ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ประสบการณ์คลุกคลีกับช้างมากว่า 22 ปี ทำให้อำไพพรรณ ทับทอง รู้ดีว่า ช้างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

อำไพพรรณเริ่มต้นธุรกิจปางช้างร่วมกับสามีของเธอแห่งแรกเรียกว่า ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม หากย้อนหลังไปเมื่อ 22 ปี หรือราวๆ ปี 2532 ตอนนั้นประเทศไทยประชา สัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก ทำให้เธอและสามีมองเห็นโอกาสในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบกับเป็นคนท้องถิ่นจึงมองว่า ช้าง สามารถมาสร้างธุรกิจได้ เพราะนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเยี่ยมชมอยู่บ่อยครั้ง แต่ต้องเดินเข้าไปในป่าเพื่อดูช้าง ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ เธอจึงได้นำวิถีการใช้ชีวิตของช้างมาจัดเป็นการแสดง เช่น อาบน้ำ ลากไม้ แต่ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสามารถจึงเริ่มฝึกช้างให้ทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เตะฟุตบอล วาดภาพ ยกขาหน้า

ธุรกิจปางช้างเจริญเติบโตก้าวหน้าและมีชื่อเสียง จนสามารถขยายปางช้างเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ ปางช้างแม่ตะมาน แม้ว่าธุรกิจจะเติบโตไปด้วยดี แต่ชีวิตคู่ของเธอไม่ได้สวยหรู เพราะต้องแยกทางกันไป สามีของเธอเลือกปางช้างแม่สา ในขณะที่อำไพพรรณต้องเลือกปางช้างท่าแพ แม่ตะมานที่มีขนาดเล็กกว่า การแยกทางกันในตอนนั้น ทำให้อำไพพรรณต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็ว่าได้ เพราะปางช้างแม่ตะมาน ยังไม่มีชื่อเสียง พื้นที่ขนาดเล็ก และอยู่ไกลจากตัวเมืองร่วม 50 กิโลเมตร ในตอนนั้นถนนยังเล็กมาก

“ในตอนนั้นมานั่งๆ น้ำตาไหล มองดูปางช้าง หันหน้าไปทางแม่น้ำแม่แตง พร้อมกับนึกถึงคำสบประมาทว่า อยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี เพราะปางช้างแม่ตะมาน กระจอก เงียบ” แม่เลี้ยงเล่าอดีตที่ยังจดจำชัดเจน แต่ในสายตาไร้ร่องรอยแห่งความเจ็บปวดเมื่อในอดีต

คำสบประมาทไม่ได้ทำให้แม่เลี้ยงท้อถอย แต่เธอกลับลุกขึ้นมาต่อสู้ และเริ่มเดินทางเข้าพบนายแบงก์ขอกู้เงินเพื่อขยายกิจการ คำตอบเดียวที่ธนาคารยอมปล่อยเงินกู้ให้กับเธอคือ “กลยุทธ์แย่งลูกค้า”

ประสบการณ์การทำงานในปางช้างแม่สาตั้งแต่การบริหารคน ดูแลไกด์ พูดคุยกับนักท่องเที่ยวทุกวัน โดยเฉพาะได้มีโอกาสพบกับนักการทูต ประจวบเหมาะกับในตอนนั้นเธอได้เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ในฐานะสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) แม่เลี้ยงเริ่มใช้สายสัมพันธ์ที่มีทั้งหมด รวมทั้งเริ่มออกงานทุกประเภท จนทำให้ภาพและกิจกรรมที่ไปร่วมได้ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและระดับประเทศบ่อยครั้ง

ชื่อเสียงของปางช้างเริ่มดีขึ้น แม้แต่ไกด์ที่ก่อนหน้านั้นเคยพานักท่องเที่ยวมายังยกหัวนิ้วโป้งให้ เพราะในตอนแรกไกด์เองก็ยอมรับว่าปางช้างของแม่เลี้ยงเล็กจริงๆ

การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่เลี้ยงกับไกด์ บริษัททัวร์ และบุคคลมีชื่อเสียงทำให้ปางช้างแม่ตะมานมีลูกค้าระดับเกรดเอ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มยุโรปเป็นหลัก ขณะที่คู่แข่งลูกค้าจะเป็นคนจีน และในเอเชียเป็นส่วนใหญ่

การบริหารคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะพนักงานเกือบ 300 คนที่มีความหลากหลาย คนท้องถิ่น ต่างถิ่น และชาวเขา เธอไม่ได้ดูแลเฉพาะพนักงานเท่านั้นแต่ได้ดูแลไปถึงครอบครัว เพราะครอบครัวหนึ่งไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่จะมีพี่ น้อง ป้า น้า อา ทำงานด้วย จึงเน้นการทำงานเป็นระบบพี่น้อง ไม่ทะเลาะ หรือนินทา

การแบ่งฝ่ายกันทำงานจะชัดเจน มีฝ่ายเลี้ยงช้าง เลี้ยงวัว ฝ่ายหาอาหารให้ช้างและวัว ฝ่ายโรงครัว ฝ่ายบริการทั่วไป

“คนงานที่นี่มีทั้งคนท้องถิ่น กะเหรี่ยง พม่า เป็นคนเก่ง หากให้แลกกับบุคลากรที่มีความรู้จบปริญญาเอกหรือปริญญาโทก็ไม่เอา และการทำงานกับเขา เราต้องซื้อใจ รักเขา และจริงใจ”

การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้แม่เลี้ยงไม่ต้องเดินทางไปปางช้างทุกวันเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่เธอจะสั่งการทำงานจากที่บ้าน และเข้ามาประชุมกับหัวหน้างานเป็นบางครั้ง

“กรณีการทำงานมีปัญหา ทุกอย่างจะคุยที่ทำงานจะไม่มีการนำงานเข้าไปในบ้าน เพราะบ้านคือที่พักส่วนตัว”

แม้ว่าวัยของอำไพพรรณจะร่วม 65 ปีแล้วก็ตามที แต่การบริหารจัดการทั้งหมดเธอจะเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว เพราะปางช้าแม่ตะมานเป็นธุรกิจที่ปลุกปั้นมา ตั้งแต่เริ่มต้น ออกแบบเอง คิดเอง พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง

ปัจจุบันเธอไม่ได้ทำงานลำพังเพียงคนเดียว เพราะมีลูกชายวัย 40 ปี เชิดศักดิ์ กัลมาพิจิตร เข้ามาร่วมบริหารงาน โดยเธอมอบหมายให้อยู่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ และมีลูกสะใภ้มาช่วยอีกแรง จึงทำให้อำไพพรรณมีเวลาได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง และไปทำบุญในที่ต่างๆ

การพบปะเพื่อนฝูงไม่ได้พบกันตามที่สถานที่ต่างๆ เท่านั้น อำไพพรรณเริ่มใช้เฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่ออัพเดตสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงสร้างเพื่อนใหม่ๆ สังคมออนไลน์ทำให้เธอสามารถติดตามข่าวสารทั่วไป และดูเหมือนว่าจะมีความสุขมากในการใช้เครื่องมือดังกล่าว

แม้จะมีหน้าที่ดูแลกิจการ แม่เลี้ยงยังแบ่งเวลาส่วนหนึ่งรับหน้าที่เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริมในปัจจุบัน ในอดีตเป็นสมาชิก สจ.หญิงคนแรกด้วยวัย 37 ปีของจังหวัดเชียงใหม่

แม่เลี้ยงอำไพพรรณเป็นคนอำเภอแม่ริมโดยกำเนิด ได้รับการเล่าเรียนจากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เมื่อมัธยม ศึกษาตอนต้น หลังจากนั้นเข้าศึกษาโรงเรียนการช่างสตรี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา จังหวัดเชียงใหม่

เส้นทางชีวิตของแม่เลี้ยงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ไม่ได้เกิดจากพรหมลิขิต หากแต่เธอเป็นผู้ลิขิตชีวิตตัวเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.