|
ฝ่าวิกฤติแผ่นดินไหวด้วยร้านค้าคอนเทนเนอร์
โดย
ชาญ เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
หนึ่งในนิยายไทยที่ผมชอบเป็นพิเศษ คือ คนเริงเมือง ของอาจารย์สุวรรณี สุคนธา เพราะคุณสุวรรณีไม่ได้เขียนแค่เล่าเรื่องชีวิตนางเอก แต่เธอยังสอดแทรกประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพฯ ในอดีตให้ผู้อ่านได้รู้ไปด้วย หนึ่งในสิ่งที่คุณสุวรรณีเขียนถึงสำหรับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ สมัยนั้นมีเครื่องบินของศัตรูมาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ บ่อยๆ เครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมื่อไหร่ จะมีชาวบ้านที่บ้านพัง อาคารพาณิชย์พัง ไม่สามารถประกอบธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง เรื่องจะสร้างตึกใหม่ทันทีเพื่อจะได้เปิดธุรกิจใหม่ให้เร็วที่สุด เลิกคิดไปได้ เพราะถ้าไม่มีประกันก็คงจะไม่มีเงินจะสร้างใหม่ ถึงจะมีประกัน ประกันก็ไม่มีทางจะอนุมัติให้สร้างตึกใหม่ได้ในช่วงสงคราม เพราะถ้าสร้างเสร็จแล้วเจอเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตึกพังอีก ประกันก็ต้องมาเสียเงินสร้างใหม่ให้อีก ผู้เสียหายต้องรอจนกว่าสงครามจะยุติ ถึงจะสามารถสร้างอาคารพาณิชย์ใหม่ได้
ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตของผมจะได้มาเห็น สถานการณ์แบบนี้ด้วยตาตัวเองที่ประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากเมืองไครส์เชิร์ชถูกแผ่นดินไหวใหญ่ 7.1 ริกเตอร์ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2553 มีร้านค้ามากมายที่อาคารพังไปเพราะแผ่นดินไหว บรรดาร้านค้าอื่นๆ ที่รอดพ้นจากแผ่นดินไหว ตอนแรกก็ดีใจว่าตัวเองโชคดี เพราะจำนวนร้านค้าที่ลดลงไป มากมาย หมายความว่าตัวเองจะได้ลูกค้าใหม่จากร้านที่พังไปมาเป็นลูกค้าของตัวเอง ส่วนโอกาสที่ร้านที่อาคารพังไป จะเปิดใหม่แล้วเอาลูกค้าประจำของเขากลับไปในช่วงนี้ ลืมไปได้เลย เพราะว่าบริษัท ประกันประกาศออกมาชัดเจนว่า หากแผ่นดินยังไม่หยุดไหวจะไม่มีการสร้างตึกอะไรใหม่ทั้งนั้น เจ้าของ ธุรกิจหลายคนที่ร้านค้าตัวเองรอดจากแผ่นดินไหวใหญ่ในครั้งแรก ต่างก็หวังว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกติดต่อกันไปอีกนานๆ เรื่อยๆ จะได้ยังไม่มีการสร้าง ตึกใหม่ คู่แข่งของตัวเอง จะได้ไม่มีโอกาสจะเปิดร้านใหม่ในช่วงนี้ ตัวเองจะได้กอบโกยได้เยอะๆ
