สาธิตฟีเวอร์

โดย สุพร แซ่ตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้านับวันเวลาจากโรงเรียนสาธิตแห่งแรกในประเทศไทย คือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2496 มาถึงตอนนี้เกือบ 60 ปี ใกล้วัยเกษียณเต็มที แต่กระแสความนิยมในโรงเรียนกลุ่ม “สาธิต” ยังถือเป็นโรงเรียนอันดับแรกๆ ที่พ่อแม่แทบทุกคนอยากให้ลูกเข้าเรียน

เหตุผล บ้างก็ว่าเป็นการวางแผนระยะยาว ถ้าเข้าโรงเรียนสาธิตได้ถือว่าขาข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้ว บางคนมองว่า เมื่อลูกได้เรียนในโรงเรียนดังๆ มีศิษย์เก่าชื่อดังมากมาย ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ หมอ นักธุรกิจ สามารถสร้างสัมพันธ์ต่อยอดทาง ธุรกิจ ถือเป็นการลงทุนเพื่อซื้อสังคมให้ลูกได้ร่วมรุ่นกับลูกคนดัง บุคคลในสังคมชั้นสูง มีฐานะทางการเงิน

มีน้อยคนที่พูดถึงความเป็นโรงเรียนสาธิตในฐานะ สถาบันฝึกหัดครูของชาติ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการจัด ตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งแรกตามดำริของ ศ.ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อวางโครงการจัดการเรียนสอนเป็นหน่วยสาธิตในแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ต้องยอมรับว่าโรงเรียน มศว ปทุมวัน เป็นต้นแบบที่ สร้างความตื่นเต้นให้วงการศึกษาไทยในยุคสมัยนั้น กลายเป็น แหล่งผลิตหลักสูตรใหม่ๆ และครูชั้นเยี่ยมของประเทศดึงดูดให้เหล่าเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ และชนชั้นกลาง ส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้

มหาวิทยาลัยอื่นๆ จึงเริ่มเปิดโรงเรียนสาธิต รวมถึงสถาบันราชภัฏ หรือวิทยาลัยครูในอดีต โดยวิทยาลัยครูพระนครนำร่องก่อน มีการโอนโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ สังกัดกรมวิสามัญศึกษา เข้ามาสังกัดกรมการฝึกหัดครู ใช้ชื่อว่าโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แผนกสาธิตวิทยาลัยครูพระนคร เมื่อปี 2513 ก่อนเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยม สาธิตวัดพระศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนที่ใช้ชื่อ “สาธิต” จำนวนมาก กลุ่มโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัยรัฐมีทั้งหมด 16 แห่ง สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 23 แห่ง โรงเรียนสาธิต ของเทศบาลวัดเพชรจริกอีก 1 แห่ง และโรงเรียนสาธิตแห่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัย เอกชนแห่งแรก

อย่างไรก็ตาม กระแส “สาธิตฟีเวอร์” ก่อตัวขึ้นอย่าง รุนแรงและยาวนาน เฉพาะโรงเรียนสาธิตไม่กี่แห่ง การสอบ มีอัตราการแข่งขันสูง ชนิด 1 ต่อ 300 บางโรงเรียนสูงถึง 1 ต่อ 1,000 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงการแข่งขัน

ช่วงแรก การสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ ป.1 กลุ่มท็อปทรี ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียน สาธิต มศว ประสานมิตร

ส่วนช่วงที่ 2 การสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.1 ได้แก่ โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน, สาธิต มศว ประสานมิตร และสาธิตรามคำแหง

พอถึงฤดูกาลการสอบแข่งขันจึงมักมีเสียงเล่าลือเกี่ยวกับเงินใต้โต๊ะ ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินบริจาคและการวิ่งเต้นในกลุ่มผู้บริหาร ใช้เส้นสายนักการเมือง รัฐมนตรี ต่อสายคณบดี ผู้อำนวยการและอาจารย์ แต่ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง ยังไม่มีใครกล้าพูดอย่างเต็มปาก

