เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้ บริษัทเอทีแอนด์ที ไดเร็คทอรี่ส์
(ประเทศไทย) จำกัด โดยโธมัส เอ็น เวลซ์ กรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารอีกหลายคนได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนขึ้นที่สำนักงานของเอทีแอนด์ทีชั้น
10-11 อาคารอัมรินทร์ทาวเวอร์
การแถลงข่าวคราวนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่คงไม่ใช่ครั้งแรกแน่ๆ
ซึ่งก็เป็นการแถลงถึงความคืบหน้าของการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และสมุดหน้าเหลืองเป็นประเด็นสำคัญ
เมื่อเวียนกันแถลงครบถ้วนทุกคนแล้ว ผู้บริหารของเอทีแอนด์ทีก็พาสื่อมวลชนทั้งหมดในวันนั้นเข้าชมการทำงานของเอทีแอนด์ทีทุกขั้นตอน
จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการพิมพ์ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องนำสื่อมวลชนไปชมกันที่โรงพิมพ์ประชุมช่าง
ถนนวิภาวดีรังสิตโน่น
ก็น่าจะพูดได้ว่าการจัดแถลงข่าวคราวนี้เอทีแอนด์ทีพาผู้สื่อข่าวตลอดจนสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ
เข้าไปรับทราบและได้สัมผัสด้วยตาตนเองครบถ้วนทุกขั้นตอน ใครติดใจสงสัยปัญหาไหนเอทีแอนด์ทีพร้อมจะให้ความกระจ่างทุกปัญหาไป
แต่เรื่องขั้นตอนการทำงานจะเป็นอย่างไรนั้น ว่าไปแล้วก็ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดที่เอทีแอนด์ทีต้องการจะบอกในวันนั้น
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่เอทีแอนด์ทีต้องการจะบอกก็คือ ขีดความสามารถของเอทีแอนด์ทีในการเข้ามารับผิดชอบการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และสมุดหน้าเหลืองแทนผู้จัดคนเก่า
หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นการจัดแถลงข่าวเพื่อฉีกหน้าคู่แข่งในยุทธจักรสมุดหน้าเหลืองก็คงเรียกได้เต็มปากเต็มคำ
ไม่เชื่อก็ลองอ่านคำแถลงของโธมัส เอ็น เวลซ์ กรรมการผู้จัดการดูก็ได้ โปรดสังเกตความหมายในแต่ละบรรทัดสักหน่อยก็แล้วกัน
"บริษัท เอทีแอนด์ทีฯ ได้รับลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2528 ซึ่งในวันเวลานั้นเรายังไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานถาวร
พนักงานหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม่มีแม้แต่รายนามผู้ใช้โทรศัพท์สักเพียงหนึ่งราย
ที่จะนำบรรจุลงไปในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ฉบับปี 2529 เมื่อตอนที่เราได้รับพนักงานผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการประสานงานจัดทำสมุดโทรศัพท์นั้น
ก็ล่วงเข้าเดือนกรกฎาคมแล้ว ในช่วงเดียวกันนี้เอง ที่เราได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมอันทรงประสิทธิภาพสูงสุดเครื่องหนึ่งในประเทศไทย
และการบรรจุข้อมูลรายนามผู้ใช้โทรศัพท์กว่า 500,000 ราย เข้าในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้เริ่มขึ้น
พร้อม ๆกับการคัดเลือกพนักงานจากผู้สมัครกว่า 3,000 ราย เพื่อให้ได้บุคลากรที่ดีที่สุด
มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาร่วมงานกับเรา การเซ็นสัญญาเช่าสำนักงานที่ทำการ
ที่อาคารอัมรินทร์ทาวเวอร์ก็บรรลุไปด้วยดี หลังจากนั้นการฝึกอบรมพนักงานขายก็ได้เริ่มขึ้น
และติดตามด้วยการเซ็นสัญญาจัดพิมพ์สมุดโทรศัพท์กับบริษัทประชุมช่าง จำกัด
ในขณะเดียวกันนั้นเอง การดำเนินงานด้านการโฆษณา เพื่อหาลูกค้าให้กับสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองของเราในต่างจังหวัดก็ได้เริ่มขึ้น
พร้อมกับการสั่งกระดาษเพื่อนำมาใช้ในงานนี้ รวมมูลค่ากว่า 75 ล้านบาท ซึ่งแน่ละ
เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 5 เดือนก่อนคือนับจากวันที่ 10 มิถุนายน 2528...
