|
จีนได้อะไรจากการช่วยอุ้มวิกฤติหนี้ยุโรป
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)
กลับสู่หน้าหลัก
ในอนาคตข้างหน้า นักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ อาจยกให้ช่วงเวลานี้ เป็นจุดเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกที่เอียงไปข้างจีนมากขึ้น นั่นคือช่วงเวลาไม่กี่วันระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติิิหนี้ยูโรโซน ซึ่งจัดขึ้นที่บรัสเซลส์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2010 กับการประชุมสุดยอด G-20 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคานส์ของฝรั่งเศส ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2010 เหตุผลคือ ในการประชุมสุดยอดที่บรัสเซลส์ ผู้นำยุโรปได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่ายุโรปจะทำ นั่นคือการขอร้องให้จีนใช้เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่จีนมีอยู่อย่างมหาศาลถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ มาช่วยอุ้ม 17 ชาติยูโรโซนให้พ้นจากภูเขาหนี้สาธารณะลูกใหญ่
จีนกลายเป็นประเทศที่ยุโรปเล็งให้เข้าไปลงทุนในกองทุนกอบกู้วิกฤติหนี้ยุโรป ซึ่งผู้นำยุโรปได้บรรลุข้อตกลงกันในการประชุมสุดยอดที่บรัสเซลส์ ให้เพิ่มขนาดกองทุนกอบกู้วิกฤติหนี้ยุโรปเป็น 1 ล้านล้านยูโร (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) และยังเล็งเลยไปถึงคนนอกอื่นๆ อย่างรัสเซีย บราซิล ชาติในตะวันออกกลาง และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วย
ในวันที่ 27 ตุลาคม ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ที่เมืองคานส์ ลงทุนโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีนด้วยตนเอง เพื่อขอให้จีนสนับสนุนกองทุนกู้วิกฤติหนี้ Sarkozy เปิดเผยหลังการโทรศัพท์ว่า ถ้าหากว่าจีนซึ่งมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 60 ของโลก ตัดสินใจเลือกลงทุนในเงินยูโรแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วทำไมยุโรปจะต้องปฏิเสธ และยุโรปควรยอมรับว่าเป็นเพราะจีนเชื่อมั่นในกลุ่มยูโรโซน จึงวางใจที่จะฝากเงินสดไว้ในกองทุนหรือในธนาคารของยุโรป
จีนสามารถจะกันเงินสัก 100,000 ล้านยูโร (140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้อย่างสบายๆ เพื่ออุ้มยุโรป แต่คำถามคือ ทำไมจีนจึงต้องทำเช่นนั้น ทำไมจีนจึงจะต้องการลงทุนในกลุ่มประเทศ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำอย่างกลุ่มยูโรโซนด้วย แม้แต่ตัวกองทุนกู้วิกฤติหนี้ยุโรปเอง ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนหน้านี้ ยังมีเรื่องที่กรีซประกาศจะจัดการลงประชามติ เพื่อให้ชาวกรีซเป็นผู้เลือกเองว่า จะยังใช้เงินยูโรต่อไปหรือไม่ (ภายหลังกรีซได้ยกเลิก ความคิดนี้) ซึ่งยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในยูโรโซนมากยิ่งขึ้น แม้แต่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนยังเตือนยุโรปว่า ไม่ควรเห็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (ซึ่งรวมถึงจีน) เป็นองค์การกุศล
จีนมีเหตุผลหลายอย่างที่จะเทเงินสดๆ ของตัวเอง ลงไปในกองทุนกอบกู้วิกฤติยุโรป หรือโครงการซื้อพันธบัตรอื่นใดของยุโรป ประการแรก จีนเกี่ยวข้องกับยุโรปอย่างมาก เพราะ 1 ใน 4 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนอยู่ในรูปเงินยูโร และจีนเป็นผู้ซื้อพันธบัตรของกองทุนกู้วิกฤติหนี้ยุโรปอยู่แล้วในอดีต โดยในปีที่แล้ว จีนประกาศจะซื้อพันธบัตรยุโรปหลายครั้ง ทั้งในระดับทวิภาคีกับประเทศยุโรปที่มีปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะโดยตรง อย่างเช่นโปรตุเกส กรีซและฮังการี และในระดับยูโรโซน
ประการต่อมา จีนมีผลประโยชน์โดยตรงที่จะต้องช่วยอุ้มยุโรป เพราะยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 363,000 ล้านยูโร (503,000 ล้านดอลลาร์) หรือเกือบ 10% ของมูลค่าการค้าโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ชาวยุโรป ซึ่งมีรายได้ต่อ GDP โดยเฉลี่ย 32,500 ดอลลาร์ เทียบกับจีนที่ 4,500 ดอลลาร์ หากปล่อยให้เงินยูโรอ่อนค่าลง สินค้าส่งออก ของจีนจะแพงขึ้นสำหรับชาวยุโรป นอกจากนี้การรักษาเงินยูโรไว้ในฐานะสกุล เงินที่เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ช่วยให้จีนสามารถคานอำนาจของเงินดอลลาร์สหรัฐและสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่มีขั้วอำนาจหลายขั้วได้
