เจ้าของกิจการหญิงช่วยผลักดันเศรษฐกิจ

โดย ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) ในการจัดประชุม Pre-G20 Event ในหัวข้อ Growing Economies through Women’s Entrepreneurship เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงที่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

ในการประชุมครั้งนี้มีทั้งหมด 20 ประเทศด้วยกันที่เข้าร่วม ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม G20 อย่างเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา เป็นต้น ทุกประเทศในกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง จะช่วยกันสนับสนุนให้ผู้หญิงได้มีโอกาสที่เป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศในกลุ่ม G20 หันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนนักธุรกิจหญิงก็เพราะว่าบริษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารโลก (World Bank) ได้รายงานว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศส่วนใหญ่ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม OECD นั้น ผู้หญิงจะมีความคิดริเริ่มในการทำธุรกิจเร็วกว่าผู้ชาย และธุรกิจเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยให้มีตำแหน่งงานว่างมากขึ้น จำนวนคนที่ว่างงานก็ลดน้อยลงและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ที่แคนาดา มีจำนวนผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ชายเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก และขนาดกลาง IFC ยังได้รายงานเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น ปัจจุบันมีผู้หญิง เป็นเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and medium enterprises หรือ SME) ประมาณ 8-10 ล้านคน เรียกได้ว่าผู้หญิงเป็นเจ้าของ กิจการ SME ประมาณ 38% ของจำนวนธุรกิจ SME ทั้งหมด และ 21% เป็นเจ้าของบริษัทขนาดกลาง

ในรายงานยังระบุอีกว่า ในบางประเทศยังพบว่า บริษัทที่มีเจ้าของกิจการเป็นผู้หญิงนั้นจะเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าบริษัทที่มีผู้ชายเป็นเจ้าของ กิจการ เช่นที่อเมริกา บริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการจะสามารถเติบโตได้เร็วกว่าเป็นสองเท่าของบริษัทที่มีผู้ชายเป็นเจ้าของ และบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมดยังสามารถช่วยให้มีตำแหน่ง การจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 23 ล้านตำแหน่งด้วยกัน ซึ่งตำแหน่งงานเหล่านี้ยังช่วยทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก

การที่มีจำนวนผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจ SME มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะธุรกิจ เหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ดีขึ้น และ ยังช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่าง ชายหญิงและช่วยให้ชื่อเสียงของประเทศในเรื่องนี้ดีขึ้นอีกด้วยเพราะว่าในทุกๆ ปี จะมีการจัดอันดับประเทศที่มีช่องว่างระหว่างชายหญิงน้อยที่สุดในสังคม

เพียงแต่ว่าการที่จำนวนเจ้าของธุรกิจหญิงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่า พวกเธอเหล่านี้ ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคกันในสังคม ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ และทำให้ในที่สุดอาจจะมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศได้

ปัญหาหลักๆ 2 อย่างที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญเหมือนกันคือ 1) ผู้หญิงมักจะขาดประสบการณ์ในการทำงาน ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะได้ทำงานที่ไม่ค่อยมั่นคง หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง เช่น พนักงานฝ่าย บุคคล ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์การทำงานในการทำธุรกิจและ เสียเปรียบผู้ชายที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมากกว่า เมื่อผู้หญิงขาดประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ผู้หญิง ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งเน้นไปที่งานทางด้านการบริการเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายรองเท้า และร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยจะทำให้เกิดผลกำไร ทำให้ผู้หญิงต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องการเงินเป็นลำดับต่อมา

2) ผู้หญิงมักจะถูกจำกัดสิทธิในเรื่องการเงิน เช่น ในบางประเทศผู้หญิงไม่สามารถกู้เงินหรือเปิดปัญชีธนาคารในชื่อของตัวเองได้ นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีจุดอ่อน อยู่ที่ธุรกิจที่ทำเป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ดังเช่นที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ผู้หญิงจะเน้นไปที่งานด้านบริการ ซึ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือสำหรับทางธนาคารในการที่จะปล่อยให้กู้ยืมเงิน ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถขยายกิจการของตัวเองให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ และปัญหานี้ยังทำให้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากหันไปหาแหล่งเงินทุนจากที่อื่น และมีจำนวน น้อยที่จะเข้าไปติดต่อธนาคารเพื่อทำเรื่องกู้เงิน

จากการศึกษาของ IFC ในเรื่องของการเงินพบว่า มีจำนวนผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศกำลังพัฒนาน้อยมากที่ไปทำเรื่องขอกู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อมาลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ และในหลายๆ ประเทศ เจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราที่สูงกว่าและมีระยะเวลาในการขอกู้ยืมเงินได้น้อยกว่าเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ชาย

