นมค้างสต๊อกปีนี้มีมากถึง 3 พันกว่าตัน ทำให้วงการผู้ค้านมทั้งหลายระส่ำระส่ายอย่างหนัก
แล้วยุทธการข่าวลือและการสาวไส้ก็ออกมากันเป็นระลอกๆ จนคนดื่มนมทั้งหลายพากันผวาจะเลิกดื่มนมกันเป็นแถว
เพราะกลัวว่าผู้ผลิตนมจะเอานมที่ค้างสต๊อกมาขาย และก่อนที่เรื่องจะบานปลายใหญ่โตไปมากกว่านี้
อัศวินม้าขาว (เพิ่ง) โผล่มาแก้ไขสถานการณ์......
ตลาดนมมูลค่าเฉียด ๆ พันล้านตอนนี้กำลังจับไข้อย่างหนัก เพราะมีข่าวรั่วออกมาว่าทั้งทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมไทยหรือ
อสค. ซึ่งเป็นผู้ผลิตนมดิบรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม
จำกัด ซึ่งทำการตลาดให้กับ อสค. เพื่อขายผลิตภัณฑ์นมโค "ไทย-เดนมาร์ก"
มีนมค้างสต๊อกไม่ต่ำกว่า 3 พันตัน หรือคิดเป็นเงินสดประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งทำให้ทั้ง 2 แห่งนี้ประสบกับภาวะขาดเงินหมุนเวียน
และถ้าไม่รีบระบายสต๊อกนมส่วนนี้แล้ว นมเหล่านี้จะเสื่อมคุณภาพในที่สุด ซึ่งก็หมายความถึงเงินจำนวน
45 ล้านบาทนี้จะสูญไปด้วย และถ้าไม่รีบเร่งแก้ไขก็จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย
ทั้งเกษตรกรเลี้ยงโคนมอีกจำนวนมากจะไร้อาชีพไปด้วย
ปัญหาเรื่องนมค้างสต๊อกนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในวงการนม
ถ้าจะว่าไปแล้วปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว คือเมื่อประมาณปี
2513 และปี 2525/26 แต่ในครั้งนี้เป็นที่ฮือฮากันมากเพราะมีนมเหลือค้างมากเป็นประวัติการณ์
รัฐบาลในหลายยุคก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนมนี้มาตลอด แต่ก็คงเป็นการแก้ที่ยังไม่ถูกจุดจึงทำให้ปัญหานี้ยิ่งสะสมกันมากขึ้นเรื่อยๆ
จนเป็นสาเหตุให้ทั้ง อคส. และบริษัทอินเตอร์แมกนั่มรวมทั้งบริษัทเอกชนที่ผลิตนมดื่มทุกแห่งต้องมารับผิดชอบปัญหานมนี้ร่วมกัน
ประเทศไทยมีการเลี้ยงโคนมกันอย่างจริงจังเมื่อปี 2504 เมื่อรัฐบาลเดนมาร์กได้เข้ามาจัดตั้งฟาร์มส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้กับประเทศไทย
ในครั้งนั้นเป็นระยะการทดลองการเลี้ยงโคนมเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายของการผลิตแต่อย่างใด
และก็ได้มีการตั้งโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ขึ้นเพื่อนำนมดิบที่ได้มาเข้าโรงงานแล้วบรรจุใส่ถุงออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า
"นมโคไทย-เดนมาร์ก" ในขณะเดียวกันก็ส่งนมดิบที่เหลือให้กับบริษัท
โฟร์โมสต์และเพียวด้วย
จนกระทั่งในปี 2514 เจ้าหน้าที่ของเดนมาร์กสามารถฝึกคนไทยให้รู้จักเลี้ยงโคนมได้พอสมควรแล้วก็ได้ถอนตัวกลับ
ฟาร์มแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ
อสค. ตามพระราชกฤษฎีกา โดยให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งบริหารโดยคนไทย มี ยอด วัฒนสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก
อสค. เมื่อเริ่มตั้งก็ยังคงดำเนินการต่าง ๆ ตามแบบฝรั่งเดนมาร์กที่ได้วางรากฐานเอาไว้
คือ ส่งเสริมให้การเลี้ยงโคนมและรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของโคนม รวมทั้งน้ำนมดิบซึ่งนำมาทำการพาสเจอร์ไรซ์ออกจำหน่ายเอง
