กาญจน์ คูนซ์ นักการเกษตรที่กลายมาเป็นนักคอมพิวเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

กรรมการผู้จัดการของแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์คนนี้เป็นอเมริกัน ชื่อจริง ๆ คือ KARL M KUNZ แต่คงเป็นเพราะอยู่เมืองไทยมานาน พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ใคร ๆ ก็เลยมักจะเรียกเขาในชื่อ "กาญจน์" มากกว่าที่จะต้องเรียกกันว่า "มิสเตอร์คูนซ์" อย่างที่ใช้เรียกชาวต่างชาติจากซีกโลกด้านตะวันตกทั่ว ๆ ไป

กาญจน์ ปัจจุบันอายุ 39 ปี เกิดและเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรีด้านปรัชญาที่วอชิงตัน ดี.ซี. เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2512 ในฐานะอาสาสมัครหน่วยสันติภาพ (PEACE CORPS VOLUNTEER) โดยทำหน้าที่เป็นพัฒนากรสังกัดกรมพัฒนาชุมชนอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ดินแดนภาคอีสานของไทย

"ตอนสมัครเป็นอาสาสมัครนั้นก็มีให้เลือกสอนภาษาอังกฤษ 2 แห่ง คือที่ตุรกีกับเกาะฟิจิ แล้วก็มีส่งเสริมการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูในประเทศไทย ผมไม่อยากสอนภาษาอังกฤษ มันน่าเบื่อ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ก็เลยเลือกมาที่ประเทศไทยซึ่งตอนนั้นยังไม่ทราบเลยว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร ต้องไปค้นหนังสืออ่านจากห้องสมุด ก็รู้คร่าว ๆ ว่ามีช้าง มีในหลวง..." กาญจน์เล่ากับ "ผู้จัดการ"

กาญจน์เข้ารับอบรมที่ฮาวาย 3 เดือนเพื่อเรียนภาษาไทยและเรียนการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ควบคู่ไปด้วย จากนั้นก็ถูกส่งตัวมาประจำที่ห้องพัฒนากรในศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ มีรถประจำตำแหน่งเป็นมอเตอร์ไซค์ 1 คัน เอาไว้ตระเวนพบปะชาวบ้าน ซึ่งดูเหมือนรถคันนี้จะถูกใช้คุ้มมาก

"มันกำลังมีไฟ 2 ปีที่เป็นพัฒนากรอยู่บุรีรัมย์ผมมีผลงานหลายอย่าง ไม่ได้อวดนะ ตอนนั้นยังหนุ่มอายุเพิ่ง 23-24 ก็สร้างโรงเรียน 13 แห่ง นำไก่พันธุ์เนื้อเข้ามาส่งเสริมในภาคอีสานเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะต้องคอยแนะนำให้ชาวบ้านรู้จักการเลี้ยงแล้วก็ต้องแนะนำร้านอาหารให้รู้จักทำข้าวมันไก่ด้วย เพราะคนยังไม่รู้จัก ช่วงนั้นเหนื่อยมากแต่ก็สนุก เพราะได้ทำงานที่ใจชอบมาก" กาญจน์เล่าอีกตอนหนึ่ง

หมดวาระการทำหน้าที่เป็นพัฒนากรส่งเสริมการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ในภาคอีสาน กาญจน์เดินทางกลับบ้านที่สหรัฐฯ และได้เข้าเรียนต่อปริญญาโทด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย "เพราะใจมันรักงานเกษตรเข้าแล้วตอนนั้น" เขาให้เหตุผล

อีกปีกว่า ๆ ต่อมาก็ตัดสินใจมาหาประสบการณ์อีกครั้งในเมืองไทย

คราวนี้กาญจน์เริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการไร่ให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการนำเมล็ดพันธุ์ผักชนิดใหม่ ๆ มาทดลองปลูกที่แควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

ไม่นานหลังจากนั้นก็ย้ายไปทำหน้าที่เป็นผู้ให้การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชไร่ของบริษัทอาหารกระป๋องแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็อยู่ที่นี่ 2 ปี แล้วจึงถูกบริษัท อดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนลดึงตัวมาเป็นผู้จัดการไร่ยาสูบ ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

"อดัมส์ เข้ามาลงทุนทำแปลงสาธิตปลูกยาสูบพันธุ์ เตอร์กิซ มาตั้งเป็น 10 ปีแล้วในเมืองไทย ปลูกแล้วก็ส่งออกไปให้โรงงานยาสูบหลาย ๆ แห่ง ก็ถูกปฏิเสธมาเรื่อย ๆ จนปีที่ 10 ทางโรงงานบุหรี่มัลเบอโร่ เขาก็ตอบกลับมาว่าโอ.เค. เขาจะรับซื้อจำนวนมาก ขอให้ดำเนินการส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกได้ ผมก็ถูกดึงตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้การส่งเสริมการปลูกยาสูบทางภาคอีสาน แล้วตอนหลัง ๆ บริษัทอดัมส์ก็เอาพืชอื่น ๆ เข้ามาส่งเสริมด้วย ปัจจุบันเขาส่งออกใบยาสูบไป 26 ประเทศทั่วโลก" กาญจน์พูดถึงบริษัทอดัมส์

กาญจน์ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการไร่ของอดัมส์ฯ 3 ปี จนเมื่ออดัมส์นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ความสนใจของกาญจน์ก็เริ่มพุ่งไปที่เครื่องมือที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวแทนวิชาเกษตรซึ่งพัฒนาไม่ค่อยจะทันใจเหมือนกับคอมพิวเตอร์

"ผมจึงกลับไปเรียนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ จบแล้วก็สอนคอมพิวเตอร์อีกพักหนึ่งที่แคลิฟอร์เนีย โปลิเทคนิค ยูนิเวอร์สซิตี้ แล้วจึงกลับมาอยู่เมืองไทยอีกครั้ง"

และคราวนี้กาญจน์เข้ามารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย)

"คิดว่าจะอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ตลอดไปแล้วครับ เพราะมันมีสิ่งใหม่ ๆ ให้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเบื่อ..." กาญจน์กล่าวตบท้ายให้ฟัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.