จากห้องแถวสู่ Education Complex เหรียญสองด้านสะท้อนระบบการศึกษา

โดย สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

การเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ประเมินตัวเลขเงินสะพัดล่าสุดไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท มีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนมากถึง 6,000 แห่ง แบรนด์หลักๆ เกือบ 50 แบรนด์ ไม่นับรวมกลุ่มติวเตอร์สอนตามบ้านหรือจัดกลุ่มติวตามร้านฟาสต์ฟู้ด หลายธุรกิจเข้ามาเกาะกระแสต่อยอดหารายได้ มีทั้งบริการรถตู้โดยสาร หอพัก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม

ศักยภาพด้านธุรกิจยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการเข้ามา ลงทุนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ทุ่มงบประมูลซื้อตึกธนาคารทหารไทยเก่ามารีโนเวตใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มโรงเรียนกวดวิชา หลังจากอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง “เคมี อ.อุ๊” ลงเงินเกือบพันล้านผุดอาคารวรรณสรณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนจากเถ้าแก่โรงเรียนกวดวิชาสู่นักธุรกิจเจ้าของโครงการ “เอ็ดดูเคชั่นคอมเพล็กซ์” (Education Complex) เต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกัน หากมองเส้นทางธุรกิจกวดวิชา 40 กว่าปี แม้ย้ายทำเลและปรับรูปแบบ แต่ถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย จากยุคแรกๆ มักเป็นการใช้โรงเรียนเป็นสถานที่กวดวิชา เนื่องจากการเปิดโรงเรียนกวดวิชาต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องง่าย หรืออาจเลี่ยงไปใช้ใบอนุญาตโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดและพ่วงสอนพิเศษด้วย

เวลานั้นเริ่มมีตลาดกวดวิชาเกิดขึ้นแถวมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น โรงเรียนพันธะศึกษา แต่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นสถาบัน จนกระทั่งมีนายทุนคนหนึ่งเห็นโอกาสเชิงธุรกิจ เขาดึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนชื่อดังมารวมกลุ่มตั้งสถาบันกวดวิชา “เป๊บ” อยู่ย่านอนุสาวรีย์ โดยเปิดคอร์สการเรียนพิเศษหลากหลาย วิชาแบบครบวงจร

“เป๊บ” ดังมากและประสบความสำเร็จ แต่ผ่านไประยะหนึ่ง ประกอบกับรัฐบาลในสมัยอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจโรงเรียนและต้องการแก้ปัญหาพวกปล่อยเช่าใบอนุญาตที่ปั่นราคาสูงถึงใบละ 5 แสนบาท จึงประกาศแจกใบอนุญาตโรงเรียน กวดวิชา

อาจารย์กลุ่มนี้เริ่มเห็นช่องทางทำธุรกิจ ผันตัวเองจากการเป็นมือปืนรับจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจ เกิดติวเตอร์แบรนด์ใหม่ๆ สอนเฉพาะวิชา โรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นราวดอกเห็ด มีทั้งเช่าห้องแถว และเช่าพื้นที่ในอาคาร อย่างเดอะเบรน อาจารย์ช้าง อาจารย์เจี๋ย

ช่วงนั้น แหล่งใหญ่อยู่ที่สยามสแควร์ซึ่งบูมมากและสามารถ สร้างรายได้ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของที่ดิน แต่ภายหลังเกิดปัญหาสัมปทานและการขึ้นค่าเช่าสูงมากเกือบ 600% ตารางเมตรละ 160,000-200,000 บาท ติวเตอร์หลายรายเริ่มหาที่ทางใหม่ ซึ่งรวมถึง “เคมี อ.อุ๊” ของอนุสรณ์ด้วย

“พอเกิดกรณีค่าเช่าที่สยามสแควร์ กลุ่มพันธมิตรติวเตอร์ โรงเรียนกวดวิชามาคิด กันว่า ถ้าเราเอาเงินที่เคยให้สยามสแควร์มาลงขันหาพื้นที่สักแห่งหนึ่ง เราไม่ต้องเดือดร้อน เพราะแต่ละเจ้าเฉพาะเงินทำสัญญาก้อนแรก เช่าพื้นที่ 2 สัมปทาน 25 ล้าน ต้องปรับปรุงพื้นที่เกือบ 9 ล้าน ทำไปทำมาเกือบ 40 ล้าน ขนาดผมเจ้าเดียว 3 ปี เจ้าอื่นอยู่นานกว่า ปา เข้าไป 70-80 ล้าน เราสามสี่เจ้ามารวมกันซื้อ ที่และบริหารจัดการเอง เราอยู่ยั่งยืน ไม่ต้อง กลัวเจ้าของที่เปลี่ยนนโยบาย” อนุสรณ์กล่าว