แท้จริงแล้ว เงื่อนไขการสมัครสอบโรงเรียนในกลุ่มสาธิตเป็นที่รู้กันในกลุ่มผู้ปกครอง คือ นอกจากการสมัครสอบตามปกติแล้วยังมีการสมัครผ่านโครงการสวัสดิการการศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดไว้ให้ลูกหลานบุคลากรของมหาวิทยาลัย เช่น สาธิตจุฬาฯ มีโควตา 150 คน แต่มีลูกหลานบุคลากรสมัครไม่เต็ม ผู้บริหารโรงเรียนจึงเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ และถือเป็นการใช้สิทธิ์ของบุคคลภายนอก พ่อแม่ผู้ปกครองที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการส่วนนี้ตามเงื่อนไขต้องจ่ายเงินค่าสิทธิ์สวัสดิการเพิ่มจากค่าเล่าเรียนอีกคนละ 50,000 บาทต่อปี

เช่นเดียวกัน หากอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีลูกเรียนในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โดยใช้สิทธิ์สวัสดิการสงเคราะห์ เมื่ออาจารย์คนดังกล่าวลาออกจากการเป็นอาจารย์ แต่ลูกยังเรียนอยู่เหมือนเดิมก็ต้องจ่ายเงินค่าสิทธิ์สวัสดิการปีละ 50,000 บาทจนจบการศึกษา

กว่าจะได้ที่นั่งในโครงการสวัสดิการนี่แหละ คือ ตัวปัญหาที่ถูกตั้งข้อครหากันไม่จบ เพราะมีเกณฑ์กำหนดให้ผู้ปกครองทำความดีสะสมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อนำเสนอคณะกรรมการโรงเรียน

“ความดี” ที่ว่ามีหลายรูปแบบ ทั้งในแง่แรงกาย ในแง่สมอง และในแง่ปัจจัย เช่น เป็นผู้ปกครองอาสาสมัครทำโครงการต่างๆ คิดค้นหรือออกแรงจัดเตรียมงานต่างๆ หรือให้ทุนนิสิตคณะต่างๆ แน่นอนว่า มีผู้ปกครองต่อคิวขอสิทธิ์เกินกว่าจำนวนที่นั่งที่เหลือจากบุคลากรจุฬาฯ ทุกปีและมีผู้พลาดโอกาส ซึ่งต้องไปลุ้นผลการสอบที่จัดพร้อมกันทั้งหมด

อดีตอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คนหนึ่งเล่าว่า โครงการนี้เป็นลักษณะปากต่อปาก ผู้ปกครองต้องทำความดีสะสมล่วงหน้าถึง 2 ปี คนที่ไม่รู้ไม่มีทาง แม้ทุ่มเงินถึงสิบล้านบาทหรือยกที่ดินให้โรงเรียนก็ไม่มีทางได้ ขณะเดียวกัน โครงการนี้อาจไม่เปิดในบางปี ถ้ามีลูกหลานบุคลากรจุฬาฯใช้โควตาเต็ม เด็กทุกคนก็ต้องสอบทั้งหมด

หรือ “สาธิต มศว ปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตเบอร์ 1 ของเด็ก ป.6 ที่สอบเข้า ม.1

ที่นี่แยกการสอบเป็น 3 กระดาน กระดานแรก “สอบ” ซึ่งปกติเปิดรับปีละ 120 คน กระดานที่ 2 โควตานักเรียนสาธิตประถมเดิม จำนวนครึ่งชั้น หรือประมาณร้อยกว่าคน และกระดานที่ 3 โควตานักเรียนในโครงการศึกษาวิจัยอีกร้อยกว่าคน หรือผู้มีอุปการคุณ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน มีคณะกรรมการดูแลตรวจสอบและมีรายชื่อจ่อคิวเกินโควตาทุกปี

หากไม่นึกถึงค่านิยมและดูเฉพาะการจัดการเรียนการสอนแนวสาธิต โดยเฉพาะระดับอนุบาล แนวของสาธิตไม่ได้ต่างจากโรงเรียนอนุบาลและประถมทั่วไป เพราะสอนเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กเหมือนกัน การสอบเข้าโรงเรียน กลุ่มสาธิตก็เน้นการวัดความพร้อมของเด็กก่อนเข้าสู่ช่วงประถม ไม่ใช่การวัดความรู้หรือความเก่ง

