|
เดอะรีเจนท์ ส่วนผสมของ “กู๊ดเฮด” และ “กู๊ดฮาร์ท”
โดย
สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“หน้าที่เราไม่ใช่แค่เตรียมนักเรียนไปมหาวิทยาลัย ซึ่งใครๆ ก็ทำได้ แต่เราต้องมีหน้าที่เตรียมเขาให้เป็นผู้นำที่มีทั้ง Good Head และ Good Heart”
นั่นคือประเด็นสำคัญที่สุดที่ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติ “เดอะรีเจนท์” ย้ำกับผู้จัดการ 360 ํ ตลอดการพูดคุยเกือบ 3 ชั่วโมง
เพราะจุดเริ่มต้นของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้มาจาก “คเณศ” ลูกชายคนเดียว ซึ่งวีระชัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนชื่อดังในประเทศอังกฤษ แต่การแสวงหาการศึกษาที่ดีที่สุดกลับทำร้ายลูก เขาโดนเพื่อนแกล้ง บีบบังคับให้เข้าก๊วนเด็กเกเร สูบบุหรี่ หนีโรงเรียนกลางดึกเพื่อไปซื้อแฮมเบอร์เกอร์ ถูกลากไปเล่นคริกเก็ตจนน่วม
ลูกชายเขาเกลียดประเทศอังกฤษมากและกลายเป็นแรงจูงใจให้วีระชัยอยากสร้างโรงเรียนที่ดีกว่าโรงเรียนในอังกฤษ ไม่ใช่ แค่ความรู้ดีที่สุด แต่ต้องสร้างคุณธรรมที่ดีที่สุด ประจวบเหมาะกับเส้นทางชีวิตที่พลิกไปพลิกมาจากครูเป็นนักบริหารภาคเอกชน นักการเมืองแล้วที่สุดก็กลับมาเป็นครู นักการศึกษา และพบว่า นี่คือเส้นทางชีวิตที่เหมาะที่สุด
วีระชัยจบปริญญา 3 ใบ ตรี โท และเอก สาขาบัญชีทั้งหมด เขาเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักแล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จบ มศ.3 ได้อันดับที่ 1 โดนแมวมอง จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งตอนนั้นวางแผนตั้งโรงเรียนที่อำเภอสามพราน คือ โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์
วีระชัยถูกชวนมาเป็นครูประจำชั้นนักเรียน ป.6 ด้วยวัยแค่ 17 ปี เป็นครูประจำชั้น 2 ปี เส้นทางชีวิตเปิดทางให้เขาขึ้นมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ เนื่องจากบาทหลวงที่ถูกส่งมาเป็นครูใหญ่ไม่มีวุฒิ พ.ม.หรือพิเศษครูมัธยม ขณะที่วีระชัยจบ ม.ศ.3 และสอบเทียบ ม.6 รวมทั้งสอบวุฒิ พ.กศ.หรือพิเศษประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ซึ่งอนุญาตให้สอนได้ถึง ม.6 และสอบต่อได้วุฒิ พ.ม.หรือ พิเศษครูมัธยม เทียบเท่าอนุปริญญาตรี เขาได้เป็นครูใหญ่ตั้งแต่อายุ 19 ปี ดูแลนักเรียน 1,000 คน
เขาใช้ชีวิตครูใหญ่จนอายุ 21 ปี เริ่มคิดถึงอนาคตตัวเอง บังเอิญเพื่อน รุ่นพี่ชวนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เขาตัดสินใจไปอยู่กับเพื่อนและเรียนสาขาบัญชีจนจบปริญญา
“จริงๆ ผมอยากสอบเข้าเรียนวิศวะ เราถูกปลูกฝังในไทย ถ้าไม่หมอก็วิศวะ แต่บังเอิญเจอครูแนะแนวโรงเรียนในอเมริกา เขาตั้งคำถามถึงเหตุผลที่เลือกเรียนวิศวะ ผมตอบแค่เท่มาก “เขาบอกให้ผมไปซื้อหนังสือพิมพ์ซินซินเนติ ไควเลอร์ เปิดแคสสิฟายหางานเอ็นจิเนีย วิศวะ และดูว่างานไหนเยอะที่สุด ผม ซื้อหนังสือพิมพ์ 35 เซ็นต์ เป็นการลงทุนที่ดีมาก เพราะทั้งเมืองไม่มีงานวิศวะแม้แต่จ็อบเดียว ช่วงนั้นวิศวะตกงานเยอะ ต้องไปขับรถบรรทุก เป็น รปภ. และก็เจองานบัญชีเยอะมาก ตรวจสอบบัญชี ทุกอย่างเป็นบัญชี”