ตลาดนมในช่วงนั้นยังแคบมากเพราะคนดื่มนมยังไม่มากนัก การแข่งขันก็ประสบปัญหาเล็กน้อยตรงที่เอกชนที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์จะใช้หางนมผงจากต่างประเทศมาละลายน้ำ
โดยไม่ยอมซื้อนมดิบจาก อสค. โดยอ้างว่านมดิบราคาแพงเกินไปทำให้ต้นทุนการผลิตสูง
จะเป็นการทำให้นมในท้องตลาดราคาสูงตามไปด้วย
อสค. จึงต้องแบกภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อเกษตรกรของประเทศโดยการผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์จากนมดิบในประเทศ
แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่านมผงจากนอกก็ตาม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตของ อสค. สูงกว่าเอกชนมาก
แต่ อสค. หรือรัฐบาลก็ไม่คิดที่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจัง เพียงแต่ออกกฎกระทรวงอุตสาหกรรมมาบังคับให้โรงงานเอกชนซื้อนมดิบภายในประเทศ
โดยมีความดังนี้
"ตามที่ปรากฏว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยในปัจจุบันได้เป็นกิจกรรมสำคัญอันหนึ่ง
ซึ่งมีส่วนในการขยายฐานะและเพิ่มขีดความสามารถของสาขาเศรษฐกิจการเกษตร ดังนั้น
เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมได้มีส่วนสนับสนุนการเลี้ยงโคนมอย่างแท้จริงแล้ว
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นสมควรกำหนดนโยบายดังต่อไปนี้
ในการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งขยายกำลังการผลิตหรือต่ออายุใบอนุญาตโรงงานผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า โรงงานดังกล่าวจะต้องไม่ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสด
(รวมทั้งนมปรุงแต่งและนมแปลงไขมัน) ในลักษณะใด ๆ ซึ่งมิได้ใช้นมสดภายในประเทศโดยสิ้นเชิง
หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคตจะได้ประกาศให้ทราบต่อไป"
จะสังเกตว่าในประกาศครั้งนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษแก่โรงงานที่ฝ่าฝืน จึงเสมือนเขียนเสือให้วัวกลัว
ในช่วงนั้นแม้ว่าเอกชนจะไม่ยอมซื้อนมดิบภายในประเทศก็ตาม แต่นมดิบที่ อสค.
รับซื้อจากเกษตรกรก็มีเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตอนนั้นยังมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมไม่มากนัก
ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2518 เมื่อเกษตรกรหันมาสนใจเลี้ยงโคนมมากขึ้น
เพราะรัฐบาลประกันนมดิบในราคาที่สูง ทำให้มีนมดิบเพิ่มขึ้นจากเดิมมากในขณะที่ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์
(นมถุง) ไม่ขยายตัวตามไปด้วย เพราะเป็นนมที่มีอายุสั้นเพียง 3 วันเท่านั้นก็จะเสื่อมคุณภาพ
และจะต้องแช่เย็นด้วยซึ่งสมัยนั้นตู้เย็นยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์อยู่ในวงจำกัดมาก
การขยายตลาดก็ทำได้ยาก
เมื่อเป็นเช่นนี้นมดิบจึงเริ่มเหลือสะสมขึ้นทุกวัน ๆ ทินกร คมกริช ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ
อสค. ในขณะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศเข้ามา คือการแปรนมดิบโดยผ่านความร้อนนานกว่าระบบพาสเจอร์ไรซ์
เรียกระบบนี้ว่า ULTRA HOMOGINIZE TEMPERTURE หรือ ยู.เอช.ที. (นมกล่อง)
กรรมวิธีนี้จะทำให้สามารถเก็บรักษานมได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น
อสค. เริ่มนำระบบ ยู.เอช.ที. มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ตลาดนม ยู.เอช.ที. ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดผลิตนมในระบบใหม่นี้แข่งกับ
อสค. จึงทำให้ อสค. สดใสไปโลดโกยกำไรถึงปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
แต่เมื่อ อสค. แก้ปัญหานมเหลือได้แล้วก็ต้องมาประสบปัญหาใหม่คือ นมดิบขาดแคลน
"ตอนนั้นเราเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาคือนมดิบไม่พอผลิตนมยู.เอช.ที. เพราะตลาดนมขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก
ในขณะที่เกษตรกรของเรายังผลิตนมเท่าเดิมอยู่ อสค. ก็แก้ปัญหาด้วยการสั่งหางนมผงจากต่างประเทศมาผสมกับนมดิบเพื่อทำนมยู.เอช.ที.ขาย"
เจ้าหน้าที่เก่าแก่คนหนึ่งของ อสค. เล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ
การตลาดของ อสค. ในตอนนั้นหลังจากรับซื้อนมดิบจากเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ก็จะนำนมดิบมาแปรสภาพเป็นนม
ยู.เอช.ที. โดยการตลาดในกรุงเทพฯ นั้น อสค. จะมีเจ้าหน้าที่ออกไปขายเองทั้งหมด
สำหรับตลาดต่างจังหวัด จะมีเอเย่นต์ประมาณ 30 กว่ารายมารับซื้อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง
จุดอ่อนการตลาดของ อสค. คือไม่มีการตั้งยอดขายให้กับเอเย่นต์ ใครจะขายเท่าไหร่ก็ได้
และก็ไม่มีการแบ่งเขตในการจำหน่ายในต่างจังหวัดกัน ไม่มีการทำสัญญากับเอเย่นต์
การตกลงอะไรจะกระทำกันด้วยปากเปล่าและก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของ อสค.
ด้วย
"เมื่อก่อนผมต้องไปยกมือไหว้เขาเพื่อที่จะได้นมตามจำนวนสั่ง เพราะขายง่าย ได้มาเที่ยวหนึ่งปล่อยไม่กี่วันก็หมด"
เอเย่นต์แห่งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ เรียกว่าในตอนนั้น
อสค. ขายกันอย่างสบาย ๆ ก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนอะไรมากนัก
บริษัทผลิตนมของเอกชนปล่อยให้ อสค. กรุยตลาดนม ยู.เอช.ที. ไปพักใหญ่ก็เริ่มขอมาร่วมรายการด้วย
โดนนมตรามะลิเปิดฉากขึ้นก่อน ตามติดมาด้วยนมตราหมี และนมยี่ห้ออื่น ๆ รวมทั้งนมถั่วเหลืองด้วย
ในช่วงนั้นแม้แต่ อสค. ที่ผลิตนมดิบรายใหญ่ของประเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนนมดิบเลย
บริษัทเอกชนที่ผลิตนม ยู.เอช.ที. ตามอย่างจึงต้องหันไปสั่งหางนมจากนอกมาละลายน้ำบรรจุกล่องกัน
กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังต้องผ่อนผันให้โรงงานใช้หางนมผงจากต่างประเทศได้
เมื่อเอกชนกระโจนเข้ามาร่วมในตลาดนม ยู.เอช.ที. แล้ว ก็ทำให้ อสค. เริ่มเสียเปรียบในด้านต้นทุนและกลยุทธ์ทางการตลาด
นม ยู.เอช.ที. ที่เอกชนผลิตนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นมคืนรูป ยู.เอช.ที."
เพราะใช้หางนมผงและมันเนยจากต่างประเทศมาผสมน้ำ ทำให้ต้นทุนถูกกว่า อสค.
