|
Google+ ตายแล้ว???
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่กูเกิลเปิดตัว Google+ (กูเกิลพลัส) ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network อันใหม่ของกูเกิลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไม่นานนัก เหล่าบริษัทต่างๆ รวมถึงสื่อออนไลน์ทั้งหลายต่างเข้ามาสร้าง Brand profile ของพวกเขาบน Google+ นี้ ซึ่งความรีบเร่งในการเข้ามาสร้าง Brand profile นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกูเกิลในการดึงดูดผู้ใช้จำนวนมากมาย มาใช้บริการใหม่ของพวกเขา แม้ว่าที่ผ่านมากูเกิลยังไม่สามารถแสดงให้เห็นความสามารถในการสร้างบริการได้ดีอย่างที่พวกเขาสัญญาไว้ แต่นักสังเกตการณ์หลายๆ คนก็มองว่า Google+ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดูมีภาษีดีกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ถ้าเราจะไม่ใช้บริการของเฟซบุ๊ก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่าถ้าเราจะเริ่มต้นกับ Google+ ตั้งแต่เริ่มๆ เปิดบริการเลย ไม่งั้นหลายๆ บริษัทกลัวจะตกขบวนรถไฟสาย Google+
ทางกูเกิลอาจจะไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาใช้บริการ Google+ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายๆ บริการนั้น กูเกิลยังไม่พร้อมเต็มที่ ทำให้ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ Google+ ของกูเกิล ณ เวลานั้นต้องออกมาแจ้งว่ากูเกิลยังทำบริการ Brand Profile ไม่เสร็จดี ยังไม่อยากให้เข้ามาสร้างกัน จะต้องมีกระบวน การทดสอบอีกหลายๆ ครั้งว่าจะเปิดตัวใช้งานได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้กูเกิลยังสั่งปิด Profile ที่ไม่ใช้ชื่อจริงมาเปิดไว้ด้วย โดย เฉพาะการเปิดในชื่อของแบรนด์ต่างๆ แต่ไม่ได้แสดงความชัดเจน ออกมา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างปัญหาอย่างหนักหน่วงและยืดเยื้อให้กับกูเกิลในการแข่งขันกับเฟซบุ๊กและทำให้ดูเหมือนว่า ไม่มีอะไรให้เล่นหรือให้ทำบน Google+ หรือเมื่อใครนึกอะไรเล่นๆ ออกบน Google+ กูเกิลก็ปิดโอกาสเหล่านั้นไปเสีย
ล่าสุด กูเกิลเพิ่งเปิดตัว Brand Page อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่อาจจะสายไปแล้ว แม้กูเกิล จะบอกว่า Google+ มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคนในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัว ทำให้ Google+ กลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์กันขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวทาง การทำการตลาดของกูเกิลแล้ว กูเกิลไม่อายเลยที่จะอาศัยหน้าเสิร์ชเอ็นจิ้นของตัวเองในการชักชวนคนให้หันไปใช้ Google+ โดยตอนนี้ Google+ เปิดให้คนสมัครใช้งานได้อย่างเสรีแล้ว จากที่ตอนแรกต้องเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเชิญเท่านั้น นี่จึงไม่น่าแปลกใจมากถ้าจะมีจำนวนคนใช้งานเพิ่มขึ้น มากมาย โดยเฉพาะสาเหตุที่ว่า กูเกิลเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่บททดสอบที่แท้จริงของ Google+ น่าจะเริ่มต้นนับจาก พวกเขาเปิดให้คนใช้งานได้อย่างทั่วไป และต้องดูว่าผู้ใช้งานคิดเห็น เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบริษัทวิเคราะห์ด้านการใช้งานจราจรบนอินเทอร์เน็ตหรือทราฟฟิก ได้รายงานถึงการลดลงของทราฟฟิกการใช้งาน Google+ ที่ลดอย่างฮวบฮาบนับจากการเปิดตัวที่เพิ่ม อย่างฮวบฮาบเช่นกันในตอนแรก