แต่แล้วเจ้าของธุรกิจที่เคยดีใจที่ร้านตัวเองรอดพ้นจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรก หลายคนก็ต้อง ช็อก เมื่อมีแผ่นดินไหวใหญ่ 6.3 ริกเตอร์ในอีก 6 เดือนต่อมา และยังมีแผ่นดินไหวใหญ่ 6.0 ริกเตอร์ ในเวลา 4 เดือนต่อจากนั้น ทำเอาร้านค้าถล่มกันครั้งใหญ่อีก 2 ระลอก มีหลายเขตที่ทางการสั่งปิดห้ามคนเข้า เพราะต้องซ่อมแซมเมือง ร้านค้าจำนวน มากที่เคยดีใจที่ตัวเองรอดจากแผ่นดินไหวครั้งแรก คราวนี้ร้านตัวเองถึงคิวถล่มบ้าง หรือว่าโซนเมืองที่ร้านตัวเองอยู่ถูกสั่งปิด เข้าไปเปิดร้านไม่ได้กับเขาบ้าง ก็พูดไม่ออก เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ที่ตึกถล่มไป จากที่เคยหวังว่าอาฟเตอร์ช็อกจะสั่นไม่หยุดไปเรื่อยๆ นานๆ ก็ต่างหวังว่าขอให้แผ่นดินมันหยุดสั่นสักที ประกันจะได้อนุมัติให้มีการสร้างตึกใหม่ แล้วตัวเอง จะได้กลับไปเปิดธุรกิจใหม่เร็วๆ
ก็อย่างที่เล่าให้ฟังนั่นแหละครับว่า กว่าประกัน จะแน่ใจว่าแผ่นดินจะหยุดไหว แล้วอนุมัติให้สร้างอาคารพาณิชย์ใหม่ก็คงอีกเป็นปีๆ มีธุรกิจจำนวนมากที่ไม่สามารถเปิดได้ เพราะร้านพังไป หรือไม่ก็อยู่ในโซนเมืองที่ถูกปิดอยู่ กว่าที่รัฐบาลจะซ่อมเมือง เสร็จแล้วเปิดให้เข้าไปได้ใหม่ก็คงอีกนาน ฉะนั้นในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด ที่ร้านพังไป และสร้างตึกใหม่ไม่ได้ พวกเจ้าของธุรกิจก็เลยมาปรึกษากันว่าจะทำยังไงดี ในช่วงเวลาที่ร้านของตัวเองยังเปิดไม่ได้ชั่วคราว และกำลังรอให้ตึกถูกสร้างขึ้นมาใหม่
ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เกิดแผ่นดิน ไหวบ่อย ฉะนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนเมืองพังต้องปิดเมืองซ่อมแซมเป็นปีๆ จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงมากๆ จนถึงกับต้องสร้างเมืองกันใหม่เลย เคยเกิดขึ้นที่เมืองเนเปียร์ (Napier) ในปี 1931 ซึ่งความแรงถึง 7.8 ริกเตอร์ และสั่นเป็นเวลาถึง 2 นาทีครึ่ง ที่ร้ายกว่านั้น คือเกิดไฟไหม้ในร้านค้าร้านหนึ่งในโรงแรมในเมืองในตอนนั้นพอดี ขณะนั้นลมแรงมาก ลมเลย พัดไฟให้ไหม้ลามไปทั้งเมือง แค่อาคารพาณิชย์ที่พัง จากแผ่นดินไหวก็เยอะมากอยู่แล้ว แต่อาคารไหนที่ยังรอดจากแผ่นดินไหวไปได้ ยังไงก็เสร็จอยู่ดี เพราะสุดท้ายไฟไหม้จากโรงแรมก็ลามมาถึง ถ้าอาคารไหน ยังไม่วอดวายจากแผ่นดินไหว ก็ได้วอดวายตอนไฟลามมาถึงแทน ซึ่งก็เลยต้องมีการสร้างเมืองใหม่ ใช้เวลานานกว่า 2 ปี
