หยิบสุขภาพดีใส่ตะกร้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเห็ดสดแห่งเขาใหญ่

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่คนจีนยกย่องเห็ดหลายชนิดเป็นยาอายุวัฒนะ คนไทยเองก็รู้ว่าเห็ดมีประโยชน์หลายประการ แต่น้อยคนเคยพบเห็นเห็ดที่หลายหลากกว่า “เห็ดตลาด” และแทบไม่มีโอกาสได้เก็บเห็ดที่หลากหลายเหล่านั้นแบบสดๆ ด้วยน้ำมือของตัวเอง... หากไม่ได้มา “ที่นี่”

ภายในอาคารปูนเปลือยขัดมัน หลังคายกสูงเพื่อให้ลมถ่ายเทสะดวก เห็ดลักษณะคล้ายไตรูปร่างสมบูรณ์ สีแดงอมน้ำตาล ลายวงแหวน มีความวาวมันยังกับ เปลือกไม้ที่ลงแลกเกอร์ เรียงรายอยู่เต็มก้อนเชื้อนับพัน เห็ดทุกดอกปกคลุมด้วยฝุ่น สีแดง ซึ่งก็คือสปอร์ของเห็ดหลินจือ

“หลินจือ” แปลเป็นไทยว่าสมุนไพร แห่งจิตวิญญาณ คัมภีร์โบราณของจีนยกให้เห็ดหลินจือเป็นเจ้าแห่งชีวจิต มีพลังมหัศจรรย์ในการบำรุงร่างกาย ใช้เป็นยาอายุวัฒนะในการยืดอายุออกไป ขณะที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขนานนามเห็ดนี้ว่า “เห็ดหมื่นปี” หรือ “เห็ดอมตะ”

ชาวจีนโบราณจึงใช้เห็ดหลินจือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลและโชคลาภ ก่อนหน้านั้นเห็ดหลินจือถือเป็นเห็ดที่หาได้ยากมาก เพราะเป็นเห็ดหวงห้าม จะมีใช้เฉพาะ คนในตระกูลของจักรพรรดิ และในสำนักพระราชวังของจีนเท่านั้น แม้วันนี้เห็ดหลินจือจะหาทานได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีราคาแพง

คนไทยหลายคนคุ้นหูกับชื่อเห็ดหลินจือ และทราบถึงประโยชน์บางส่วนของเห็ดชนิดนี้ผ่านการโฆษณาของเครื่องดื่มเห็ดสกัดแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง แต่คงมีคนไม่มากที่เคยเห็นเห็ดชนิดนี้แบบสดๆ และได้สัมผัสกับเห็ดเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ในขณะที่เห็ดยังมีชีวิตอยู่ในก้อนเชื้อ

สำหรับฟาร์มเห็ดชื่อ “เขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม” ที่นี่เปิดให้ลูกค้าเข้าชม สัมผัส ที่สำคัญคือเก็บเห็ดกลับไปรับประทานที่บ้านด้วยตัวเอง ยกเว้นเพียงเห็ดหลินจือที่ไม่ให้เก็บที่นี่มีเห็ดนับ 10 ชนิดที่ลูกค้าสามารถสัมผัสและเลือกเก็บเห็ดที่ชอบ เลือก ดอกสมบูรณ์ที่สุดในปริมาณที่ต้องการ ด้วยมือตัวเอง

“เมื่อสักครู่มีฝรั่งที่บ้านเขาอยู่แถวนี้ ขี่มอเตอร์ไซค์มาจ่ายกับข้าว แล้วภรรยาก็จดให้มาซื้อเห็ดนางรมและเห็ดหูหนู เขาก็มาเก็บกลับไปแบบสดๆ ที่นี่ เรียกว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตด้านเห็ดของคนเขาใหญ่ไปเลย” ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ เล่าพร้อมรอยยิ้ม ในฐานะเจ้าของฟาร์มแห่งนี้

เขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของขุนเขา บนที่ดินกว่า 2 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างช่องเขา ตรงข้ามกับแหล่งพักทานอาหาร “บ้านไม้เขาใหญ่” บนถนนธนะรัชต์ มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่

“ตรงนี้โชคดีเป็นช่องเขา อากาศก็ถ่ายเท มีลมพัดตลอด เมื่อเห็ดมันต้องดูดอากาศและความชื้นเข้าไปเพื่อเติบโต เห็ดที่นี่ได้อากาศดีๆ เข้าไป มันก็เลยใหญ่กว่า ที่อื่น” ปรเมศวร์มองว่าเห็ดก็ไม่ต่างจากคน โรคภูมิแพ้ที่เขาเป็นก็มีอาการดีขึ้น ทันทีเมื่อได้มาอยู่ในแหล่งโอโซนที่ดีที่สุดติดอันดับโลก เช่นเขาใหญ่

ที่ดินแปลงนี้ถือเป็นสุดยอดทำเลทอง สำหรับการเปิดรีสอร์ตที่ยังหลงเหลือเพียงน้อยนิดในเขตเขาใหญ่ก็ว่าได้ แต่ปรเมศวร์กลับเลือกที่จะเนรมิตผืนดินแห่งนี้เป็นที่ตั้งฟาร์มเห็ดเล็กๆ โดยตั้งใจเปิดเป็นฟาร์มเห็ดเชิงท่องเที่ยว

แทนที่จะได้เห็นโรงเรือนไม้ทึบๆ อับๆ ร้อนๆ ชื้นๆ หรือตู้กระจกติดแอร์ กลับได้เห็นโรงเพาะเห็ดสไตล์โมเดิร์น ดูราวรีสอร์ตฮิพๆ แทน โดยได้เพื่อนสนิทที่เป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการออกแบบโรงเรือนระบบปิดของเห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นผู้ออกแบบให้

เพื่อให้คนเที่ยวชมฟาร์มเห็ดและเลือกทานเห็ดอย่างมีความรู้ ทุกครั้งในการเข้าชมโรงเพาะเห็ดจะมีมัคคุเทศก์พาชมและอธิบายสรรพคุณของเห็ดแต่ละชนิด เมนูอาหารที่แนะนำ และขนาดที่เหมาะสมในการเก็บ

ก่อนเริ่มชมฟาร์ม ลูกค้าจะได้รับ Welcome Drink เป็น “น้ำเห็ด 7 อย่าง” ซึ่งเป็นเมนูพิเศษของฟาร์มแห่งนี้เพื่อให้ลูกค้าทำความคุ้นเคยกับรสชาติเห็ด ปรเมศวร์เชื่อว่า ลูกค้าที่ไม่ทานเห็ดก็ทานน้ำเห็ดของที่นี่ได้ เพราะไม่มีกลิ่นฉุน ดื่มง่าย เนื้อเห็ดเป็นวุ้นคล้ายรังนก

ทัวร์ฟาร์มเห็ดเริ่มต้นจากห้องเพาะ “เห็ดยานางิ” หรือ “เห็ดโคน ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นโรงเรือนระบบปิด โดยที่ลูกค้าจะชมจากภายนอก จากนั้นจึงไปสัมผัสกับเห็ดในโรงเรือนระบบเปิด โดยผังการทัวร์ที่ปรเมศวร์วางไว้จะเริ่มจาก “เห็ดตลาด” ไต่ระดับ “ความน่าตื่นตาตื่นใจ” ไปจนห้องสุดท้าย

เริ่มด้วยเห็ดที่ปลูกในดินอย่าง “เห็นตีนแรด” และ “เห็ดโต่งฝน” ว่ากันว่า ขนาดใหญ่สุดที่ฟาร์มแห่งนี้เคยเพาะได้ หนักถึง 1.7 กก. จากนั้น ลูกค้าต้องเปลี่ยนรองเท้าและล้างมือเพื่อเตรียมเข้าสู่ห้องเพาะเห็ด ห้องแรก เป็น “เห็ดนางรมฮังการี” และ “เห็ดนางฟ้าภูฏาน” ที่ทยอยกันบานรอเก็บ อยู่ในก้อนเชื้อ สำหรับเมนูเด็ดของเห็ดนางรมฮังการี ได้แก่ แกงจืด และเห็ดชุบแป้งทอด ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฏานเหมาะจะนำไปทำยำหรือต้มยำ