ที่ใช้นมดิบมากถึง 30% เพราะต่างประเทศก็มีนมดิบล้นตลาด จึงนำที่เหลือนั้นมาทำเป็นหางนมผง
แล้วก็ส่งมาทุ่มตลาด (DUMPING) ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทย
ในราคาที่ถูกมากเพียงกิโลกรัมละ 4 บาท ในขณะที่นมดิบภายในประเทศกิโลกรัมละ
7.50 บาท
เมื่อต้นทุนแตกต่างกันเช่นนี้ผู้ผลิตเอกชนจึงสามารถทุ่มโฆษณาได้อย่างเต็มที่เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก
อสค. ประกอบกับเอกชนมีนักการตลาดมืออาชีพที่คอยวางแผนการตลาดให้ ไม่นานนักตลาดของ
อสค. ที่มีอยู่ก็เริ่มถูกแย่งไปเรื่อย ๆ
ดูจากตารางที่ 1 แสดงกำไรของ อสค. ที่ทำไว้สูงสุดเมื่อปี 2522 เป็นเงินถึง
25.5 ล้านบาท และเริ่มลดลงจนเหลือ 1.45 ล้านบาทในปี 2524 และเริ่มขาดทุนถึง
15 ล้านบาทในปี 2525
จากการเสียเปรียบในเชิงการตลาดของ อสค. จนต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดของ อสค.
จนต้องเสียส่วนแบ่งของตลาดให้กับคู่แข่งทั้งหลายที่มาแรงกว่า ทำให้ อสค.
เริ่มมีผลิตภัณฑ์นมดื่มค้างสต๊อกมากขึ้น และไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้หมด
"เริ่มจากปี 24 เริ่มมีปัญหานมค้างสต๊อกขึ้นเรื่อย ๆ จนเหลือสะสมกันพันกว่าตัน
พอถึงปลายปี 24 มีนมเหลืออยู่เกือบ 2 พันตัน คิดเป็นเงินเกือบ 30 ล้านบาท
ทำให้ อสค. ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนอย่างมาก" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว
ส่วนทางเอกชนก็ไม่ยอมรับซื้อนมดิบของ อสค. โดยอ้างว่าราคาน้ำนมดิบแพงกว่าหางนมผงจากต่างประเทศ
ถ้าใช้นมดิบในประเทศแล้วจะทำให้โรงงานขาดทุนได้
และในช่วงนั้นเป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการผลิตน้ำนมดิบเพื่อผลิตนมดื่มทดแทนการนำเข้าของหางนมผงและมันเนย
โดยจากตารางที่ 2 จากปี 2524 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ยังสามารถผลิตนมได้เพียง
22,352 ตัน/ปี พอเริ่มแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ก็มีการเร่งการผลิตนมดิบมากขึ้น
ปริมาณนมดิบก็เพิ่มขึ้นเป็น 27,028 ตัน/ปี และในปี 2526 และ 2527 ก็เพิ่มเป็น
34,075 ตัน/ปี และ 43,429 ตัน/ปี จะสังเกตได้ว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นมากกว่าเดิมมาก
ส่วนสถานการณ์ทาง อสค. นั้น คณะกรรมการก็ได้ย้ายทินกร คมกริช มาเป็นที่ปรึกษา
เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหานมค้างสต๊อกได้ แล้วก็ตั้ง ดร.ทิม พรรณศิริ อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าไปรักษาการแทน
อสค. สมัย ดร.ทิม พรรณศิริ ได้เริ่มการระบายสต๊อกด้วยการให้ส่วนแถมแก่เอเย่นต์และลูกค้า
แต่ในขณะนั้น อสค. ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักเกินไปเสียแล้ว มีงบโฆษณาเพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น
จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ประกอบกับ อสค. มีจุดอ่อนด้านเอเย่นต์ ซึ่งดำเนินธุรกิจกันอย่างหละหลวมมาก
แผนการตลาดของ ดร.ทิม จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนักและต้องประสบกับความล้มเหลวในที่สุด
คณะกรรมการจึงต้องทำการผ่าตัดช่วยชีวิต อสค. เป็นครั้งที่ 2 ด้วยการแต่งตั้ง
บุญมี จันทรวงศ์ จากกระทรวงเกษตรฯ มาแก้ปัญหาที่มีอยู่ใน อสค. ขณะนั้น
แหล่งข่าววงการนมคนหนึ่งได้เล่าให้ทราบถึงวิธีการดำเนินการแก้ปัญหาของ อสค.