เนื่องจากกลางเมืองเนเปียร์วอดวายหมดจำเป็นต้องมีการสร้างร้านค้าให้ผู้ประกอบการธุรกิจ มีสถานที่ประกอบการธุรกิจและมีรายได้ชั่วคราว จึงมีการใช้ที่ดินตรงสวนสาธารณะกลางเมืองสร้างเป็นสถานที่สำหรับสำนักงานและร้านค้า โดยใช้วัสดุที่เรียกว่า สังกะสีลูกฟูก (Corrugated Iron) ซึ่งเป็นเหล็กอ่อนๆ ที่ใช้มุงหลังคามาสร้างเป็นอาคาร ชั่วคราว เพื่อให้ร้านค้าและสำนักงานได้เปิดกิจการได้ในขณะที่เมืองต้องปิดไป โดยชาวเนเปียร์เรียกร้านค้าชั่วคราวนี้ว่า Tin Town ถ้าแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยก็คือ เมืองดีบุก ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเลือกเรียกว่าดีบุก เพราะจริงๆ อาคาร ชั่วคราวสร้างด้วยเหล็ก จึงขอเดาว่าการเลือกใช้คำว่า Tin Town เรียกง่ายจำง่ายดีกว่าการใช้คำว่า เมืองสังกะสีลูกฟูก (Corrugated Iron Town) ซึ่งแค่คำว่า Corrugated คำเดียวก็เป็นศัพท์ที่เรียกยาก จำยาก แล้ว อย่างไรก็แล้วแต่เมืองดีบุกนี้ก็เป็นสถานที่ที่ชาวเมืองเนเปียร์ทำงานและทำธุรกิจอยู่ถึง 2 ปีจนเมืองใหม่สร้างเสร็จ เจ้าของธุรกิจและสำนักงานต่างๆ จึงย้ายกลับเข้าไปในอาคารของพวกเขาอีกครั้ง
ชาวเมืองไครส์เชิร์ชจะได้ไอเดียนี้มาจากเมือง ดีบุกที่เนเปียร์หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ แต่ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรวบรวมเงินทุนสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ ของผู้ที่ถูกผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ต้องการเข้าไป เปิดร้านค้าในเขตกลางเมืองไครส์เชิร์ช ซึ่งเป็นเขตหนึ่งที่ทางการปิดซ่อมแซมและยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปได้ ซึ่งร้านค้าและธุรกิจในเขตกลาง เมืองไครส์เชิร์ช มีจำนวนถึง 27% ของธุรกิจในเมือง ไครส์เชิร์ช ขณะนี้ไม่สามารถเปิดกิจการได้เลยเพราะ กลางเมืองถูกปิดตาย กองทุนนี้มีชื่อว่า Restart the Heart Trust ซึ่งถ้าแปลตรงตัวมันจะออกมาว่า กองทุนเริ่มต้นใหม่ที่หัวใจ ซึ่งฟังดูแปลกๆ ชอบกล ผมจึงขอเดาว่าคำว่า Heart ที่ใช้นั้น ผู้ตั้งกองทุน คงจะตั้งใจให้มันหมายความว่า ใจกลางเมือง มากกว่าหัวใจ ซึ่งถ้าแปลออกมาก็น่าจะแปลว่า กองทุนสำหรับช่วยเหลือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในใจกลางเมือง อะไรทำนองนั้น
โดยหนึ่งในประธานกองทุน คือพอล ซักกลิ้ง (Paul Suckling) ได้เสนอไอเดียว่า น่าจะใช้เงินทุนนี้ สร้างร้านค้าชั่วคราวในเขตเมือง ซักกลิ้งเป็นเจ้าของ ร้านขายรองเท้าซักกลิ้งชูส์ (Suckling Shoes) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ทางการปิดเพื่อซ่อมแซม ไม่อนุญาตให้เข้า ซึ่งเรียกว่าโซนแดง (Red Zone) การซ่อมแซม โซนแดงนั้น เชื่อว่าต้องใช้เวลานานมาก และไม่มีทาง ที่จะเสร็จเร็วๆ นี้แน่นอน
