยวนี้ของเหงียน ฟุ ตร่องดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนน้อยมาก
การเยือนมิตรภาพ
ยกเว้นหนังสือพิมพ์เวียดนาม กัมพูชาและหนังสือพิมพ์จีน ส่วนหนังสือ พิมพ์ในภูมิภาคดูเหมือนไม่รายงานข่าวหรือวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ อาทิ หลังการเยือนวันแรก หนังสือพิมพ์รายวันใหญ่ที่สุด ของประเทศ ASEAN เช่น The Straits Times (Singapore), The Nation และ The Bangkok Post (ของไทย) หรือ The Jakarta Post (Indonesia) ไม่รายงานข่าว หรือวิจารณ์เกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้
สำหรับสาธารณชน การเดินทางเที่ยวนี้อาจจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อสถานการณ์ความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคด้านการเมือง แม้กัมพูชาได้รับจัดตั้งตามรูปแบบทหารมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ประมุขหน่วยงานบริหารคือพระราชา และ มีพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งครองอำนาจบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2522 โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น เป็นผู้นำตั้งแต่ 25 ปีมานี้ ยังคงเป็นพรรคที่ควบคุมกิจกรรมการเมืองทุกอย่างของประเทศนี้ ดังนั้นการที่ผู้นำพรรคคอมมิว นิสต์เวียดนามมีการ “เยือนมิตรภาพระดับ รัฐ” ที่กัมพูชา จึงไม่มีอะไรเป็นที่แปลกใจ
พิจารณาด้านเศรษฐกิจ กัมพูชาก็ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนสำคัญชั้นนำของเวียดนาม รวมทั้งอีกหลายประเทศในภูมิภาค
ตามข้อมูลของ ASEAN ในปี 2553 ระบุว่าปี 2552 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของกัมพูชามีสัดส่วนเพียงเกือบ 0.7% ของ GDP รวมของ 10 ประเทศ ASEAN ทางด้านการค้า ประเทศนี้มีสัดส่วนเพียงเกือบ 0.6% ของยอดรวมการค้าประเทศ ASEAN และกัมพูชาก็ดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศ (FDI) น้อยอย่างยิ่ง เพียง 1.3% ของยอดรวม FDI ทั้งกลุ่ม ASEAN
ตามข้อมูลของ EUROSTAT (หน่วยงานสถิติของ EU) ในปี 2554 ระบุว่าปี 2553 กัมพูชาจัดอยู่อันดับที่ 17 ในจำนวนคู่ค้าของเวียดนาม ด้วยดัชนีส่งออก-นำเข้ามูลค่า กว่า 1,000 ล้านยูโร มีสัดส่วนเพียง 0.9% ของยอดรวมมูลค่าการค้าของเวียดนาม
ส่งเสริมความสัมพันธ์
แต่ข้อนั้นไม่ได้หมายความว่าการเยือน 3 วันนี้ของเหงียน ฟุ ตร่อง รวมทั้งความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเวียดนามและกัมพูชา ไม่มีความหมายต่อทั้งสองประเทศ
กับกัมพูชา เวียดนามเป็นหนึ่งในบรรดาหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ ตามข้อมูล ของ EUROSTAT ด้วยดัชนีส่งออก-นำเข้ามูลค่าเกือบครึ่งพันล้านและเท่ากับ 4.6% ของยอดรวมมูลค่าการค้าของกัมพูชา ในปี 2553 เวียดนามจัดอยู่อันดับที่ 7 ในบรรดาคู่ค้าชั้นนำของกัมพูชา และอันดับที่ 3 (รองจากไทยและสิงคโปร์) ในกลุ่มประเทศ ASEAN
การลงทุนของเวียดนามเข้ากัมพูชา ในหลายปีมานี้ก็เพิ่มขึ้น ประมาณว่าถึงวันนี้ ด้วยจำนวนเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามมีการลงทุนที่นี่เกือบ 100 โครงการในหลายขอบเขตต่างกันเช่น การบิน ธนาคาร ยางพารา ฯลฯ
ก็เหมือนลาวและจีน กัมพูชามีแนว ชายแดนร่วมทางแผ่นดินยาวที่สุดกับเวียดนาม (ประมาณกว่า 1,000 กิโลเมตร) ถึงแม้มีแนวชายแดนร่วมกันเช่นนั้น สองฝ่ายก็ได้รับความสำเร็จในการปักปันหลักเขตแดน หลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการปะทะระหว่างสองข้างชายแดน
ในขณะที่มีชายแดนร่วมกับไทยเพียงกว่า 800 กิโลเมตร การปะทะและความตึงเครียดเกี่ยวข้องถึงการพิพาทชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ก่อความห่วงใยให้แก่หลายประเทศในภูมิภาค