ในสมัยของบุญมีว่า
"ในสมัยอาจารย์บุญมี เริ่มแก้ปัญหาสำคัญก่อนคือเคลียร์สต๊อกให้ได้
เพื่อที่จะนำเงินที่ค้างอยู่มาหมุนเพื่อดำเนินการอย่างอื่นต่อไป โดยการให้เอเย่นต์เก่าทั้งหมดมาประชุม
แล้ว อสค. ก็เสนอขอยกเลิกข้อตกลงเก่าที่ทำกับเอเย่นต์ทั้งหลายให้หมด เพราะตลาดแบบเก่าของ
อสค. เป็นแบบหละหลวมมาก และตกลงกันว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ทาง อสค.
จะขอความร่วมมือจากเอเย่นต์ทั้งหลายช่วยกันระบายนมในสต๊อกจำนวน 4,500 ตัน
ออกไปให้หมด คือเดิมมีอยู่ 2 พันตัน จะต้องบวกผลผลิตอีก 3 เดือนข้างหน้าเข้าไปด้วยเดือนละพันตัน
ถ้าเอเย่นต์ใดสามารถขายได้ถึงเป้าใหม่ได้แล้ว อสค. จึงจะทำสัญญาค้าขายด้วยกันต่อไป"
การระดมพลเพื่อระบายสต๊อกครั้งนี้เอเย่นต์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยแต่ละแห่งจะขายนม
"ไทย-เดนมาร์ก" ในสายตามต่างจังหวัดของตนเองที่ขายอยู่แล้วโดยเพิ่มเป้าหมายขึ้นกว่าเดิมถึง
2 เท่าตัว
สายที่มีปัญหาก็คือสายกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่ง อสค. ทำการขายเองมาตั้งแต่แรก
โดยเมื่อมีการประชุมนั้นพนักงานของ อสค. ไม่สามารถทำตามเป้าหมายใหม่ได้ จึงต้องรับเอเย่นต์ใหม่เข้ามารับผิดชอบในสายกรุงเทพฯ
มี 2 บริษัทที่เสนอเข้ามาในตอนนั้นคือ บริษัท เสียงดังแล็ป และบริษัทโอสถสภา
(เต๊กเฮงหยู) จำกัด แต่อสค. ก็ลงมติให้บริษัทเสียงดังแล็ป ชนะไป ได้เป็นเอเย่นต์ขายนม
"ไทย-เดนมาร์ก" ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะบริษัทเสียงดังแล็ปได้ยื่นหนังสือมาก่อนและให้ข้อเสนอที่ดีกว่า
บริษัทโอสถสภาฯ จึงได้โควตานมที่ภาคใต้ไปแทน
งานระบายสต๊อกครั้งนั้นบริษัทเสียงดังแล็ปกะทุ่มช่วย อสค. สุดตัวเพื่อหวังผลที่จะเป็นเอเย่นต์ใหญ่ของ
อสค. ต่อไปข้างหน้า บริษัทเสียงดังแล็ปจึงทุ่มขายแถมถึง 18-20%
ผลที่สุด อสค. ก็สามารถระบายสต๊อกไปได้ถึง 80% ทำให้มีสต๊อกเหลือเพียง
500 ตันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติเพราะนม ยู.เอช.ที จะต้องรอเช็กสภาพ
7 วัน ก่อนส่งออกจำหน่าย ซึ่งถ้าผลิตได้วันละ 150 ตัน ก็จะต้องมีสต๊อกสำหรับเช็กสภาพนมประมาณ
350 ตัน
ภาวการณ์เงินของ อสค. จึงเริ่มกระเตื้องขึ้นมาก ทาง อสค. ก็เริ่มขายอย่างปกติ
แต่แล้วก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา!
เมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2526 อสค. จึงต้องถูกนำมาขึ้นเขียงผ่าตัดเป็นครั้งที่
3 โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่าการตลาดของ อสค. ทำงานแย่มาตลอด ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นเสมอ
สมควรที่จะให้เอกชนมารับทำการตลาด โดยอสค. มีหน้าที่ทำการผลิตอย่างเดียว
ซึ่งในตอนนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะกลายเป็นระบบผูกขาด
"ถ้ามีรายเดียวจะมีปัญหาเพราะการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนมเป็นสินค้าที่เราเก็บนานไม่ได้
ถ้าเป็นหลาย ๆ เอเย่นต์ก็จะต้องมีการแข่งขันกันขาย ยังพอมีดุลถ่วงกันบ้าง แต่รัฐบาลก็ให้เหตุผลว่ามีบริษัทเดียวจะดีตรงที่
อสค. เป็นรัฐวิสาหกิจจึงทำงานช้า ถ้ามีรายเดียวก็จะได้สะดวกในการทำงาน ด้านโฆษณาก็ให้รายใหม่รับไปเลย"
ลูกหม้อเก่าแก่ของ อสค. กล่าว
ในที่สุดก็มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลกันเพื่อทำการตลาดให้กับ อสค.
ซึ่งมีหลายรายที่สนใจ เช่น บริษัท ศรีกรุง บริษัท บอร์เนียว บริษัท โอสถสภาฯ
และน้องใหม่คือ บริษัท อินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทโอสถสภาฯ
แสดงว่าครั้งนี้บริษัทโอสถสภาฯ ต้องการที่จะจับตลาดด้านนมกันอย่างจริงจัง
เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลในครั้งนี้เอเย่นต์เก่าแก่ของ อสค. ไม่มีใครเข้าร่วมเลย
แม้กระทั่งบริษัทเสียงดังแล็ปซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนช่วย อสค. ระบายสินค้าอย่างมากในครั้งนี้
บริษัทเสียงดังแล็ป จึงน่าที่จะเข้ามาเสนอตัวด้วย เอเย่นต์ผู้หนึ่งเปิดเผยให้ทราบถึงสาเหตุว่า
"เงื่อนไขของคณะกรรมการตั้งไว้สูงมาก อย่างเช่นบริษัทที่เข้าประมูลต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ต่ำกว่า
50 ล้านบาท ซึ่งพวกบริษัทเอเย่นต์เก่าก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว แม้แต่บริษัทเสียงดัง
แล็ปเองก็ยังไม่ถึง ทางบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจึงชนะไปเพราะเสนอราคาซื้อนมกล่องและตั้งเป้าหมายในแต่ละปีเป็นที่พอใจของพวกคณะกรรมการ
แล้ว อสค. ก็ได้คู่แฝดถาวร คือ บริษัท อินเตอร์แมกนั่ม จำกัด โดย อสค.
เป็นฝ่ายผลิตสินค้าภายใต้ชื่อ "นมโคไทย-เดนมาร์ก" ส่วนบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม
จำกัด ก็มีหน้าที่เป็นพ่อค้าขายนมไป ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 ภายใต้ข้อสัญญาดังนี้
- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด จะรับซื้อนมสำเร็จรูปจาก อสค. ในราคาโหลละ
49 บาท
-
- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด จะต้องทำเป้าหมายการขายทั้งปีให้ได้ 270 ล้านบาท
และเพิ่มขึ้นปีละ 15%
-
- ระยะเวลา 5 ปี ในสัญญานั้น อสค. จะต้องจัดส่งนมให้บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม
จำกัด บางส่วนในช่วง 3 ปีแรก ส่วน 2 ปีหลังบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจำกัด จะต้องไปรับเองที่มวกเหล็ก
-
- อสค. สามารถปรับ 10% ในส่วนที่ไม่ถึงเป้าในแต่ละปี
-
- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ต้องทำหนังสือค้ำประกันเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาในวงเงิน
10 ล้านบาท
-
ในระยะแรกที่บริษัทอินเตอร์แมกนั่มทำการตลาดนั้น ลางแห่งความยุ่งยากก็ได้เริ่มเกิดขึ้นเสียแล้ว