ซักกลิ้งเลยคิดว่า ควรจะมีการทำร้านค้าแบบ ชั่วคราวในสถานที่กลางเมืองสักแห่งด้วยวัสดุชั่วคราว ที่ทนทาน และไม่แพงเกินไปนัก ซึ่งสุดท้ายเขาคิดว่า ควรจะใช้คอนเทนเนอร์เป็นวัสดุ เพราะว่ามีขนาดใหญ่และสามารถตกแต่งข้างในได้ง่าย เป็นสี่เหลี่ยม เหมือนร้านค้าทั่วไปอยู่แล้ว เรื่องความทนทานของคอนเทนเนอร์นั้น อันนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าทนทานแน่ อีก อย่างถ้าใช้คอนเทนเนอร์เป็นวัสดุ ก็ไม่ต้องกลัวมันจะถล่มถ้ามีแผ่นดินไหวแรงๆ อีก อย่างร้ายแรงที่สุด คอนเทนเนอร์มันก็พลิกคว่ำเท่านั้น แค่พลิกให้ตั้งขึ้น อีกทีก็เปิดร้านใหม่ได้อีกครั้งแล้ว
โครงการ Restart ขอใช้พื้นที่ในศูนย์การค้าเปิดโล่ง ชื่อ คาเชลมอลล์ (Cashel Mall) ซึ่งมีร้านค้าถล่มไปเยอะมากหลังจากแผ่นดินไหว ขณะนี้ ประกันยังไม่อนุมัติให้สร้างใหม่ ซักกลิ้งจึงเจรจาว่าร้านค้าที่จะนำคอนเทนเนอร์เข้ามาขายของ จะขอจ่ายค่าเช่าที่ดินเฉยๆ ซึ่งเป็นสัญญาเช่าที่ฉลาดมากในความคิดของผม เพราะได้ทำเลกลางเมืองมาโดย จ่ายแค่ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าอาคารไม่ต้องจ่าย และที่ได้เปรียบที่สุดสำหรับผู้เช่า ก็คือ เมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าสามารถยกถอนคอนเทนเนอร์ออกไปได้ เพราะว่าไม่ได้มีการตอกตรึงคอนเทนเนอร์ลงไปในที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะมาหน้าด้านมั่วนิ่ม เอาสมบัติของผู้เช่ามาเป็นของตัวเองฟรีๆ เนื่องจากไม่มีการตอกตรึงลงไปในดิน แค่เอาคอนเทนเนอร์วางบนที่ดินเฉยๆ ฉะนั้น ตามกฎหมายก็จะยังเป็นสมบัติของผู้เช่า จึงนับว่าซักกลิ้งนี่ฉลาดมากที่จะป้องกันปัญหาที่เจ้าของที่ดินจะมายึดสมบัติของผู้เช่าโดยอ้างว่ามีการตอกตรึงลงไปในที่ดินแล้ว โดย การเลือกคอนเทนเนอร์เป็นวัสดุ
มีร้านค้า 27 ร้าน ที่ร้านถล่ม หรือไม่ก็ร้านอยู่ในโซนแดง เข้าไปเปิดร้านในนั้นไม่ได้ ตกลงจะร่วมโครงการของซักกลิ้ง มีทั้งเป็นร้านเสื้อผ้า ร้านขาย ขนมนำเข้าจากยุโรป ร้านขายน้ำหอม ยังมีธนาคาร ร้านกาแฟและร้านอาหารมาร่วมโครงการนี้อีกด้วย ซึ่งตอนแรกเลยก็มีหลายคนสงสัยว่าโครงการนี้จะออกมาดีจริงหรือ เพราะคำว่าคอนเทนเนอร์ก็ทำให้คนฟังรู้สึกว่าไม่มีระดับเท่าไหร่ ห้างในเมืองไครส์เชิร์ช ก็มีให้เดิน จะมีคนมาเดินศูนย์การค้ากลางแจ้งที่สร้าง จากคอนเทนเนอร์จริงๆ หรือ
แต่แล้วโครงการของซักกลิ้งกลับประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะแค่วันแรกของการเปิดคอนเทนเนอร์มอลล์ก็มีคนมาชอปปิ้งถึง 1 หมื่นคน แถมคนส่วนใหญ่พอมาเห็นบรรยากาศแล้วก็ยอมรับว่า ทำออกมาดูดีเกินคาด เพราะร้านค้าแต่ละร้านก็พยายามตกแต่งคอนเทนเนอร์ของตัวเองให้ออกมาดูสวยที่สุด เช่น ร้านเสื้อผ้าก็ทำตู้กระจกหน้าคอนเทน เนอร์ และชั้นวางเสื้อผ้าซะดูดีแทบไม่ต่างอะไรกับร้านในอาคารพาณิชย์ธรรมดาเลย ร้านอาหารก็ตกแต่งคอนเทนเนอร์ซะน่านั่ง แล้วยังวางโต๊ะเก้าอี้นอกคอนเทนเนอร์เป็นเทอร์เรซให้ลูกค้ามานั่งดื่มกาแฟกันข้างนอก ทำให้คนที่มาเดินไปบอกต่อๆ กันว่าคอนเทนเนอร์มอลล์บรรยากาศน่าเดินมาก