ต่อไปเป็นห้องเห็ดที่เรียกเสียงชัตเตอร์ได้มากที่สุดห้องหนึ่ง คือ “เห็ดนางรมทอง” ออกดอกสีทองอร่ามตา อยู่ร่วมกับ “เห็ดนางนวล” ดอก คล้ายช่อปะการังสีชมพู เหมาะจะทำอาหารได้หลายเมนู ต่อด้วยห้อง “เห็ดเป๋าฮื้อ” หรือ “เห็ดหอยโข่งทะเล” ด้วยสรรพคุณทางยา ที่น่าตื่นเต้น ปรเมศวร์สำทับด้วยเมนูแนะนำ “ปลาหมึกบก” หรือก็คือเห็ดเป๋าฮื้อย่างจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ซึ่งได้รสชาติเหมือนปลาหมึก

ถัดมาเป็นห้อง “เห็ดโคนญี่ปุ่น” ในระบบเปิด ซึ่งเพาะไว้ให้ลูกค้าได้มีโอกาสสัมผัสและเก็บเห็ดชนิดนี้ด้วยตัวเอง โดยเมนูเด็ด ได้แก่ เห็ดโคน ญี่ปุ่นชุบแป้งทอดจิ้มน้ำจิ้มบ๊วย ซึ่งที่นี่ขนามนามว่า “เฟรนช์ฟรายด์เห็ดด้วยลักษณะของเห็ดที่มีโคนยาวและกรุบๆ รวมทั้งมีความมันในตัว

จากนั้นเป็นห้อง “เห็ดหูหนูดำ” และ “เห็ดหูหนูเผือก” ซึ่งหากนำไปชุบแป้งทอด เห็ดจะพองเป็นก้อน จึงได้ชื่อเมนูน่าทานว่า “ซาลาเปาเห็ด” สุดท้ายจึงมาจบที่ห้องสุดยอดแห่งเห็ดยาอย่าง “เห็ดหลินจือ”

ด้วยรสชาติที่ไม่อร่อย จึงไม่มีเมนูอาหารจากเห็ดหลินจือแนะนำ แต่ปรเมศวร์กำลังคิดค้นสูตรผงเห็ด “โป๊ยเซียน” ซึ่งเป็นชาเพื่อสุขภาพ ได้จากการนำเห็ด 7 ชนิดมาอบแห้งทำเป็นผงเห็ด โดยเพิ่มความพิเศษแห่งสรรพคุณทางยาด้วยสปอร์ของเห็ดหลินจือ

“ในดอกเห็ดหลินจือมีตัวยานับร้อยอย่าง แต่เชื่อหรือไม่ว่าสปอร์ของเห็ดหลินจือมีประโยชน์เยอะกว่า ผมเลยได้ไอเดีย เอาสปอร์เห็ดหลินจือมาทำเป็นผงเห็ดร่วมกับเห็ดอีก 7 ชนิด ไว้ชงพร้อมดื่ม ซึ่งเราทดลองสูตรกันมานาน เพราะเห็ดแต่ละชนิดมีกลิ่นไม่เหมือนกัน ตอนนี้ได้สูตรที่ลงตัวแล้ว กำลังทำแพ็กเกจให้เหมือนถุงชาลิปตัน”

ชาเห็ด “โป๊ยเซียน” ปรเมศวร์ตั้งใจจะวางขายให้ทันภายในเดือนธันวาคม พร้อมกันนี้ เขายังวางแผนจะนำดอกเห็ดหลินจือมาอบ เพื่อขายเป็นของขวัญของฝาก