เพราะการตกลงเรื่องยอดขายรายปีเป็นเงิน 270 ล้านบาท เฉลี่ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่า
15-16 ล้านบาท
ข้อตกลงนี้ถูกโจมตีอย่างมากเพราะ อสค. โวยว่าตอนที่ อสค. ทำการขายเองนั้นก็มีรายได้เดือนละ
16-17 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่ถ้าบริษัทอินเตอร์แมกนั่มมาประกันเพียง 15-16 ล้าน
ในขณะที่ อสค. มีรายจ่าย 20 ล้านบาทต่อเดือน จะทำให้ อสค. ขาดทุนได้
ปัญหาการเจรจาในเรื่องนี้จึงยืดเยื้อกันอยู่นาน จนเป็นสาเหตุให้มีนมค้างสต๊อกอีกครั้ง
เพราะ
"บริษัทอินเตอร์แมกนั่มไม่แน่ใจว่าตัวเองจะได้เป็นเอเย่นต์หรือไม่ เพราะมีการโจมตีกันมาก
จึงกลัวว่า อสค. จะบอกเลิกสัญญา แต่นมก็จะต้องผลิตออกมาทุกวัน ด้านการตลาดเมื่อมีปัญหาขึ้นมาจึงเริ่มที่จะมีนมค้างสต๊อกขึ้นมาอีก
และก็เริ่มสะสมกันมาจนถึงปัจจุบัน" แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ความเห็น
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แฉตัวเลขว่ามีสต๊อกนมกล่อง
1 ลิตร ในโรงงานปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 600-700 ตัน โรงงานมวกเหล็ก
1,500 ตัน และของบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม 3,000-4,000 ตัน
ผลอันนี้จึงทำให้การเงินของ อสค. ตกอยู่ในฐานะลำบากยิ่งขึ้น โดยมีวงเงินโอดี
จากธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้าน และหนี้กล่องบรรจุนมอีก 15-20 ล้านบาท
ส่วนบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ก็ต้องแบกภาระสต๊อกมูลค่า 60-70 ล้านบาท
แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ บริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็ร่วมกับบริษัทเอสโซ่
จำกัด ทำการโปรโมชั่นด้วยการแจกนมไทย-เดนมาร์ก 1 กล่อง เมื่อเติมน้ำมันทุกๆ
300 บาท แล้วยุทธการแจกนมของบริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็ถูกคนมองว่าเป็นการระบายสต๊อกนมที่ค้างอยู่อย่างมากในขณะนี้
"ทางแมกนั่มก็พยายามระบายสต๊อกที่มีอยู่ด้วยการแจกนมตามปั๊มเอสโซ่
ซึ่งก็พอช่วยได้บ้าง ทางแมกนั่มควรมีโปรโมชั่นดีๆ มานานแล้ว แต่เท่าที่เคยทำมาก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่"
เอเย่นต์ผู้หนึ่งวิจารณ์
ในเรื่องนี้ กนก อภิรดี กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม ได้เผยให้
"ผู้จัดการ" ทราบ
"นมค้างสต๊อกของเรามีไม่มากไปกว่าความสามารถของเราที่จะระบายออกไปได้
ปัญหานมจะต้องเป็นอย่างนี้ทุกปี คือ พอหน้าร้อนก็ไม่พอขาย แต่พอเข้าหน้าหนาวกับหน้าฝนนมก็จะเหนือทุกปี
ถ้าบริษัทไหนบอกว่ามีนมค้างสต๊อกอยู่ก็ขอให้เข้าใจว่าบริษัทนั้นทำนมขึ้นมาจากนมสดจริงๆ
แต่ถ้าบริษัทไหนบอกมาว่าไม่มีนมค้างสต๊อกอยู่เลย แสดงว่าบริษัทนั้นผลิตนมมาจากหางนมผง
ในแง่ของเรานั้นเราไม่ตกใจเลยที่มีนมค้างสต๊อกซึ่งเป็นปัญหาธรรมชาติที่ใครก็แก้ไม่ได้"
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในวงการ
ถึงกับมีคนพูดว่าบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม ไม่ประมาณตัวเองเสียก่อนที่จะเสนอตัวเข้ามารับโปรเจกต์นี้
แล้วก่อนที่เรื่องระหว่าง อสค. กับบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจะลุกลามไปกันใหญ่โตนั้น
รัฐบาลก็ออกมากู้สถานการณ์ด้วยการออกกฎกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอร้องแกมบังคับให้เอกชนช่วยรับซื้อนมดิบที่
