นิวเอร่า-ยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ผู้หาญกล้าปลุก "ฟอร์ด" ให้คืนชีพอีกครั้ง


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟอร์ดเป็นรถที่น่าจะพูดได้ว่าล้มเหลวไปแล้วในตลาดเมืองไทย ฟอร์ดเคยขายอยู่โดยบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทสาขาโดยตรงของฟอร์ดออสเตรเลียก็ล้มเหลวไปภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี จากนั้นก็มีแองโกล-ไทยมอเตอร์ เข้ามารับผิดชอบแทนและก็ต้องพังไปอีกราย โดยอยู่นานกว่าฟอร์ดมอเตอร์เพียง 2 ปีเท่านั้น

บนถนนสายที่รถคว่ำมาแล้วถึง 2 ครั้งนี้ ได้ก่อเกิดวีรบุรุษผู้กล้ารายหนึ่ง ผู้หาญจะนำรถฟอร์ดเข้าตลาดและเกรียงไกรอีกครั้ง ผู้กล้าผู้นี้มีนามว่านิวเอร่า…วีรบุรุษนิรนามที่วงการยังไม่รู้จัก

สำหรับนักเลงรถบ้านเรานั้น "ฟอร์ด" น่าจะได้ชื่อว่าเป็นรถที่ตายไปแล้ว ตายไปพร้อม ๆ กับฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และแองโกล-ไทยมอเตอร์ อดีต 2 ตัวแทนจำหน่ายผู้เคยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ให้รถฟอร์ดในประเทศไทย โดยผ่านยุคเกรียงไกรแล้วก็จบลงอย่างขมขื่นในท้ายที่สุดเหมือน ๆ กัน

"ฟอร์ด" น่าจะต้องตายอย่างสนิทจริง ๆ แต่เผอิญยังมีคนที่คิดว่า "ฟอร์ด" นั้นต้องตายแบบที่ไม่น่าสมควรตาย "ฟอร์ด" จึงต้องกลับเข้าตลาดอีกครั้ง โดยคนที่คิดเช่นนั้นก็คือ นิวเอร่า จำกัด บริษัทที่โนเนมอย่างมาก ๆ สำหรับวงการรถยนต์บ้านเรา

นิวเอร่าเป็นใคร มาจากไหน? และเหตุใดจึงขวัญกล้าขนาดที่คิดจะเข้ามา "ปลุกผี" รถฟอร์ดให้ลุกขึ้นมาผงาดอีกครั้งในยุทธจักร คำถามอย่างน้อย 2 คำถามนี้มีแต่คนอยากรู้คำตอบ ภายหลังการเซ็นสัญญาระหว่างบริษัทฟอร์ดโปรดักส์แห่งประเทศออสเตรเลีย กับบริษัทนิวเอร่าที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ โดยฟอร์ดโปรดักส์แต่งตั้งนิวเอร่าให้เป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถยนต์นั่ง, รถกระบะของฟอร์ดในประเทศไทย และนิวเอร่าก็ประกาศทันทีในวันเดียวกันนั้นว่า จะแนะนำรถฟอร์ด 3 รุ่น คือ เลเซอร์ใหม่ 3 แบบ เทลสตาร์ใหม่ 3 แบบ พร้อมกับรถกระบะ (ปิกอัพ) คูเรียเข้าตลาดในราวต้นปี 2529 นี้

ก็คงเป็นหน้าที่ของ "ผู้จัดการ" อีกครั้งที่จะต้องพยายามค้นหาคำตอบในทั้ง 2 คำถามนั้นออกมา ซึ่งต้องขอบอกกล่าวกันตรง ๆ ก่อนว่า เรื่องนี้มิใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

"ในวันที่มีการเซ็นสัญญาแต่งตั้งนิวเอร่าเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดในประเทศไทย นิวเอร่าก็ไม่ได้แนะนำตัวอะไร ไม่มีใครทราบว่า ที.เค.ชุง กรรมการผู้จัดการของนิวเอร่านั้น เป็นใครมาจากไหน ในกลุ่มผู้บริหารถ้าจะพอได้ยินชื่อกันบ้างคงมี อารี สันติพงศ์ไชย ลูกชายเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าคนเดียวมั้ง ซึ่งอารีรับผิดชอบด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์…" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่งพูดเหมือนรู้ใจ "ผู้จัดการ" อย่างไรอย่างนั้น

และเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักนี่เองก็เลยเป็นเรื่องที่ออกจะท้าทายเอามากๆ ตามที่ทราบกันนั้น กลุ่มนิวเอร่าเริ่มมีการติดต่อกับฟอร์ดที่ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของฟอร์ดทั้งหมดในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่ราว ๆ เดือนมีนาคม 2528 อันเป็นช่วงเริ่มมีข่าวเล็ดลอดออกมาบ้างแล้วว่า บริษัทแองโกล-ไทยมอเตอร์กำลังเตรียมยกเลิกสัญญาการเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดในประเทศไทย เพราะทนขาดทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว

นิวเอร่าเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2527 ก่อนหน้าที่จะมีการติดต่อเจรจากับฟอร์ดออสเตรเลีย 5 เดือน

ผู้ก่อตั้งเป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีน แต่ถือสัญชาติแคนาดา ชื่อ ชุง คุง ตัง ซึ่งหลังจากจดทะเบียนตั้งบริษัทนิวเอร่าได้ไม่กี่เดือน ชุง คุง ตัง ได้แจ้งว่าชื่อจริง ๆ ของเขานั้นชื่อ เคียง จัง ชุง ไม่ใช่ ชุง คุง ตัง ดังที่แจ้งไว้ในตอนต้น

เคียง จัง ชุง หรือ ที.เค.ชุง อายุ 53 ปี เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และขณะนี้มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนิวเอร่า จำกัด

บริษัทนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท

ครั้นแล้วในเดือนมีนาคม 2528 เดือนเดียวกับที่นิวเอร่าจะต้องติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายรถฟอร์ดกับฟอร์ดออสเตรเลีย นิวเอร่าก็มีมติพิเศษเพิ่มทุนรวดเดียวอีก 49 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท หรือเพิ่มจำนวนหุ้นขึ้นอีก 49,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 เท่าเดิม

มติพิเศษเพื่อเพิ่มทุนนี้ นิวเอร่าได้แจ้งกับนายทะเบียนบริษัทจำกัดว่า เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วนิวเอร่าจะมีคนไทยถือหุ้น 6 คน จำนวน 25,500 หุ้น และมีชาวต่างชาติถือหุ้น 5 คนจำนวน 24,500 หุ้น แต่ใครจะเข้ามาถือหุ้นบ้างนั้น ยังไม่ปรากฏรายชื่อ (นิตยสาร "ผู้จัดการ" ตรวจทะเบียนหุ้นครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2528)

และพร้อมกับมติเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทนิวเอร่ายังได้มีมติเพิ่มกรรมการบริษัทอีก 7 คน รวมเป็นมีกรรมการบริษัท 8 คน เมื่อรวมกับกรรมการเดิม คือ เคียง จัง ชุง โดยกรรมการทั้ง 7 คนนี้ก็ประกอบด้วย อารี สันติพงศ์ไชย พิพัฒน์ เรืองรองปัญญา วัฒน์ เรืองมานะมงคล สมหมาย สุวรรณพิมพ์ เตียว ซู เว็ง เตียว เชียง ไค และ เย็บ ซู ชวน

อารี สันติพงศ์ไชย นั้นเป็นทายาทเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในไทย ซิงเสียนเยอะเป้า โดยอารีมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทอารีซีสเท็มส์ซึ่งเป็นกิจการแยกสีในเครือของซิงเสียนฯ

พิพัฒน์ เรืองรองปัญญา มีอาชีพทนายความ ก็คงจะเข้ามาดูแลด้านกฎหมายให้กับนักลงทุนกลุ่มนี้

วัฒน์ เรืองมานะมงคล เคยทำกิจการค้าข้าว ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการโครงการวอลสตรีททาวเวอร์ ที่ถนนสุรวงศ์ ซึ่งเป็นโครงการสร้างออฟฟิศคอนโดมิเนียมของกลุ่มนักลงทุนไทย อดีตเจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ชื่อเซนทาโก ร่วมกับนักลงทุนกลุ่มหนึ่งของสิงคโปร์

ส่วนสมหมาย สุวรรณพิมพ์ ก็เป็นมือเก่าที่เคยผ่านงานการประกอบรถฟอร์ดมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี สมหมายเคยทำงานกับฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และย้ายมาอยู่กับแองโกล-ไทยมอเตอร์ จนเมื่อแองโกล-ไทยมอเตอร์เลิกเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดแล้ว สมหมาย เป็นคนแรกที่นิวเอร่าดึงตัวมาร่ามงานตั้งแต่ช่วงที่นิวเอร่าเองก็ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการแต่งตั้งจากฟอร์ดออสเตรเลียหรือไม่ด้วยซ้ำไป