หลังจากเก็บเห็ดจนพอใจ เห็ดเหล่านั้นจะถูกนำไปชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณเป็นค่าเห็ด โดยสนนราคาเห็ดมีตั้งแต่ กก.ละ 80-300 บาท แล้วแต่ชนิดเห็ด ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ระหว่างตลาดค้าส่งกับซูเปอร์มาร์เก็ต แต่หากลูกค้าไม่อยากเก็บเอง ที่นี่จะมีเห็ดบางชนิด ที่ทางฟาร์มเก็บไว้ให้แล้ว และนำมาใส่แพ็กละครึ่งกิโล

หากเทียบตามความนิยม ปรเมศวร์ยกให้เห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นพระเอกของฟาร์ม ส่วนนางเอก เขายกให้เห็ดเป๋าฮื้อ ขณะที่เห็ดนางรมทองและเห็ดนางนวล อาจเรียกว่าเป็นขวัญใจช่างภาพ แต่สำหรับ “เห็ดเทพ” คงต้องยกให้เห็ดหลินจือ

เกณฑ์ในการเลือกเห็ดที่นำมาเพาะที่ฟาร์มแห่งนี้ ปรเมศวร์คละระหว่างเห็ดพันธุ์ที่คนไทยคุ้นเคยกับพันธุ์ที่หาดูยาก โดยเฉพาะในตอนเป็นดอก เร็วๆ นี้เขาเตรียมนำ “เห็ดหัวลิง” หรือ “เห็ดยามาบูชิตาเกะ” เข้ามาให้ลูกค้าสัมผัส

แม้จะเป็นคนทานเห็ดอยู่แล้ว แต่หลังจากเริ่มทำฟาร์มเห็ด ปรเมศวร์รู้สึกทึ่ง กับสรรพคุณของเห็ดทุกชนิด โดยเฉพาะเห็ดหูหนูดำที่เคยนึกว่าเป็นเพียงตัวเสริมความอร่อย

“เห็ดแทบทุกชนิดจะมีสรรพคุณช่วยเรื่องโรคมะเร็งอยู่แล้ว แต่เห็ดแต่ละชนิดยังมีประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ อย่างเห็ดหูหนูดำที่เราคุ้นเคยกันมานาน ชาวจีน ถือเป็นยาอายุวัฒนะด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราแทบไม่เคยรู้เลย”

ไม่เพียงเป็นฟาร์มเห็ดให้ลูกค้าได้เก็บเห็ดกลับไปทำอาหารเอง ที่เขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์มยังให้บริการเมนูจานเด็ด จากเห็ดให้ได้สั่งทานในราคาเพียง 50-80 บาท เช่น ปลาหมึกบก, เห็ดโคนลวกจิ้ม, แกงเขียวหวานเห็ดเป๋าฮื้อ, ขนมจีนน้ำยาเห็ดโคนญี่ปุ่น ฯลฯ

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีอาหารแปรรูปจากเห็ด โดยส่วนหนึ่งได้แม่ของหุ้นส่วนคนหนึ่งช่วยทำให้ เช่น แหนมเห็ดโคนญี่ปุ่น, ไส้อั่วเห็ดสมุนไพร, ไส้อั่วเห็ดเจ, น้ำพริกเห็ด เป็นต้น อีกส่วนเป็นสินค้าจาก ผู้ผลิตรายอื่น เช่น เห็ดแดดเดียว และทองม้วนเห็ด เป็นต้น

เพื่อให้เห็ดแต่ละชนิดออกได้ทันกับความต้องการของลูกค้า ปรเมศวร์นำประสบการณ์ในการวางแผนก่อสร้าง สมัยเป็นวิศวกร โยธามาช่วยวางแผนพักก้อนเชื้อเห็ดและกระตุ้นก้อน เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการในเวลาที่ต้องการ

