|
พิบูลย์ ยงค์กมล “เงินของซีซาร์ต้องคืนให้ซีซาร์”
โดย
สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
“สุดยอดของครู คือ ทำโรงเรียนและก็ทำได้แล้ว” พิบูลย์ ยงค์กมล พูดถึงโรงเรียนสารสาสน์ที่วันนี้กลายเป็นธุรกิจเครือข่ายโรงเรียนสองภาษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พิบูลย์มาจากครอบครัวที่เป็นสัตบุรุษ วัดนักบุญมาการีตา บางตาล มีพี่น้อง 9 คน เขาต้องไปอยู่บ้านเณรที่ “สามเณราลัยแม่พระนิรมลราชบุรี” หรือเด็กวัดในศาสนาคริสต์ เขาเรียนที่โรงเรียนบางตาลแล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม จนจบมัธยมฯ 6 เริ่มต้นชีวิตครูครั้งแรกตั้งแต่อายุ 18 ปี ที่ดรุณานุเคราะห์
เป็นครูอยู่เกือบปี เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มุ่งมั่นจะมาเรียนต่อด้านก่อสร้าง แต่ไม่มีเงิน สุดท้ายต้องกลับเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครูอีกครั้งที่โรงเรียนเปรมฤดี สอนไปด้วย เรียนไปด้วย โดยสอบเทียบวุฒิ ม.8 วัดสุทัศน์ฯ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ประสานมิตร
สอนที่เปรมฤดีได้ 9 ปี พิบูลย์ตัดสินใจออกมาร่วมหุ้นกับเพื่อนทำโรงเรียนแห่งแรก คือ สารสาสน์พิทยา สาธุประดิษฐ์ เป็นทั้งผู้บริหาร ครูใหญ ครูน้อย ออกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ ทำไปทำมาเพื่อนถอนหุ้นหมด
พิบูลย์กลายเป็นเจ้าของโรงเรียนเพียงผู้เดียว
ปี 2512 พิบูลย์ชวนพี่สาวมาร่วมหุ้น
เช่าที่ของกรมธนารักษ์ สร้างโรงเรียนแห่งที่ 2 คือ สารสาสน์ พัฒนา ลุยอยู่ 2 ปี ไม่มีกำไร พี่สาวตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด ทำให้เขาต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะหากทำแค่โรงเรียนสายสามัญ เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 450 บาท ไม่มีทางได้กำไรคืนทุนแน่
เขาหันไปลงทุนเปิดโรงเรียนพาณิชย์สาธุประดิษฐ์ เนื่องจากโรงเรียนพาณิชย์สามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้ถึง 3,000 บาท เริ่มปีแรกมีเด็กสมัครเรียนเพียง 80 คน ปีต่อๆ มามีเด็กจบ ม.3 มาสมัครเกือบ 500 คน ประกอบกับแนวคิดเรื่องการเรียนสายอาชีพ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้โรงเรียนพาณิชย์สร้างรายได้เติบโต อย่างต่อเนื่องและจุนเจือโรงเรียนสายสามัญทั้งสองแห่ง
พิบูลย์มองไปไกลอีกว่า โรงเรียนต้องมีการพัฒนาด้านภาษา เขาจัดการส่งลูกชาย 2 คนไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการทดลองเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษ “เอ็กซ์ตร้า” ที่ “สารสาสน์พิทยา” ก่อนเปิดเป็นโรงเรียนสองภาษาแห่งแรกใช้ชื่อว่า สารสาสน์เอกตรา เมื่อปี 2537
การเปิดโรงเรียนสองภาษาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “สารสาสน์” เนื่องจากหลักสูตรสองภาษาสามารถเพิ่มอัตราค่าเล่า เรียนแบบก้าวกระโดดจากไม่กี่ร้อยบาทเป็นปีละ 20,000 บาท ขณะเดียวกันปรับเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษในหลักสูตรสายสามัญ โดยคิดค่าเรียนเพิ่มจากปกติอีก 4 วิชา 4,000 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกได้เรียนภาษาอังกฤษเข้มข้นขึ้น เพียงแต่มีเงื่อนไขคือ ใช้ครูไทยเป็นผู้สอน ไม่ใช่ครูต่างชาติเหมือนหลักสูตรสองภาษา
จากโรงเรียนสายสามัญแห่งแรกที่สารสาสน์พัฒนา ค่าเทอม เทอมละ 450 บาท วันนี้เพิ่มเป็น 3,000 บาท บวกวิชาภาษาอังกฤษอีก 4 วิชา 4,000 บาท หลักสูตรสองภาษาจากปีละ 20,000 บาท เป็น 50,000-60,000 บาท ล่าสุด พิบูลย์เริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติที่สารสาสน์วิเทศบางบอน คิดค่าเล่าเรียนปีละ 1 แสนบาท เพื่อขยายตลาดในกลุ่มชนชั้นกลาง
จนถึงล่าสุด เครือสารสาสน์มีโรงเรียนทั้งหมด 27 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรสองภาษา 18 แห่ง หลักสูตรสามัญ 7 แห่ง และหลักสูตรอาชีวศึกษาอีก 2 แห่ง โดยเฉพาะช่วงสิบปีหลัง สารสาสน์ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ทั้งการสร้างโรงเรียนและซื้อกิจการโรงเรียนเก่ามาทำใหม่
“ผมเลือกทำเลเอง ผมมีนายหน้าหาที่ดินแล้วก็นั่งรถไปดูที่ อย่างเวลานี้เป็นยุคของหมู่บ้านจัดสรร คนซื้อบ้านต้องมีครอบครัว มีลูกก็ต้องไปโรงเรียน หมู่บ้านจัดสรรต้องอาศัยโรงเรียน บางแห่งมีกฎข้อบังคับต้องเหลือที่ดิน 7-8 ไร่ เปิดโรงเรียนเพื่อแลกสิทธิประโยชน์บีโอไอ ไม่ต้องเสียภาษี ที่หมู่บ้านสยาม พระสมุทรเจดีย์ ก็แบบนี้ ผมเปิดโรงเรียนสารสาสน์สมุทรสารมีเด็กร่วม 3,000 คน”
สำหรับการลงทุนโรงเรียนแห่งหนึ่งใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน บาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 20-30 ไร่ ประมาณร้อยกว่าล้าน ก่อสร้างอาคารอีก 70-80 ล้านบาท พิบูลย์บอกว่า ธนาคารยินดีปล่อยเงินกู้ อย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลักประกันด้านรายได้จากหลักสูตรสองภาษา ต้องการเงินลงทุนก็กู้ ปีหนึ่งเสียดอกเบี้ยปีละ 70 ล้านบาท
“ปีที่แล้วผมเปิดโรงเรียนที่นครปฐม พระราม 2 เชียงใหม่ ล้านนา บ้านแพ้ว ปีหน้าผมซื้อที่เพชรบุรี ตรงข้ามวิทยาลัยครูราชภัฏ ผมไม่มีเป้าหมาย ดูไปเรื่อยๆ มีคนมาเสนอขายโรงเรียนบ้าง ถ้าดี ก็เอา มีคนเสนอให้ไปเปิดโรงเรียนที่โคราช ชลบุรี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งไกลไป เหนื่อย ตอนนี้ผมเริ่มหันกลับมาโรงเรียนในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี โรงไหนควรปรับปรุงให้ดี เพราะเด็กเพิ่มไม่ใช่น้อย ปรับปรุงแม้กระทั่งครู พัฒนาคุณภาพให้ดีแล้วค่อยออกไปต่อ”
