Tanita Recipe

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

การอวยพรส่งความสุขในวาระศุภมงคลขึ้นปีใหม่มักปรากฏถ้อยคำในบัตร ส.ค.ส.ที่อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกดลบันดาลให้มีพลานามัยสมบูรณ์นั้น มีความคล้ายคลึงกับคำอวยพรใน Nengajo* ของชาวญี่ปุ่น คงสืบเนื่องมาจากตรรกะที่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น

การได้มาซึ่งลาภอันประเสริฐสมดั่งคำอวยพร นี้ไม่มีสูตรสำเร็จใดที่ตายตัว ถึงอย่างไรโดยทั่วไปเราทุกคนอาจเริ่มต้นที่การใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่องในภาวะที่ร่างกายยังแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียน นั่นไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง ในขณะเดียวกันเป็นหลักประกันถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

แนวคิดลักษณะเช่นนี้ได้ปลูกถ่ายสู่นโยบายสาธารณสุขมูลฐานระดับชาติ (National Primary Health Care) ภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่มุ่งหมาย ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลดีของการป้องกันก่อนที่โรคภัยไข้เจ็บจะเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติของนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความขวนขวาย ในการดูแลสุขภาพของตนเองโดยเฉพาะการประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องอาหารการกินของชนชาติญี่ปุ่นแต่อดีตมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย และยังสำทับด้วยรายการส่งเสริมสุขภาพในโทรทัศน์และวิทยุหลาย ช่องที่แข่งขันกันออกอากาศนำเสนอสาระความรู้ทาง การแพทย์ที่มีประโยชน์โดยละเอียดในช่วงไพร์มไทม์ที่ผู้ชมส่วนใหญ่ติดตามได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งสินค้าและบริการในเชิงสุขภาพที่มีอยู่อย่างหลากหลายรอบตัวนับแต่อุปกรณ์ไฮเทคทุกรูปแบบที่พบเห็นในชีวิตประจำวันไปจนถึงเครื่องดื่ม หรือขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของวิตามิน เป็นต้น ปัจจัยเสริมเหล่านี้ล้วนช่วยตอกย้ำและกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวังและรักษาสุขภาพอยู่เสมอจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวญี่ปุ่นครองสถิติการมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนาน ที่สุดในโลก (ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ปี 2005-2010)

เมื่อกลางปี 2011 ตำราอาหารญี่ปุ่น Tanita Recipe เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กระตุ้นเทรนด์เรื่องสุขภาพ ขึ้นมาอีกด้วยยอดขายกว่า 4 ล้านเล่มในเวลาสั้นๆซึ่งพิมพ์จำหน่ายตามคำเรียกร้องจากเสียงลือเสียงเล่า อ้างว่า “พนักงานของบริษัท Tanita ทุกคนประสบผลสำเร็จในการควบคุมน้ำหนัก และไม่มีใครเข้าข่ายภาวะ Metabo โดยใช้ชีวิตปกติตามกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องอดอาหาร อีกทั้งไม่ต้องไปฟิตเนส ในทางกลับ กันสามารถรับประทานอาหารญี่ปุ่นรสอร่อยได้ทุกมื้อ

คำว่า Metabo ที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นย่อมาจาก ศัพท์การแพทย์ในภาษาอังกฤษคือ Metabolic Syndrome หมายถึงภาวะผิดปกติของการเผาผลาญ อาหารและสะสมไขมันของร่างกายอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวานและโรคของระบบหลอดเลือดและ หัวใจซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับอาการแสดงของโรคอ้วน

คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับชื่อ Tanita มานานกว่าครึ่ง ศตวรรษแล้ว Tanita Corporation เริ่มกิจการตั้งแต่ปี 1923 เป็นร้านค้าทั่วไปจำหน่ายเครื่องปิ้งขนมปัง กริ่งรถ จักรยาน กล่องใส่บุหรี่ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำ ธุรกิจผลิตเครื่องชั่งในปี 1944 และเริ่มวางจำหน่ายเครื่องชั่งน้ำหนักสำหรับใช้ในครัวเรือนเป็นครั้งแรกใน ญี่ปุ่นในปี 1959

ชื่อเสียงของ Tanita ขยายวงกว้างขึ้นทั้งใน และต่างประเทศด้วยการเปิดตัวเครื่องวัดไขมันใน ร่างกายอัตโนมัติเป็นครั้งแรกของโลก ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่แตกไลน์ออกไปจากเดิมเช่นเครื่องนับก้าวเดิน เครื่องตรวจวัดอัตราการเผาผลาญแคลอรีในแต่ละวัน เครื่องตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี เป็นต้น และล่าสุด Tanita Recipe กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ได้รับการกล่าวขวัญในสังคมญี่ปุ่นซึ่งริเริ่มจากแนวคิดของ Senri Tanita ประธานบริษัทคนปัจจุบัน