วีระชัยเปลี่ยนเป้าจากวิศวะ เรียนจบปริญญาตรีทางบัญชีธุรกิจที่ทอมัส โมร์คอลเลจ จากนั้นต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ที่โคลัมเบีย ในมหาวิทยาลัยมิซซูรี ซึ่งช่วงนี้เองที่เขาเริ่มเป็นอาจารย์สอนวิชาบัญชีให้นักศึกษาปริญญาตรี และสอนเต็มเวลาที่โคลัมเบียคอลเลจ 2 ปี ต่อมาขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกาในโอมาฮาอีก 2 ปี ประมาณปี 2523 เป็นรองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเนวาดาที่ลาสเวกัส เขาชนะรางวัลครูดีเด่นประจำภาควิชาหรือประจำคณะทุกมหาวิทยาลัย
ในขณะที่กำลังสนุกกับการเป็นครู พ่อของวีระชัยป่วยเป็นโรคมะเร็งและเรียกตัวเขากลับบ้าน ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะกลับบ้านเพียง 1 ปี แต่สุดท้ายไม่มีโอกาสไปอเมริกาอีก ชีวิตหันเหเข้าสู่เส้นทางธุรกิจการค้า เป็นที่ปรึกษาธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้บริหารธนาคารศรีนคร และเป็นประธานองค์การรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) แล้วจับพลัดจับผลูไปเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร (ส.ส.) ในนามพรรคความหวังใหม่
ถึงที่สุด เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นนักการเมืองไม่ได้ วีระชัยกลับมาทำธุรกิจการศึกษาอย่างจริงจัง แม้เริ่มต้นแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่นัก
“สมัยผมเป็นที่ปรึกษาคุณชาตรี โสภณพนิช เมื่อปี 2532 ได้ข้อมูลความรู้เยอะมาก อีสเทิร์นซีบอร์ดบูมมหาศาล ต่างชาติจ่อเข้ามาลงทุน ท่านถามผมว่าไม่พัฒนาอะไรแถวอีสเทิร์น ผมเลย เริ่มจับที่ดินแปลงหนึ่งและบังเอิญบริษัทน้ำมันเอสโซ่เข้ามาทำโรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชา บริษัทวิศวกรและบริษัทปิโตรเคมีมาหาผม ต้องการบ้าน 32 หลัง ผมเลยรีบทำ เก็บค่าเช่า ได้ผลพวงจากอีสเทิร์นฯ”
จนกระทั่งวันหนึ่ง พวกแม่บ้านวิศวกรต่างชาติเชิญวีระชัยมานั่งคุยปัญหาของพวกสามี เรื่องขาดแคลนวิศวกร ไม่มีใครอยาก มาศรีราชา เพราะไม่มีโรงเรียนให้ลูกๆ พวกแม่บ้านจึงเสนอให้เขา ซึ่งเป็นอดีตครูใหญ่เปิดโรงเรียน กลายเป็นวาระเร่งด่วนแบบไม่ทัน ตั้งตัว จะสร้างโรงเรียนใหม่คงไม่ทันแน่ โชคดีที่เจอโรงเรียนอนุบาล ของบางละมุง ซึ่งมีใบอนุญาตทำโรงเรียนนานาชาติแต่ผู้บริหารทำไม่สำเร็จ วีระชัยจัดการขอเช่าโรงเรียนและใบอนุญาตเปิดสอน โรงเรียนนานาชาติ เดอะรีเจนท์ เมื่อปี 2538
เดอะรีเจนท์เปิดเทอมวันแรกมีนักเรียนเพียง 72 คน ปีถัดมา เพิ่มเป็น 130 คน แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพอใจ วีระชัยออกจาก รฟม.และทิ้งเส้นทางการเมืองเข้ามาลุยธุรกิจโรงเรียนนานาชาติแบบเต็มตัว ประจวบเหมาะกับเกิดเหตุลูกชายเจอปัญหาในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ เขาตัดสินใจลงทุนหอพักหลายสิบล้านบาทในที่ดิน 60 ไร่ เพื่อดึงดูดลูกหลานชาวต่างชาติ ซึ่งนักเรียน “เด็กหอ” คนแรก ก็คือ คเณศ เตชะวิจิตร์ ลูกชายของเขา
