Puffing Billy ความทรงจำมีชีวิต

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 1900 รถไฟ Puffing Billy เริ่มเปิดดำเนินงานโดย Victorian Railways (VR) ให้บริการจนถึงปี 1953 เกิดดินถล่มปิดทับทางรถไฟทำให้การเดินรถไฟสายนี้ปิดไป หลังจากนั้นในปี 1955 ชุมชนรวมตัวรวบรวมเงินทุนก่อตั้ง Puffing Billy Preservation Society ขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการให้ Puffing Billy กลับมาเปิดเดินรถอีกครั้ง แต่ใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะกู้ให้รถไฟสายนี้กลับมาวิ่งได้ในปี 1962

นี่คือเรื่องราวขบวนรถไฟขนถ่านหินที่กลายมาเป็นรถไฟท่องเที่ยวสายโด่งดังสายหนึ่งของโลก เป็นรถไฟสายสั้นๆ ที่วิ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติชานเมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันรถไฟสายนี้ดำเนินงานโดยเหล่าอาสาสมัครทั้งวัยเกษียณและวัยหนุ่มสาวที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทน กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้รวมตัวขึ้น ครั้งแรกโดยมีเป้าหมายเพื่อให้กิจการรถไฟเปิดดำเนินงานต่อไปได้ ไม่ถูกปล่อยร้างหรือรื้อทิ้ง พวกเขาประสบความสำเร็จ เพราะในที่สุดรถไฟสายนี้มีรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวเองมาได้อย่างดี จนทุกวันนี้

ประวัติและเรื่องราว Puffing Billy ดังที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวที่แวะไปใช้บริการมักจะมีโอกาสได้รับฟังหรือไม่ก็อ่านเจอได้จากป้ายที่ติดไว้ข้างทางรถไฟบริเวณใกล้ๆ สถานีแต่ละแห่ง เป็นเรื่องราวที่ชาวเมืองเต็มใจบอกเล่า เพื่อแสดงออกถึงความสุขเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวนั้นเกิดจากความ รักและความพยายามของชาวเมืองที่สละเวลาส่วนตัวเพื่อต่อชีวิตให้รถไฟสายนี้

อาสาสมัครที่ทำงานจะเวียนกันมา ทำงานสัปดาห์ละ 1-2 วันโดยไม่รับค่าจ้าง แม้จะบอกว่ามีทั้งหนุ่มสาวและวัยเกษียณ แต่เท่าที่สัมผัสได้ หลักๆ จะเป็นคุณลุงวัยเกษียณเสียมากกว่า จำนวนไม่น้อยเคย ทำงานกับ VR สมัยรถไฟใช้ขนถ่านหิน ถึงอายุมากแต่ทุกคนก็ดูกระฉับกระเฉง ยังสนุกกับ งานที่ได้ทำด้วยความรักและมีความสุขกับสังคมของการทำงานอย่างไม่มีแววเหนื่อย

ภาพแบบนี้เองเป็นการเชิญชวนให้มีอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอาสาทำงานกับรถไฟสายนี้ไม่เคยขาด ใครที่สนใจจะทำงานอาสาสมัคร ซึ่งรับแทบทุกตำแหน่งงานตั้งแต่ ฝ่ายขายตั๋วไปจนถึงช่างเครื่อง สามารถแจ้งความจำนงว่าอยากอาสาทำอะไรด้วยตัวเองกับหัวหน้าสถานี Belgrave ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายนี้ได้เลย

ผลที่พวกเขาได้รับไม่เพียงทำให้รถไฟสายนี้ยังคงอยู่ แต่เป็นการเก็บประวัติศาสตร์ เมืองไว้ได้ในรูปแบบของความมีชีวิต มิหนำซ้ำความประทับใจที่พวกเขาส่งผ่านไปยังผู้มา เยือน ยังถูกบอกต่อข้ามฟ้าข้ามทะเลจนทำให้ผู้คนทั่วโลกอยากมีโอกาสมาสัมผัสกับรถไฟ สายนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง

ประวัติของรถจักรไอน้ำ มีให้พบเห็นในประวัติการพัฒนาเส้นทาง คมนาคมขนส่งเกือบทุกประเทศในโลกนี้ แต่รถจักรไอน้ำที่ยังคงเหลืออยู่ในสภาพไม่ต่างจากครั้งที่ถือกำเนิดขึ้นมา คงไม่สามารถหาดูได้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแบบที่ Puffing Billy เป็นอยู่นี้

แม้กระทั่งรถจักรไอน้ำของไทย จากที่เคยเปิดให้บริการวิ่งเพื่อรำลึกความหลังกันระหว่างกรุงเทพฯ-บางปะอินเพียงปีละครั้ง มาระยะหลังกิจกรรมนี้ก็เหมือนจะเลือนหายไปเสียแล้ว

ทางรถไฟสายมรณะ ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นเครื่องดีเซล นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นรถจักรไอน้ำออกมาวิ่งโชว์ก็ต้องรองานแสงสีเสียงประจำปีในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น โอกาสที่จะได้สัมผัสประสบการณ์เดินทางด้วยรถจักรไอน้ำจริงๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ความรู้สึกรัก ต้องการทะนุถนอม และรักษาของเก่าๆ ไว้ให้คงอยู่ ย่อมจะเกิดขึ้นได้ยากเต็มที

