The Board Book


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 คณะกรรมการบริษัท ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างอย่างดี ในหนังสือ The Board Book ซูซาน เอฟ. ชูลท์ซ์ ได้เสนอแนวคิดเรื่องคณะกรรมการบริษัทเชิงยุทธศาสตร์ หรือ "strategic board" ว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก

"ธุรกิจเอกชนขนาดเล็กอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดที่จะใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์" ชูลท์ซ์บอก "เพราะบริษัทเหล่านี้ยังขาดแคลนทรัพยากรสนับสนุน ความยืดหยุ่นและ ไม่มีกรอบแนวทางอย่างบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 อีกทั้งยังเป็นกิจการที่เปราะบางอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง"

ชูลท์ซ์เสนอว่าบริษัทส่วนใหญ่ล้มเหลวกับการใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งก็เป็นเพราะความผิดพลาดสำคัญในการควบคุมองค์กร นั่นก็คือ การตั้งคนในครอบครัวหรือพรรคพวกกันเป็นกรรมการบริษัท ผลก็คือ ได้คณะกรรมการที่อ่อนแอ เฉื่อยชา ไม่อาจสร้างคุณค่าใดๆ ให้กับองค์กรได้

‘ ข้อผิดพลาดสิบประการ

ใน The Board Book ชูลท์ซ์ได้ชี้ถึงความผิดพลาดที่ทำให้ คณะกรรมการบริษัทไร้ประสิทธิภาพ

1. ความล้มเหลวในการคัดเลือกกรรมการเชิงยุทธศาสตร์ บริษัทจะต้องคัดเลือกคณะกรรมการเชิงยุทธศาสตร์โดยการระบุถึงความเชี่ยวชาญหรือความต้องการอื่นๆ ขององค์กร แล้วหาคณะกรรมการที่สามารถเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นขององค์กรได้ อย่างเช่นเมื่อโมโตโรล่าตั้งเป้าหมายที่ธุรกิจสินค้าอุปโภคก็ได้จ้าง ผู้บริหารของพรอคเตอร์แอนด์แกมเบิลเข้ามาเสริมในแง่มุมมองทางด้านผู้บริโภคให้กับคณะกรรมการ

2. การมีคนวงในมากเกินไป การตั้งคนวงในเป็นคณะกรรมการทำให้ขาดอิสระซึ่งต่างจากการให้คนนอกเป็นกรรมการบริษัท อย่าลืมว่าการตั้งคำถามกับคนเป็นประธานนั้นเป็นเรื่องยากเย็นไม่น้อย

3. มีที่ปรึกษาที่ต้องว่าจ้างมากเกินไป ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์อาจเกิดขึ้น เมื่อที่ปรึกษาซึ่งได้รับค่าธรรมเนียมจากบริษัทถูกขอให้ลงคะแนน หรือโหวตให้กับข้อเสนอใดๆ ที่จะมีผลต่อรายได้ของเขาเอง

4. มีหลายครอบครัวมาเกี่ยวข้อง ในธุรกิจแบบครอบครัว คณะกรรมการที่ถูกครอบงำจากเครือญาติของเจ้าของกิจการอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่มีระยะห่างทางด้านอารมณ์ความรู้สึกมากพอในการถามคำถามสำคัญบางคำถาม และอาจตัดสินใจได้ยากในบางประเด็น 5. พรรคพวกมากเกินไป การมีเพื่อนฝูงหรือพรรคพวกอยู่ในคณะกรรมการบริษัทมากเกินไปมีผลไม่ต่างจากการมีคนในครอบครัว หากไม่มีการเพิ่มพูนความรู้และสร้างมุมมองใหม่ให้กับคณะกรรมการ

6. การได้ผลตอบแทนแบบไม่เหมาะสม ค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ต้องมีการพิจารณาอย่างเป็นอิสระโดยอิงกับผลประกอบการและสอดคล้องกับระดับขั้นการจ่ายค่าตอบแทนของบริษัทด้วย

7. ความกลัวความแตกต่าง การมีความแตกต่างทางความคิดเห็นและมุมมองจะทำให้มองเห็นทางออกและเกิดแนวคิดใหม่ๆ ได้

8. การสกัดกั้นทางข้อมูล คณะกรรมการต้องได้รับการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจชัดเจน ซึ่งนับเป็นเรื่องยากทีเดียว การพิจารณาข้อมูลที่ผ่านเข้ามาจะต้องมีความรอบคอบทั้งในเรื่องของเวลา ความถูกกับเรื่อง และปริมาณข้อมูล 9. คณะกรรมการที่เฉื่อยชาไม่อาจสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับบริษัทได้ คณะกรรมการต้องมีความกระฉับกระเฉง เป็นอิสระและคิดในเชิงยุทธศาสตร์

10. ผู้นำที่ล้มเหลว ทัศนะของประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อคณะกรรมการบริษัท เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขให้คณะกรรมการเป็นผู้ที่สนับสนุนองค์กรทางด้านยุทธศาสตร์และเพิ่มมูลค่ากิจการ หรือเป็นพวกเฉื่อยชาและไร้ประสิทธิภาพ

หากระบุข้อผิดพลาดได้แล้ว องค์กรจะไม่เพียงแต่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่คอยบ่อนเซาะคณะกรรมการ หากยังทำให้มั่นใจได้ว่าจะเอื้ออำนวยต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต หนังสือเล่มนี้มีบทสัมภาษณ์จากผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทหลากหลายแห่งที่จะเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.