จากกราฟจะเห็นว่า ทราฟฟิกในช่วงต้นมากกว่าช่วงปัจจุบัน ถึงสองเท่ากว่าๆ ในขณะที่ยอดทราฟฟิกช่วงหลังๆ เริ่มนิ่งมากขึ้นๆ เช่นเดียวกับเหล่าผู้บริหารของกูเกิลเองก็อาจจะเริ่มๆ เบื่อกับ Google+ นี้เช่นกัน โดยหลังจากการโพสต์ใน Google+ สู่สาธารณะของ Larry Page และ Sergey Brin ในช่วงฤดูร้อน พวกเขาก็ค่อยๆ หายไปจาก Google+ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เช่นเดียวกับ Eric Schmidt ที่โพสต์ข้อความต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกหลังจากสตีฟ จ็อบเสียชีวิต เป็นครั้งแรกหลังจากที่เครือข่าย Google+ เปิดตัวเป็นเวลาสามเดือน แต่เขาก็ไม่ได้โพสต์ผ่าน Google+ อยู่ดี
การที่เหล่าผู้บริหารใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทางอ้อมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊กที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์คใช้ทั้งวัน ทวิตเตอร์ที่ Dick Costolo ทวีตบ่อยมาก แต่เมื่อดูยอดการใช้งาน Google+ รวมถึงการโพสต์ ข้อความในที่สาธารณะของผู้บริหารของกูเกิลในตารางนี้จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีคำวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับ Google+ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า Google+ ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งของพวกเขาโดยเฉพาะเฟซบุ๊กได้ แม้จะพยายามเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับ Google+ แต่ดูเหมือนอาจจะทำได้แค่ดึงดูดความสนใจได้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเหมือนที่เห็นในกราฟการใช้งานทราฟฟิกที่มีบางช่วงพุ่งขึ้นนิดหน่อย ก่อนที่จะตกลงมาอยู่ระดับเดิม
นี่เป็นสัญญาณให้เห็นว่า Google+ อาจจะมาถึงทางตัน หรือมาถึงจุดที่จะกลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่กำลังจะหายไปจากตลาดในไม่ช้านี้ โดยเฉพาะเรื่องของ Brand Page ที่สร้างความเสียหายให้กับ Google+ ในแง่ที่ว่าบริการยังไม่พร้อมแต่กูเกิลรีบเร่งที่จะเปิดตัว Google+ ออกมา รวมถึงการไล่ปิด Brand Page ที่กูเกิลมองว่าเป็นการปลอมแปลงเข้ามาที่ขัดกับนโยบายการใช้ชื่อจริงของ Google+ ที่ผู้ใช้ก็มองว่าเป็นอันตรายกับพวกเขาเช่นกันในการใช้ชื่อจริงและข้อมูลจริงบนอินเทอร์เน็ตโดยที่ยังไม่มีอะไรมารับรองความปลอดภัย
ตามนโยบายชื่อนามสกุลจริงนั้น กูเกิลกำหนดว่าจะต้องใช้ ชื่อและนามสกุลจริง มิฉะนั้นจะเป็นการละเมิดข้อตกลงกับกูเกิล เมื่อกูเกิลค้นพบความผิดปกตินี้จะต้องเปลี่ยนแปลงภายใน 4 วัน มิฉะนั้นจะโดนปิด ชื่อและนามสกุลจริงในความหมายของกูเกิลนี้ จะไม่อนุญาตให้ใช้ ตัวย่อขึ้นต้นตัวเดียว หรือชื่อนามปากกา รวมถึง ถ้ามีสัญลักษณ์หรือตัวเลขอยู่ในชื่อก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน แม้ว่าปกติ มันจะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเราอยู่แล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า ชื่อ Malcolm X, T.S. Eliot, หรือ U2 ไม่สามารถใช้บน Google+ นี้ได้
การไล่ปิด Brand Page โดยไม่สนใจความเป็นจริงและความจำเป็นหลายๆ อย่าง รวมถึงการขาดการสื่อสารและอำนวย ความสะดวกให้กับผู้ใช้อาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำลายอนาคตของ Google+ ไปเลย