การบริหารโรงเรียนเดอะรีเจนท์ พัทยา โดยมีหอพักขนาดใหญ่และความ สำเร็จในการส่งเด็กนักเรียนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศอังกฤษและอเมริกา ทั้งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ สแตนฟอร์ด วอร์ตัน แอลเอส อี หรือลอนดอน สคูลออฟอีโคโนมิคส์ ทำให้นักเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะลูกหลานรัฐมนตรีในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มราชวงศ์
ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจนท์เป็นโรงเรียนนานา ชาติของคนไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย มี 3 สาขา คือ เดอะรีเจนท์ พัทยา มีนักเรียน 1,000 คน เดอะรีเจนท์ สาขากรุงเทพฯ 650 คน และเดอะรีเจนท์ สาขาประเทศอังกฤษ ร่วมลงทุนกับริดเดิ้ลเวิร์ธ ฮอล (Riddlesworth Hall) โรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง เป็นโรงเรียนที่เจ้าหญิงไดอานาเคยทรงศึกษาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ตั้งอยู่ในเมืองดิส นอร์ฟอล์ค ใกล้เมืองเคมบริดจ์ ล่าสุดมีนักเรียน 110 คน และเปิดรับนักเรียนทั่วโลกจนถึงเกรด 7
ขณะเดียวกัน ถ้าดูสัดส่วนจำนวนนักเรียนส่วนใหญ่เป็นต่างชาติมากกว่าครึ่งและมาก กว่าครึ่งมาจากประเทศเกิดใหม่ อดีตสหภาพโซเวียต เช่น เอสโตเนีย ลิทัวเนีย แลตเวีย บัลแกเลีย สโลวะเกีย เชครีพับลิค อาร์เมเนีย ซึ่งอดีตโซเวียตกลุ่มนี้พ่อแม่เริ่มรวยและอยากหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูก แต่ในประเทศยังไม่มีโรงเรียนในระดับเดียวกับอังกฤษหรือเยอรมนี ส่วนใหญ่จึงมักส่งเด็กไปเรียนในอังกฤษและอเมริกา ถ้าเลือกได้ เขาไม่อยาก ให้ลูกไปเรียน เพราะสมัยก่อนถูกทั้งอังกฤษและอเมริกาโจมตีประเทศอย่างหนัก ไม่ชอบเรื่องยาเสพติด
พอรีเจนท์เริ่มมีชื่อเสียง มีนักเรียนไปเรียนที่ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ คนกลุ่มนี้จึงเริ่มส่งนักเรียนมา ที่เดอะรีเจนท์ จนล่าสุดมีนักเรียนจาก ประเทศกลุ่มนี้เกือบ 85 คน
นอกจากนี้ยังมีเด็กนักเรียนจาก ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น แม้กระทั่ง “เนารู” ประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เป็นลูกรัฐมนตรีต่างประเทศ
“อย่างอาร์เมเนียมีเด็กมาเรียน ที่นี่เยอะมาก เช่น ลูกของผู้อำนวยการสภาความมั่นคง เราสามารถเปลี่ยนเขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก เขาไปเรียนต่อที่แลงคาสเตอร์ที่อังกฤษ ท็อปเท็นที่นั่นและจบปริญญาโทที่เคมบริดจ์ พ่อภูมิใจมาก คุยแต่เรื่องรีเจนท์ จนนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียเชิญผมไปพบและเสนอให้ตั้งโรงเรียนที่นั่น ผมไปวางระบบจนเปิดได้แล้ว ชื่อดิลิจันแห่งอาร์เมเนีย”