“ลูกค้าเรา ส่วนใหญ่จะมาวันหยุดและเสาร์-อาทิตย์ แต่เห็ดออกดอกทุกวัน วันธรรมดาก็มีเห็ดเหลืออยู่บางชนิดและก็มีบางชนิดที่ไม่ได้เกรดที่จะแพ็กใส่ถุง ก็เลยต้องมีการแปรรูป เมื่อไร ที่ได้เครื่องหมาย อย. เราจะส่งสินค้าแปรรูปไปวางตามห้าง และร้านสินค้าเพื่อสุขภาพ น่าจะราวกลางปีหน้า”

พร้อมกันนี้ ปรเมศวร์ยังเตรียมขายชุดเห็ดพร้อมก้อนเชื้อ สำหรับเป็นของฝาก เพื่อให้ลูกค้าได้นำกลับไปเพาะและเก็บกินต่อที่บ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบแพ็กเกจให้ดูสวยงามเพื่อใช้ ตกแต่งบ้านได้ด้วย

ไม่เพียงเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเห็ดสด ปรเมศวร์ยังตั้งใจให้ที่นี่ เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับกลุ่มนักเรียน และผู้ที่อยากเรียนรู้เรื่องการ เพาะเห็ด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเพาะเห็ดเพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อการเกษตร ในอนาคต เขาหวังจะขยายไปสู่การเป็นรีสอทร์ตเพื่อสุขภาพ โดยได้เตรียมที่ดิน 30 ไร่ที่ติดกับฟาร์ม พร้อมตั้งชื่อรีสอร์ตของเขาว่า “เขาใหญ่ พาโน รามา ฟาร์ม แอนด์ รีสอร์ท”

เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ในวันธรรมดา และเวลา 09.00-18.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

จากวิศวกรผู้ก่อตั้งและบริหารบริษัทรับเหมาสร้างข่ายโทรคมนาคมที่ได้เงินเดือนหลักแสน ปรเมศวร์ขายหุ้นให้เหลือน้อยลงเพื่อมาดูแลฟาร์มเห็ดของตนท่ามกลางเสียง คัดค้านจากญาติมิตร เขายืนยันกับทุกคนว่า ตัวเงินที่ได้เป็นแค่ผลตอบแทนทางวัตถุ แต่สิ่งที่ได้จากฟาร์มเห็ดคือผลตอบแทนทางใจ

“ผมมาทำที่นี่ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกัน แทนที่จะปล่อยให้บ้านหลังใหญ่มีแต่ป๊ากับม๊าสองคน และผมต้องการรักษาผืนดินมรดกนี้ไว้ เพราะนี่น่าจะเป็นที่ดินแปลงเดียวในแถบนี้ ที่ยังไม่เคยเปลี่ยนมือจากคนที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2501 อีกเหตุผลคือ ผมอยากทำเกษตร เพราะทำให้เราได้อยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องแก่งแย่งกับใคร ไม่เหมือนธุรกิจเก่าที่ต้องฟาดฟันกันทุกรูปแบบ”

อีกสิ่งที่ปรเมศวร์ได้รับจากการทำฟาร์มเห็ดคือความภูมิใจที่ได้นำเสนอสิ่งที่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกค้า เขากล่าวว่า ทุกครั้งที่ได้เห็นลูกค้าที่ไม่ชอบทานเห็ดมาทาน เห็ดได้ที่ฟาร์มของเขา เขาจะภูมิใจมาก

เหตุการณ์ที่ทำให้เขาภูมิใจที่สุดคือ หลังจากที่เขามอบสปอร์เห็ดหลินจือให้กับป้าคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นมะเร็งและต้องใช้คีโมบำบัดมาหลายปี ทันทีที่ได้ฟังสรรพคุณ ป้าคนนั้นเก็บตลับใส่สปอร์เห็ดอย่างดี พร้อมกับพูดว่า “มีค่ามากกว่าทองอีกนะ”

“แค่คำพูดเพียงไม่กี่คำนี้ ทำให้รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก” เกษตรกรฟาร์มเห็ด อดีตวิศวกรนักบริหารเล่าด้วยความสุข


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.