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกวันนี้แม้แต่หัวรถจักรไอน้ำเก่าๆ ในพิพิธภัณฑ์บ้านเราก็อาจจะหายไปแล้วก็ได้ เพราะแทบจะหาคนนึกถึงมันได้น้อยเหลือเกิน

หากมองเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นเก่าๆ มักต้องตกรุ่นและเปลี่ยนทิ้งไปตามยุคสมัยของการพัฒนา การหยุดกิจการนานนับปีของ Puffing Billy ก็ต้องต่อสู้กับความรู้สึกนี้เช่นกัน เพราะเดิมทีนั้นรถไฟสายนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้ขนส่งถ่านหินเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งใช้เป็นพาหนะ ในการเชื่อมต่อระหว่างชุมชนนอกเมืองกับชานเมืองเมลเบิร์น เมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย

ช่วงปี 1953 เมื่อเกิดดินถล่มทับทางรถไฟ เป็นยุคที่รถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการคมนาคมขนส่งมากขึ้นแล้วในออสเตรเลีย การฟื้นฟูกิจการเพื่อใช้ประโยชน์แบบเดิม ก็อาจจะไม่คุ้มค่าในแง่ของการลงทุน

ว่ากันว่าทำให้รถไฟสายนี้ถึงกับขาดทุน และเป็นที่มาให้เกิดการก่อตั้งสมาคมเกิดการระดมทุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ของชาวเมืองที่ช่วยกันรักษาทางรถไฟสายนี้ไว้ และวิสัยทัศน์นี้ก็เกิดมาจากความรู้สึกพื้นฐานง่ายๆ ที่มนุษย์มีต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว นั่นคือความรู้สึกรักในสิ่งที่เคยมีอยู่ของชุมชนและต้องการรักษาไว้เพียงเท่านั้น เมื่ออาศัยองค์ประกอบจากเสน่ห์ความเก่าของตัวรถไฟ ธรรมชาติ และผู้คนในชุมชน ก็ทำให้ Puffing Bully ได้รับการพัฒนาไปเป็นเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบไม่ยากเลยอย่างที่ปรากฏอยู่ในวันนี้

เส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน มีทั้งส่วนที่เป็นชายป่า ทะเลสาบ หมู่บ้าน แน่นอนว่าในอดีต การวิ่งลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามชายป่าเชิงเขาเป็นเรื่องเสียเวลา แต่ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ทำได้เท่านั้นก็ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์มากแล้ว แต่เส้นทางที่คดเคี้ยวนี่เอง คือเสน่ห์ของทางรถไฟสายนี้ที่หลงเหลือกลายเป็นคุณค่าด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ดังนั้น แม้การเดินรถแต่ละครั้งจะมีเขม่าควันจากหัวรถจักรพวยพุ่งออกมาเป็นมลพิษบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ชาวเมืองยอมรับได้ และคุ้มค่าที่จะแลกกับอีกหลายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวที่สร้างความจรรโลงใจให้กับพวกเขาได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของชุมชนและความรู้สึกบวกด้านจิตใจที่ยังคงได้เห็นรถไฟขบวนนี้วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยว สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ทำให้ภาพเขม่าควันเหมือนเป็นเพียงหมอกจางๆ ที่ลอยลับตาไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อย่าได้จินตนาการว่า คนทำงานของรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นเพียงอาสา สมัครสร้างความสุขจะมาทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม แบบรถไฟบางประเทศที่ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างเชียว เพราะทุกวันนี้ Puffing Billy ได้ชื่อว่าเป็นรถไฟที่มีการบรรทุกผู้โดยสารที่เต็มไปด้วยสุขจากทั่วทุกมุมโลก ชนิดที่พวกเขามั่นใจว่าคนที่สร้างรถไฟสายนี้เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ไม่มีทางจินตนาการได้แน่ๆ ว่า ทางรถไฟที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อขนถ่านหินจะกลายเป็นทางรถไฟสายที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดของรัฐวิกตอเรีย และอาจ จะมากที่สุดในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งเลี้ยงตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐเสียอีกด้วย

ความร่วมมือของชุมชนในการยิ้มแย้มต้อนรับทักทายนักท่องเที่ยว ยังเป็นภาพประกอบที่ช่วยเติมเต็มความมีชีวิตชีวาให้กับทัศนียภาพสองข้างทางเมื่อมองจากตัวรถไฟ ภาพเหล่านี้ล้วนเกิดจากปฏิกิริยาเรียบง่ายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติสำหรับผู้คนที่พร้อมจะเป็นมิตรต่อกัน อย่างการโบกมือทักทาย ยิ้มให้กัน และไม่เพียงชาวเมืองเจ้าบ้าน แม้แต่นักท่องเที่ยวด้วยกันเองก็พร้อมจะทักทายกันด้วยปฏิกิริยาแบบเดียวกันนี้เช่นกัน เพราะนี่คือปฏิกิริยาของความสุขที่ได้สัมผัสและกลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจให้ระลึกถึงไปได้อีกนาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.