แต่จุดที่อาจารย์หรือศิษย์เก่าจากโรงเรียนในกลุ่มสาธิตระบุว่าแตกต่าง คือ โรงเรียนสาธิตเน้นการสอนที่มุ่งให้เด็กรู้จักคิดมากกว่าท่องจำ ให้อิสระในการคิด กล้าแสดงออก และมีเหตุผล

เอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเด็กสาธิตและการศึกษาในระยะยาว ยิ่งถ้าเด็กสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตชื่อดังตั้งแต่ระดับประถม นั่นหมายถึงการศึกษาต่อเนื่อง 12 ปี จนถึงระดับมัธยมและมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่โรงเรียนสาธิตแห่งนั้นสังกัดมากกว่าโรงเรียนทั่วไป

ตรงนี้ถือเป็น “จุดขาย” สำคัญ

ผู้ปกครองหลายคนวางแผนการศึกษาให้ลูกตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยเหมือน “กอบกุล แป้นทอง” ตอนนี้ลูกสาวคนโตของเธอเรียนโรงเรียนสาธิตชื่อดัง ชั้น ม.3 และเตรียมแผนสอบเข้า ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนโรงเรียนเครือคาทอลิก ชั้น ป.3

ลูกคนแรกตั้งเป้าเข้าโรงเรียนสาธิต สมัครสอบโรงเรียนสาธิต มศว ประสาน มิตร ซึ่งเปิดรับเด็กระดับอนุบาล 3 แต่สอบไม่ติด

เมื่อลูกจบ อ.3 เป้าหมายต่อไปอยู่ที่โรงเรียนสาธิตฯ ที่เปิดสอบชั้น ป.1 ครั้งนี้ลูกเข้าคอร์สเรียนพิเศษในโรงเรียน กวดวิชาสอบเข้าโรงเรียนสาธิตคอร์สละ 50,000 บาท ให้ครูที่โรงเรียนอนุบาล สอนพิเศษในช่วงนอนกลางวัน ขณะที่เธอทบทวนให้ลูกอีกครั้งที่บ้าน

การสอบครั้งนั้น เธอกันพลาดด้วยการสมัครเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกชื่อดัง โดยบริจาคเงินเข้าโครงการช่วยเหลือโรงเรียนอย่างเต็มใจรวมกับค่าเล่า เรียนประมาณแสนกว่าบาท ผลปรากฏ ว่า ลูกสอบติดโรงเรียนสาธิตฯ เธอตัดสินใจทิ้งเงินแสนกว่าบาทนั้นทันที

ส่วนลูกคนที่สอง แม้วางแผนรูปแบบเดียวกัน แต่สอบไม่ติด สาธิตฯ เธอให้ลูกเข้าโรงเรียนชื่อดังในเครือคาทอลิกแทน เพราะเด่นด้านภาษา ซึ่งประสบการณ์จากการมีลูกเรียนสาธิตและคาทอลิก เธอบอกว่า “เด็กเซนต์มาแตร์ พ่อแม่เป็นนักธุรกิจ เด็กสาธิต พวก ผู้ดีเก่า”

แม้แรกๆ การสนับสนุนให้ลูกเรียนในโรงเรียนสาธิตคิดถึงเฉพาะเรื่องการเรียนการสอน แต่การรู้จักกลุ่มพ่อแม่ของเพื่อนๆร่วมชั้นเรียนของลูก บางคนเป็นนักธุรกิจ แพทย์ คนมีชื่อเสียง ทำให้ เธอเริ่มเห็นประโยชน์ของการมีสายสัมพันธ์หรือคอนเนกชั่นกับคนมี ชื่อเสียง

“เราไม่เคยคิดถึงเรื่องคอนเนกชั่น แต่พอเข้ามาในเพื่อนกลุ่ม ที่ทำงานด้วยกัน ถามกันจบที่ไหน พอรู้ว่าลูกเรียนสาธิตฯ ก็เริ่มถามว่ารู้จักคนนั้นคนนี้ เพื่อนเก่า และมีผลในการทำงานวงการธุรกิจ อย่างกลุ่มเพื่อนสนิทของลูกสาว พ่อแม่เป็นหมอหมด ลูกเราเลยอยากเป็นหมอ ลูกคนดังหมด เป็นสังคมดี ลูกหมอ ลูกข้าราชการ ลูกนักธุรกิจ ซึ่งสังคมในโรงเรียนคาทอลิกก็ไม่ค่อยต่างกัน ทุกคนมาจากพื้นฐานสังคมที่ดี”