เช่น มีผู้หญิงประมาณ 76% ที่ตูนิเซีย 62% ที่อาหรับเอมิเรตส์ และ 59% ที่จอร์แดน ถูกธนาคารปฏิเสธที่จะให้กู้ยืมเงินไปลงทุนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ก็จะเข้าไปติดต่อกับธนาคารเพื่อขอกู้ยืมเงินมาลงทุนในอัตราส่วนที่เกือบจะเท่ากับผู้ชาย และส่วนใหญ่ธนาคารก็จะอนุมัติให้กู้ยืมเงินได้ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า และสามารถมองเห็นผลกำไรได้อย่างชัดเจน

สำหรับกรณีของประเทศที่กำลังพัฒนานั้น นอกจากปัญหาเรื่องของการขาดประสบการณ์และการเงินแล้ว ปัญหาที่ผู้หญิงเหล่านี้จะต้องเผชิญอีกด้วยคือ เรื่องของสิทธิการถือครองทรัพย์สินและเป็นเจ้าของกิจการ เพราะในบางประเทศมีกฎหมายว่า ถ้าผู้หญิงแต่งงานแล้วจะไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินใดๆ ได้ โดยเฉพาะบ้านและที่ดิน และในบางประเทศยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีบัตรประชาชนได้ จึงทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไปติดต่อขอกู้ยืมเงินจากธนาคารได้

ดังนั้นความเสียเปรียบ ของผู้หญิงในเรื่องการขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจและการเงิน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงขาดโอกาส ที่จะมีกิจการของตัวเองและขยายกิจการให้ใหญ่โตได้ ปัญหาเหล่านี้ยังอาจจะส่งผลให้จำนวนผู้หญิงที่เป็นเจ้าของ ธุรกิจลดน้อยลงอีกด้วยในอนาคต เพราะตอนนี้ในบางประเทศก็เริ่มที่จะมีเจ้าของกิจการหญิงลดน้อยลง

ยกตัวอย่างเช่น ในบาง ประเทศของกลุ่มประเทศใน OECD มีผู้หญิงเพียงแค่ 2.3% ที่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ในขณะที่มีจำนวนผู้ชายถึง 6% ด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นจำนวนตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนว่า แม้จะเป็นประเทศ ที่พัฒนาแล้ว จำนวนผู้หญิงที่จะเป็นเจ้าของกิจการก็ยังมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ชาย

ผู้หญิงสามารถเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการช่วยทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นได้ ปัญหาที่กล่าว มาจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจในการแก้ไข หลังจากที่การประชุมครั้งนี้จบลง อเมริกาจึงได้ออกมายืนยันว่า อเมริกาจะสนับสนุนให้เจ้าของกิจการหญิงหรือผู้บริหารธุรกิจหญิงมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้นและได้รับโอกาสมากขึ้นในสังคม ซึ่งน่าจะช่วยให้มีจำนวนผู้หญิงที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเพิ่มมากขึ้น และเรื่องนี้ยังจะช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

นอกจากนี้ IFC ยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องของการขาดประสบการณ์และปัญหาทางการเงินไว้ด้วยกัน 3 วิธี คือ 1) รัฐบาลควรจะมีนโยบาย สนับสนุนให้ธนาคารอนุมัติการกู้ยืมเงินให้กับผู้หญิงที่ทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางง่ายขึ้น โดยเฉพาะเวลา ที่ผู้หญิงเข้ามาขอกู้ยืมเงินเพื่อไปเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจ หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยให้เจ้าของธุรกิจเหล่านี้มีทางเลือกมากขึ้นในการกู้ยืมเงิน 2) รัฐบาลควรที่จะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของธุรกิจและการเงินสำหรับผู้ที่สนใจจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง 3) รัฐบาลควร มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น 5) ถ้าหากเจ้าของธุรกิจหญิงท่านใดที่ประสบ ความสำเร็จ รัฐบาลควรจะให้การสนับสนุนให้เจ้าของ ธุรกิจท่านนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้หญิงคนอื่นๆ เพื่อที่นักธุรกิจท่านอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจจะได้มีกำลังใจและยังมีแบบอย่างของผู้ที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันในบ้านเราก็มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่หันมาให้ความสนใจในการมีกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นของตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจ หญิงในบ้านเราก็คงต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เช่นกัน รัฐบาลควรที่จะหันมาให้ความสนใจและส่งเสริม ให้ผู้หญิงเหล่านี้สามารถกู้ยืมเงินและขยายกิจการของตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เศรษฐกิจ ในบ้านเราต้องรีบฟื้นฟูหลังจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ เจ้าของธุรกิจหญิงจึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติในครั้งนี้ได้

ข้อมูลอ้างอิง:
- International Finance Corporation (2011) Strengthening Access to Finance for women-owned SMES in developing countries, http://www.gpfi.org/sites/default/files/documents/Strengthening.pdf


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.