ความไม่พร้อมในการเปิดให้บริการของ Google+ ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้ามาใช้งานไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้กลับเข้ามาใช้อยู่เรื่อยๆ จึงกลายเป็นความไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเห็นของผู้ใช้งาน ซึ่งในโลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว ความไม่ประทับใจนับแต่แรกเจอนี้หมายถึงความล้มเหลวและการสิ้นสุดของเครือข่ายนั้นๆ นั่นเอง
ปัญหาอีกอย่างคือกูเกิลมองว่า Google+ เป็นอีกผลิตภัณฑ์ หนึ่งของพวกเขาที่จะต้องออกแบบทีละขั้นๆ จากนั้นนำไปทดลอง ใช้กับกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มเล็กๆ และค่อยๆ ใส่ลูกเล่นต่างๆ เข้าไปให้สมบูรณ์ เหมือนๆ กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ของพวกเขา ซึ่งยุทธศาสตร์การปล่อยสินค้าออกมาก่อน แล้วค่อยๆ ซ่อมและแก้ไขมันทีหลังเป็นยุทธวิธีที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับกูเกิลในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น Gmail ซึ่งยังมีฟีเจอร์ต่างๆ ไม่มากในตอนแรก โดยไม่มีแม้กระทั่งปุ่ม Delete ข้อความ แต่พื้นที่เก็บเมลจำนวนมหาศาลที่ Gmail ให้ บวกกับความสามารถในการค้นหาเมลที่รวดเร็วเป็นจุดขายที่ทำให้ผู้คนเลือกใช้ Gmail จนปัจจุบันกลายเป็นเมลตัวเลือกอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับ Chrome ที่เป็นเบราเซอร์ที่ทำงานเร็วมากเมื่อเทียบกับเบราเซอร์ตัวอื่นๆ ก็เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้เราเลือกใช้ แม้จะไม่มีฟังก์ชันมากมายในตอนต้น แล้วเสริมเข้ามาในตอนหลังๆ แทน
แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกมองว่า ไม่ใช่สินค้า แต่เป็นสถานที่ เหมือนกับผับ บาร์ หรือชมรม ซึ่งจำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการมากเท่าไรเป็นตัววัดถึงความสำเร็จของสถานที่นั้นๆ ยิ่งที่คนมากเท่าไรถูกดึงดูดให้มาใช้บริการ ก็จะมีคนอีกจำนวนมากถูก ดึงดูดเพิ่มเข้ามา Google+ อาจจะไม่สามารถมีลูกเล่นทุกอย่าง เหมือนกับที่เฟซบุ๊กมีได้ในตอนเริ่มต้น แต่ Google+ ควรที่จะปล่อยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างอิสระเท่าที่จะสามารถทำได้ แนวทางนี้ทำให้ทวิตเตอร์อาจจะถือว่าเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพียงเครือข่ายเดียวที่ประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถเทียบเคียงกับเฟซบุ๊กได้ในช่วงสองสามปีหลังนี้ โดยทวิตเตอร์ปล่อยให้คนใช้งานสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ จากช่องทางที่ทวิตเตอร์เปิดไว้ให้ โดยไม่ได้ห้ามปราม ทัศนคตินี้ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นที่ที่มีของเล่นใหม่ๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การใช้งานกลายเป็นความสนุกสนานและความสุข ทำให้ผู้ใช้งานเสพติดการใช้งานบนทวิตเตอร์ไปโดย ไม่รู้ตัว แม้เว็บไซต์จะยังคงเจอปัญหาดาวน์อยู่เรื่อยๆ ก็ตาม แต่ทวิตเตอร์ก็ช่างสรรหาหนทางที่ทำให้วิกฤติกลายเป็นโอกาส แม้การดาวน์ของระบบก็ตาม (ผมเคยพูดถึงเรื่องราวการดาวน์ของทวิตเตอร์ที่กลายเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งของทวิตเตอร์มาแล้วในบทความ Fail Whale, นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับ ตุลาคม 2552)
นี่เป็นสิ่งที่ Google+ มีแต่ทำไมได้ โดยเฉพาะโอกาสเริ่มต้นที่ผู้ใช้จำนวนมากมายเข้ามาทดลองใช้งาน ซึ่ง Google+ ก็ปล่อยให้มันผ่านไป และมันคงไม่ผ่านกลับมาอีกแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|