เพิ่มอิทธิพล
นอกจากการเร่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และอีกหลายขอบ เขตต่างกันระหว่างสองประเทศ การเยือนครั้งนี้ก็มุ่งช่วยเวียดนามเพิ่มอิทธิพลและฐานะของตนต่อที่นี่ และเพื่อลดอิทธิพลของจีนลง
ถึงแม้กัมพูชาและลาวไม่ใช่เป็นสองประเทศสำคัญเมื่อพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจ แต่เพราะทั้งเวียดนามและจีน ต่างต้องการดำรงและเสริมอิทธิพลของตนในสองประเทศเพื่อนบ้านนี้ เพื่อจำกัดการแข่งขันซึ่งกันและกัน กัมพูชาและลาวกลาย เป็นความสำคัญกับฮานอยและปักกิ่ง
ในหลายปีผ่านมาด้วยศักยภาพทาง เศรษฐกิจของจีน ดูเหมือนว่าปักกิ่งกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นในสองประเทศนี้มากกว่าฮานอย
ตามบทความของ Brian Mc Cartan ที่ได้มีการลงบนหน้าเว็บของ Asia Times วันที่ 23 สิงหาคม 2554 จีนเป็นประเทศสนับสนุนรายใหญ่ที่สุดให้แก่กัมพูชา จีนก็เป็นประเทศมีเงินลงทุนมากที่สุดในกัมพูชา ด้วยมูลค่าเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 360 โครงการต่างกันในห้วง 7 เดือนแรกของปี 2554
ตามข้อเขียนของ Brian Mc Cartan จีนก็เป็นประเทศมีเงินลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาวเมื่อปี 2553 ลาวเป็นหนึ่งในสามประเทศ (พร้อมด้วยกัมพูชาและพม่า) ที่ปักกิ่งหาวิธีเสริมความสัมพันธ์เพื่อสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในบทความที่ได้ลงบนหน้าเว็บของ The Diplomat เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2554 Minxin Pei ได้เขียนว่า ในขณะที่เกือบทุกประเทศเข้าประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ที่บาหลี อินโดนีเซีย ในนั้นมีทั้งรัสเซียที่ตำหนิท่าทีของจีนในการพิพาททะเลตะวันออก ส่วนกัมพูชาและพม่าสองประเทศนี้ (และอาจจะมีทั้งลาว) ต่างนิ่งเงียบ
เมื่อเร็วๆ นี้มีสิ่งบอกเหตุแสดงให้เห็นว่าพม่ากำลังค่อยๆ ห่างไกลวงจรปักกิ่ง และร้อยโซ่เข้าใกล้เวียดนามและอีกบางประเทศในภูมิภาค
(อ่าน “การเดินบทบาทที่มีนัยสำคัญ ของพม่า” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนธันวาคม 2554 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)
ในสภาวการณ์นั้นถึงแม้มีการพูดเป็นทางการหรือไม่ หนึ่งในบรรดาจุดประสงค์สำคัญของการเดินทางเที่ยวนี้ของเหงียน ฟุ ตร่อง คือมุ่งสร้างอิทธิพลของเวียดนามเพิ่มขึ้นในกัมพูชา
ด้วยจุดประสงค์เช่นนั้น การเยือนที่มีขึ้นในเวลานี้ก็มีระดับความสำคัญของตัวเอง เพราะในปีนี้ (2555) กัมพูชาจะเป็น ประเทศประธานหมุนเวียนของ ASEAN ในตำแหน่งนั้น ประเทศนี้จะเป็นเจ้าภาพประเทศจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ปีหน้าด้วย
เหมือนสิ่งต่างๆ ซึ่งมีขึ้นที่บาหลีที่เพิ่งผ่านมา แสดงให้เห็นว่า EAS นับวันยิ่งมีความสำคัญเพราะมีการเข้าร่วมของสหรัฐฯ รัสเซีย และประเทศใหญ่อีกหลายประเทศในภูมิภาค การประชุมนี้ก็ไม่เพียงเป็นสถานที่เพื่อ “พูดคุยกันเฉยๆ” เพราะมีหลายปัญหาสำคัญทางด้านความมั่นคงในภูมิภาค เช่นการพิพาททะเลตะวันออก ก็ได้มีการพูดถึงหรือถกแถลงในกรอบและนอกกรอบการประชุม
เพราะฉะนั้นถ้าเสริมความสัมพันธ์ กับกัมพูชาและสร้างอิทธิพลเพิ่มขึ้นกับพนมเปญได้ เวียดนามก็อาจจะมีอิทธิพลต่อโครงการทำงานของ ASEAN มีบทบาทเป็นพิเศษต่อการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกปีหน้า เพื่อนำเข้าระเบียบวาระประชุมปัญหาภูมิภาคตามที่เวียดนามสนใจ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาตามทิศทางที่ฮานอยต้องการ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|