จนถึงวันนี้ 8 พฤศจิกายน 2528 เรากำลังพุ่งไปข้างหน้าอย่างเชื่อมั่นในความสำเร็จของเรา
ณ บัดนี้ ข้อมูลรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศได้ถูกบรรจุไว้ในเครื่องเมนเฟรมของเราเรียบร้อยแล้ว
อันจะทำให้เราสามารถพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าขาว และจากนั้นจะตามด้วยฉบับภาษาไทย
ทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า เป็นเพราะความสามารถของเพื่อนพนักงานเอทีแอนด์ทีกว่า
180 คน ซึ่งบางคนต้องทุ่มเทเวลาวันละ 16 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 6 ถึง 7 วัน
เพื่อร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงานอันมีประสิทธิภาพให้บรรลุวัตถุประสงค์ถึงเป้าหมายสูงสุด
และเพื่อประกาศให้ชาวไทยได้ประจักษ์ว่า เรา เอทีแอนด์ที ทำได้แล้ว..."
ต่อจากคำแถลงของกรรมการผู้จัดการเอทีแอนด์ทีฯ ก็เป็นการกล่าวเน้นถึงความสำเร็จในการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ได้ในเวลาอันสั้น
ด้วยการลงทุนที่คุ้มค่าในคอมพิวเตอร์และเครื่องเรียงพิมพ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเอทีแอนด์ทีชี้ข้อได้เปรียบไว้อย่างนี้
"เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งรับภาระงานจัดเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดที่เอทีแอนด์ทีซื้อเข้ามาติดตั้งนั้น
นับได้ว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เครื่องเดียวของไทยที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลด้านการพิมพ์
(เอทีแอนด์ทีใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ DIGITAL VAX/785) ตัวอย่างเช่น
1. รายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์รายเดียว แต่มีโทรศัพท์หลายหมายเลข ซึ่งติดตั้งอยู่
ณ ที่เดียวกันหมด หมายเลขโทรศัพท์ทั้งหมดจะถูกบันทึกรวบรวมไว้ด้วยกัน
2. สำหรับกรณีที่รายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ซ้ำ แต่มีที่อยู่แตกต่างกัน ก็จะได้รับการพิมพ์แยกไว้ให้เห็น
3. หมายเลขโทรศัพท์ที่มีผู้ใช้ร่วมกันหลายราย คอมพิวเตอร์จะสามารถรวบรวมได้ว่ามีกี่ราย
เป็นใคร และอยู่ที่ไหนบ้าง ในแง่ของการรวบรวมข้อมูลด้วยมือ อันเป็นระบบเดิม
ไม่สามารถเรียบเรียงข้อมูลให้ถูกต้อง สมบูรณ์ แม่นยำได้เท่าคอมพิวเตอร์
4. ประการสำคัญคือ หากมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น รายชื่อ หรือหมายเลขโทรศัพท์
คอมพิวเตอร์จะสามารถติดตาม แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกรายการ แต่ในกรณีที่ใช้คนตามแก้ไขมักจะพบข้อบกพร่องอยู่เสมอๆ
หากข้อมูลที่ต้องนำมาจัดเรียงมีจำนวนเป็นร้อย เป็นพัน ก็คงพอจะใช้คนทำได้
ไม่ยุ่งยากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ขณะนี้มีถึง 5
แสนกว่าหมายเลข จำเป็นต้องอาศัยคนเป็นจำนวนมากในการแก้ไข ซึ่งพบข้อบกพร่องอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 นั้น องค์การโทรศัพท์ฯ
ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะมีโทรศัพท์ถึงหนึ่งล้านห้าแสนหมายเลข หากใช้คนจัดทำข้อมูล
กว่าจะประมวลผลเสร็จ ผลที่ได้จะล้าสมัยและต้องปรับปรุงเกือบทั้งหมด และจำนวนหมายเลขโทรศัพท์นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
จะมีก็แต่เพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่สามารถทำงานได้เสร็จในเวลาอันสั้นพร้อมกับได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์