และสำหรับชาวต่างประเทศอีก 3 คน คือ เตียว ซู เว็ง, เตียว เชียง ไค และ เย็บ ซู ชวน นั้นก็เป็นคนมาเลย์เชื้อสายจีน ทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนจากกลุ่มทุนของมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งร่วมลงทุนในบริษัทนิวเอร่า จำกัด

"เราร่วมทุนกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในรายละเอียดว่าจะเป็นใครบ้างนั้น ตอนนี้เขายังไม่อยากเปิดเผยตัว เอาเป็นว่าฝ่ายไทยก็มีกลุ่มผม คือ ซิงเสียนเยอะเป้า แล้วก็มีกลุ่มที่เขามีกิจการผลิตท่อเหล็กซึ่งใหญ่มากในประเทศไทย ส่วนมาเลเซียกับสิงคโปร์เขาเป็นพี่น้องกัน ก็มีกิจการนับเป็นร้อยบริษัทโดยเฉพาะกิจการรถยนต์เขามีโรงงานประกอบรถเบนซ์และมิตซูบิชิ และเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย อยู่ในมาเลเซีย…" อารี สันติพงศ์ไชย ช่วยอธิบายสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ"

การตั้งบริษัทนิวเอร่าและเสนอตัวเข้าไปติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดกับฟอร์ดออสเตรเลียของนิวเอร่านั้น มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างมาก ๆ ประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่ว่านี้ก็คือ บริษัทนิวเอร่าได้ถูกตั้งขึ้นแล้วก่อนหน้าที่การติดต่อกับฟอร์ดออสเตรเลียจะเริ่มขึ้น 5 เดือนเต็ม ๆ ซึ่งก็เป็นช่วง 5 เดือน ที่ข่าวเรื่องแองโกล-ไทย จะถอนตัวคงยังไม่มีคนนอกทราบแน่ๆ หรือแม้แต่คนในก็เถอะ จะมีทราบกันสักกี่คน

หรือว่านิวเอร่าจะมาเหนือเมฆขนาดที่ทราบข่าวลับชิ้นนี้ก่อนหน้าคนอื่น 5 เดือนเต็ม ๆ

"ผมเชื่อว่าเขาไม่รู้หรอกว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์จะเลิกขายและประกอบรถฟอร์ด เพราะเท่าที่ทราบกลุ่มนี้เขาตั้งบริษัทนิวเอร่าขึ้นมาไม่ใช่มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดแทนแองโกล-ไทย เขามีเจตนาอย่างอื่น…" แหล่งข่าวระดับลึกในวงการรถยนต์แย้ม ๆ ให้ฟังก่อนที่จะกระซิบด้วยเสียงแผ่ว ๆ ว่าเจตนาอย่างอื่น…ของนิวเอร่าที่ขมวดปมไว้นั้นก็คือ เจตนาที่จะเข้าไปรับช่วงกิจการโรงงานประกอบรถยนต์ของกรรณสูต ซึ่งช่วงนั้นกำลังประสบปัญหารายล้อมอย่างหนัก

โรงงานประกอบรถยนต์กรรณสูตตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 มีกลุ่มกรรณสูตซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถเฟียตถือหุ้นใหญ่ร่วมกับกลุ่มนักลงทุนจากมาเลเซียและครอบครัวอรรถกวีสุนทร อันเป็นครอบครัวขุนนางเก่าของไทย

โรงงานแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นโรงงานประกอบรถเฟียต รถฟอร์ด และรถเรโนลต์ของกลุ่มอิตัลไทยซึ่งในช่วงหลังของปี 2525 ไปแล้ว โรงงานประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักพร้อม ๆ กับเลิกประกอบรถเฟี๊ยต รถเรโนลต์ และลดจำนวนการผลิตของรถฟอร์ดที่ดูแลอยู่โดยบริษัทแองโกล-ไทยมอเตอร์

"ตอนสถานการณ์ของเขาไม่ดีเขาก็มาคุยกับพวกเราเพราะรู้จักกัน เราก็อยากช่วยกรรณสูต แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เตรียมการไว้เท่านั้น" อารี สันติพงศ์ไชย เล่ากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งก็น่าจะเป็นการยอมรับถึงเจตนาดั้งเดิมข องนิวเอร่าที่เริ่มกันเพราะต้อง "เตรียมการ" สำหรับการเข้าช่วยเหลือโรงงานประกอบรถยนต์กรรณสูต