อสค. ผลิตเกินในตอนนี้วันละ 20 ตัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ผลิตนมเอกชน
อันเป็นการแบ่งเบาภาระสต๊อกของ อสค. ไปได้มาก
นอกจานี้ก็ยังมีการรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมเพิ่มขึ้น เพราะจากการสำรวจดูสาเหตุที่ทำให้ตลาดนมโตช้าเพราะคนไทยดื่มนมกันน้อยเพียงคนละ
2 ลิตรต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ถึงคนละ 15 ลิตรต่อปี และถ้านำตัวเลขนี้ไปเทียบกับประเทศในเอเชียแล้ว
ปรากฏว่าคนไทยดื่มนมน้อยที่สุด ผลที่จะตามมาในวันข้างหน้าก็คือต่อไปคนไทยอาจจะได้ชื่อว่าเป็นคนตัวเล็กที่สุดในเอเชียแทนญี่ปุ่นก็ได้
เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นดื่มนมคนละ 46 ลิตรต่อปีแล้ว
การที่คนไทยไม่นิยมดื่มนมนั้นตามรายงานปรากฏออกมาว่าเป็นเพราะค่านิยมที่ว่านมเป็นเครื่องดื่มของเด็ก
และอีกประการภาวะทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเช่นนี้จึงทำให้ผู้บริโภคคิดว่านมมีราคาแพงเกินไป
แม้ว่าจะมีคุณค่าทางอาหารมากก็ตาม แต่ทุกคนก็ทานอาหารเข้าไปครบทุกมื้อแล้วจึงเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องดื่มนมอีก
นมจึงกลายเป็นของฟุ่มเฟือยไป
เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการบริโภคนมขึ้น
โดยมีบริษัทจากเอกชนหลายแห่งช่วยกันสละเงินลงขันกันได้ประมาณ 1.8 ล้านบาท
เพื่อเป็นทุนในการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการครั้งนี้ด้วย
ปัญหาของการผลิตนมก็ยังคงจะต้องมีต่อไป เพราะนมเป็นสินค้าที่ไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ
"นมเป็นสินค้าที่เล่นยากมากที่สุด เพราะมีปัญหาในด้านการผลิตมาก วัวตัวหนึ่งจะต้องให้นมดิบในขณะที่ตั้งท้องอยู่
9 เดือน ดังนั้น เมื่อต้องการนมดิบก็ต้องเลี้ยงลูกวัวเพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว
และภายใน 2 ปีลูกวัวตัวนี้ก็จะสามารถตั้งท้องและให้น้ำนมดิบได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สามารถควบคุมการผลิตนมได้เลย
และน้ำนมดิบจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามจำนวนวัวด้วย" นักการตลาดมือเก่าท่านหนึ่งให้ความเห็น
ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงควรจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเตรียมแผนการสำหรับปัญหานมในระยะยาวด้วย
ซึ่งในครั้งนี้รัฐบาลก็ได้เริ่มแก้ปัญหานมได้ถูกจุดแล้ว คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้เอกชนช่วยแบ่งเบาภาระสต๊อกของ
อสค.ไปบ้าง ส่วนระยะยาวนั้นคือการรณรงค์ให้มีการดื่มนมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยายตลาดของนมให้กว้างออกไป
หลังจากที่รัฐบาลผิดพลาดมาแล้วตรงที่ส่งเสริมแต่การผลิตอย่างเดียวมาตลอดโดยไม่ดูการตลาดให้เติบโตควบคู่ไปด้วย
และการที่รัฐบาลอนุมัติให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตนมผงนั้นก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยรับภาระนมดิบในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกได้มาก
ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้ลงมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหานมค้างสต๊อกนี้แล้ว
ก็คิดว่าต่อไปในอนาคตคงจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอีก และผลสะท้อนของความร่วมมือกันก็ทำให้อุตสาหกรรมนมภายในประเทศเจริญก้าวหน้าเพื่อความสมหวังของทุกฝ่าย