กอบกุลยังพูดถึงหลักสูตรสาธิตทำให้ลูกเรียนแบบมีความสุข ไม่เคยร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน ที่นี่มีการเปลี่ยนชั้นเรียนทุกปีและส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น เลือกวิชาเรียนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่โรงเรียน ทั่วไปไม่มี ในแง่วิชาการเน้นตามหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็ก ไม่เน้นการเรียนพิเศษ สิ่งที่ได้คือ เด็กรู้จักคิด รู้จักกติกา รู้จักผิดหวัง พลาดแล้วพยายามใหม่ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (อีคิว) ซึ่งเด็กยุคนี้ ขาดมากๆ

อย่างไรก็ตาม ลูกสาวคนโตมีแผนสอบเข้า ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพราะวิชาการเข้มข้น สังคมเป็นเด็กตั้งใจเรียนและทุกคนมีเป้าหมายสูงสุด คือ สอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เธอว่า นี่เป็นค่านิยมยอดฮิตในหมู่ผู้ปกครอง “ประถมดีที่สุดต้องสาธิตจุฬาฯ มัธยมต้องสาธิตปทุมวัน ม.4 ต้องเตรียมอุดม” ถ้าเดินได้ตามเส้นทางนี้ โอกาสเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือ มศว อยู่แค่เอื้อม

ดังนั้น หากมองในมุมการตลาดแล้ว ชื่อ “สาธิต” จึงเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ จนโรงเรียนเอกชนหลายแห่งเกาะกระแสหยิบชื่อมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัย ไม่มีการฝึกหัดครู ส่วนใหญ่กล่าวอ้างถึงการนำแนวคิด ของโรงเรียนสาธิตมาใช้ในการเรียนการสอน

แม้กระทั่ง “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต” ซึ่งประกาศตัวเป็นโรงเรียนสาธิตในสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกนั้น ความจริงคือ ความพยายามผสมผสาน “จุดขาย” ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ โดยนำบทเรียนจากการเปิดโรงเรียนนานาชาติ บริติช อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จังหวัดภูเก็ต มาสร้างจุดขายใหม่และ สร้างตลาดใหม่เมื่อ 7 ปีก่อน กลายเป็นโรงเรียนสองภาษาแบบนานาชาติและใช้ชื่อ “สาธิต” สร้างแบรนด์ขึ้นมา

ดร.อาทิตย์ระบุว่า นี่เป็นการพัฒนาต้นแบบใหม่ของโรงเรียน สองภาษาที่เป็นสาธิตแห่งแรกและตั้งเป้าเป็นผู้นำโรงเรียนสองภาษา ในประเทศไทย ภายใต้หลักสูตรที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเด็กไทย และต้องการทำการศึกษาแบบครบทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดม ศึกษา

“เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ภูเก็ต เราดูข้อด้อยของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งกระแสเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ใครมีเงินต้องเรียนอินเตอร์ แต่เมื่อนักเรียนที่จบจากโรงเรียนนานาชาติ ข้อด้อยอย่างแรกคือ เขาไม่มีสังคมไทย เขาเรียนอยู่ในเมืองไทย แต่เขียนภาษาไทยไม่ได้ เขาไม่รู้จักขนบธรรมเนียนวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน จุดอ่อนของหลักสูตรไทย เด็กยังคิดวิเคราะห์ในเชิงลึกไม่ได้เท่ากับเด็กที่จบเมืองนอก เราจึงเอาหลักสูตรทั้งสองมาผสมผสานกัน” ดร.อภิรมน อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการโรงเรียนสาธิตฯรังสิตกล่าว

การผสมผสานยังรวมถึงค่าเล่าเรียนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างโรงเรียนสองภาษากับโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งกลยุทธ์นี้สามารถดึงเด็กจากผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงเด็กที่พลาดหวังจากโรงเรียน สาธิตของรัฐ