และหลังจาก "เตรียมการ" เพียง 5 เดือน นิวเอร่าก็ค้นพบทางออกสำหรับการเข้าช่วยเหลือกรรณสูต อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งเสียด้วย

"ตอนเดือนมีนาคมเราก็รู้แล้วว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์จะเลิกจากฟอร์ดมันก็เป็นโอกาสที่เปิดอย่างมากซึ่งจะหาโอกาสแบบนี้คงยากทีเดียว เพราะถ้าเราได้ฟอร์ดมาทำเราก็คงจะช่วยกรรณสูตได้ อีกทั้งมันก็เป็นโอกาสที่เปิดให้เราก้าวเข้ามาในวงการรถยนต์ สำหรับเรามันเป็นปัจจัย 2 อย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างถูกจังหวะมาก" อารีพูดถึงสิ่งที่เขาพยายามเน้นว่าเป็น "โอกาสที่หาได้ยากยิ่ง"

จากเดือนมีนาคม 2528 เป็นต้นมา สำหรับนิวเอร่าแล้วจึงมีอยู่หลายเรื่องที่จะต้องทำพร้อม ๆ กันไป ตั้งแต่การดึงกลุ่มทุนต่าง ๆ เข้าร่วมงานกับนิวเอร่า การเจรจากับฟอร์ดออสเตรเลียไปจนถึงการทำสัญญาเช่าโรงงานประกอบรถยนต์ของกรรณสูต

"คนที่เดินงานก็คนหนุ่ม ๆ เพื่อนของอารีเขา คนหนึ่งอยู่มาเลเซียเป็นลูกชายเจ้าของกิจการหลายอย่างก็มีกิจการรถยนต์ด้วย ส่วนอีกคนอยู่ออสเตรเลีย เขาก็ช่วยกันดำเนินการจนตอนนี้ก็เข้าไปในกรรณสูตแล้ว และด้านฟอร์ดออสเตรเลียก็ตกลงกันได้เรียบร้อย…" ลี สันติพงศ์ไชย ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ พูดถึงลูกชายและกลุ่มเพื่อนๆ ของลูกซึ่งเป็นแกนกลางของบริษัทนิวเอร่า

ลียอมรับว่าตอนแรกๆ ที่ได้รับทราบถึงความตั้งใจของอารีและเพื่อนๆ นั้นเขาหนักใจมาก

"เรามองว่ามันยาก ปีนี้ถึงปีหน้าใครลงทุนทำอะไรมันเจ๊งง่าย เพราะเศรษฐกิจแย่ที่สุด แต่พวกเขาก็เชื่อว่าเขาทำได้ เพราะเขามีวิธีใหม่ๆ ที่เชื่อว่าทำแล้วจะสำเร็จ ก็ต้องให้พวกเขาลองดู"

ซึ่งสำหรับลีแล้วก็น่าจะหนักใจอยู่หรอก เพราะนิวเอร่านอกจากจะเกิดขึ้นมาในช่วงปีที่เศรษฐกิจเลวร้ายมากๆ แล้ว ก็ยังจับสินค้าที่ยักษ์ใหญ่อย่างฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และแองโกล-ไทยมอเตอร์เคยล้มเหลวมาแล้วด้วย

สำหรับนิวเอร่าล่ะ…พวกเขามีความหนักใจหรือไม่?

"หลังจากที่เราศึกษาตลาดและการบริหารงานของแองโกล-ไทยมอเตอร์ในอดีตแล้ว เราไม่รู้สึกหนักใจเลย เรายิ่งเชื่อมั่นขึ้นด้วยซ้ำ" ผู้บริหารคนหนึ่งของนิวเอร่าเปิดเผยถึงความรู้สึก

กลุ่มนิวเอร่ามีทัศนะ 3 ด้านที่เป็นด้านหลักๆในเรื่องนี้ คือ

หนึ่ง-พวกเขามีความเห็นว่ารถฟอร์ดเป็นรถที่มีคุณภาพ ไม่แพ้รถยี่ห้ออื่นๆ โดยเฉพาะรถญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน ฟอร์ดมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และปัจจุบันฟอร์ดได้ใช้เทคโนโลยีหลายๆ ด้านตลอดจนชิ้นส่วนสำคัญๆ จากโรงงานของมาสด้าในประเทศญี่ปุ่นอันเป็นผลมาจากการที่ฟอร์ดเข้าไปถือหุ้นอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ในมาสด้า