จากจุดนั้น อนุสรณ์และพันธมิตรตัดสินใจทิ้ง “สยามสแควร์” ไม่สนโครงการอาคารสยามกิตติ์ที่จุฬาฯ ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถและอาคารพาณิชย์ตรงข้าม โรงแรมโนโวเทล เพื่อรองรับกลุ่มโรงเรียนกวด วิชา โดยมาประมูลซื้อที่ดินเก่าบริเวณสี่แยกพญาไทของครอบครัว รัชชปาลซิงห์ นารูลาและญาติ ซึ่งเกิดปัญหาการแบ่งทรัพย์จนเป็น ความในชั้นศาลผ่านกรมบังคับคดี เมื่อปี 2548 มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้าง “อาคารวรรณสรณ์” จนเปิดให้บริการ ในปี 2550

ปัจจุบันอาคาร 18 ชั้น “วรรณสรณ์” กลายเป็นเอ็ดดูเคชั่นคอมเพล็กซ์แห่งแรกมีโรงเรียนกวดวิชากว่า 20 สถาบัน ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ร้านหนังสือ ธนาคารพาณิชย์ ศูนย์ทันตกรรมและความงาม พื้นที่ใช้สอยรวม 38,000 ตารางเมตร และรองรับนักเรียนได้เกือบ 20,000 คนต่อรอบ

“เดิมไม่ได้คิดทำโครงการใหญ่ ไม่ได้มีเงินมาก คิดว่าขึ้นอาคารสี่ห้าชั้นเพื่อทำเคมี อ.อุ๊อย่างเดียว ไม่ต้องทำอาคารที่จอดรถ แต่ต้องทำอาคารใหญ่เพราะกฎหมายเทศบัญญัติการควบคุมอาคาร ใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2550 ผมเริ่มทำต้นปี 2549 พอรู้ว่า คณะรัฐมนตรีจะเปลี่ยนการอนุญาตการก่อสร้างในที่ดินจาก 10 เท่า เหลือ 7 เท่า เราสร้างไม่เต็มที่จะขยายไม่ได้แล้ว ผมเลยขึ้นเต็มที่ 10 เท่า รองรับธุรกิจในอนาคตของครอบครัว พอสร้างเสร็จเปิดจองพื้นที่เช่าเต็มหมดตั้งแต่วันแรก วันนี้ก็ยังมีคนต่อคิวขอพื้นที่เยอะมาก บางเจ้าต้องไปอยู่อาคารข้างๆ ตรงโนเบิลเฮาส์ บางเจ้า ไปอยู่ตึกซีพี ย่านนี้กลายเป็นย่านกวดวิชาเต็มโหลดใหม่”

นอกจากเปิดตึกดึงโรงเรียนกวดวิชาออกจากสยามสแควร์ได้ส่วนหนึ่งแล้ว อนุสรณ์ยังตั้งอัตราค่าเช่าที่ถูกกว่าหลายเท่าคือเฉลี่ยตารางเมตรละ 450 บาท จ่ายล่วงหน้า 3 เดือน ไม่มีค่าเซ้งและตามสัญญา ปรับขึ้นได้สูงสุดเพียงปีละ 10% ส่วนพื้นที่ค้าปลีก คิด ตร.ม.ละ 800 บาท เขาบอกว่าถ้าไม่มีวรรณสรณ์ในวันนี้ สยามสแควร์ สยามกิตติ์ขึ้นค่าเช่าแพงแน่

จากครูโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยกลายเป็นนักธุรกิจบริหารโรงเรียนกวดวิชา “อ.อุ๊ เคมี” ที่มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศรวม 20 แห่ง ปีนี้เตรียมขยายอีก 3 แห่ง มีอาคารที่พักใน 2 จังหวัดใหญ่ และเป็นเจ้าของโครงการอสังหา ริมทรัพย์ขนาดใหญ่

จุดเริ่มต้นของอนุสรณ์และอาจารย์อุ๊ หรือ อุไรวรรณ ศิวะกุล มาจากการเป็นครูในโรงเรียน โดย อ.อุ๊เคยเป็นครูในโรงเรียนทับหลีสุริยวงศ์ โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญและมาพบกับ “อนุสรณ์” ที่โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย แต่สุดท้ายทั้งสองตัดสินใจทิ้งอาชีพข้าราชการครูมาทำธุรกิจกวดวิชา

บางคนว่า เขาหากินกับเด็ก ซึ่งอนุสรณ์จะโกรธมากกับคำพูดประโยคนี้และมักตอบโต้ทันทีว่า ธุรกิจกวดวิชาเติบโตได้และไม่มีวันเจ๊ง ต้องโทษระบบการศึกษาไทย