ความที่เป็นทั้งครูและนักบริหารธุรกิจ ทำให้คนในวงการโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ยังรู้จัก “พิบูลย์” ในฐานะมือฟื้นฟูกิจการ
โรงเรียนแห่งไหนมีปัญหาด้านการบริหาร ด้านการเงิน ไม่มี ใครทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนวรมงคล โรงเรียนตรอกจันทร์ชาญเวทย์ โรงเรียนบ้านแพ้ว โรงเรียนกนกอาชีวะ โดยเฉพาะ “กนกอาชีวะ” ที่ผู้บริหารเดิมเจอทั้งปัญหานักเรียนตีกันจนผู้ปกครองไม่ยอมเอาเด็กมาสมัครเรียน จำนวนเด็กลดลงเรื่อยจนอยู่ไม่ได้และขอให้มืออาชีพอย่างเขาเข้ามาช่วยเหลือ
พิบูลย์จัดการล้างภาพ “กนกอาชีวะ” เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสารสาสน์บริหารธุรกิจ กนกอนุสรณ์ ปรับปรุงพื้นที่และบรรยากาศจนได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองในระดับหนึ่ง ปัญหาเด็กตีกันค่อยๆ ลดน้อยลงจนไม่เกิดขึ้นอีก
ส่วน “วรมงคล” เขาย้ายเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งจากสารสาสน์ เอกตราและเปิดหลักสูตรสองภาษา ซึ่งชื่อชั้นของสารสาสน์และค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว ปีละ 70,000 บาทต่อคน ทำให้ “วรมงคล” เกิดใหม่อีกครั้ง
พิบูลย์ยอมรับว่า สารสาสน์โตได้เพราะสองภาษา ถ้าเปิดสอนเฉพาะสายสามัญ อาศัยเพียงเงินค่าเทอมไม่กี่พันบาทและเงิน อุดหนุนจากรัฐ ไม่มีทางขยายสาขาได้มากมาย จากนักเรียนสารสาสน์พิทยารุ่นแรกเพียง 400 คน วันนี้เครือสารสาสน์ทั้ง 27 แห่ง มีนักเรียนรวมเกือบ 70,000 คน เพิ่มขึ้นปีละ 4,000-5,000 คน ซึ่งหมายถึงสารสาสน์ยังขยายได้อีกไม่จำกัด แต่ปัจจัยสำคัญมาจากคุณภาพและการไม่หวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว
“ผมยึดหลัก เงินของซีซาร์ต้องคืนให้ซีซาร์ หมายความว่า เอาเงินของเด็กมาก็สะท้อนกลับไป ไม่ใช่เอากำไรไปทำอย่างอื่น ให้ประโยชน์กับนักเรียนมากเท่าไรจะเจริญมากเท่านั้น ผมโตมาจาก เด็กยากจน ต้องไปอยู่บ้านเณร เป็นครูมาตลอดชีวิต สุดยอดของครูก็คือการทำโรงเรียน ตอนนี้ผมอายุ 76 ใกล้หลุมแล้ว ถ้าผมเกษียณ โรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิด หลังๆ เกิดเป็นสิบโรงเรียน ต่อให้เหลน หลานทำแบบเดิมๆ รอเก็บสตางค์ได้แล้วสร้าง ยังไม่ใหญ่เท่านี้”
พิบูลย์บอกว่า เขาขยายโรงเรียนสารสาสน์ไม่หยุดไม่ใช่ไม่รู้จักพอ ทั้งที่โรงเรียนแห่งเดียวก็กินใช้ได้ไม่หมด แต่ทำเพราะครูส่วนใหญ่ยังลำบาก อยากช่วยครูมีรายได้ ครูมีเงินซื้อรถยนต์ อยู่ดีกินดี
จุดสูงสุดคือครูมีรายได้ดี โรงเรียนไปได้ดี และเด็กมีคุณภาพ ทั้งหมดมาจากความเป็นครูที่เริ่มจาก “ศูนย์” ทำให้ “สารสาสน์” ขยายใหญ่โตได้อย่างทุกวันนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|