"คุณลองไปดูได้เลยไม่ว่าในมาเลเซีย สิงคโปร์ ยอดขายของฟอร์ดมาที่ 3 ในออสเตรเลียมาเป็นที่ 1 เพราะฉะนั้นผมว่าฟอร์ดเป็นรถที่มีอนาคตดีมาก" คนของนิวเอร่ายืนยันด้วยน้ำเสียงแข็งขัน

สอง-พวกเขาเชื่อว่า สาเหตุแห่งความล้มเหลวของรถฟอร์ดในประเทศไทยที่ผ่านๆ มานั้น ไม่ใช่เกิดจากตัวสินค้า หากแต่เกิดจากความผิดพลาดด้านนโยบายการบริหารของผู้แทนจำหน่ายที่รับผิดชอบเสียมากกว่า

"เราพบว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์ ได้ทำผิดพลาดหลายอย่าง เช่น เขาโฆษณาประชาสัมพันธ์น้อยมาก คนทั่วไปยังคิดว่าฟอร์ดเป็นรถอังกฤษหรือออสเตรเลียเหมือนเดิม ภาพลักษณ์ไม่ดี และเขาไม่พยายามอธิบายให้คนทราบถึงพัฒนาการของฟอร์ด หรือพยายามเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีที่คนมีต่อรถฟอร์ด นอกจากนั้นเขาก็ยังดำเนินนโยบายที่ทำให้รถฟอร์ดมือสองราคาตกอย่างมากๆ คนก็เลยกลัวไม่อยากซื้อ เพราะขืนซื้อไปเวลาขายเป็นรถมือสองจะไม่ได้ราคาดี เราก็เชื่อว่าถ้าเราแก้ข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้เราก็มีโอกาสที่ดีขึ้นได้"

และสาม-ต่อคู่แข่งในตลาดโดยเฉพาะบรรดาเจ้ายุทธจักรรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดอยู่นั้น นิวเอร่ามีความเห็นว่าหลายปีที่เศรษฐกิจไม่ดีนี้ ทุกรายต้องเหนื่อยเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย หรือสยามกลการที่ขายนิสสัน และเฉพาะอย่างยิ่งกับรถญี่ปุ่นยี่ห้อนอกเหนือจากโตโยต้าและนิสสันนั้นก็ต้องเหนื่อยอย่างสาหัสทีเดียว

"มันก็เหมือนกับเขาได้วิ่งมาจนเกือบจะล้าแล้ว เพราะความที่วิ่งมานานส่วนพวกเรานั้นเพิ่งจะออกวิ่งเรายังกระชุ่มกระชวยอยู่ เราก็มีข้อได้เปรียบพวกเขาอยู่ เรื่องการแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยหนักใจมากเท่าไหร่" อารี สันติพงศ์ไชย พูดเปรียบเทียบให้ฟัง

จากการมองปัญหาทั้ง 3 ด้านนี้ก็เลยทำให้นิวเอร่ามั่นใจในตัวเองเป็นพิเศษซึ่งก็น่าจะต้องเป็นเช่นนั้น

และคงไม่จำเป็นจะต้องรีรออีกต่อไป

ในเดือนมกราคม 2529 นี้ รถฟอร์ดคูเรียร์ซึ่งเป็นรถปิกอัพก็จะออกสู่ตลาดเป็นรุ่นแรก โดยวันที่ 15 จะเป็นวันดีเดย์

จากนั้นรถฟอร์ดรุ่นเลเซอร์และเทลสตาร์ซึ่งปรับปรุงรูปโฉมใหม่หมดก็จะออกตามๆ กันมาในราวเดือนเมษายน 2529

รถฟอร์ดทั้ง 3 รุ่นนี้นิวเอร่าตั้งเป้าหมายว่าจะในปี 2529 จะประกอบออกมาจากโรงงานกรรณสูตทั้งหมด 4,000 คัน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะเป็นรถฟอร์ดคูเรียร์

หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือนิวเอร่าได้ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิกอัพประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้านี้นั่นเอง

"ด้านการขายนั้นเราจะตั้งตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ 4-5 ราย มีโชว์รูม 1 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดเราจะตั้งขึ้นทั้งหมด 23 ราย" ผู้บริหารนิวเอร่าเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

เป้าหมายเหล่านี้จะบรรลุผลหรือไม่นั้นคงต้องติดตามเฝ้าดูกันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.