ไอเดียการใช้คอนเทนเนอร์ของซักกลิ้งเลยกลายเป็นไอเดียที่ได้ผลมากในตอนนี้สำหรับเมืองไครส์เชิร์ช และเจ้าของธุรกิจหลายคน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ร้านพังไปก็ทำอย่างที่ซักกลิ้งทำบ้าง คือไปขอเช่าที่ดินของที่ดินในทำเลดีๆ ที่ตอนนี้ตึกพังหมด เหลือแต่ที่ดินเปล่าๆ แล้วเอาคอนเทนเนอร์ มาวาง ทำเป็นร้านอาหารของตัวเองชั่วคราว มีคอน เทนเนอร์ที่เป็นครัว เป็นห้องกินอาหาร และห้องน้ำเสร็จสรรพ ขณะที่กำลังรอประกันสร้างอาคารของตัวเองเพื่อจะได้กลับเข้าไปเปิดที่เดิมใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ ลูกค้าเก่าพอรู้ว่าร้านประจำของพวกเขาที่ถล่มไปเปิดใหม่ชั่วคราวเป็นคอนเทนเนอร์ ก็ตามมาอุดหนุน กันอย่างเนืองแน่น ซึ่งผมขับรถผ่านเห็นชาวเมืองมานั่งกินนั่งดื่มกันในคอนเทนเนอร์มากมาย ก็ทึ่งว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เพราะว่าร้านค้าหลายร้านที่มา เช่าที่ดินทำคอนเทนเนอร์เปิดร้านนั้น บรรยากาศ รอบๆ ไม่น่าดูเหมือนร้านค้าในโครงการของซักกลิ้งที่ถนนคาเชลเลย หลายร้านนั้นตั้งอยู่บนที่ดินเปล่า ซึ่งอาคารรอบๆ ก็แตกหักเสียหาย รอคิวถูกทุบทิ้ง หรือไม่ก็โดนทุบทิ้งเป็นที่ดินโล่งๆ เปล่าๆ ไปแล้วทั้งสี่ด้าน คนนิวซีแลนด์ก็ไม่ได้ใส่ใจกับบรรยากาศรอบๆ ด้านที่ไม่น่าดูนัก และยังมาเป็นลูกค้าให้การสนับสนุนเหมือนเดิม เพราะพวกเขาเข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาให้ความสำคัญ กับความหรูหรา หรือทัศนียภาพที่น่าดูน่าชม แต่เป็น เวลาที่พวกเขาควรเข้าใจสถานการณ์ ควรให้การ สนับสนุนเพื่อนร่วมชาติที่ประสบเคราะห์ร้าย ร้านค้า อาคารต้องพัง แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้โชคชะตาและพยายามเริ่มต้นใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความเข้าใจ และการสนับสนุนของเพื่อนร่วมชาติ เมืองไครส์เชิร์ช น่าจะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ เพราะชาวนิวซีแลนด์ พร้อมจะให้อภัยมองข้ามหลายสิ่งหลายอย่างและให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้
สำหรับประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมาก็ประสบ กับภัยหนักๆ หลายอย่าง เช่น เหตุการณ์สึนามิเมื่อ 7 ปีก่อน ผมเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ร้านอาหารที่เขาหลักต้องพังและหมดตัวไป เพราะเหตุการณ์สึนามิแต่ก็ไม่ยอมแพ้ เริ่มต้นกิจการใหม่โดยเริ่มจากทำแผงลอยเล็กๆ ก่อน สุดท้ายก็รวบรวม เงินไปเปิดร้านได้ใหม่ ซึ่งพอได้อ่านเรื่องพวกนี้แล้วผมทั้งทึ่งในความไม่ยอมแพ้ของเจ้าของธุรกิจ และยังทึ่งที่คนไทยก็ไม่ต่างกับฝรั่งที่ให้การสนับสนุนเจ้าของธุรกิจที่พยายามเริ่มต้นใหม่ ถึงแม้ว่าร้านของเขา จากร้านที่เคยมีสถานที่นั่งสบาย กลายเป็นแค่แผงลอย แต่คนไทยก็พร้อมจะมองข้ามความสบาย ความหรูหราและให้การสนับสนุนจนเขาสามารถมีเงินไปเปิดร้านได้ใหม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเขาไปได้
ผมเชื่อแน่ว่าสำหรับวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ หรือวิกฤติอะไรก็แล้วแต่ในอนาคต หากว่าจะมีเจ้าของธุรกิจในบางเมืองหรือบางชุมชนที่ได้รับผลกระทบจนเปิดกิจการไม่ได้ ต้องย้ายทำเลชั่วคราวมาที่สถานที่ใหม่ หรือสถานที่ชั่วคราวที่ไม่ได้หรูหราเหมือนสถานที่เดิม คนไทยก็จะต้องไม่ทอดทิ้งพวกเขาและตามไปให้การสนับสนุน ช่วยเหลือให้พวกเขาผ่านวิกฤติไปได้แน่นอน
แต่ปัญหาคือ เจ้าของกิจการเหล่านั้นคือคนที่มีทุนอยู่บ้างในกระเป๋า พวกเขาจึงมีเงินมาตั้งร้านค้าชั่วคราว หรือย้ายร้านใหม่ได้อย่างไม่ลำบากอะไร คำถามคือ ถ้าเขาเกิดไม่มีทุนเลยล่ะ? จะด้วยเพราะ เพิ่งเปิดธุรกิจ ยังถอนทุนไม่หมด หรือว่ายังต้องส่งลูกเรียน ลูกยังเรียนไม่จบ หางานไม่ได้ เลยยังไม่มีเงินเหลือเก็บพอที่จะตั้งร้านชั่วคราวได้ใหม่ แล้วคนพวกนี้จะสามารถหาเงินทุนมาตั้งตัวใหม่ได้อย่างไร?
สำหรับโครงการ Restart ของซักกลิ้งที่ผมกล่าวถึงรัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นคนให้เงินกู้เจ้าของธุรกิจพวกนี้ ซึ่งแต่ละคนเป็นคนมีประสบการณ์ธุรกิจ อย่างดีในสาขาของพวกเขา และมีความสามารถที่จะบริหารธุรกิจให้มีกำไร และการให้ความช่วยเหลือ ของรัฐบาลต่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว สร้างความประทับใจให้กับคนนิวซีแลนด์มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลชนะการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาครั้งที่แล้วแบบแทบจะนอนมาทีเดียว
ผมจึงอยากแนะนำว่า หลังภัยน้ำท่วมครั้งนี้ หากว่าจะมีบางเขตที่ต้องมีการซ่อมแซมเขตนั้นๆ เพราะอาคารพาณิชย์ในเขตนั้นถูกน้ำท่วมหนัก จนต้องปิดซ่อมแซมอาคารนานๆ รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้พวกเขามีโอกาสหาสถานที่ชั่วคราวที่จะเปิดกิจการได้ใหม่
นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาที่ลำบากไปได้อย่างง่ายขึ้น ยังจะเป็นการสร้างผลงาน และความประทับใจให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|