และทันสมัยที่สุด
ในด้านเครื่องเรียงพิมพ์คอมพิวเตอร์
ถึงแม้ว่าระบบการเรียงพิมพ์ในประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียงพิมพ์แล้วก็ตาม
แต่ผลจากการที่โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ลงทุนไปสูงมากกับระบบการเรียงพิมพ์ของเดิมที่ใช้สำหรับการจัดพิมพ์สมุดโทรศัพท์
เช่น โลหะที่หล่อตัวอักษร, เครื่องจักรในการหล่อตัวอักษร ทำให้โรงพิมพ์เหล่านั้นจำเป็นต้องทนใช้เครื่องจักรและระบบที่ได้ลงทุนไปแล้ว
โดยเริ่มตั้งแต่รับข้อมูลจากองค์การโทรศัพท์ฯ นำมาเก็บรวบรวมสะสมไว้จนกระทั่งปิดเล่ม
จึงนำข้อมูลที่รวบรวมมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาจัดทำ โดยเริ่มพิมพ์เข้าเครื่องซึ่งจะเจาะรหัสลงบนแถบกระดาษจากนั้นจึงนำกระดาษที่ได้ไปเข้าเครื่องอ่านรหัส
เครื่องจะเลื่อนตำแหน่งตัวอักษรในแม่พิมพ์ทองเหลืองให้ตรงกับตัวอักษรที่ต้องการ
แล้วหล่ออักษรนั้นเป็นตัวโลหะ และขยับไปหล่อตัวถัดไป จากนั้นจึงนำตัวหล่อที่ได้มาเรียงลำดับอักษรให้เรียบร้อยเป็นบรรทัด
รวบรวมเป็นคอลัมน์ นำบล็อกที่ได้อัดให้แน่นไปเข้าแท่นปรู๊ฟ โดยลงหมึกและใช้ลูกกลิ้งกลิ้งผ่าน
จะได้ข้อความคอลัมน์ตามต้องการในกระดาษปรู๊ฟ หากตัวอักษรผิดหรือข้อความตกหล่นก็จะต้องแก้ไขใหม่
โดยกลับไปเริ่มต้นแก้ตั้งแต่บล็อกโลหะ เมื่อได้ต้นฉบับที่สมบูรณ์ก็จะทำไปทำอาร์ตเวิร์ค
คือตัดต่อและแปะเป็นหน้า เพื่อใช้เป็นต้นฉบับในการถ่ายฟิล์ม
สำหรับส่งไปทำเพลทและพิมพ์ต่อไป
ข้อแตกต่างของระบบที่เอทีแอนด์ทีใช้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรียบเรียงจัดหน้าให้เรียบร้อยแล้ว
จะป้อนเข้าเครื่องไลโนไทพ์ (LINOTYPE) โดยเครื่องจะสร้างตัวอักษรและจัดช่องไฟให้
ตลอดจนจัดรูปหน้าทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์ และในขั้นนี้การเรียงตัวอักษรไม่ว่าจะต่างขนาดหรือคนละแบบกัน
ล้วนทำด้วยคอมพิวเตอร์บนจอภาพ และไม่ต้องอาศัยระบบเลนซ์ในการปรับขนาด หรือไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์มแม่แบบตัวอักษรเลย
สิ่งที่ได้จากเครื่องเรียงพิมพ์จะเป็นฟิล์มต้นฉบับที่สามารถนำไปถ่ายเพลทได้เลย
เป็นการย่นระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง ตัดขั้นตอนการหล่อตัวอักษรเพื่อสร้างต้นฉบับลงอย่างสิ้นเชิง
และที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลจะสามารถทำได้จนวินาทีสุดท้ายด้วยการป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์เพียงจุดเดียว
เช่น หากมีชื่อเพิ่มเติม เครื่องจะจัดการเรียงใหม่ หากมีการกระทบหน้าที่จัดไว้เครื่องจะจัดแจงจัดหน้าให้ใหม่เสร็จสรรพ
ทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการจัดพิมพ์ได้มาก ในขณะเดียวกันข้อมูลที่ได้ก็ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น
ต้นฉบับสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ฯ โดยเอทีแอนด์ทียกแรกที่ปรากฏสู่สายตาสื่อมวลชนทุกท่าน
จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลผลิตที่ได้จากการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานพิมพ์เครื่องแรกของประเทศไทย
ร่วมกับคอมพิวเตอร์เรียงพิมพ์ภาษาไทยที่ทันสมัยที่สุด"
ก็เห็นจะต้องขอส่งผ่านข้อมูลเหล่านี้ให้เยนเนรัล เทเลโฟน ไดเรคทอรี่ส์ทราบด้วย