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดที่จีนต้องการคือ การช่วยอุ้มยุโรปจะเปิดโอกาสอันดีให้แก่จีน ในการทำให้ยุโรปต้องยอมอ่อนข้อต่อจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีน เรียกร้องให้ยุโรป “จัดบ้านตัวเองให้เรียบร้อย” ซึ่งเกือบจะมีนัยเป็นการตั้งเงื่อนไขให้ยุโรปต้องทำ ก่อนที่จีนจะยอม “ยื่นมือเข้าช่วย”
หากมองในแง่การค้า คำเรียกร้องที่เป็นเสมือนการตั้งเงื่อนไขดังกล่าวนั้น อาจมีนัยถึงการที่ยุโรปจะต้องยอมรับจีน ให้มีสถานภาพเป็นประเทศที่มี “เศรษฐกิจระบบตลาด” โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางการค้ามากมายที่ยุโรปลงโทษจีนอยู่ การยอมรับสถานภาพจีนเป็นเศรษฐกิจระบบตลาด จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของจีน ขณะนี้เจออุปสรรคด้านภาษีศุลกากรของยุโรปอยู่ โดย E.U.มีมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดต่อสินค้าจีนประมาณ 55 มาตรการ ส่วนชาติยุโรปแต่ละชาติก็อาจถูกจีนกดดันให้ผ่อนคลายจุดยืนการสนับสนุนการออกมาตรการลงโทษจีนในอนาคต
นอกจากนี้ยุโรปอาจต้องยอมปล่อยให้ปัญหาการค้าระหว่าง จีนกับยุโรปที่ยังคาราคาซังอยู่หลายอย่างต้องตกไป แม้จะต้องเสี่ยงกับความไม่พอใจของผู้ส่งออกของยุโรปเองก็ตาม ซึ่งมักจะบ่นว่าเกี่ยวกับการที่จีนควบคุมความเป็นเจ้าของของต่างชาติ เงินอุดหนุนที่จีนสงวนไว้สำหรับบริษัทจีนโดยเฉพาะ การกีดกันต่างชาติไม่ให้เข้าถึงตลาดจัดซื้อของภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแบบเลือกปฏิบัติ
ปัญหาทางการค้าเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เห็นชัดเจนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว (2011) ในรายงานชื่อ “The Scramble for Europe” ของ European Council on Foreign Relations ซึ่งเตือนเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในยุโรปว่า จะทำให้จีน เป็น “ผู้เปลี่ยนเกม” ในเกม การค้าระหว่างยุโรปกับจีน โดยเตือนว่า หากจีนเข้ามามีบทบาทมากเกินไปในด้าน การเงิน การลงทุนและประเด็นระดับประเทศต่างๆ ในยุโรป จะทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองน้อยลงในการพยายามจะเปิดตลาดจีนในภาคธุรกิจเดียวกัน ซึ่งยังคงปิดต่อต่างชาติและถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลจีน
นัยทางการเมืองที่แฝงอยู่ในคำพูดของ Wen ยิ่งน่ายุ่งยาก ใจมากกว่า ยุโรปเห็นว่า เป็นสิทธิ์ กระทั่งเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องตำหนิจีนในประเด็นอย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ต่อไปยุโรปอาจต้องยอมยกเลิกการห้ามขาย อาวุธให้แก่จีน มาตรการลงโทษที่ยุโรปใช้มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 หรือไม่ก็องค์ทะไล ลามะคงจะได้รับคำเชิญเยือนยุโรปน้อยลง ถ้าหากว่าจีนไม่ได้รับการอ่อนข้อจากยุโรปอย่างเป็นทางการหรือเปิดเผยจริงๆ แต่อย่างน้อยๆ จีนก็จะต้องได้สิ่งตอบแทนจากยุโรปจากการอุ้มยุโรป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลังจากหลายปีที่จีนเห็นว่ายุโรปมักชอบแทรกแซงเรื่องของจีนอยู่เสมอ อย่างเช่นการเรียกร้องให้ยุโรปเลิก “ยื่นจมูก” เข้าไปในการเมืองภายในของจีน
ในการประชุมที่เมืองคานส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีน อาจเลี่ยงการให้สัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะในการลงทุนในกองทุนกอบกู้วิกฤติหนี้ยุโรป แม้จะถูกป้อยอจากผู้นำยุโรปมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม Hu รู้ดีว่า ในขณะที่จีนกำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก ความเสี่ยงในการลงทุนในกองทุนกอบกู้ยุโรป ถือเป็นเพียงราคาเล็กน้อยที่ต้องจ่ายเท่านั้น และคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่จีนจะได้รับตอบแทนกลับคืนจากยุโรป
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิตยสารไทม์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|