อภิรมนเชื่อว่า ชื่อ “สาธิต” ยังขลังได้อีกยาวไกล อย่างสาธิต จุฬาฯ เปิดมากี่สิบปีแล้วก็ยังมีผู้ปกครองอยากให้ลูกเรียน ยอมให้เงินสนับสนุนโรงเรียน เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

เธอพูดตามหลักเศรษฐศาสตร์ “มีดีมานด์ ย่อมมีซัปพลาย มีคนจ่ายก็มีต้องมีคนรับ”

กรณีโรงเรียน “สาธิตพัฒนา” ที่ถูกมองภาพเป็นแฟรนไชส์ “สาธิตจุฬา” เนื่องจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาช่วยจัดตั้งโรงเรียนให้เอกชน

จุดเริ่มต้นเกิดจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็น อดีตผู้ปกครองนักเรียนสาธิตฯ จุฬา มองเห็นกระแสความนิยมและมีแนวคิดอยากสร้างโรงเรียนที่ดีที่สุด ซึ่งระบบสาธิต คือ หนึ่งในระบบที่ดีที่สุดในความคิดของเขา

เขาวิ่งเต้นเสนอคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จนได้ข้อตกลงในยุค รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นคณบดี เมื่อปี 2549 เนื่องจาก รศ.ดร.พฤทธิ์มีแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายโรงเรียน สาธิตไปทั่วประเทศ เพื่อรองรับเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องการเรียนในโรงเรียนสาธิต โดยคณะครุศาสตร์ให้ความร่วมมือ 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดระบบบริหารโรงเรียนและระบบประกันคุณภาพ การทำหลักสูตร ระบบการจัดการเรียนสอนและการนิเทศ การกำหนดมาตรฐานบุคลากรและอัตราเงินเดือน การรับนักเรียน การคัดเลือกบุคลากรและการพัฒนาหลักสูตร ภายใต้สัญญา 3 ปี

เมื่อครบสัญญา 3 ปี ผู้บริหารเอกชนดึง รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาการ จัดตั้งโรงเรียนเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเต็มตัว ล่าสุดมีการขยายการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาและวางแนวคิดขยายโรงเรียนให้ครบสี่ภูมิภาค เหนือ ใต้ กลาง และอีสาน รวมทั้งโครงการขายแฟรนไชส์ “สาธิตพัฒนา” ทั้งหลักสูตร

“สาธิตพัฒนา” หรืออีกนัยหนึ่งที่กลุ่มผู้บริหารต้องการสื่อจุดขายการเป็นโรงเรียนสาธิตเอกชนที่มีการพัฒนาหลักสูตร โดยเพิ่มความเข้มข้นเรื่องภาษาอังกฤษ จัดการเรียนการสอนแบบรายตัวในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คือเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือก เรียนวิชาตามความต้องการ และเตรียมเปิดโครงการอีเลิร์นนิ่ง ส่งนักเรียนที่เลือกเรียนภาษาต่างประเทศไปใช้ชีวิตในประเทศเจ้าของ ภาษาและเรียนเนื้อหาวิชาอื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์

ปัจจุบัน ที่นี่มีนักเรียนทั้งหมด 929 คน แบ่งเป็นระดับชั้นอนุบาล 429 คน ประถม 419 คน และมัธยม 81 คน โดยใน 81 คน อยู่ในระดับชั้น ม.4 จำนวน 22 คน และ ม.5 เพียง 5 คน แบ่งเป็นสายศิลป์ภาษาญี่ปุ่น 2 คน สายวิทยาศาสตร์ 2 คน และสายศิลป์-ภาษาจีนอีก 1 คน ซึ่งเด็กทั้งห้าคนกลายเป็นความหวังของโรงเรียน เพื่อพิสูจน์หลักสูตร ระบบบริหารและธุรกิจ

ความหมายของโรงเรียนสาธิตในวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่สถานฝึกหัดสร้างครูที่ดีที่สุดของประเทศ แต่กลายเป็น “แบรนด์” ที่ถูกหยิบไปใช้ทางธุรกิจที่ดีที่สุดนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.