ใหญ่ๆ เราทำ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2555)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัท ลิสซิ่ง ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด เป็นชื่อที่อาจไม่ค่อยได้ยินมากนัก นับจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ที่จะรู้จักกันมากขึ้นเพราะบริษัทจีนแห่งนี้จะให้บริการแบบไม่ธรรมดา

บริษัท ลิสซิ่ง ไอซีบีซี (ไทย) จำกัด เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ลิสซิ่งสินเอเซีย จำกัด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตามธนาคารสินเอเซียที่ขายกิจการให้กับกลุ่มธนาคารไอซีบีซี จากประเทศจีน โดยเข้าถือหุ้นร้อยละ 97

แม้ว่าบริษัทลิสซิ่งจะมีอายุ 6 ปีแล้วก็ตามแต่ชื่อเสียงอาจไม่มักคุ้นมากนักสำหรับสาธารณชน ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดตัวครั้งแรกต่อสื่อมวลชนหลังจากที่ได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ พร้อมผู้บริหารอีก 2 คนคือ องอาจ วรฉัตรธาร กรรมการผู้จัดการ และทรงวุฒิ สังวรวุฒิคุณ รองกรรมการผู้จัดการ มาเล่าทิศทางธุรกิจ

เดิมทีบริษัทให้บริการเช่าซื้อและลิสซิ่ง ลูกค้ารายย่อยและเน้นบริการธุรกิจรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่ไอซีบีซีเข้ามาได้ ปรับนโยบายขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เช่น อุปกรณ์เครื่อง จักรให้กับผู้ประกอบการ จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อมีสัดส่วนระหว่างสินเชื่อรายย่อยกับรายใหญ่เป็น 70:30

เป้าหมายของลิสซิ่ง ไอซีบีซีต้องการขยายกลุ่มตลาดรายใหญ่เพิ่มขึ้น และขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อย่างเช่น ธุรกิจเครื่องบิน รถเครน หรือเรือขนาดใหญ่ รถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน รวมไปถึงรถไฟรางคู่ที่ประเทศไทยมีแผนจะขยายในอนาคต

การขยายไปยังกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องบิน รถ ไฟฟ้า หรือเรือบรรทุกสินค้า ปัจจุบันบริษัทให้บริการเกือบทั้งหมด จะเป็นบริษัทต่างชาติเสียส่วนใหญ่ เพราะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล และการทำตลาดในครั้งนี้จึงเป็นการช่วงชิงลูกค้าในฐานะบริษัทไทยแต่สัญชาติจีน

โดยเฉพาะการเริ่มต้นเจาะลูกค้า จึงทำให้บริษัทพุ่งเป้าไป ที่ลูกค้าจีนสอดคล้องกับตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรขนาดใหญ่เริ่มเข้ารุกตลาดไทยมากขึ้นตามลำดับ

จากนโยบายที่เปลี่ยนไปเจาะลูกค้ารายใหญ่ แต่ประสบการณ์ของผู้บริหารไทยจะเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย จึงทำให้บริษัทดึงผู้บริหารจากกลุ่มไอซีบีซีเข้ามาเสริม คือ หวยกัง เสิ่น เข้ามารับตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 10 ปี ดูแลลูกค้าขนาดใหญ่แต่ไม่ได้มาร่วมงานในวันแถลงข่าว เนื่องจากติดภารกิจกับลูกค้าในต่างประเทศ

ไอซีบีซีลิสซิ่งในประเทศจีน ดำเนินธุรกิจให้บริการลูกค้า รายใหญ่เป็นหลักและมีลูกค้าหลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องบิน เครื่องจักรขนาดใหญ่ ฉะนั้นจึงเป็นการเข้ามาเสริมจุดอ่อนในบริษัทไทย ขณะเดียวกันกลุ่มไอซีบีซีก็ต้องการเรียนรู้การทำธุรกิจลูกค้ารายย่อยของไทยด้วย

อย่างไรก็ดี บทบาทของบริษัท ลิสซิ่งไอซีบีซีฯ ในประเทศไทย ไม่ได้ทำตลาดเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนควบคู่กันไป เพราะบริษัทในประเทศไทยเป็นบริษัทแห่งเดียวและแห่งแรกที่ให้บริการลิสซิ่งนอกประเทศจีน

การเข้ามารุกในตลาดไทยและในกลุ่มอาเซียนของธนาคาร ไอซีบีซี ในฐานะสถาบันการเงินขนาดใหญที่สุดในจีน มีสินทรัพย์ 71.95 ล้านล้านบาท นั้นหมายความว่าไอซีบีซีมีทั้งเงินและประสบ การณ์พร้อมเต็มที่เพื่อสนับสนุนธุรกิจในไทย แม้ว่าขณะนี้บริษัทในไทยจะมีเงินทุนจดทะเบียนจำนวน 4 พันล้านบาท และมีทรัพย์สิน 31,400 ล้านบาท (มกราคม-ตุลาคม 2554) แต่ดูเหมือนว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะไอซีบีซีพร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มเติมให้ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่บริษัท ลิสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) ต้องเร่งก็คือการสร้างแบรนด์ เพราะยังถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการธุรกิจนี้อยู่มาก หากเทียบกับคู่แข่งที่สร้างความน่าเชื่อถือไปแล้วหลายก้าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.