เหตุผลที่เดอะรีเจนท์ดึงลูกท่านหลานเธอเหล่านี้มาเรียนได้ หนึ่ง การศึกษาแบบอังกฤษ สอง สังคมปลอดภัย สาม การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชีย กลายเป็น “โกลบอลคอนเนค” ที่เชื่อมโยงต่อยอดทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและธุรกิจ ขณะที่เดอะรีเจนท์สามารถขยาย ตลาดใหม่ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นไม่ได้สนใจ ทั้งที่เป็นขุมทอง ขนาดใหญ่
วีระชัยบอกว่าเวลา 16 ปี ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความต่างในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบองค์รวมในหลักสูตรของอังกฤษ ทั้งสติปัญญาและจิตใจ โดยเฉพาะการเข้าร่วมองค์กรราวด์สแควร์ (The Round Square Organisation) เมื่อปี 2544
องค์กรนี้เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งในสมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 โดย ดร.เคิร์ท ฮานส์ ชาวเยอรมัน ต่อมาได้ขยายไปทั่วโลก มีสมาชิก 58 ประเทศ จำนวน 80 โรงเรียนจากทุกทวีป ซึ่งเดอะรีเจนท์เป็นโรงเรียนเดียวในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย ประธานราวด์สแควร์คนปัจจุบัน คือ กษัตริย์คอนสแตนติน อดีตพระประมุขแห่งกรีซ มีเจ้าฟ้าชายแอนดรูวส์เป็นองค์อุปถัมภ์
ดร.เคิร์ท ฮานส์ ผู้ตั้งองค์กรราวนด์สแควร์ เป็นคนรุ่นเดียว กับฮิตเลอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์จัดระบบการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างความทะเยอทะยานในเรื่องการครองโลก ผิวขาวอย่างเยอรมันต้องครองโลก ชาติอื่น ศาสนาอื่น อย่างพวกยิวถือว่าด้อย ดร.เคิร์ท ฮานส์ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักการศึกษา จึงเขียนบทความเตือนสติฮิตเลอร์ ถึงการสอนที่จะทำให้เด็กเยอรมัน เป็นคนชั่ว เข่นฆ่าผู้อื่น ไม่สนใจคุณธรรมในจิตใจ
ฮิตเลอร์โกรธมากและสั่งจับ ดร.เคิร์ท ฮาส์นเข้าคุก แต่กษัตริย์ราชวงศ์อังกฤษรู้เหตุการณ์และเจรจาขอตัว ดร.เคิร์ท ฮานส์ จากนายกรัฐมนตรีเยอรมัน เพราะอยากได้คนมีความคิดความอ่านดีมาทำประโยชน์ให้อังกฤษ
เมื่อ ดร.เคิร์ท ฮานส์มาที่อังกฤษ เขาได้รับคำสั่งให้บริหาร โรงเรียนโกลเด้นสตูน เพื่อสร้างผู้นำพันธุ์ใหม่ที่มีคุณธรรมและความรู้ ซึ่งในราชวงศ์อังกฤษตั้งแต่พระสวามีของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายฟิลิปและลูกชายทั้งหมด ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าฟ้าชายแอนดรูวส์ และเอ็ดเวิร์ด ต่างเรียนที่โรงเรียนโกลเด้นสตูน
หลักการของราวด์สแควร์คือ คุณธรรม 6 ประการ ซึ่งโรงเรียนในสังกัดต้องให้สัตย์สาบานและเป็นหน้าที่ไม่ใช่แค่เตรียม นักเรียนไปมหาวิทยาลัย แต่ต้องเตรียมเขาเป็นผู้นำที่มีทั้งสติปัญญา (Good Head) และคุณธรรมในจิตใจ (Good Heart) หรือ IDEALS เริ่มจาก “Internationalism” ความเข้าใจที่เราต้องอยู่กับคนอื่นที่มีผิวสีหรือศาสนาต่างจากเรา, Democracy การให้ความเคารพในความเห็นของคนอื่นที่แตกต่างจากเรา, Environmental awareness การเคารพสิทธิ์ของคนอื่นและไม่เห็นแก่ตัว ทำลายธรรมชาติที่คนอื่นแตกต่างจากเรา, Adventure มีความกล้าหาญในสิ่งที่คิดว่าเกินความสามารถ, Leadership การเป็นผู้นำที่ต้องทำตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นทำตาม และสุดท้าย Service จิตอาสาเพื่อผู้อื่นและชุมชน