“ผมอยากให้พวกผมเจ๊ง แต่เราไม่เจ๊ง เพราะทุกรัฐบาลบริหารเน้นเชิงปริมาณ ไม่ได้เน้นคุณภาพ การศึกษาไทยยังมีปัญหา เราไม่ได้แก้ปัญหาเชิงคุณภาพแก่คนทั้งประเทศ ด้วยศักยภาพความเป็นมนุษย์ เขาเท่าเทียมกัน ไม่ใช่คนเกิดต่างจังหวัดจะโง่กว่า คนกรุงเทพฯ ขณะที่มาตรฐานการศึกษาของเรามีปัญหา ทุกคนชิงโอกาสที่จะให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีตั้งแต่ ม.ต้น เพื่อโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้สำเร็จ ยอมติวลูกตั้งแต่ ป.6 เข้า ม.1 หาโรงเรียนดีให้ลูกเรียนยาวตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ซึ่งนับโรงได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องแข่งกันเข้า นักวิชาการบางคนพูดว่า ระบบการแข่งขัน ทำให้การศึกษาของไทยแย่ พูดอย่างนี้พูดที่ปลายเหตุ”

ประเด็นสำคัญที่อนุสรณ์ย้ำ คือ การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ได้ผลิตครูที่มีคุณภาพ โรงเรียนไม่สามารถมีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการคุณภาพ ถ้าทุกโรงเรียนมีครูที่มีคุณภาพซึ่งสะท้อนถึงการมีผู้บริหารที่ดีด้วย ในอดีตผู้บริหารที่ดีมาจากครูที่ดี แต่ทุกวันนี้ทั้งระบบทำให้ครูมีปัญหา พอครูมีปัญหา โรงเรียนก็มีมาตรฐานต่างกัน ถ้าโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากันหมด เด็กไม่ต้องออ มาเข้าไม่กี่โรงเรียน ทั้งที่ผู้ปกครองทุกคนไม่อยากให้ลูกไปเรียนไกลๆ แต่โรงเรียนใกล้บ้านไม่มีคุณภาพและกลายเป็นที่รวมของเด็กที่ไม่มี คุณภาพ เกิดปัญหาในชุมชน ตีรันฟันแทง ทะเลาะวิวาท

หากเปรียบเทียบ “ครู” กับ “ติวเตอร์” พบว่า ติวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ชื่อดัง 80-90% ไม่ได้เป็นครูแต่เป็นกลุ่มนักศึกษาจบปริญญา ตรี ปริญญาโท สาขาแพทย์ วิศวะ คณิตศาสตร์ระดับเหรียญทองโอลิมปิก เนื่องจากการเรียนการสอนนอกระบบอย่างโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้บังคับครูผู้สอนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ติวเตอร์พวกนี้มีความรู้เชิงลึกในแต่ละสาขาอย่างแท้จริงและถ่ายทอดได้

หัวใจสำคัญของเรื่องจึงอยู่ที่ “ครู” และครูที่เก่งมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องออกมาเปิดโรงเรียนกวดวิชา ถ้ารัฐเปิดพื้นที่และโอกาส มากขึ้น

“ผมว่าหมอเป็นวิชาชีพที่คนอยากเรียนมากที่สุดในประเทศ จบแล้ว การยอมรับมีเกียรติที่สุดในสังคม รายได้ก็ดีที่สุด หมอยังมีพื้นที่ในการหารายได้พิเศษ ถ้าไม่เปิดคลินิกก็ได้เงินเพิ่มจากเงินเดือนอีกหมื่นกว่าบาท คุณได้รักษาในคลินิกพิเศษตามโรงพยาบาล ที่เปิดในอัตราพิเศษ ใครใช้บริการนอกเวลาในคลินิกพิเศษต้องจ่ายค่ายาและค่าบริการที่แพงขึ้น ถามว่า คนที่มีพร้อมทั้งหมด รัฐ ยังเปิดพื้นที่ส่วนนี้ แต่วิชาชีพครูที่เป็นข้าราชการท้ายตารางสุด ถ้าคุณสอนกวดวิชา สอนพิเศษในโรงเรียนมีปัญหา นี่คือรัฐให้โอกาสกับคนที่พร้อมทุกอย่างแต่กับคนที่ไม่พร้อมต้องเสียสละ”

แนวคิดนี้ผิด อย่างตัวเขาเองได้รับเชิญไปบรรยายในฐานะศิษย์เก่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 ชั่วโมง ได้ 6 พันกว่าบาท แต่ครูจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 8 พันกว่าบาท หมื่นต้นๆ ออกมา สอนพิเศษไม่ได้ ครูหลายคนจึงต้องตัดสินใจออกจากโรงเรียนมาทำธุรกิจกวดวิชา

เรื่องนี้จึงเหมือนเหรียญสองด้านที่สะท้อนระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.