Senri Tanita เกิดเมื่อ 6 มิถุนายน 1972 เป็นบุตรชายคนรองของ Daisuke Tanita ประธานบริษัทคนก่อน เดิมไม่ได้สนใจธุรกิจของครอบครัวเท่าใดนัก หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน เฉพาะทางสาขาโภชนาการและสำเร็จปริญญาตรีจาก Saga University ในปี 1997 จากนั้นได้ทำงานในบริษัทด้าน consulting ก่อนจนกระทั่งปี 2001 จึงย้ายเข้ามาที่ Tanita ตามคำชักชวนของบิดา

อีกนัยหนึ่งแม้ว่ามีฐานะเป็นบุตรชายของประธานบริษัทแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นคำสั่งโยกย้ายไปทำงานที่บริษัทในเครือเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่น ในปี 2005 เขา ถูกย้ายไปประจำที่บริษัท Tanita อเมริกาซึ่งเป็นโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์อยู่ 2 ปีแล้วย้ายกลับมาที่บริษัทแม่ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทรุ่นที่ 3 ของตระกูลในปี 2008 ด้วยวัย 36 ปี

รูปแบบการทำงานของ Senri Tanita ในบทบาทประธานบริษัทมีความโดดเด่นด้วยบุคลิกเฉพาะตัว ตั้งแต่การจัดเวลาหมุนเวียนเข้าไปให้คำปรึกษาพร้อมทั้งร่วมลงมือช่วยแก้ปัญหาในรายละเอียดจนกระทั่งเรื่องอาหารการกิน รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจพนักงานทุกระดับ

เคล็ดลับความสำเร็จในการควบคุมน้ำหนักของ พนักงานบริษัท Tanita อยู่ที่การประยุกต์สูตรอาหารญี่ปุ่นที่เคยใช้ใน Tanita Best Weight Center (สถานที่ซึ่งมุ่งมั่นให้คำแนะนำปรึกษาการควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพตามหลักวิชาการ) มาเป็นเมนูในโรงอาหารของบริษัทซึ่งปรุงโดยกลุ่มแม่ครัวนักโภชนาการ ที่ผ่านการสอบใบอนุญาตประกอบอาหารจากกรมสวัสดิการสังคมและสาธารณสุขของกรุงโตเกียว

อาหารทุกชุดภายในโรงอาหารของบริษัท Tanita ได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักโภชนาการซึ่งผ่านการคำนวณและควบคุมปริมาณเกลือให้ต่ำกว่า 3 กรัม มีแคลอรีไม่เกิน 500 กิโลแคลอรีด้วยเทคนิค การปรุงอาหารให้ดูน่ารับประทาน รสชาติดี มีเมนูหลากหลายพอให้เลือกได้ตลอดสัปดาห์ ในราคายุติธรรม โดยบริษัทจะแบ่งรับภาระค่าอาหารไว้ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน ดังนั้นพนักงาน แทบทั้งหมดจึงเลือกใช้บริการอาหารทั้ง 3 มื้อที่โรงอาหารของบริษัท

กลายเป็น talk of the town ที่ขยายตัวออก ไปอย่างรวดเร็ว สังคมรอบข้างให้ความสนใจอย่างมาก ประกอบกับเจตนารมณ์ของบริษัทในฐานะผู้ผลิต อุปกรณ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนอยู่แล้วการสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบตำราอาหาร Tanita Recipe หลายเล่มจึงได้รับความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีรายการโทรทัศน์ Come Sta Channel ของบริษัทซึ่งเป็นอีกช่องทางเผยแพร่ความรู้โภชนาการและการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการสร้าง Community สำหรับคนรักสุขภาพเปิดกว้างให้สามารถ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทาง Social Network ยอดนิยมทั้ง Facebook และ Twitter

ล่าสุดประชาชนทั่วไปสามารถทดลองชิมอาหาร ที่ปรุงจากตำรา Tanita Recipe โดยนักโภชนาการของ Tanita ได้ที่ร้าน “Tanita Shokudo” ภายใต้บรรยากาศ Healing Music และกลิ่นหอม Aroma-therapy ซึ่งเปิดบริการเป็นครั้งแรกที่ Marunouchi Building หน้าสถานีรถไฟโตเกียว ฉลองปีใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2012 เป็นต้นไป

- ภาพ www.tanita.co.jp

อ่านเพิ่มเติม
- คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการฉบับมกราคม 2549 เรื่อง “Nengajo” http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=44196


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.