อย่างไรก็ตาม คุณธรรมทั้ง 6 ข้อ จะเกิดขึ้นได้และเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของโรงเรียนในราวนด์สแควร์อยู่ที่ “ครู” ในฐานะแม่พิมพ์ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เช้าถึงบ่าย แต่เป็นตลอดเวลา และตลอดอายุสัญญาการเป็นครู
“ที่โรงเรียนผม เราเอาวิชาการ กู๊ดเฮด 100% มาวาง จะเป็น วิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันเรามี 6 หลักการมาวางอีก 100% แล้วเรียนวิชาอะไร ก็เอามาผสมผสานตลอดเวลา พูดง่ายๆ เราจะสอนกู๊ดเฮดกับ กู๊ดฮาร์ทแยกกันไม่ได้ ต้องไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อมีกู๊ดเฮดกับ กู๊ดฮาร์ท เด็กจะมีความสุข ทุกวันนี้มีแต่กู๊ดเฮด แต่ฮาร์ทไม่มี ซึ่งกันและกัน คนที่มีเฮดสูงๆ ยิ่งต่ำ ไปเจอพวกกู๊ดเฮดต่ำๆ ไปเจอพวกชอบแกล้งก็ยิ่งทุกข์ ครูก็ทุกข์ อารมณ์บูด ไปลงกับเด็ก เด็กก็ไม่ความสุข นี่คือประเด็นของการปฏิรูปการศึกษา” วีระชัยกล่าว
โรงเรียนเดอะรีเจนท์จึงเน้นมากเรื่องคุณภาพครู โดยเฉพาะ การรับสมัครเฉพาะครูที่มีใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการของ อังกฤษ หรือ Qualified Teacher Status (QTS) ซึ่งกระบวนการผลิตครูของอังกฤษมีความเข้มข้นมาก
เริ่มจากบัณฑิตปริญญาตรีที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาไปสมัครเรียนวิชาชีพครูในมหาวิทยาลัย คล้ายๆ ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ของไทย เป็นเวลา 1 ปี ได้วุฒิที่เรียกว่า Post Graduate Certificate of Education หรือ PGCE ซึ่งจะมีตำแหน่งติดท้ายว่า NQT หรือ Newly Qualified Teacher และต้องฝึกสอนอีก 1 ปี จนได้ใบอนุญาต QTS
ในอังกฤษ ถ้าครูไม่มี QTS ไปสอนหนังสือถือว่าผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นหากต้องการเป็นโรงเรียนที่แข่งขันจนชนะประเทศอังกฤษได้ จะต้องมีครู QTS ซึ่งทุกคนรับเงินเดือนมากกว่า 1 แสนบาทและมีค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับการกลับบ้านเยี่ยมครอบครัว
เดอะรีเจนท์มีครูต่างชาติระดับ QTS รวม 200 คน เรื่องครูจึงเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากและเป็นการลงทุนที่จำเป็นที่สุด ในการทำโรงเรียน
วีระชัยบอกว่า หากย้อนกลับมามองการศึกษาไทย การจะ ได้ครูดีๆ ต้องแก้สองอย่าง ต้องแก้สมอง เรื่องความรู้ และเพิ่ม คุณภาพชีวิตครู อาจเริ่มที่ครูชุดใหม่
เด็กที่จบปริญญาตรีและตกงาน ถ้าวางระบบให้ดี สามารถ เปิดโครงการ PGCE เหมือนระบบอังกฤษ ต้องทำโดยมหาวิทยาลัย คุณภาพดี จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น ประสานมิตร หาโรงเรียน สาธิตเข้าไปฝึกสอน และเพิ่มเงินเดือนครูมากขึ้น
เพราะการศึกษาจะยกระดับนักเรียนได้แค่ไหน มีสติปัญญา และคุณธรรมได้อย่างไร “ครู” เป็นตัวชี้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|